เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน กรณีจ่ายไม่พร้อมกัน (0702/9608) | รับทำเงินเดือน เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน กรณีจ่ายไม่พร้อมกัน (0702/9608) | รับทำเงินเดือน

เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน กรณีจ่ายไม่พร้อมกัน (0702/9608)

เงินชดเชยที่จ่ายให้เพราะเหตุออกจากงานกรณีเลิกจ้าง (ให้ออก) เงินชดเชยที่จ่ายทุกประเภท เช่น เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยง เงินชดเชยอื่นๆ ฯลฯ การคำนวณภาษีโดยใช้สิทธิแยกยื่นจากเงินเดือน ให้ใช้ได้ครั้งเดียวเฉพาะครั้งแรกที่มีการจ่ายเท่านั้น ในข้อหารือจะพบว่ามีการจ่ายเงินชดเชยไม่พร้อมกัน จ่ายคนละปี ในปีถัดมาจึงไม่สามารถใช้สิทธิแยกยื่นได้

เลขที่หนังสือ : กค 0702/9608

วันที่ : 26 ตุลาคม 2555

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 48(5) มาตรา 40(1) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ 
กรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งได้รับในปีภาษีถัดไป โดยสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้ 
1. นาง จ. ออกจากงานในวันที่ 15 ธันวาคม 2553 โดยได้รับเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท คือ 
    1.1 เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวนเงิน 1,449,497 บาท ได้รับ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 
    1.2 เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวนเงิน 1,189,047.89 บาท ได้รับ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 20 มกราคม 2554 
2. นาง จ. นำเงินชดเชยจากการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน จำนวนเงิน 1,449,497 บาท ที่ได้รับในปีภาษี 2553 มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) ในปีภาษี 2553 โดยเลือกคำนวณเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร 
3. ต่อมานาง จ. ได้นำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวนเงิน 1,189,047.89 บาท ไปยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ในปีภาษี 2554 โดยเลือกคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้เพราะเหตุออกจากงาน ต้องยื่นครั้งเดียวพร้อมกับเงินชดเชยการเลิกจ้างที่ได้รับจากนายจ้างในเดือนธันวาคม 2553 จึงไม่อาจใช้สิทธิลดหย่อนในปีภาษีถัดไปได้อีก

แนววินิจฉัย 
กรณีนาง จ. ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 เป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินจากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท นาง จ. จะเลือกเสียภาษีต่างหากจากเงินได้อื่นได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535

เลขตู้  : 75/38337

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.