บทความค่าแรงและเงินเดือน | รับทำเงินเดือน บทความค่าแรงและเงินเดือน | รับทำเงินเดือน

เงินช่วยเหลือการศึกษาบุตร ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้

หลายบริษัทมักจะมีทุนการศึกษาแจกให้บุตรของพนักงานบริษัท ที่ทำงานเก่าผมก็เคยมีลักษณะนี้ มีทั้งทุนเรียนดี กับ ทุนการศึกษาสำหรับพนักงานรายได้น้อย

ผมเองก็ได้รับคำถามนี้อยู่บ่อยๆ ว่าทุนการศึกษาที่แจกให้พนักงานได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ คำตอบที่สรรพากรตอบไว้ก็คือ ถือเป็นประโยชน์เพิ่มต้องนำมารวมคำนวณเพื่อภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ ลองมาดูที่สรรพากรตอบไว้นะครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/5526

วันที่ : 22 กรกฎาคม 2553

เรื่อง  : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินช่วยเหลือการศึกษาบุตรของพนักงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 39 และมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          บริษัทฯ ได้มีระเบียบสวัสดิการเรื่องเงินช่วยเหลือการศึกษาบุตรที่มอบให้พนักงานทุก คนเป็นการทั่วไปโดยมิได้เลือกปฏิบัติ เพื่อ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนทุกข์ยาก เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี เป็นการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาบุตรของพนักงาน โดยบริษัทฯ จะจ่ายให้ตามรายจ่ายที่ได้จ่ายจริงหรือน้อยกว่า โดยพิจารณาจากข้อกำหนดของการจ่ายเงินช่วยเหลือ บริษัทฯ จึงขอ ทราบว่า เงิน สวัสดิการดังกล่าวถือเป็นรายได้ของพนักงานหรือไม่

แนววินิจฉัย
          กรณีสวัสดิการหรือประโยชน์ที่ พนักงานได้รับจากนายจ้างข้างต้น ถือเป็นประโยชน์เพิ่มอันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เลขตู้ : 73/37415

 

แท็กของ Technorati: {กลุ่มแท็ก}

ภาษีเงินได้ออกจากงาน

ท่านที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะภาคเอกชน ช่วงนี้หนาวๆ ร้อนๆ กันหน่อย หากได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงาน หลายประเทศเริ่มปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนหรือเพื่อให้บริษัทอยู่รอดได้ใน สถานการณ์เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม หากต้องถูกออกจากงานและนายจ้างได้จ่ายเงิน ให้มาก้อนหนึ่ง หรือที่ภาษาชาวบ้านเราเรียกว่าเงินชดเชย หรือเงินเลิกจ้างก็แล้วแต่ โดยปกติเงินได้นั้นถือเป็นเงินที่ได้จากการทำงานให้นายจ้าง เงินได้นั้นจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ แต่กฎหมายก็ได้มีการยกเว้นภาษีให้บางส่วน

ค่าชดเชยซึ่งเป็นเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจากการเลิกจ้างพนักงาน ลูกจ้าง อันเนื่องมาจากการเลิกบริษัท การยุบแผนก หรือเลิกจ้างเพื่อลดต้นทุนบริษัท โดยที่ลูกจ้างหรือพนักงานไม่ได้สมัครใจลาออกจากงาน เงินชดเชยที่ลูกจ้าง พนักงานได้รับมีวิธีการคิดคำนวณภาษี หรือได้รับยกเว้นภาษีอย่างไร สรุปได้ดังนี้

ค่าชดเชยที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ เงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือเงินค่าชดเชยที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หากลูกจ้างหรือพนักงานออกจากงานโดยไม่สมัครใจ หรือที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งว่า ให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก กรมสรรพากรและรัฐบาลเห็นใจผู้ที่ออกจากงานโดย ไม่สมัครใจ จึงได้ออกกฎหมายให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้จากค่าชดเชย โดยให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับค่าจ้างหรือเงินเดือนค่า จ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายก่อนออกจากงาน แต่รวมแล้วไม่เกิน 3 แสนบาท ไม่ว่าลูกจ้างหรือพนักงานนั้นจะทำงานมา กี่ปีก็ตาม

แต่ไม่ใช่ผู้ออกจากงานทุกคนได้รับการยกเว้นภาษีจากค่าชดเชยคนละ 3 แสนบาท จะได้สิทธิยกเว้นภาษีสูงสุดถึง 3 แสนบาทหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วัน สุดท้ายก่อนออกจากงาน ตรงนี้เข้าใจผิดกันเยอะ สำหรับค่าชดเชยส่วนที่เหลือจากการยกเว้นภาษีเงินได้ ผู้ที่ได้รับค่าชดเชยจะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม ปกติ

ตัวอย่าง ได้รับเงินชดเชย 5 แสนบาท แต่ค่าจ้าง 300 วัน สุดท้ายก่อนออกจากงานเท่ากับ 2.5 แสนบาท จะได้รับยกเว้นภาษีเท่ากับ 2.5 แสนบาทเท่านั้น แต่ถ้าหากค่าจ้าง 300 วันสุดท้าย เท่ากับ 3.5 แสนบาท ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเท่ากับ 3 แสนบาท

ค่าชดเชยส่วนที่เหลือจากการยกเว้นภาษี ลูกจ้างหรือพนักงาน ที่ทำงานมาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถเลือกที่จะนำเงินค่าชดเชยส่วนที่เหลือจากการยกเว้นภาษีไปแยกคำนวณตาม ใบแนบแบบ ภ.ง.ด.91 แยกต่างหากจากเงินเดือนค่าจ้างที่กรอกในแบบ ภ.ง.ด.91 ได้ ผลก็คือทำให้เสียภาษีน้อยลงมาบ้างเพราะฐานภาษีถูกแยกออกไป กรณีที่ทำงานไม่ถึง 5 ปี จะต้องนำค่าชดเชยไปรวมกับเงินเดือนค่าจ้างในแบบ ภ.ง.ด.91 เท่านั้น ไม่มีสิทธิเลือกคำนวณตามใบแนบ

สำหรับท่านที่ได้รับค่าชดเชย แต่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ไม่ว่าจากเหตุใดก็ตาม หากทำงานมาไม่น้อยกว่า 5 ปี จะได้สิทธิแยกคำนวณภาษีตามใบแนบแบบ ภ.ง.ด.91 ได้เช่นเดียวกัน

ท่านที่ได้รับเงินค่าชดเชยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ต้องเป็นไปตาม เงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น และอย่าลืมให้นายจ้างออกหนังสือเป็นหลักฐาน โดยระบุว่าออกจากงานเพราะสาเหตุใด ผู้ออกจากงานเริ่มทำงานและออกจากงานวัน เดือน ปีใด เงินเดือน 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานแต่ละเดือน จะได้ใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบเสียภาษีต่อไปครับ

ที่มา…โพสต์ ทูเดย์

อ้างอิงวิธีการคำนวณตามประกาศของสรรพากร ประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 45

เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี RMF-LTF เป็น 700,000

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 267 (พ.ศ. 2551)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

—————————–

อาศัย อำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของ ( 55 ) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

“ในปีภาษี 2551 หากผู้มีเงินได้มีการซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้เงินได้ตามวรรคหนึ่งเท่ากับส่วนที่ไม่เกินเจ็ดแสนบาท แต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินได้พึงประเมิน และในกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวได้จ่ายเงินสะสมตามวรรคสองด้วย เมื่อรวมเงินได้กับเงินสะสมแล้วต้องไม่เกินเจ็ดแสนบาท ทั้งนี้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และให้นำความในวรรคสามมาใช้บังคับด้วย”

ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของ ( 66 ) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

“ในปีภาษี 2551 หากผู้มีเงินได้มีการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้เงินได้ตามวรรคหนึ่งเท่ากับส่วนที่ไม่เกินเจ็ดแสนบาท แต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นและการถือหน่วยลงทุนดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และให้นำความในวรรคสามมาใช้บังคับด้วย”

ให้ไว้ ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สุชาติ ธาดาดำรงเวช
(นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

——————————————————————————————————————–

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยง ชีพและกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนภายในประเทศอันจะทำให้เศรษฐกิจขยาย ตัวเพิ่มขึ้น และป้องกันไม่ให้ตลาดทุนภายในประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สมควรเพิ่มวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนรวมหุ้น ระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กรณีที่ได้มีการลงทุนใน กองทุนทั้งสองดังกล่าวในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

(ร.จ.ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 125 ตอนที่ 130 ก วันที่ 16 ธันวาคม 2551)