ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | รับทำเงินเดือน - Part 7 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | รับทำเงินเดือน - Part 7

เงินได้จากการเลิกจ้าง ที่ได้รับการยกเว้นภาษี

ผมเองค่อนข้างสับสนอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้จากการเลิกจ้าง ก็เลยเขียนเป็นบทความสรุปเอาไว้อีกครั้ง ดังนี้

1. เงินชดเชยจากการเลิกจ้างที่ได้รับตามกฎหมายแรงงาน แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือน ค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายแต่ไม่เกิน 300,000 บาท (อ้างอิง กฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ 51 ซึ่งถูกแก้ไขแล้วตาม กฎกระทรวงฉับที่ 217)

กรณีข้างต้นจะเห็นได้ว่าต้องเป็นเงินชดเชยที่ได้รับจากการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน และต้องมีหนังสือรับรองจากนายจ้างเป็นหลักฐาน โดยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้

  • ออกจากงานเพราะสาเหตุใด
  • ผู้ออกจากงานเริ่มทำงานและออกจากงานวัน เดือน ปีใด
  • เงินเดือน 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานแต่ละเดือน

ค่าชดเชยส่วนที่เหลือจากการยกเว้น (กรณีได้รับเงินชดเชยเกิน 300,000 บาท) ให้นำไปรวมคำนวณในแบบ ภงด.91 แต่ถ้าลูกจ้างหรือพนักงานทำงานมาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถเลือกที่จะนำเงินชดเชยส่วนที่เหลือไปแยกคำนวณภาษีตามใบแนบ ภงด.91 แยกต่างหากได้ ซึ่งจะทำให้เสียภาษีน้อยลง (ส่วนที่แยกคำนวณนี้จะไม่ได้รับการยกเว้นเงินได้ 150,000 บาทแรก)

เงินชดเชยอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หากทำงานมาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถใช้สิทธิแยกคำนวณภาษีตามใบแนบแบบ ภงด.91 ได้ (รวมถึงเงินชดเชยจากการเกษียณอายุด้วย)

อ่านบทความภาษีเงินได้ออกจากงานเพิ่มเติม

 

2. เงินได้ที่จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีอยู่ 3 กรณีคือ

  1. ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน กรณีจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี
  2. ลาออกจากกองทุนและลาออกงาน ถ้าอายุงานไม่ถึง 5 ปีจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ถ้าอายุงานเกิน 5 ปี ยกเว้นภาษีจากเงินได้ให้ครึ่งหนึ่ง เงินได้ส่วนที่เหลือสามารถใช้สิทธิแยกยื่นภาษีเงินได้โดยใช้ใบแนบ ภงด.91 ได้
  3. เกษียณอายุ ได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขคือ เป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี อายุไม่น้อยกว่า 55 ปีและเลิกจ้างเพราะเกษียนอายุ

อ่านบทความลาออกจากกองทุนเพิ่มเติม

เกษียณอายุล่วงหน้ากับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เนื่องจากผมค่อนข้างได้รับคำถามค่อนข้างบ่อยเกี่ยวกับการโครงการเกษียนอายุก่อนกำหนดกับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลจากเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ถ้าเป็นการเลิกจ้างจากการเกษียณอายุตามปกติ (ตามระเบียบของบริษัท) ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร

แต่ถ้าเป็นการเกษียณอายุก่อนกำหนดนี่สิ มักจะมีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากสรรพากรเคยมองกรณีแบบนี้ไว้ว่า ไม่สามารถได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จนเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลฎีกา ตามคำพิพากษาเลขที่ 2077 พศ.2548

เนื่องจากพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งได้ขอเกษียณอายุเมื่ออายุ 56 ปี ทั้งนี้ตามระเบียบบริษัท ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดอายุเกษียนของพนักงานไว้เป็น 2 กรณีคือ

  1. พนักงานจะเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์
  2. บริษัทอาจอนุญาตให้พนักงานเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ ได้โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ หนึ่ง-บริษัทกับพนักงานต้องมีข้อตกลงเป็นหนังสือ, สอง-พนักงานที่ขอเกษียณอายุต้องมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และ สาม-พนักงานผู้ขอเกษียณอายุต้องมีอายุการทำงานอย่างน้อย 15 ปี

สำหรับข้อสรุปการพิจาษณาของศาล เป็นดังนี้

การได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากออกจากงาน กรณีเกษียณอายุก่อนกำหนด เนือ่งจากตามประกาศไม่ได้ให้คำนิยามศัพท์ คำว่า เกษียณอายุไว้ จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมว่า ครบกำหนดอายุรับราชการ สิ้นกำหนดเวลารับราชการหรือการทำงาน การครบหรือสิ้นอายุการทำงาน จึงหมายถึงการที่นายจ้างให้พนักงาน ลูกจ้างออกจากงานเนื่องจากสูงอายุตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย (ระเบียบริษัทต้องกำหนดเรื่องการเกษียณอายุก่อนกำหนดไว้ด้วย)

เมื่อศาลพิจาณาแล้วเห็นว่าป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงาน เพราะเกษียณอายุ กล่าวคือ

  1. กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ (พนักงานลาออกเมื่ออายุ 56 ปี) และ
  2. เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
  3. เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี (พนักงานทำงานกับบริษัทอายุงาน 18 ปีเศษ เป็นสมาชิกกองทุนเพียง 2 ปี 1 เดือน แต่สมัครเข้ากองทุนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2538 (ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุว่าต้องสมัครระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 – 2 ธันวาคม 2538) และเกษียณอายุวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 (ซึ่งก็เป็นไปตามข้อกำหนดเช่นกันที่ระบุว่าต้องลาออกออกวันที่ 2 ธันวาคม 2543)

สรุปคือพนักงานสามารถได้รับสิทธิยกเว้น ไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากเป็นไปหลักเกณฑ์ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร อีกทั้งระเบียบบริษัทก็มีกำหนดไว้ให้เกษียณอายุก่อนกำหนดได้

อ้างอิง: คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2548
อ้างอิง : ประการศกรมสรรพากรฉบับที่ 52 และ ประกาศกรมสรรพากรฉบับที่ 151

การเสียภาษีในนามคณะบุคคล

เลขที่หนังสือ : กค 0706/5637

วันที่ : 11 กรกฎาคม 2548

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีในนามของคณะบุคคล

ประเด็นปัญหา : มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร

นาย ว. ได้จัดตั้งคณะบุคคลชื่อ “คณะบุคคลโดยนาย ว.หรือ ด.ช.จ” และได้ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ประกอบกิจการรับทำบัญชี คณะบุคคลฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2547 ขอคืนภาษี สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร แจ้งว่า คณะบุคคลฯ ไม่สามารถรับทำบัญชีได้ และให้นำเงินได้จากการรับทำบัญชีดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภท เงินเดือนของ

นาย ว. นาย ว. จึงขอความเป็นธรรมในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายมิได้กำหนดว่าผู้ร่วมในคณะบุคคลต้องมีความรู้ความสามารถในด้านเดียว กันหรือเท่าเทียมกัน แม้ ด.ช.จ. จะมีอายุย่างเข้า 12 ปี และเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 แต่ก็มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี โดยลักษณะงานที่ได้มอบหมายให้ ด.ช.จ. ช่วยปฏิบัติสนับสนุนการดำเนินกิจการของคณะบุคคลฯ ได้แก่ จัดเตรียมและพิมพ์ใบเสร็จรับเงินให้กับลูกค้า และเป็นผู้ลงนาม

ในฐานะเป็นผู้รับเงินของสำนักงานบัญชี ค้นหาและสั่งพิมพ์ประกาศ และคำสั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากรที่ได้แจ้งทาง Internet นำเอกสารของลูกค้าไปถ่ายเอกสาร และทำหน้าที่รับและส่ง

E-mail จัดเก็บเอกสารเข้าแฟ้ม และอื่น ๆ เป็นต้น

นาย ว. ขอทราบแนวปฏิบัติในการเสียภาษีที่ถูกต้องของคณะบุคคลฯ ดังนี้

(1) คณะบุคคลโดยนาย ว.หรือ ด.ช.จ. เป็นคณะบุคคลถูกต้องหรือไม่

(2) คณะบุคคลฯ สามารถประกอบกิจการรับทำบัญชีได้หรือไม่ ถ้าทำได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอย่างไร

(3) คณะบุคคลฯ สามารถประกอบกิจการมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทใดบ้าง

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม (1) การประกอบกิจการร่วมกันในฐานะของคณะบุคคลตามประมวลรัษฎากรจะต้องเป็นกรณีที่ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยในการประกอบกิจการในฐานะคณะบุคคลนั้นจะต้องร่วมกันประกอบกิจการตามความ เป็นจริงและร่วมกันรับผิดชอบในกิจการของคณะบุคคลนั้น และเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการจะต้องเป็นของคณะบุคคลด้วย

2. กรณีตาม (2) และ (3) คณะบุคคลมีสิทธิประกอบกิจการใดก็ได้ เว้นแต่โดยสภาพของหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำนั้นคณะบุคคลไม่อาจกระทำได้ เช่น การรับจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น และในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้

ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของคณะบุคคลนั้นตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 68/33480

ความเห็นเพิ่มเติม คณะบุคคลสามารถจัดทำบัญชีได้ครับ ยกเว้นทำงานในฐานะลูกจ้างรับเงินเดือนไม่ได้

ที่มา.. http://www.rd.go.th/publish/29015.0.html