พฤศจิกายน, 2013 | รับทำเงินเดือน - Part 5 พฤศจิกายน, 2013 | รับทำเงินเดือน - Part 5

เงินมัดจำค่ารถต้องออกใบกำกับภาษีหรือไม่

คุณ Pattama Wadee ได้โพสต์ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2556 ว่า
“สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ รบกวนเรียนปรึกษานะคะ
1. กรณีกิจการขายรถยนต์ เวลารับเงินค่าจองรถ ซึ่งค่าจองรถนั้นไปหักกับค่ารถ ณ วันที่ออกรถ คำถามคือ ค่าจองรถต้องออกใบกำกับภาษีขายหรือไม่คะ และกรณีถ้าไม่ได้ออก แต่นำไปออก ยอดรวมในราคารถ ณ วันที่ออกรถเลย สามารถทำได้หรือไม่คะ
2. กรณีกิจการ เพิ่มสาขาที่ 2 ซึ่งสาขาที่ 1 เคยทำเรื่อง ขอยื่นรวมกับสำนักงานใหญ่ ไม่ทราบว่า สาขาที่ 2 กิจการต้อง ทำเรื่องขอยื่นรวมกับสำนักงานใหญ่อีกหรือไม่คะ
รบกวนอาจารย์อีกแลัวนะคะ ขอบคุุณนะคะ”
เรียน คุณ Pattama Wadee
1. เกี่ยวกับการับเงินจองรถยนต์ ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายรถยนต์ดังกล่าว กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ตามข้อ 5 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 36/2536 ดังนี้
“(2) ในกรณีเงินชำระล่วงหน้าเป็นเงินค่าสินค้าที่ได้ชำระบางส่วนหรือเป็นเงินจองหรือเงินมัดจำที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) ถือได้ว่าผู้ขายซึ่งได้รับเงินชำระล่วงหน้า เงินจองหรือเงินมัดจำได้รับชำระราคาสินค้าเป็นบางส่วนตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ผู้ขายต้องออกใบกำกับภาษีตามมูลค่าที่ได้รับชำระในขณะที่ได้รับชำระราคาสินค้าเป็นบางส่วน เงินจองหรือเงินมัดจำตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร”
2. การเพิ่มสาขาที่ 2 โดยเป็นกรณีที่สาขาที่ 1 ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ยื่นแบบ ภ.พ.30 รวมกับสำนักงานใหญ่แล้วนั้น ถือว่า สาขาที่ 2 ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบ ภ.พ.30 รวมกับสำนักงานใหญ่โดยอัตโนมัติ ซึ่งกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติภายในไว้ดังนี้
“กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ยื่น ภ.พ.09 แจ้งเพิ่มสถานประกอบการแห่งใหม่ ให้ถือว่าสถานประกอบการแห่งใหม่ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันกับสถานประกอบการซึ่งได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันไว้แล้วทันที โดยไม่ต้องยื่น ภ.พ.02 อีก
ตัวอย่าง บริษัท ก มีสำนักงานใหญ่และสำนักสาขา 1 แห่ง ได้รับอนุมัติให้ยื่น ภ.พ.30 รวมกัน ณ สำนักงานใหญ่ ต่อมา บริษัทฯ แจ้งเพิ่มสำนักงานสาขาที่ 2 ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องนำรายการภาษีของสำนักงานสาขาที่ 2 ไปยื่น ภ.พ.30 รวมกัน ณ สำนักงานใหญ่ด้วย โดยไม่ต้องยื่น ภ.พ.02 อีก”

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

ใบลดหนี้ที่มีข้อความไม่ถูกต้องใช้ลดภาษีซื้อได้หรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมสรรพากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือเลขที่ กค 0706/พ./2067 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2549

เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบลดหนี้เนื่องจากการคืนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้า ดังนี้

ข้อหารือ :

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมประเภทผลิตอาหารสัตว์ การทำฟาร์มสัตว์เลี้ยงและการแปรรูปเนื้อสัตว์ให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัทฯ ได้ซื้อสินค้ากุ้งแปรรูปแช่แข็งจากบริษัทในเครือซึ่งประกอบด้วยบริษัท ก. จำกัด บริษัท ข. จำกัด และบริษัท ค. จำกัด โดยบริษัทฯ ซื้อสินค้าดังกล่าวเพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศในนามบริษัทฯ และเนื่องจากการส่งออกสินค้ากุ้งแปรรูปแช่แข็งไปขายในต่างประเทศจะต้องมีเอกสารการรับรองสินค้า Certificate จากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศรับรอง ดังนั้น การซื้อขายสินค้าดังกล่าวระหว่างบริษัทฯ กับบริษัทในเครือทั้งสาม ได้มีข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายระหว่างกันกำหนดว่า หากภายหลังที่ซื้อขายสินค้าดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ไม่สามารถส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศได้ เนื่องจากยังมิได้รับหนังสือรับรองสินค้าในนามบริษัทฯ บริษัทในเครือทั้งสามจะรับคืนสินค้าดังกล่าว และดำเนินการส่งออกสินค้าเอง เนื่องจากบริษัทในเครือทั้งสามมีเอกสารหนังสือรับรองในการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. กรณีบริษัทฯ ซื้อสินค้ามาจากบริษัทในเครือทั้งสาม และได้คืนสินค้าให้แก่บริษัทในเครือทั้งสามตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว บริษัทในเครือทั้งสามมีสิทธิออกใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

2. กรณีบริษัทในเครือทั้งสามมีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้ระบุถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้ผิดพลาด เป็นลดหนี้เนื่องจากสินค้าขาดจำนวนแทนที่จะเป็นการคืนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้า การออกใบลดหนี้ดังกล่าวจะมีผลในทางภาษีอย่างไรหรือไม่

แนววินิจฉัย:

1. กรณีบริษัทในเครือทั้งสาม ได้รับสินค้าคืนจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าเพื่อส่งออก เนื่องจากบริษัทฯ ผู้ซื้อสินค้าไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ และได้คืนสินค้าให้แก่บริษัทในเครือทั้งสามตามข้อตกลงในการซื้อขายสินค้า การคืนสินค้าดังกล่าวจึงเป็นการคืนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน ซึ่งเป็นสาเหตุในการออกใบลดหนี้ได้ ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา 82/10 (1) (2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 ดังนั้น บริษัทในเครือทั้งสามจึงมีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ได้

2. กรณีบริษัทในเครือทั้งสาม ได้ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุสาเหตุในการออกใบลดหนี้ว่า "ลดหนี้เนื่องจากสินค้าขาดจำนวน" แต่สาเหตุในการออกใบลดหนี้ของบริษัทในเครือทั้งสาม เนื่องมาจากมีการคืนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน จึงเป็นกรณีที่บริษัทในเครือทั้งสามออกใบลดหนี้โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 86/10(5) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ใบลดหนี้ดังกล่าวยังคงเป็นใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 77/1(22) และมาตรา 86/10 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากบริษัทในเครือทั้งสาม ได้ออกใบลดหนี้โดยมีรายการที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาเมื่อบริษัทในเครือทั้งสามนำภาษีขายที่ลดลงตามใบลดหนี้ที่มีรายการไม่ครบถ้วนดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในเดือนที่ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร มีผลทำให้บริษัทฯ ผู้ซื้อสินค้ามีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ดังกล่าวมาหักออกจากภาษีซื้อในเดือนที่ได้รับใบลดหนี้ ตามมาตรา 82/10 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 69/33971

จุดรับผิดชอบทางภาษีและการรับรู้รายได้จากการส่งออก

กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล "กิจการ" เป็นผู้ขายสินค้าโดยการส่งออกทางเรือเดินทะเล และได้มีการผ่านพิธีการทางศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร นั้น ขอลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในทางบัญชีและภาษีอากรดังนี้
1. กรณีกิจการได้รับคำสั่งซื้อ (P/O: Purchase Order) จากผู้ซื้อในต่างประเทศ ยังไม่ถือว่ากิจการมีการขายสินค้าโดยการส่งออกแต่อย่างใด
2. กิจการได้ออกใบตราส่งสินค้า (Performa Invoice) เพื่อนำไปใช้ประกอบการขออนุมัติส่งออกต่อเจ้าพนักงานกรมศุลกากร ณ จุดนี้ก็ยังไม่ถือว่ากิจการมีการขายสินค้าโดยการส่งออกเช่นเดียวกัน
3. กิจการขนย้ายสต๊อกสินค้าไปยังท่าเรีอเพื่อเตรียมการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า เนื่องจากยังไม่มีการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า จึงยังไม่ถือเป็นการขาย แต่มีการเคลื่อนย้ายสต๊อกออกจากคลังสินค้า กิจการจึงต้องบันทึกตัดสินค้าที่เตรียมการส่งออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ แต่เนื่องจากกิจการยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ จึงต้องบันทึกรายการสินค้าไว้ในบัญชีสินค้าระหว่างทาง (Goods in Transit)
4. กิจการดำเนินพิธีการทางศุลกากร มีเอกสาร "ใบขนสินค้า" เกิดขึ้น ณ จุดนี้มีผลต่อระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ
(1) ถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นผลให้กิจการได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0%
(2) กิจการต้องบันทึกรายงานภาษีขาย ด้วยราคา เอฟ.โอ.บี. ตามมาตรา 79/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
– กรณีที่กิจการยังได้รับชำระราคาสินค้า ให้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรือจะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ แต่เมื่อได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง "ธนาคาร" ได้
– กรณีที่กิจการได้รับชำระค่าสินค้าไว้ก่อนแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ตามที่ได้บันทึกรายการรับชำระเงินค่าสินค้านั้น
5. เมื่อมีการนำสินค้าลงเรือเดินทะเลเพื่อส่งไปให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ
(1) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข CIF ยังไม่ถือว่า กิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ จึงยังไม่มีการบันทึกบัญชีเพื่อรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้าแต่อย่างใด
(2) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข FOB ถือได้ว่า กิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าแล้ว ให้บันทึกรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้า ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร
– กรณีที่กิจการยังได้รับชำระราคาสินค้า ให้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันที่ส่งมอบสินค้านั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรือจะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ แต่เมื่อได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง "ธนาคาร" ได้
– กรณีที่กิจการได้รับชำระค่าสินค้าไว้ก่อนแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ตามที่ได้บันทึกรายการรับชำระเงินค่าสินค้านั้น
6. เมื่อสินค้าถึงท่าเรือในต่างประเทศ
(1) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข CIF ถือได้ว่า กิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าแล้ว ให้บันทึกรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้า ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร
– กรณีที่กิจการยังได้รับชำระราคาสินค้า ให้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันที่ส่งมอบสินค้านั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามทีกิจการได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง "ธนาคาร" ได้
– กรณีที่กิจการได้รับชำระค่าสินค้าไว้ก่อนแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ตามที่ได้บันทึกรายการรับชำระเงินค่าสินค้านั้น
(2) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข FOB เนื่องจากกิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้วตั้งแต่จุดที่ 5 แล้ว จึงยังไม่ต้องบันทึกบัญชีเพื่อรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้าอีกแต่อย่างใด
7. เมื่อมีการรับชำระหนี้ค่าสินค้าไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กิจการบันทึกการรับชำระราคาค่าสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันที่ได้รั้บชำระราคานั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น
8. เมือสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี หากยังได้รับชำระหนี้ไม่หมด ให้กิจการปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
(1) กรณีวันสินรอบระยะเวลาบัญชีตรงกันปีปฏิทิน กรมสรรพากรได้มีการประกาศอัตราแลกเปลี่ยน ให้กิจการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่กรมสรรพากรได้ประกาศนั้นคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทย
(2) กรณีวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีไม่ตรงกับปีปฏิทิน ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามทีกิจการได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง "ธนาคาร" ได้
9. ในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไปที่มีการรับชำระหนี้ ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับรายการตามข้อ 7 ข้างต้น

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak