พฤศจิกายน, 2013 | รับทำเงินเดือน พฤศจิกายน, 2013 | รับทำเงินเดือน

การนับรอบระยะเวลาบัญชี กรณีรอบไม่ได้สิ้นสุดเดือนธันวาคม

คุณโคมทอง ราษฎร์เจริญ ได้โพสต์ไปยัง Suthep Pongpitak เมื่อ 24 ก.ค. 2556 ประมาณ 22 นาทีที่แล้วว่า
"ขอเรียนถามอาจารย์สุเทพ เกี่ยวกับเรื่องรอบระยะเวลาบัญชี เช่น กรณีบริษัทมีรอบฯ บัญชี 1 มิถุนายน 2555 – 31 พฤษภาคม 2556 ในกรณีนี้เรียกว่ามีรอบฯ บัญชีปี 2555 หรือ 2556 คะ"

Suthep Pongpitak ได้โพสต์ตอบไปเมื่อ 16.40 น. ว่า
"กรณีตามข้อถาม เรียกว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ครับ แต่ควร () วงเล็บให้ทราบกรอบของรอบระยะเวลาบัญชีไว้ด้วย
วิธีการนับรอบระยะเวลาบัญชีที่ถ่ายทอดกันมาแต่เก่าก่อน ซึ่งทุกวันนี้อาจจางหายไปมากแล้ว เพราะไม่ค่อยจะได้มีการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลัน กล่าวคือ ให้นำ 150 วัน บวกเข้าไปในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วลบด้วย 1 ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้นับเป็นรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้น

ตัวอย่าง เช่น รอบระยะเวลาบัญชี 1 เม.ย. 2554 ถึง 31 มีนาคม 2555 ให้นำ 150 วัน (กำหนดเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร) มาบวกเข้าไป ก็จะได้วันสุดท้ายของกำหนดเวลาดังกล่าว คือ วันที่ 28 สิงหาคม 2555 เช่นนี้ ตกปี 2555 นำมาลบออกด้วย 1 คงเหลือ 2554 จึงำกำหนดให้เรียกรอบระเวลาบัญชีดังกล่าวว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2554 หรือ

รอบ ระยะเวลาบัญชี 1 ต.ค. 2554 ถึง 30 กันยายน 2555 ให้นำ 150 วัน (กำหนดเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร) มาบวกเข้าไป ก็จะได้วันสุดท้ายของกำหนดเวลาดังกล่าว คือ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 เช่นนี้ ตกปี 2556 นำมาลบออกด้วย 1 คงเหลือ 2555 จึงำกำหนดให้เรียกรอบระเวลาบัญชีดังกล่าวว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เป็นต้น

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

ซื้อเครื่องจักรเก่ามาซ่อม เพื่อส่งออกไปยังบริษัทแม่ที่ต่างประเทศ

คุณ Nuttakan Wongviboonsin ได้โพสต์ไปเมื่อ 22 ก.ค. 2556 ว่า
"เรียนถามอาจารย์ที่เคารพค่ะ
บริษัทในไทย ซื้อเครื่องจักรเก่าและนำมาซ่อม วัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศเกาหลี โดยบริษัทแม่ได้ส่งเงินมาให้ 2 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ (ที่ไม่สามารถหาซื้อในเมืองไทยได้) มาเพื่อใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมเครื่องจักร ตอนนี้ยังซ่อมไม่เสร็จจึงยังไม่ได้ส่งเครื่องจักรไปยังเกาหลี
ขอความกรุณาเรียนถามค่ะว่า
1. การได้รับเงินจากบริษัทแม่ ถือเป็นรายได้จากการส่งออกที่เสียVAT อัตราร้อยละ 0 และถือเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่ได้รับเงิน ใช่ไหมคะ แม้ว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้ส่งเครื่องจักรไปประเทศเกาหลี และในวันที่ส่งออกเครื่องจักร เราต้องแสดงมูลค่าเครื่องจักรใน Invoice เป็นเท่าไหร่ และบริษัทฯ ไม่ต้องนำมูลค่าเครื่องจักรไปลงในรายงานภาษีขายอีก เพราะได้ยื่นไปรายได้ตามจำนวนเงินที่ได้รับไปแล้วในเดือนที่รับเงิน ใช่ไหมคะ
2. การได้รับชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์จากบริษัทแม่ ต้องถือเป็นรายได้จากการส่งออกที่เสีย VAT อัตราร้อยละ 0 และถือเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่ได้ชิ้นส่วน ด้วยหรือไม่
หนูอ่าน FAQ จากเว็ปกรมสรรพากร
คำถาม : บริษัทได้รับเงินช่วยเหลือจากบริษัทแม่ในต่างประเทศโดยไม่มีเงื่อนไขต้องนำเงินช่วยเหลือมาเสียภาษีหรือไม่
คำตอบ : เงินที่ได้รับจากการช่วยเหลือจากบริษัทแม่ถือเป็นรายได้เนื่องจากกิจการต้องนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
หนูขอความกรุณาถามเพิ่มเติมค่ะ
เงินช่วยเหลือนี้จะต้องถือเป็นรายได้ที่ต้องแสดงในแบบ ภ.พ.30 ด้วยหรือไม่คะ และต้องเสียภาษีในอัตราใด
กราบขอบพระคุณอาจารย์มาล่วงหน้า"
เรียน คุณ Nuttakan Wongviboonsin
เนื่องจากไม่มีโอกาสได้ซักถามข้อเท็จจริงอื่นจนกระจ่างชัดที่จะตอบให้ดีกว่าที่มี จึงพิจารณาจากข้อมูลที่ให้มา
1. บริษัทในไทย ซื้อเครื่องจักรเก่าและนำมาซ่อม วัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศเกาหลี (ไม่ทราบว่านำเข้าหรือซื้อในประเทศ ซื้อจากบริษัทแม่หรือซื้อจากคนอื่น)
– ถือว่าบริษัทฯ ซื้อสินค้าเครื่องจักรเก่าเพื่อนำมาซ่อมเพื่อขายให้แก่บริษัทแม่ในประเทศเกาหลี
– รายจ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ซื้อจนกระทั่งซ่อมเสร็จถือเป็นต้นทุนของสินค้าเครื่องจักรนั้น
– บริษัทฯ ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ และบันทึกต้นทุนสินค้าเครื่องจักรเก่าเป็นรายชิ้น (Specific Item Method)
2. บริษัทแม่ได้ส่งเงินมาให้ 2 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ (ที่ไม่สามารถหาซื้อในเมืองไทยได้) มาเพื่อใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมเครื่องจักร
– เมื่อเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าเครื่องจักร โดยการส่งออกไปให้บริษัทแม่ในประเทศเกาหลี ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงย่อมเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรสำหรับสินค้าเครื่องจักรเก่าที่ได้ซ่อมเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ตามนัยมาตรา 78 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
"(4) การขายสินค้าโดยส่งออก ให้ความรับผิดเกิดขึ้นดังต่อไปนี้
(ก) การส่งออกนอกจากที่ระบุใน (ข) หรือ (ค) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออก ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร…"
– ดังนั้น เงินจำนวน 2 ล้านบาท ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ที่บริษัทฯ ส่งมาให้นั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรับชำระราคาค่าสินค้า บริษัทฯ จึงยังไม่ต้องนำไปบันทึกในรายงานภาษีขาย จนกว่าจะได้ส่งออกเครื่องจักรไปให้บริษัทแม่ในประเทศเกาหลี โดยถือเป็นรายได้รับล่วงหน้าค่าขายสินค้า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนหากเงินที่ได้รับเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้ใช้ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ได้รับเงินจากบริษัทแม่
– ในขณะที่บริษัทฯ ได้นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ บริษัทฯ ตัองสำแดงในใบขนสินค่า เพื่อเสียอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วนำมาบันทึกเป็นต้นทุนเครื่องจักร (เพื่อรอการขาย – ส่งออก) ต่อไป มูลค่าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ (ตามที่บริษัทแม่แจ้ง) ถือเป็นทั้งมูลค่าต้นทุนและรายได้รับล่วงหน้า เช่นเดียวกับเงิน 2 ล้านบาท

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. เนื่องจากการได้รับเงินจากบริษัทแม่ ถือเป็นรายได้จากการส่งออกสินค้าที่เสีย VAT อัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อผ่านพิธีการทางศุลกากร ให้บริษัทฯ นำไปบันทึกในรายงานภาษีขายและแสดงเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่มีการส่งออก โดยผ่านพิธีการทางศุลกากรไปยังประเเทศเกาหลี
ในวันที่ส่งออกเครื่องจักร เราต้องแสดงมูลค่าเครื่องจักรใน Invoice ตามราคาตลาดที่ควรจะเป็น แต่ไม่ต่ำกว่า "2 ล้านบาท" (ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริง ณ วันที่ได้รับเงิน) บวกค่าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์
2. การได้รับชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์จากบริษัทแม่ ได้อธิบายในข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว โดยบริษัทฯ ต้องนำไปถือเป็นทั้งต้นทุนและรายได้จากการส่งออกเครื่องจักรที่เสีย VAT ในอัตราร้อยละ 0 และถือเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่มีการส่งออกเครื่องจักรเก่านั้นออกไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ เพราะถือเป็นการขายสินค้า – ส่งออก ที่มิใช่การให้บริการในราชอาณาจักร และมีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามที่ได้วิเคราะห์ไว้ข้างต้น
ปล. ตาม FAQ เป็นกรณีเงินอุดหนุนให้เปล่าที่มิได้หวังสิ่งตอบแทน มิใช่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่คุณ Nuttakan ได้เล่าไปว่า บริษัทฯ ได้ซื้อเครื่องจักรมาซ่อมเพื่อส่งไปให้บริษัทแม่ โดยบริษัทแม่จ่ายค่าเครื่องจักรมา 2 ล้านบาท พร้อมทั้งอะหลั่ยชิ้นส่วนอันเป็นสัญญาต่างตอบแทน (ซื้อขาย) มิใช่การให้เปล่า ทั้งนี้ เว้นแต่ ข้อเท็จจริงจะเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างไปจากที่ได้รับข้างต้น
ฉะนั้น ขอความกรุณาเถอะแม่คุณ พ่อทูนหัวทั้งหลาย อย่าประหยัดเวลาในการเล่าข้อเท็จจริง ไตร่ตรองให้รอบคอบเรียบเรียงให้ดี เสียก่อน อย่าพลีพลามอยากจะได้คำตอบ ซึ่งถามไปก็เทานั้น ไม่ได้ความจริงที่ถูกต้อง ขอให้ "หมดเปลือก" ไปเลย เหมือนไปหาหมอ ไม่เล่าอาการ ก็จะได้แต่ยาแก้ปวดเท่านั้น ซึ่งอาจรักษาอะไรไม่ได้เลย เสียทัังคนไข้และหมอ

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

ค่ารับรอง หรือค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ

คุณ Atoy Wan ได้โพสต์จากบริเวณ Bangkok ไปยัง Suthep Pongpitak เมื่อ 19 ก.ค. 2556 ประมาณ 9 ชั่วโมงที่แล้ว ว่า
"เรื่องภาษีซื้อต้องห้ามลักษณะตามมาตรา 82/5 ในเรื่องภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันลักษณะทำนองเดียวกัน
สอบถามค่ะว่า ในกิจกรรมต่อไปนี้ เข้าลักษณะตามมาตรานี้หรือเปล่าค่ะ
1. ค่าอาหารและเครื่องดื่ม การจัดสัมมนาโดยเก็บค่าเข้าร่วมสัมมนา
2. ค่าอาหารและครื่องดื่ม ประชุมคณะกรรมการประจำเดือน
3. ค่าอาหารและเครื่องดื่มกิจกรรมสำหรับสมาชิก (มีการเก็บค่าบำรุงสมาชิกรายปี)"

