ค่าขนส่ง การหักภาษี ณ จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมคำถามคำตอบ | รับทำเงินเดือน ค่าขนส่ง การหักภาษี ณ จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมคำถามคำตอบ | รับทำเงินเดือน

ค่าขนส่ง การหักภาษี ณ จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมคำถามคำตอบ

คำถาม: หาก กิจการประกอบกิจการขายสินค้า ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระ แต่มีการเรียกเก็บค่าขนส่งเพิ่มจากค่าสินค้า ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายค่าขนส่งที่เรียกเก็บหรือไม่ (401164)

คำตอบ: ค่าขนส่งที่เรียกเก็บเพิ่มจากค่าขายสินค้า ไม่ว่าจะเรียกเก็บค่าขนส่งรวมกับราคาสินค้า หรือ แยกออกจากราคาสินค้า ค่าสินค้าที่รวมกับค่าขนส่ง ถือเป็นเงินได้จากการขายสินค้า ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

คำถาม: การจ่ายค่าขนส่ง ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร (401281)

คำตอบ: การจ่ายค่าขนส่ง แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ 
             1. ผู้จ่ายเงินเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพราะไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
             2. ผู้จ่ายเงินเป็นนิติบุคคล และจ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลในประเทศ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิ หรือสมาคม ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

คำถาม: บริษัทว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขนส่งคนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราใด (401284)

คำตอบ: หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ (จะถือเป็นค่าขนส่ง คือต้องไม่มีการส่งมอบการครอบครองรถ และมีจุดรับส่งแน่นอน)

คำถาม: กรณี บริษัทขนส่งจดทะเบียนเป็นธุรกิจประเภทขนส่ง รับจ้างขนส่งให้บริษัทผู้ว่าจ้าง จะหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร (มีทั้งค่าเที่ยวและค่าแรงในใบแจ้งหนี้ใบเดียวกัน) และหากเป็นบุคคลธรรมดามารับจ้างขนส่งสินค้าให้บริษัทในกรณีเดียวกันจะหัก ภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร (401617)

คำตอบ: ถือเป็นการจ่ายค่าขนส่งทั้งจำนวน ไม่ว่าจะจ่ายให้กับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

คำถาม: กรณีบริษัทจ้างรถขนของจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ (401637)

คำตอบ: ไม่ว่าจะจ่ายให้กับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ (จะถือเป็นค่าขนส่ง คือต้องไม่มีการส่งมอบการครอบครองรถ และมีจุดรับส่งแน่นอน)

คำถาม: บริษัทในประเทศได้ว่าจ้าง บริษัท Forwarding เพื่อขนส่งสินค้าให้ในต่างประเทศ ค่าขนส่งสินค้าจะต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ (401682)

คำตอบ: การให้บริการขนส่งสินค้าในต่างประเทศดังกล่าวถือเป็นการให้บริการที่กระทำ นอกราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นนอกราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544ฯ

คำถาม: บริษัท ว่าจ้างรถยกมายกสินค้า จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร (401707)

คำตอบ: กรณีจ้างรถยกมายกสินค้า หากไม่มีการให้บริการอย่างอื่นด้วย ถือเป็นการจ่ายเงินได้ค่าขนส่ง ไม่ว่าบริษัทจะจ่ายให้กับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

คำถาม: บริษัทจ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้กับบริษัทสายการบินไทย โดยการขนส่งสินค้าออกทางท่าอากาศยาน ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร (401735)

คำตอบ: ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของค่าขนส่งตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล)  ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.126/2546ฯ

คำถาม: ผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าพร้อมค่าขนส่ง จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร (401749)

คำตอบ: ผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการขายสินค้า ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระ ขายสินค้าให้แก่ลูกค้า โดยขนส่งสินค้าให้และเรียกเก็บค่าขนส่งเพิ่มจากค่าสินค้า ไม่ว่าจะเรียกเก็บ ค่าขนส่งรวมกับราคาสินค้าหรือแยกออกจากราคาสินค้า  ค่าสินค้ารวมกับค่าขนส่ง ถือเป็นเงินได้จากการขายสินค้า ต้องนำมูลค่าของสินค้าและค่าขนส่งมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำถาม: จ่ายค่าขนส่งให้กับรถตู้ Container และค่าแรงงาน คนละบริษัทกัน ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร (401950)

คำตอบ: ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 สำหรับเงินได้ที่จ่ายให้รถตู้ Container และหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 สำหรับการจ่ายค่าแรง แต่หากเป็นการจ่ายให้กับบริษัทเดียวกัน ถือเป็นการจ่ายค่าขนส่งทั้งจำนวน ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนทั้งหมด (ค่ารถตู้และค่าแรง)

คำถาม: บริษัทเป็นผู้จ่ายค่าขนส่งสินค้า เมื่อขายสินค้าให้กับลูกค้า บริษัทจะต้องเรียกเก็บค่าขนส่งจากลูกค้าและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร (402264)

คำตอบ: กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการขายสินค้า ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระ เมื่อขายสินค้าให้แก่ลูกค้า โดยขนส่งสินค้าให้และเรียกเก็บค่าขนส่งเพิ่มจากค่าสินค้า ไม่ว่าจะเรียกเก็บ ค่าขนส่งรวมกับราคาสินค้าหรือแยกออกจากราคาสินค้า ค่าสินค้ารวมกับค่าขนส่ง ถือเป็นเงินได้จากการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องนำมูลค่าของสินค้าและค่าขนส่งมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำถาม: ห้าง ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ได้ว่าจ้างบุคคลธรรมดาที่มีรถบรรทุก ขนวัสดุก่อสร้างไปยังหน้างาน โดยตกลงว่าจ้างกันเป็นรายเที่ยว จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร (402667)

คำตอบ: บุคคลธรรมดา ได้รับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าขนส่งซึ่งมิใช่การขนส่งสาธารณะ จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะแบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึง 1,000 บาท บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/4 และ 12/5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

คำถาม: บริษัทขายสินค้าพร้อมขนส่ง คำนวณภาษีขายอย่างไร (403608)

คำตอบ: กรณีบริษัทขายสินค้าพร้อมให้บริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย โดยบริษัทไม่ได้เป็นผู้ประกอบการขนส่งเป็นปกติ แม้บริษัทจะออกใบกำกับภาษีโดยระบุราคาสินค้าและค่าขนส่งแยกออกจากกัน บริษัทต้องนำมูลค่าของสินค้าซึ่งรวมค่าขนส่งมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีสำหรับการ ขายสินค้าเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร

คำถาม: จ่ายค่าขนส่งสินค้าโดยทางเรือ (ทางทะเล) กรณีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ (404046)

คำตอบ: จ่ายค่าขนส่งสินค้าขาเข้าทางทะเล  ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้
              1. กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าระวางให้กับสายการเดินเรือ โดยสายการเดินเรือออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder)  กรณีสายการเดินเรือเป็น
               (1) สายการเดินเรือไทยที่เข้าลักษณะ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 314) พ.ศ.2540 ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 
               (2) สายการเดินเรือต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการจ่ายค่าขนส่งสินค้าขาเข้า ซึ่งไม่เป็นฐานภาษีในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 
              2. กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder B) จ่ายค่าระวางให้กับ Forwarder A โดย Forwarder A กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของ Forwarder ในต่างประเทศ และได้ออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ ถือว่าผู้ใช้บริการจ่ายค่าขนส่งสินค้าขาเข้าซึ่งไม่เป็นฐานภาษีในการเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในส่วนที่กระทำการแทนนั้น แต่ผู้ใช้บริการยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ของค่าบริการที่ Forwarder A ได้รับจากการดำเนินการแทน(Handling Charge)

คำถาม: บริษัท ซื้อสินค้าจากบริษัทในสวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีสถานประกอบการในไทย และให้ส่งสินค้าให้ด้วย บริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร เมื่อจ่ายค่าสินค้า เนื่องจากในใบเสร็จรับเงิน แสดงยอดค่าซื้อสินค้า และค่าขนส่ง (404088)

คำตอบ: ค่าขนส่ง เป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ค่าซื้อสินค้าและค่าขนส่ง ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด

คำถาม: บริษัท จ่ายค่าขนส่งเอกสาร พัสดุภัณฑ์ สินค้า และสิ่งของ ให้กับบริษัทที่ประกอบกิจการรับขนส่งเอกสารด้วยรถจักรยานยนต์ ตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างอาจเรียกใช้เป็นครั้งคราว หรือเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน เรียกเก็บค่าขนส่งจากระยะทางใกล้หรือไกล และหรือไม่ (404634)

คำตอบ: การให้บริการข้างต้นเข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร  ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ  1 ตามข้อ 12/4(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ และได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร

คำถาม: กิจการซื้อขายสินค้า มีค่าขนส่งหรือค่าบริการที่เกิดจากการขายสินค้า จะต้องหัก ณ ที่จ่ายสำหรับค่าขนส่งหรือค่าบริการนั้นหรือไม่ (404653)

คำตอบ: กรณีขายสินค้าโดยผู้ขายได้เรียกเก็บค่าขนส่งจากผู้ซื้อสินค้าโดยจะแยกราคา ค่าสินค้าและค่าขนส่งออกจากกันหรือไม่ ถือเป็นการขายสินค้า ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย  เว้นแต่ผู้ขายสินค้าได้ประกอบกิจการรับขนส่งเป็นปกติอยู่แล้ว และได้มีการขายสินค้าโดยได้ใช้รถยนต์ที่รับขนส่งมาขนส่งสินค้าให้บริษัท ลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากตนเอง และเรียกเก็บค่าขนส่งแยกต่างหากจากกัน กรณีนี้บริษัทลูกค้าจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าขนส่ง ในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

คำถาม: กรณี จ้างรถเครนยกหรือย้ายเสาปูน ถือเป็นค่าเช่าหรือค่าขนส่ง และในกรณีรถขนปูนผงมาส่งให้บริษัท โดยคิดค่าขนส่งรวมกับราคาสินค้า แต่แยกรายการสินค้าและค่าขนส่ง ต้องหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ (404683)

คำตอบ:  หากรับจ้างขนยกอย่างเดียวและการครอบครองรถไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าจ้าง การขนยกดังกล่าวเป็นการขนส่งหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ หาก ผู้ขายเรียกเก็บเป็นค่าสินค้าและค่าขนส่ง โดยผู้ขายไม่ได้ประกอบธุรกิจรับขนส่ง เป็นค่าสินค้ารวมค่าขนส่งถือเป็นค่าตอบแทนจากการซื้อขายสินค้า ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แม้จะแยกรายการเรียกเก็บเงิน

คำถาม: ผู้ ใช้บริการ ใช้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน (ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ) เมื่อจ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้กับสายการบินต่างๆ เช่น Fedex ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ (404699)

คำตอบ: 1. กรณีจ่ายให้กับสายการบินไทย ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ของยอดรวมทั้งหมด และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับสายการบิน
             2. กรณีจ่ายให้กับสายการบินต่างประเทศ ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับ ไทย ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ของยอดรวมทั้งหมด และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับสายการบิน
             3. กรณีจ่ายให้กับสายการบินต่างประเทศ ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย หากอนุสัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดให้เก็บภาษีได้เฉพาะในรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น เท่านั้น ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่หากอนุสัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดให้เก็บภาษีได้ ในอัตราร้อยละ 1.5 ของรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.5 ของยอดรวมทั้งหมด และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับสายการบิน อนึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการปรับลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินค่าขนส่ง จากอัตราร้อยละ 3 เป็นอัตราร้อยละ 1 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544 เป็นต้นไป ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.104/2544ฯ ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.126/2546ฯ

คำถาม: บริษัทจ้างบริษัทชิปปิ้งเดินพิธีการออกของให้ ทางบริษัทชิปปิ้งจะคิดค่าบริการ หักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร (404726)

คำตอบ: กรณีบริษัทชิปปิ้งเป็นผู้ประกอบการให้บริการดำเนินการออกของจากการท่าเรือ และให้บริการขนส่งสินค้าแก่ลูกค้าด้วย หากบริษัทชิปปิ้งมิได้เป็นผู้ประกอบการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ แม้บริษัทชิปปิ้งจะได้ให้บริการขนส่งสินค้าแก่ลูกค้าด้วยไม่ว่าจะใช้ยาน พาหนะของตนเองหรือผู้อื่น และไม่ว่าจะแยกค่าขนส่งออกจากราคาค่าบริการออกของได้หรือไม่ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ  ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

คำถาม: บริษัท นำเข้าสินค้าจากสิงคโปร์ บริษัทผู้ขายได้ส่งบิลมาเรียกเก็บค่าขนส่งจากบริษัท เมื่อบริษัทจ่ายค่าขนส่งดังกล่าวจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ (405617)

คำตอบ: ค่าขนส่งเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นค่าซื้อสินค้าและค่าขนส่ง ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด

คำถาม: บริษัท จ่ายค่าขนส่งสินค้าโดยระบบคอนเทนเนอร์ จำนวน 1,600 บาท และค่าบริการ Handling Charge จำนวน 500 บาท ซึ่งออกใบแจ้งหนี้ 2 ฉบับ บริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ (408279)

คำตอบ: :บริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ค่าขนส่งและค่าบริการ เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินที่มีจำนวนตามสัญญารายหนึ่งๆ จำนวนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้
          ค่าขนส่งสินค้าโดยระบบ คอนเทนเนอร์ ที่ระบุไว้ใน Freight Invoice ถือเป็นค่าขนส่ง อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ประกอบกับข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.110/2545ฯ
          ค่าบริการ (Handling Charge)  ในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ประกอบกับข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.110/2545ฯ

คำถาม: การ ให้บริการเช่ารถแม็คโครและขนรถแม็คโครไปยังสถานที่ที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ถือเป็นค่าบริการทั้งหมดหรือไม่ สามารถแยกเป็นค่าขนส่งและค่าเช่าได้หรือไม่ (409227)

คำตอบ: การให้บริการเช่ารถแม็คโครและขนรถแม็คโครไปยังสถานที่ที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ค่าเช่ารวมกับค่าขนส่งดังกล่าว ถือเป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นผู้จ่ายค่าเช่ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ตามข้อ 6(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

คำถาม: บริษัท รับจ้างขนส่งหน้าดินและจะต้องมีการเกลี่ยปรับให้เรียบร้อยตามที่ผู้ว่าจ้าง กำหนด ได้เรียกเก็บค่าขนส่งแยกต่างหาก เมื่อบริษัทผู้ว่าจ้างจ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ (409601)

คำตอบ: เป็นการมุ่งจะปฏิบัติตามสัญญาเพื่อผลสำเร็จของงาน เข้าลักษณะสัญญาจ้างทำของ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

คำถาม: บริษัท เป็นสาขาของบริษัทในสหรัฐอเมริกา มีรายได้จากการขนส่งพัสดุทางอากาศเร่งด่วนระหว่างประเทศ (International Priority) ทั้งขาเข้า และขาออกตามสัญญารับขนที่ทำกับลูกค้า ในการให้บริการขนส่งพัสดุแบบเร่งด่วนต้องดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรสำหรับ พัสดุที่นำเข้าหรือส (409739)

คำตอบ:
          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีหัก ณ ที่จ่าย
              (1) ค่าขนส่งพัสดุระหว่างประเทศ เนื่องจากค่าบริการรับขนพัสดุระหว่างประเทศเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการ ดำเนินการเดินอากาศยานในการจราจรระหว่างประเทศ ดังนั้น หากบริษัทมีถิ่นที่อยู่ในทางภาษีอากรในสหรัฐอเมริกา และไม่ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ในการใช้อนุสัญญา ตามข้อ 18 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ค่าบริการรับขนดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในไทย ตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง (ก) แห่งอนุสัญญาดังกล่าว และ มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 และเมื่อลูกค้าจ่ายค่าขนส่งดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย  
              (2) ค่าภาษีศุลกากรที่สำรองจ่ายไป และเรียกเก็บคืนตามจำนวนที่จ่ายจริง เนื่องจากค่าภาษีศุลกากรจากการนำเข้าหรือส่งออกพัสดุเป็นภาระของลูกค้า จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเมื่อลูกค้าจ่ายค่าภาษีศุลกากรดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย  
              (3) ค่าธรรมเนียมการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากร ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากกิจการที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการขน ส่ง ดังนั้นเงินได้ดังกล่าวจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเงินได้จากการขนส่งทางอากาศ ระหว่างประเทศ แต่ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ฉะนั้น เมื่อบริษัทให้บริการกับลูกค้าถือเป็นให้บริการผ่านสถานประกอบการถาวรในไทย ตามข้อ 5 วรรคสอง แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าว บริษัทต้องนำค่าธรรมเนียมดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคล ตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่งแห่งอนุสัญญาดังกล่าว และเมื่อลูกค้าจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม  
             (1) ค่าขนส่งพัสดุระหว่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานที่กระทำโดยผู้ ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร
             (2) ค่าภาษีศุลกากรที่สำรองจ่ายไป และเรียกเก็บคืนตามจำนวนที่จ่ายจริง เนื่องจากค่าภาษีศุลกากรจากการนำเข้าหรือส่งออกพัสดุเป็นภาระของลูกค้า จึงไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
             (3) ค่าธรรมเนียมการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากร เข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบการ ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ผู้เรียบเรียง : เกียรติชัย

Comments

  1. สุดารัตน์ สังข์ทอง says:

    กรณีเราเป็นผู้นำเข้าสินค้า ณ ตอนคืนตู้คอนเทนเนอร์ เกิดการชำรุด มีการเรียกเก็บเงินค่าซ่อมตู้ ค่าล้างตู้ เราต้องหัก ณ ที่จ่ายไหมค่ะ

  2. กรณีเราเป็นคนส่งสินค้าไปต่างประเทศโดยจ้างบริษัทชิปปิ้งเป็นผู้เดินเอกสาร พอถึงเวลาเก็บเงินทางสายการบินที่เราใช้บริการจะส่งใบเรียกเก็บเงินมา สมมุติว่าส่งมายอด 100,000 ใครต้องออกภาษี ณ ที่จ่าย 3% และหักจากยอดไหนค่ะ ขอบคุณค่ะ

  3. ผมทำผู้ประกอบการรถตู้รับจ้างไม่ประจำทางเสียภาษี ณ ที่จ่าย1%แล้วสิ้นปีต้องเสียภาษีอีกมัยครับ

  4. ทำกิจการขนส่ง ได้รับยกเว้นvat อยากทราบว่า ใบเสร็จซื้อยางนี้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายแล้ว vat จากใบเสร็จซื้อยางนี้ เครดิตภาษีได้ไหมค่ะ

  5. ตอบคุณ paeng
    เนื่องจากรวมบิลมาทำให้แยกไม่ได้ครับ ต้องหักภาษีตามยอดเงินที่แจ้งมาครับ

  6. ถ้าเป็นกรณีให้ซ่อมแล้วเปิดบิลค่าซ่อมซึ่งมีค่าขนส่งด้วย
    สมมุติ จ้างบริษัท ก. ซ่อมที่นอนสปริง 50,000 (ก่อน vat)
    และ ในบิลค่าซ่อมมีค่าขนส่ง 5,500 บาท
    รวมในบิล 55,500 บาท(ก่อนvat)
    หลักการหักภาษีใช้หลักไหนค่ะ ต้องแบ่งหักยังไงค่ะ

  7. ตอบคุณ บี

    ค่าขนส่งต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1 เปอร์เซ็นครับ

  8. ตอบคุณ Jinda

    หาก หจกฯ ประกอบกิจการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ และสามารถแยกค่าขนส่งและค่าบริการอื่นๆ ออกจากกันได้ การให้บริการขนส่งดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร

  9. เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนเป็น บริษัทขนส่ง รับจ้างขนส่งปูนซีเมนต์ผสมเสร็จ จากผู้ว่าจ้าง บริษัทต้องโดนหัก ณที่ จ่าย กี่เปอร์เซ็นต์

    รบกวนตอบด้วยนะคะ

  10. หากเราเปิดหจกขนส่งสินค้าเราจะต้องเปิดใบกำกับให้กับลูกค้าไหมค่ะแล้วเอกสารที่ต้องออกมีอะไรบ้างค่ะเป็นหจก ที่มีรถรับจ้างขนสินค้านะค่ะ

  11. ตอบคุณ Boss

    1.สามารถหักได้ครับ ปกติกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
    2.เนื่องจากไม่ใช่การขนส่งสาธารณะ จึงไม่ได้รับการยกเว้นครับ
    3.กรณีเป็นพนักงานบริษัท ค่าคอมมิชชั่น และค่า Service ถือเป็นประโยชน์เพิ่มที่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย (ยื่น ภงด.1)

  12. ตอบคุณกันตพร

    กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะมีอยู่ส่วนหนึ่งที่สามารถเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (ไม่เข้าก็ได้) ถ้ากิจการของคุณกันตพรอยู่ในส่วนนี้ก็สามารถเปิดใบกำกับภาษีได้ครับ

  13. ผู็รู้รบกวนช่วยตอบคำถามด้วยครับ
    1. กิจการเป็นกิจการโรงแรม โดยจ้างบุคคลธรรมดารับส่งผู้โดยสารจากสนามบินมาที่โรงแรม กิจการสามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายจากการจ้างนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

    2.ในบิลของโรงแรมที่แจ้งค่าใช้จ่าย ในรายละเอียดได้ระบุไว้ว่ามีการชาร์ตค่าคนส่งด้วย ซึ่งทางเอเย่นทัวร์ของลูกค้าต้องการที่หัก ณ ที่จ่ายค่าขนส่งดังกล่าวก่อนจ่ายเงินให้โรงแรม กิจการสมควรยอมให้หักหรือไม่ เพราะเหตุใด

    3.พนักงานโรงแรมแต่ละคนจะได้รับค่าคอมมิชชั่นและ Service fee ทางโรงแรมได้หัก ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ3 สำหรับรายได้ดังกล่าวของพนักงาน ทางโรงแรมทำถูกต้องแล้วหรือไม่ เพราะเหตุใด

    ขอบคุณครับ

  14. อยากทราบว่า บริษัท ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ทางบริษัทได้จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วการออกใบส่งของ การออกใบเสร็จรับเงิน จะต้องมี VAT หรือไม่ การขอคืนภาษีคืนได้เต็มหรือป่าว

  15. ตอบคุณ Anurak

    ปกติให้ดูกิจกรรมหลักครับว่าให้มาทำอะไร เช่น ปกติเวลาบริษัทผมเช่ารถเครน 1 เดือน ผมก็จะหักภาษี ณ ที่จ่ายค่าเช่า 5% (ค่าเช่ารถเครน 1 เดือน ผู้ให้เช่าก็ต้องเอารถมาส่ง ครบกำหนด 1 เดือนก็ต้องมาขนกลับไป ราคาค่าเช่าก็น่าจะรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว)

    ส่วนค่าขนส่ง ถ้าต้องการแยกก็ให้แยกมา ถ้ารวมมาผมจะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่ารถเครน ถ้าให้ดีก็ให้บริษัทที่จ้างขนส่งมาเรียกเก็บแยกมาก็ดีครับ

  16. ในกรณีทำการเช่ารถยกไฟฟ้า และ มีการขนส่งรถยกด้วย
    โดยในใบกำกับภาษี แจ้งว่า
    รายการที่ 1 ค่าเช่ารถยกไฟฟ้า = 1,500.-
    รายการที่ 2 ค่าขนส่ง = 3,000.-
    รวมราคาสินค้า = 4,500.-
    ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% = 315.-
    รวมทั้งสิ้น = 4,815.-
    ในกรณีแบบนี้ ผู้จ่ายสามารถหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไร
    (หัก 5 % ทั้งจำนวนหรือเปล่า) จากการสอบถามผู้ให้เช่า มีการจดทะเบียนการขนส่ง
    แต่มาตรา 81 (1) (ณ) บอกว่า การจดทะเบียนประเภทนี้ได้รับยกเว้นภาษี
    แต่ถ้าในใบกำกับภาษีออกมามีภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นการขายทั้งจำนวน
    ***สรุป อย่ากสอบถามว่า ในกรณี หักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไร

  17. ตอบคุณ korn

    มีภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษี หัก ณ ที่จ่าย ครับ

  18. อยากทราบว่าเราจดทะเบียนบริษัทเกี่ยวกับขนส่ง เราต้องเสียภาษีอะไรบ้างค่ะ

  19. ตอบคุณ talaypu

    1.คำนวนภาษีตามมาตรา 50(1) แบบเงินเดือน อาจจะไม่ต้องหักภาษีก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะหักเหมา 3%
    2.ถูกต้องครับ

  20. ในการจ้างนั้นเราจ้างเป็นครั้งคราว คือในแต่ละรอบอาจไม่ใช่คนเดิม บางคนอาจจ้างแค่ครั้งเดียวตลอดปีน่ะค่ะ
    อยากถามว่า 1. ถ้าเราจ้างเค้ามาขับรถให้โดยใช้รถบริษัท ไม่ถือเป็นค่าขนส่ง แต่ให้ถือเป็นการรับจ้างทำงานให้ และหัก 3%
    2. ถ้าเราจ้างทั้งคนทั้งรถของเขาเลย จะถือเป็นการขนส่งไหมคะ? และหัก1%

    ขอบคุณค่ะ

  21. ตอบคุณ talapu

    กรณีนี้ไม่ถือเป็นค่าขนส่ง ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) รับจ้างทำงานให้ ซึ่งต้องคำนวณภาษี หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

    พูดง่ายเลยๆ คำนวณแบบเงินเดือน-ค่าแรง แต่ส่วนใหญ่แล้วหลายบริษัทมักจะหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ 3%

    ส่วนเงินค่าจ้าง จ่ายเท่าไหร่ก็นำมารวมคำนวณทั้งหมดครับ

  22. การจ้างคนขับรถขนส่งสินค้าให้ โดยใช้รถของบริษัท หักภาษี 1% ใช่ไหม?เช่น
    ค่าจ้างขนส่ง 1,800 บาท หัก 18 บาท จ่ายให้คนรับจ้าง 1,782 บาท
    แล้วกรณีมีค่าเสียเวลาที่เราให้เค้าเพิ่ม เช่น มีค่าเสียเวลา 736 บาท
    เวลาหัก ณ ที่จ่าย เราจะหักจากยอดค่าจ้าง 1,800 บาท หรือยอดที่รวมค่าเสียเวลา 1,800+736 แล้วคะ

  23. ตอบคุณ somkiat

    ปกติแล้วค่า freight ถือเป็นค่าขนส่ง อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อ 12/6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

    ส่วนค่าบริการที่เรียกเก็บ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3

  24. ผมอยากทราบว่าต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย กี่ % ในกรณีที่ทางผมเป็น Agent ขาย freight ให้กับ freight forwarder ครับ

  25. ตอบคุณน้ำตาล

    เมื่อบริษัทส่งของไปฝากขายที่ห้างต้องเปิดใบกำกับภาษีทันทีครับ ยกเว้นแต่ว่าบริษัททำสัญญาแต่งตั้งห้างเป็นตัวแทนขายจึงจะเปิดใบกำกับภาษีเมื่อตัวแทนขายขายสินค้าได้

  26. บริษัทแห่งหนึ่งนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ แล้วนำไปวางจำหน่ายห้างสรรพสินค้าต่างๆ อยากทราบว่าบริษัทต้องออกในกำกับภาษีอย่างไรเวลานำสินค้าไปฝากขาย และบริษัทจะรับรู้รายได้อย่างไร

  27. ตอบคุณ มิน

    สรรพากรตรวจสอบได้ครับ (อยู่ที่ว่าจะตรวจสอบหรือไม่) ส่วนภาษีที่หักไว้แล้วนำส่งตอนสิ้นปี ก็จะต้องจ่ายค่าเบี้ยปรับเงินเพิ่มด้วย

    ภงด.50 ยื่นไม่เกินเดือน พค.ของปีถัดไป (สำหรับงบรอบ 1 มค.-31 ธค.)

  28. แล้ววันที่กำหนดยื่นเสียภาษีสิ้นปีคือเมื่อไหร่

  29. ถ้าจ่ายเงินค่าขนส่งโดยเราหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว 1%แต่เรายังไม่ได้นำไปจ่ายภาษีหัก ณที่จ่ายค่าขนส่งตั้งแต่เดือน มี.ค.53จนถึงปัจจุบัน แต่เราทำหนังสือรับรองหัก ณที่จ่ายให้กับบริษัทขนส่งแล้วทางสรรพากรจะตรวจสอบได้อย่างไร แล้วถ้าเราจ่ายยอดรวมตอนเสียภาษีสิ้นปีจะได้หรือไม่

  30. ตอบคุณมิน

    เครดิตภาษี คือ ภาษีที่สามารถนำมาหักออกได้ ตอนยื่นแบบเสียภาษีประำจำปี

  31. เครดิตภาษีคืออะไรค่ะ

  32. ตอบคุณมิน

    หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายถือเป็นเครดิตภาษี ตอนยื่นเสียภาษีสิ้นปี สามารถนำมาหักยอดภาษีได้ครับ

  33. ถ้าเราได้รับหนังสือรับรองหัก ณที่จ่ายจากบริษัท เราเก็บไว้เป็นหลักฐานเฉยๆ หรือต้องนำไปยืนสรรพากร

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.