พฤศจิกายน, 2013 | รับทำเงินเดือน - Part 4 พฤศจิกายน, 2013 | รับทำเงินเดือน - Part 4

การขายทองคำและการนำเข้าทองคำ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร

โดยปกติการขายทองคำประเภททองรูปพรรณหรือมิใช่ทองรูปพรรณ หรือการนำเข้าทองคำ จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติ กล่าวคือ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขายทองคำ ก็จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ หรือกรณีเป็นผู้นำเข้าทองคำ ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บ

กฎหมายได้มียกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมีการใช้ฐานภาษีที่นำมาคำนวณภาษีขายเมื่อขายทองคำแตกต่างไปบ้าง ดังนี้
ทองคำที่มิใช่ทองรูปพรรณ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีความประสงค์จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าหรือการขาย ทองคำที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณหรือของรูปพรรณ ทองคำจะต้องมีน้ำหนักเนื้อทองไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.50

กรณีเป็น ผู้นำเข้าทองคำ จะต้องแสดงเอกสารหรือหลักฐาน เกี่ยวกับการนำเข้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ในเวลายื่นใบขนสินค้า เพื่อผ่านพิธีการศุลกากร และจะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานจากผู้ขายในต่างประเทศว่า ผู้นำเข้าเป็นผู้ซื้อทองคำดังกล่าวจากผู้ขายใน ต่างประเทศ

กรณีเป็น ผู้ขายทองคำ จะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงการเป็นสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับ การค้าทองคำหรืออัญมณี สมาคมใดสมาคมหนึ่ง
ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 311

ทอง รูปพรรณ เช่น สร้อยคอ แหวน ฯลฯ หากส่งออกก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 0 แต่ถ้าขายในประเทศ โดยปกติจะใช้ราคาขายมาคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 แต่เนื่องจากมีร้านทองที่จำหน่ายทองคำโดยรับซื้อและขายกับบุคคลทั่วไป ขณะที่ซื้อจากคนทั่วไปที่นำทองคำมาขายหรือมาแลกเปลี่ยน ก็จะไม่มีใบกำกับภาษีซื้อ แต่เมื่อร้านทองขายออกไปก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กฎหมายจึงได้กำหนดให้มูลค่าของทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืน ในวันที่ขายทองรูปพรรณ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษี (ประกาศอธิบดีภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40) แต่ทั้งนี้ ผู้ขายทองคำต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกิจการขายทองรูป พรรณ ซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่า ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องเสียจากการขายทองรูปพรรณในกรณีนี้จะคำนวณจากราคา ขายทองรูปพรรณรวมกำเหน็จ หักออกด้วยราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศกำหนด ผลลัพธ์ส่วนต่าง ให้นำมาคิดภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ก็จะได้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทองรูปพรรณนั้น

การขายทองคำหรือการนำเข้าที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับการขายสินค้าทั่วไป.

http://www.customscarecenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539622828&Ntype=4

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

การรับรู้ภาษีมูลค่าเพิ่มของตัวแทนช่วง?

คุณ Patipron Rugmai ได้โพสต์ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2556 ว่า
"ขอเรียนถามอาจารย์ ดังนี้ค่ะ
บริษัท ก. เป็นตัวแทนให้กับ บจ.เทเลวิทฯ และได้ว่าจ้าง บริษัท ข. มาดำเนินการแทนในการจำหน่ายสินค้าในเครือของ AIS และรับชำระค่าบริการทั้งรายเดือนและค่าบริการอื่นแทนบริษัท ก. อีกทีหนึ่ง ซึ่งระหว่างดำเนินการขั้นต้น บริษัท ข.ได้ลงทุนดำเนินการในด้านการลงทุน คือ การตกแต่งร้านภายใต้แบรนด์ของ AIS ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ เกิดขึ้น บริษัท ข. เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น แต่ บริษัท ก. มาบอกบริษัท ข. ให้บริษัท ข. บอกกับผู้รับเหมาของบริษัท ข. ออกใบกำกับภาษีซื้อในนามของบริษัท ก. แทนที่จะเป็นของบริษัท ข. (ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างฯและเป็นผู้ชำระเงินค่าจ้างฯ)
อยากทราบว่า
1. บริษัท ข. ต้องเข้าข่ายจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
2. การกระทำของบริษัท ก. สมควรเป็นตามที่บริษัท ก. ร้องขอหรือไม่
3. บริษัท ข. จะรับรู้รายได้ แบบส่วนแบ่งทางการตลาดหรือไม่
รบกวนด้วยค่ะ"
เรียน คุณ Patipron Rugmai
กรณีตัวแทน (บริษัท ก.) จัดตั้งตัวแทนช่วง (บริษัท ข.) ให้ดำเนินการแทนตน การกระทำใดๆ ของบริษัท ข. ตัวแทนช่วง ย่อมถือเสมือนเป็นการกระทำของตัวแทน บริษัท ก. เมื่อบริษัท ข. ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาให้มาทำการตกแต่งร้านภายใต้แบรนด์ของ AIS ก็ถือว่า กระทำในนามของบริษัท ก. เพราะทั้งหมดภายในร้านเป็นสิทธิของบริษัท ก. แต่การจ่ายเงินอาจกระทำได้สองวิธิคือ
วิธีที่ 1 บริษัท ข. จ่ายทดรองไปก่อนในนามของบริษัท ข. โดยทำการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและในส่งในนามของตัวเอง แล้วนำหลักฐานไปเรียกเก็บเงินชดเขย และค่าโสหุ้ยอื่นๆ จากบริษัท ก. ซึ่งกรณีนี้ เป็นไปได้สูงมากที่บริษัท ก. จะคำนวณหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่ายจากบริษัท ข. โดยถือเป็นค่าบริการจ้างทำของ
วิธีที่ 2 บริษัท ข. จ่ายในนามของบริษัท ก. ตามที่บริษัท ก. แจ้งมา การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเป็นหน้าที่ของบริษัท ก. รวมทั้งการขอคืน VAT ตามหลักฐานใบกำกับภาษีที่ได้จากผู้รับจ้าง
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. การให้บริการของบริษัท ข. อยู่ในข่ายที่ต้องเสีย VAT จึงต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะยังไม่จดทะเบียน VAT ก็ได้ หรือจะเลือกใช้สิทธิขอเข้ามาจดทะเบียน VAT เลยก็ได้ตามมาตรา 81/3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ได้ตอบให้แล้วข้างต้น
3. รายได้ของบิรษัท ข. เป็นตามข้อกำหนดที่ตกลงกับบริษัท ก. ว่าจะกำหนดกันเป็นอย่างไร

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเปิดบริษัทบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่

Marnit Aongphisud ได้โพสต์ไปจากบริเวณ Bangkok เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2556 ว่า

"เรียนอาจารย์สุเทพครับ รบกวนสอบถามอาจารย์สุเทพประเด็นค่าใช้จ่ายก่อนการจัดตั้งกิจการ กรณีที่ผู้ถือหุ้นได้จ้างให้สำนักงานกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการให้ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกิดขึ้นก่อนที่บริษัทฯจะจัดตั้งเสร็จเรียบร้อย ซึ่งสำนักงานกฎหมายได้ระบุไว้ในรายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทฯแล้ว

ประเด็นคำถามครับ เอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเปิดบริษัทฯเป็นใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินที่ออกในนามผู้ถือหุ้นและผู้เริ่มก่อการ อยากทราบว่าเอกสารดังกล่าวสามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่ครับ หรือมีข้อควรระวังเรื่องเอกสารหลักฐานเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับความรู้ และความคิดเห็นที่อาจารย์แบ่งปันนะครับ — กับ Kamolthip Katutat"

เรียน Marnit Aongphisud
ประเด็นรายจ่ายก่อนการจัดตั้งกิจการบริษัทฯ หากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้ถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการ บริษัทฯ ก็สามารถนำมาบันทึกเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการได้เช่นเดียวกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทฯ และในทางภาษีอากรก็ใช้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการพิจารณารายจ่ายที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกับรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั่วไป กล่าวคือ

1. ต้องพิจารณาแยกให้ได้ว่า รายจ่ายนั้นเป็นรายจ่ายฝ่ายทุน หรือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั่วไป
หากเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนก็ย่อมต้องคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคานับแต่วันที่ได้มาซึ่งสินทรัพย์นั้น เฉพาะส่วนที่เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคมในช่วงเวลาก่อนที่จะได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เท่านั้น ที่สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายได้ เมื่อจัดตั้งบริษัทฯ เรียบร้อยแล้วก็ให้คิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อเนื่องไป
2. สำหรับรายจ่ายในการดำเนินกิจการให้นำหลักเกณฑ์ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
(1) ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ และ
(2) ต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปโดยมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจ่ายรายการรายจ่ายนั้น และ
(3) ต้องเป็นรายจ่ายเป็นไปเพื่อกิจการหรือเพื่อการหากำไรโดยเฉพาะ และ
(4) ต้องเป็นรายจ่ายสิ้นเปลืองหมดไปในรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดๆ ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และ
(5) ต้องเป็นรายจ่ายที่มีหลักฐานการจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับได้ว่าเป็นบุคคลใด และ
(6) ต้องเป็นรายจ่ายที่ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

กรณ๊เอกสารรายจ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเปิดบริษัทฯ เป็นใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินที่ออกในนามผู้ถือหุ้นและผู้เริ่มก่อการ นั้น ขอเรียนว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว และ (18) รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ รวมทั้งอาจมีข้อสงสัยว่า เป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น จึงควรที่ต้องมีเอกสารประกอบการจ่ายรายจ่ายทั้งหลายเหล่านั้น ตามหลักการควบคุมภายในที่ดี ประกอบการเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจ่าย เพราะเหตุผลประการหนึ่งของการรวมตัวกันตั้งบริษัทฯ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการมุ่งค้าและหากำไรมาแบ่งปันกัน หาใช่การที่จะมาฉกฉวยเอาจากบริษัทฯ ครับ

ที่มา..ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak