admin | รับทำเงินเดือน admin | รับทำเงินเดือน

แบบแจ้งการหักลดหย่อนภาษีเงินเดือน ลย.01 กรอกเยอะไป

ผมมักจะพบว่าบ่อยครั้งที่พนักงานมักจะกรอกแบบ ลย.01 ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ตั้งใจจะซื้อประกันชีวิต หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่พอสิ้นปีแจ้งว่าซื้อไม่ทัน ทำให้การคำนวณภาษีเงินเดือน ในปีที่ผ่านมา หักน้อยไป ซึ่งเค้าก็มักจะแจ้งว่า เดี่ยวไปยื่นเสียภาษีเพิ่มเอง (ไม่ได้ไปเช็คว่าไปยื่นจริงหรือเปล่า) แล้วบริษัที่หักไว้ไม่ครบ ต้องรับผิดชอบหรือไม่ มาดูคำตอบกันครับ

คำถาม

บริษัท ก. ให้พนักงานกรอกแบบ ลดหย่อนภาษี ลย.01 ตอนต้นปี 2557 และให้ลงลายมือชื่อรับรองการใช้สิทธิ์หักลดหย่อนของตนเองเพื่อบริษัท ก. ใช้ในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยื่น ภงด.1 ตลอดปี 2557 โดยไม่ได้ขอเอกสารประกอบการใช้สิทธิ์ว่า มีจริงหรือไม่

พนักงาน ช. กรอกค่าลดหย่อน ซื้อ LTF จำนวน 500,000 บาท โดยตลอดปีไม่ได้นำเอกสารการซื้อ LTF มาให้ บริษัท ก. แต่อย่างใด

ต่อมา พนักงาน ช. ยื่นแบบ ภงด.91 ปี 2557 มีการใช้สิทธิ์หักลดหย่อน LTF ตามที่ซื้อจริง เพียง 20,000 บาท และได้ชำระภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มเติมในส่วนที่บริษัท ก. หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งไม่ครบถ้วนไว้แล้วการยื่นแบบ ภงด.91

ถามว่า บริษัท ก. ในฐานะผู้จ่ายเงินได้ และมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่ง
เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งไม่ครบถ้วน บริษัท ก. ต้องรับผิดในภาษีที่ยังนำส่งไม่ครบถ้วน พร้อมเงินเพิ่ม 1.5 ต่อเดือนหรือไม่ อย่างไรคะ หรือ รับผิดเฉพาะเงินเพิ่ม เพราะภาษีเวินได้ พนักงาน ช. ชำระไว้แล้ว
หรือ ไม่ต้องรับผิดทั้งภาษี และเงินเพิ่ม

คำตอบ

บริษัท ก. ให้พนักงานกรอกแบบ ลดหย่อนภาษี ลย.01 ตอนต้นปี 2557 และให้ลงลายมือชื่อรับรองการใช้สิทธิหักลดหย่อนของตนเอง เพื่อบริษัท ก. ใช้ในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยื่น ภ.ง.ด.1 ตลอดปี 2557 โดยไม่ได้ขอเอกสารประกอบการใช้สิทธิ์ว่า มีจริงหรือไม่ พนักงาน ช. กรอกค่าลดหย่อน ซื้อ LTF จำนวน 500,000 บาท โดยตลอดปี ไม่ได้นำเอกสารการซื้อ LTF มาให้ บริษัท ก. แต่อย่างใด
ต่อมา พนักงาน ช. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ปี 2557 มีการใช้สิทธิ์หักลดหย่อน LTF ตามที่ซื้อจริง เพียง 20,000 บาท และได้ชำระภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มเติมใน ส่วนที่บริษัท ก. หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งไม่ครบถ้วนไว้แล้วการยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 นั้น
ตามข้อ 1 (2) วรรคสองของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 96/2543 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักลดหย่อนดังนี้
“การคำนวณหักค่าลดหย่อน ให้คำนวณตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้พร้อมกับแนบสำเนาหลักฐานแสดงสิทธิในค่าลดหย่อนตามแบบ ล.ย.01 (แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน) ทั้งนี้ ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนได้ตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่เริ่มหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะจ่ายค่าลดหย่อนนั้นในเดือนใดของปีก็ตาม เว้นแต่ค่าลดหย่อนเงินบริจาคให้คำนวณหักได้เมื่อมีการจ่ายเงินบริจาคจริงเท่านั้น”

ดังนั้น กรณีบริษัท ก. ในฐานะผู้จ่ายเงินได้ และมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่ง เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งไม่ครบถ้วน บริษัท ก. ไม่ต้องรับผิดทั้งภาษี และเงินเพิ่ม แต่อย่างใด เว้นแต่จะส่วนรู้เห็นเป็นใจกับพนักงานที่แจ้งรายการหักลดหย่อนไม่ถูกต้องเพื่อการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี อาจต้องระวางโทษตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร จึงควรกำชับให้แจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อนตามความเป็นจริง สถิติการหักลดหย่อนของปีก่อนๆ ก็อาจใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความถูกต้องของ ล.ย.01 รายการเพื่อการหักลดหย่อน ได้บ้างแต่ไม่ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงาน ช. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ปี 2557 มีการใช้สิทธิ์หักลดหย่อน LTF ตามที่ซื้อจริง เพียง 20,000 บาท และได้ชำระภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มเติมในส่วนที่บริษัท ก. หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งไม่ครบถ้วนไว้แล้วการยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ก็เป็นอันหมดภาระหนี้ภาษีอากรแล้ว เพียงแต่รัฐได้รับเงินภาษีช้าไป ซึ่งไม่ใช่ความผิดของบริษัทฯ แต่อย่างใด

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ

"อาจารย์ค่ะ หนูชื่อวิภารัตน์ เป็นเพื่อนของลูกศิษย์อาจารย์ที่เรียนที่ ม.รามคำแหงค่ะ หนูมีเรืองจะเรียนปรึกษาดังนี้ค่ะ
บริษัทที่หนูทำงานอยู่ เป็นบริษัทมหาชน และได้เปิดบริษัท ในเครือขึ้นมาใหม่ ถือหุ้นบริษัทนี้ 100 % ณ ปัจจุบันนี้บริษัทก็เปิดมาแล้วประมาณ 8 เดือน และตอนนี้บริษัทที่เปิดใหม่ต้องการกู้ยืมเงินบริษัทมหาชนนี้ ไม่ทราบว่าบริษัทที่ให้กู้ยืมเงินต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ อัตราดอกเบี้ยคิดอัตราตามธนาคารใช่หรือไม่ค่ะ ขอบคุณค่ะ"

เรียน คุณวิภารัตน์ "Wiparat Jeab"
กรมสรรพากรได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีบริษัทในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง ไว้ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 26/2534 ดังนี้
"ข้อ 2 กรณีบริษัทในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้กู้ยืมในระหว่างกันเอง และไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
คำว่า “บริษัทในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม"
ดังนั้น กรณีที่บริษัทมหาชนถือหุ้นในบริษัทในเครือเดียวกันทั้ง 100% เป็นเวลาถึง 8 เดือนแล้ว เมื่อกู้ยืมกันเองในระหว่างบริษัทในเครือเดียวกันจึงไม่ต้องนำดอกเบี้บที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 26/2534 ดังกล่าวข้างต้น

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างกันนั้น ให้พิจารณาดังนี้
1. กรณีบริษัทที่ให้กู้ยืมได้มีการกู้ยืมเงินจากแหล่งใดๆ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมต่อไปต้องไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้กู้ยืมมานั้น
กรณีมีอัตราดอกเบี้ยหลายอัตราในเวลาเดียวกัน ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นอัตราสูงสุดเพื่อการคิดดอกเบี้ยรับ
2. กรณีบริษัทที่ให้กุ้ยืม มิได้มีการกู้ยืมเงินจากแหล่งใดๆ เลย อัตราดอกเบี้ยทีจะเรียกเก็บระว่างกัน ต้องไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินผากประกระจัด

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

การรับรู้รายได้ตามสัญญาเช่าซื้อคอมพิวเตอร์

"อาจารย์ครับ ขอรบกวนสอบถาม
ทางบริษัทฯ ทำธุรกิจซื้อมาขายไป ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานราชการให้จัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้ทางหน่วยงานราชการดังกล่าวเช่า มีระยะเวลา 12 เดือน
โดยมีข้อกำหนดว่า
1. เมื่อเช่าครบกำหนด 12 เดือนแล้ว บริษัทฯ จะต้องยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับหน่วยงานราชการ
2. ทางหน่วยงานราชการให้ออกใบเสร็จรับเงินเป็นค่าเช่าอุปกรณ์ทุกเดือน ไม่ให้ออกขายครั้งเดียว
3. ไม่มีการทำสัญญาใดๆในการเช่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
คำถาม
1. เมื่อบริษัทฯซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามา จะต้องรับรู้เป็นสินค้า หรือรับรู้เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ
2. เมื่อบริษัทฯได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องบันทึกบัญชีอย่างไร
3. เมื่อบริษัทฯได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องแสดงรายการในการออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จเงินอย่างไร
4. เมื่อบริษัทฯจะยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้หน่วยงานราชการ เมื่อเช่าครบกำหนด 12 เดือนแล้ว บริษัทฯจะบันทึกบัญชีอย่างไร
5. การปฏิบัติทางบัญชีตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 5 กับทางภาษี มีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันหรือไม่
ขอบคุณครับ

ตามข้อเท็จจริงที่เล่าไป เข้าลักษณะเป็นสัญญาเช่าซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 572 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า "อันว่าสัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่งเจ้าของทรัพย์สินที่เรียกว่า ผู้ให้เช่าซื้อเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ โดยเงื่อนไขว่าเมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระราคาเป็นจำนวนเงินครบตามจำนวนครั้งที่กำหนดไว้ในสัญญา สัญญาเช่าซื้อ ต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

ในทางบัญชี
1. เมื่อบริษัทฯ ได้ซื้อทรัพย์สินที่จะนำออกให้เช่าถือเป็นสินค้า
2. เมื่อนำทรัพย์สิน (สินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์) ออกให้เช่าซื้อให้ถือเป็นการขายสินค้า ต้องบันทึกสินค้าดังกล่าวเป็นต้นทุนสินค้าที่ขาย และรับรู้กำไรขั้นต้นจากราคาขายสินค้าเป็นเงินสดกันต้นทุนสินค้าที่ขาย ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ให้เช่าซื้อนั้น
3. สำหรับผลต่างของราคาขายเงินสดกับราคาตามสัญญาให้นำมาทยอยรับรู้เป็นรายได้ในแต่ละงวดตามมาตรฐานการบัญชี

ในทางภาษีอากร
1. กรณีอากรแสตมป์
ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์บนสัญญาเช่าซื้อ ในอัตรา 1 บาทต่อ ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งราคาทั้งหมด ตามลักษณะแห่งตราสารที่ 3 ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์
2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับหลักการปฏิบัติในทางบัญชี ทั้งนี้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 ข้อ 3.5 ดังนี้
"3.5 การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อและมีอายุสัญญาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำกำไรที่เกิดจากการขายมารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ สำหรับดอกผลเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้แต่ละงวดตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป
การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อทันที ให้นำรายได้จากการขายมารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการขายสินค้า
การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อจากการขายผ่อนชำระตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระมาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นให้ถือตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีจะต้อง ไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
คำว่า “กำไรที่เกิดจากการขาย” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ผลต่างระหว่างราคาขายเงินสดกับต้นทุนของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ
คำว่า “ดอกผลเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ผลต่างระหว่างจำนวนเงินทั้งสิ้นที่ต้องจ่ายตามสัญญากับราคาขายเงินสด"
โดยทั่วไปผู้เช่าซื้อไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผู้ให้เช่าซื้อ เว้นแต่กรณีผู้เช่าซื้อเป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ให้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของค่าเช่าซื้อที่จ่ายในแต่ละงวด
3. ในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม
ถือว่าการให้เช่าซื้อสินค้าเป็น "การขายสินค้า" ตามมาตรา 77/1 (8)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
"(2) การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายัง ไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
(ก) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
(ข) ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้น ตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
(ดู คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.36/2536)"

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. เมื่อบริษัทฯซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามา จะต้องรับรู้เป็นสินค้า ของบริษัทฯ
2. เมื่อบริษัทฯได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องบันทึกบัญชีเป็นต้นทุนสินค้าที่ขายในรอบระยะเวลาบัญชที่ให้เช่าซื้อ โดยคำนวณกำไรขั้นต้นระหว่างราคาต้นทุน กับราคาขายเงินสด
3. เมื่อบริษัทฯ ได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องแสดงรายการในการออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จเงิน ตามงวดเงินที่ตกลงในสัญญาที่ได้กระทำไว้กับส่วนราชการ
4. เมื่อบริษัทฯ จะยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้หน่วยงานราชการ เมื่อเช่าครบกำหนด 12 เดือนแล้ว บริษัทฯ ไม่ต้องบันทึกบัญชีใดๆ เพราะได้ถือเป็นต้นทุนสินค้าและตัดออกจากบัญชีสินค้าแล้วตั้งแต่เมื่อได้ส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการ
5. การปฏิบัติทางบัญชีตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 4 กับทางภาษีโดยเฉพาะกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่มีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันแต่อย่างใด

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak