กฎหมายออกใหม่ที่น่าสนใจ | รับทำเงินเดือน กฎหมายออกใหม่ที่น่าสนใจ | รับทำเงินเดือน

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีซื้อบ้านหลังแรก

นายสมชาย นิลยาภรณ์ สรรพากรพื้นที่ตราด แจ้งว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๘) พ.ศ.๒๕๕๔ กำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกินห้าล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน เป็นจำนวนเท่ากับภาษีเงินได้ที่คำนวณจากเงินได้สุทธิหรือที่ต้องชำระก่อนการคำนวณเครดิตภาษี แต่ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้มีเงินได้จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวดังนี้

1. ต้องจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดในระหว่างวันที่ 21 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิในช่วงเวลาดังกล่าว

2. ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ครั้งแรกภายในห้าปีนับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ และต้องใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเวลาห้าปีภาษีต่อเนื่องกันโดยให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละปีภาษี

3. ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน

4. ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิมาก่อน

5 ต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย

๖. ต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔๑ (พ.ศ. ๒๔๔๖) และ ฉบับที่ ๒๗๑ (พ.ศ. ๒๔๔๒)

อ้างอิงพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 528 พศ.2554

ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 241

ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 271

ขยายเวลายื่นแบบภาษีเงินได้ทุกชนิดในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติอุทกภัย (น้ำท่วม)

เลขที่ข่าว ปชส. 6/2555
วันที่แถลงข่าว 3 พฤศจิกายน 2554
เรื่อง คำชี้แจงแนวปฏิบัติการเสียภาษีของผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัย
…………………………………………………………………………….

จากสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยในปัจจุบันมีผลกระทบทำให้ผู้เสียภาษีทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากและยังมีการขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง กรมสรรพากรได้มีการนำเสนอขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้มีการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากรให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีในท้องที่ที่เกิดอุทกภัย เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้เสียภาษี โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กรณีการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากร

1.1 ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้มีการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีอากรให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในเขตท้องที่ต่าง ๆ ดังนี้
– สำนักงานสรรพากรภาค 4 ได้แก่
(1) สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (สส.) ทุกแห่ง ในท้องที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (สท.) พระนครศรีอยุธยา 1 สท. พระนครศรีอยุธยา 2 สท. ชัยนาท สท. สิงห์บุรี สท. อ่างทอง สท. อุทัยธานี สท. ลพบุรี สท. ปทุมธานี 1 สท. ปทุมธานี 2 สท. นนทบุรี
(2) ท้องที่ สส. เมืองสระบุรี สส. แก่งคอย สส. บ้านหมอ สส. เสาไห้ สส. ดอนพุด สส. หนองโดน สส. เฉลิมพระเกียรติ ใน สท. สระบุรี
– สำนักงานสรรพากรภาค 6 ได้แก่ ท้องที่ สส. บางเลน ใน สท. นครปฐม 1
– สำนักงานสรรพากรภาค 7 ได้แก่
(1) ท้องที่ สส. เมืองสุโขทัย สส. สวรรคโลก สส. ศรีสำโรง ใน สท. สุโขทัย
(2) ท้องที่ สส. เมืองนครสวรรค์ สส. ท่าตะโก สส. โกรกพระ สส. บรรพตพิสัย สส. ชุมแสง สส. ลาดยาว สส. พยุหะคีรี สส. ตาคลี สส. เก้าเลี้ยว ใน สท. นครสวรรค์
(3) ท้องที่ สส. เมืองพิษณุโลก สส. บางระกำ สส. บางกระทุ่ม สส. เนินมะปราง สส. วังทอง สส. พรหมพิราม ใน สท. พิษณุโลก
(4) ท้องที่ สส. ทุกแห่งใน สท. พิจิตร
– สำนักงานสรรพากรภาค 8 ได้แก่
(1) ท้องที่ สส. เมืองเชียงใหม่ 1 สส. เมืองเชียงใหม่ 2 สส. หางดง สส. สารภี สส. ฮอด สส. แม่แจ่ม ใน สท. เชียงใหม่ 1
(2) ท้องที่ สส. ฝาง สส. สันทราย ใน สท. เชียงใหม่ 2
– สำนักงานสรรพากรภาค 9 ได้แก่ ท้องที่ สส. วารินชำราบ ใน สท. อุบลราชธานี
– สำนักงานสรรพากรภาค 10 ได้แก่ ท้องที่ สส. ด่านซ้าย ใน สท. เลย
ทั้งนี้ได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีในแบบฯ ทุกประเภท ออกไปเป็นภายใน วันที่ 30 ธันวาคม 2554

1.2 สำหรับเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเขตกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม กรมสรรพากรได้ดำเนินการเสนอกระทรวงการคลัง ให้มีการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 เช่นกัน ยกเว้นเฉพาะการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะครบกำหนดยื่นแบบฯ ภายในเดือน สิงหาคม – ธันวาคม 2554 จะขยายเวลาการยื่นแบบฯ ได้จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ดังนี้
– สำนักงานสรรพากรภาค 1 ได้แก่
(1) ท้องที่ สส. จตุจักร ใน สท.กทม. 7
(2) ท้องที่ สส. บางเขน ใน สท.กทม. 8
(3) ท้องที่ สส. หลักสี่ ใน สท.กทม. 9
– สำนักงานสรรพากรภาค 2 ได้แก่ ท้องที่ สส. ทุกแห่ง ใน สท.กทม 21
– สำนักงานสรรพากรภาค 3 ได้แก่
(1) ท้องที่ สส. ทุกแห่ง ใน สท.กทม. 25
(2) ท้องที่ สส. ทุกแห่ง ใน สท.กทม. 26
(3) ท้องที่ สส. บางกอกน้อย ใน สท.กทม. 30
– สำนักงานสรรพากรภาค 6 ได้แก่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (สส.) ทุกแห่ง ในท้องที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (สท.) นครปฐม 1 สท. นครปฐม 2 สท. สมุทรสาคร 1
สท. สมุทรสาคร 2 และ สท. สุพรรณบุรี

1.3 กรณีผู้ประกอบการที่มีสาขาซึ่งได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย และมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะรวมกัน จะให้ยื่นรายการเฉพาะในส่วนของ
สำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ไม่ได้รับผลกระทบไปก่อน สำหรับในส่วนของสาขาซึ่งอยู่ในเขตที่ได้รับผลกระทบ จะขยายเวลาให้ยื่นแบบเพิ่มเติมได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 เช่นกัน ทั้งนี้ โดย
ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

1.4 กรณีรายผู้ประกอบการทั่วไปที่ได้รับอนุมัติให้เก็บเอกสารนอกสถานที่ และสถานที่ที่เก็บเอกสารอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จนไม่สามารถคำนวณภาษีได้ ให้ขยายระยะเวลาได้ตามนัยข้างต้น
1.5 สำหรับรายผู้ประกอบการใดที่ไม่เข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้ทำคำร้องชี้แจงเหตุผลมาเป็นการเฉพาะรายโดยให้เสนอผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่และสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
ที่รับผิดชอบ เพื่อส่งให้กรมสรรพากรพิจารณาต่อไป
1.6 ทั้งนี้กรมสรรพากร ได้สั่งการให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา สามารถรับแบบต่างท้องที่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยแล้ว

2. กรณีหลักฐานเอกสารทางภาษีเสียหายหรือสูญหาย ขอให้ผู้เสียภาษีได้ดำเนินการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานต่อทางราชการตำ รวจท้องที่ เกี่ยวกับรายละเอียดบัญชีเอกสารหลักฐานที่เสียหายหรือ
สูญหาย และหากมีปัญหาในทางปฏิบัติขอให้หารือกับสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ที่รับผิดชอบ

3. กรณีทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหาย หากผู้ประกอบการไม่มีการทำประกันไว้จะสามารถตัดเป็นรายจ่ายได้ทันที แต่หากมีการทำประกันภัย และได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากการชดเชยความเสียหาย เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้

ที่มา..กรมสรรพากร

เงินบริจาคเพื่อจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หักได้ 2 เท่า (ฉบับที่ 515)

พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 515) พ.ศ. 2554
—————————————————————————————————————————-

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๑๕) พ.ศ. ๒๕๕๔”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
                                                  (๑) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บุคคลธรรมดาได้จ่ายให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาลโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น
                                                  (๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓)แห่งประมวลรัษฎากร การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน สำหรับหอสมุดหรือห้องสมุดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินห้าหมื่นบาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
         นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถสร้างพลังขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและส่งเสริมการอ่านอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐในการจัดหาหนังสือให้แก่หอสมุด ห้องสมุด หรือแหล่งหนังสืออื่น ๆ ที่ให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับรายจ่ายตามจำนวนและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๕ ก วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔)