ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | รับทำเงินเดือน - Part 6 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | รับทำเงินเดือน - Part 6

กรมสรรพากรชี้แจงการเรียกเก็บภาษีกรณีผู้ที่ได้รับรางวัลจากการชิงโชค

ตามที่สื่อมวลชนได้ลงข่าวกรณีผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเงินสด 1 ล้านบาท พร้อมรถยนต์ 1 คัน จากการประกวดตั้งชื่อหมีแพนด้า เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา และทางสรรพากรพื้นที่สกลนคร ได้มี หนังสือแจ้งให้ไปชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม จากการที่ไม่ได้ยื่นแบบชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด นั้น

นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “สำหรับผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเงินสด หรือของรางวัลจากการประกวด แข่งขัน หรือชิงโชค นั้น รางวัลที่ได้รับถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้โชคดีมีหน้าที่ต้องนำมูลค่าของรางวัลที่ได้รับไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ด้วยแบบฯ ภ.ง.ด.90 รวมกับเงินได้ประเภทอื่น ๆ (ถ้ามี) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป และในกรณีที่ผู้โชคดีเป็นผู้เยาว์ ก็เป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ต้องทำหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษีแทน แม้ในขณะที่รับรางวัลนั้นได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ผู้รับรางวัลยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบฯ ภายในเวลาที่กำหนด ถ้าคำนวณภาษีแล้ว พบว่าภาษีที่ต้องชำระน้อยกว่าที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ก็มีสิทธ์ิได้รับภาษีคืน แต่ถ้าคำนวณแล้วมากกว่าก็ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมให้ครบถ้วน”

รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเตือนในท้ายที่สุดว่า “กรณีที่เป็นข่าวในขณะนี้นับเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้มีเงินได้ทุกประเภท เมื่อท่านมีเงินได้เกิดขึ้นแล้ว ต้องยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนด การถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ก็เป็นการชำระภาษีล่วงหน้าเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้ทำให้การชำระภาษีเสร็จสิ้น ครบถ้วนแต่อย่างใด เพราะท่านยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษีประจำปี และที่สำคัญการไม่ยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนดนอกจากต้องชำระภาษีและเงินเพิ่มตามกฎหมายแล้ว ยังต้องเสียค่าปรับกรณีไม่ยื่นแบบฯ ภายในเวลาที่กำหนดด้วย”

เงินชดเชยกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับไม่พร้อมกัน

คำพิพากษาฎีกา ที่43/2547

นายอัษฎางค์ อนันตวราศิลป์ โจทก์

กรมสรรพากร จำเลย

เรื่อง  ภาษีเงินได้กรณีที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง: ประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) / ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษี เงินได้ (ฉบับที่ 45) พ.ศ.2535

โจทก์ได้รับเงินได้เพราะเหตุออกจากงานสองประเภท ประเภทที่หนึ่งเป็นเงินชดเชยการเลิกจ้างจำนวน 1,022,825 บาท ซึ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ถือว่าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้ง เดียวเพราะเหตุออกจากงานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 1 (ค) โดยนายจ้างจ่ายให้โจทก์ในวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ประเภทที่สองเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 1,527,855 บาท โดยจ่ายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 1 (ข) ผู้ที่จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้ที่จ่าย เห็นได้ว่าเงินชดเชยการเลิกจ้างกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ไม่ใช่  ผู้จ่ายรายเดียวกัน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้เฉพาะเงินได้   ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เท่านั้น ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 2 (ข)

ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี 2542 ซึ่งเป็นคนละปีภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 1,527,855 บาท ที่ได้รับในปีภาษี 2542 มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ พิพากษากลับให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 2,000 บาท

 

ที่มา..กรมสรรพากร

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยหลายประเภท

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2575

วันที่ : 31 มีนาคม 2552

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยหลายประเภท

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(8) มาตรา 42 และมาตรา 77/1(5)(10) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          นาย ก. ได้ทำงานอยู่กับบริษัทฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี ต่อมาบริษัทฯ ได้เลิกจ้างนาย ก. โดยให้พ้นจากสภาพการเป็นพนักงาน ของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป และได้จ่ายเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน จำนวน 268,533.33 บาท โดยแยกได้ ดังนี้
          1. ค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดจำนวน 127,200 บาท
          2. ค่าชดเชยกรณีการบอกเลิกจ้างจำนวน 42,400 บาท
          3. ค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้จำนวน 14,133.33 บาท
          4. เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้เป็นพิเศษจำนวน 84,800 บาท
          นาย ก. จึงขอทราบว่า เงินได้ที่บริษัทฯ จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตาม 1 ถึง 4 ถือเป็นค่าชดเชยตามกฎหมาย แรงงานที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช่หรือไม่ และกรณีที่นาย ก. ถูกบริษัทฯ คำนวณหัก ภาษี ณ ที่จ่ายไว้และนำส่งไว้เกินจะขอคืนได้หรือไม่อย่างไร

แนววินิจฉัย
          กรณีบริษัทฯ เลิกจ้างนาย ก. โดยได้จ่ายเงินได้ให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เฉพาะเงินชดเชยที่นาย ก. ได้รับตาม 1. จำนวน 127,200 บาทเท่านั้น ที่เข้าลักษณะเป็นค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรง งาน นาย ก. มีสิทธิได้ รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของ การทำงานสามร้อยวันสุดท้าย แต่ไม่เกินสามแสนบาท ตามข้อ 2(51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

          สำหรับเงินชดเชยกรณีการบอกเลิกจ้าง เงินค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ และ เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้เป็นพิเศษ ที่นาย ก. ได้รับ ตาม 2 ถึง 4 นั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร นาย ก. ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้นำ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทฯ ได้หักและนำส่งไว้ไป หักออกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะต้องเสียในการยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหากมีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เกินไป ก็มีสิทธิขอคืนภาษีดังกล่าวได้ ภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้าย แห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 72/36512

 

ที่มา..ข้อหารือกรมสรรพากร

space