เรียน คุณ Atoy Wan
เพื่อให้เห็นภาพของค่ารับรองหรือคาบริการ ขอนำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับค่ารับรองและค่าเลี้ยงรับรอง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินค่ารับรอง ชาวต่างประเทศ พ.ศ.2536 ดังนี้
"ค่ารับรอง หมายถึง ค่าเลี้ยงรับรอง ค่าที่พัก ค่ายานพาหนะ ค่าจัดการแสดงหรือค่าเข้าชมการแสดงเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการรับรองชาวต่างประเทศ
"ค่าเลี้ยงรับรอง หมายถึง ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าเครื่องใช้ในการเลี้ยงรับรอง และรวมถึงค่าบริการ ค่าภาษี และค่าสถานทีี (ถ้ามี)
ตัวอย่างค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรับรอง
1. ค่าเลี้ยงรับรอง ประกอบด้วย
1.1 อาหารเช้า
1.2 อาหารว่างและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
1.3 อาหารกลางวัน (รวมเครื่องไม่มีแอลกอฮอล์)
1.4 คอทเทล
1.5 อาหารค่ำ (รวมเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์)
2. ค่าที่พัก
2.1 หัวหน้าคณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไป
2.2 หัวหน้าคณะดำรงตำแหน่งต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า
2.3 ผู้ร่วมคณะ
3. ค่าพาหนะและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นในระหว่างการเดินทาง
ภายในประเทศเพื่อการรับรองชาวต่างประเทศให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง
3.1 ค่าพาหนะ เช่น ค่าเช่ารถ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ ฯลฯ
3.2 ค่าธรรมเนียมสนามบิน ค่าธรรมเนียมผ่านทาง ค่าบริการจอดรถ
4. ค่าบัตรเข้าชมการแสดงหรือสถานที่สำคัญเพื่อเป็นการเผยแพร่ส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง
5. ค่าของขวัญ
5.1 หัวหน้าคณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไป และสำหรับคู่สมรสให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราดังกล่าว
5.2 หัวหน้าคณะดำรงตำแหน่งต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการ ระดับกรมหรือเทียบเท่า
6. ค่าการแสดง การแสดงที่เป็นการเผยแพร่ส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
6.1 ค่าการแสดงนาฎศิลป์
6.2 ค่าดนตรีและนักร้อง
6.3 ค่าดุริยางค์
7. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา กรณีแขกชาวต่างประเทศดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือเทียบเท่าขึ้นไป
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. ภาษีซื้อสำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม การจัดสัมมนาโดยเก็บค่าเข้าร่วมสัมมนา ไม่ถือเป็นค่ารับรอง แต่ถือเป็นรายจ่ายในการประกอบกิจการทีอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงให้นำไปใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไม่ต้องห้ามตามาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
2. ค่าอาหารและครื่องดื่ม ประชุมคณะกรรมการประจำเดือน ไม่ถือเป็นค่ารับรอง แต่ถือเป็นรายจ่ายในการประกอบกิจการทีอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงให้นำไปใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไม่ต้องห้ามตามาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
3. ค่าอาหารและเครื่องดื่มกิจกรรมสำหรับสมาชิก (มีการเก็บค่าบำรุงสมาชิกรายปี) ถ้ามีวัตถุประสงค์อย่างอื่นที่มิใช่การรับรองหรือการบริการ ก็ย่อมไม่ถือเป็นค่ารับรอง แต่ถือเป็นรายจ่ายในการประกอบกิจการทีอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงให้นำไปใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไม่ต้องห้ามตามาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak