ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | รับทำเงินเดือน - Part 11 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | รับทำเงินเดือน - Part 11

เงินปันผล และเครดิตภาษีเงินปันผล

เครดิตภาษีสำหรับเงินปันผล (1)

สิทธิประโยชน์ประการหนึ่งของผู้มีเงินได้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้ รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

กรุงเทพ ธุรกิจออนไลน์ : ก็คือการใช้เครดิตภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรมสรรพากรได้เคยออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545 เรื่อง การเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 พ.ย.2545 โดยยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.108/2544 ลงวันที่ 27 ก.ค.2544 แต่ด้วยระยะเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้วจึงขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา – วิสัชนา อีกครั้งหนึ่งดังนี้ครับ

ปุจฉา ทำไมจึงต้องมีการให้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

วิสัชนา การให้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อาจพิจารณาได้เป็น 2 ประการคือ

ประการที่ 1 เป็นไปเพื่อขจัดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังกล่าวได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อนำเงินกำไรหลังจากภาษีเงินได้นิติบุคคลมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าวต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก ครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นความซ้ำซ้อนทางเศรษฐกิจ (ECONOMIC DOUBLE TAXATION) รัฐๆ หนึ่งจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินได้ก้อนเดียวกันตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป)

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่เกิดจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยให้แก่ผู้อยู่ในประเทศไทย หรือเป็นผู้มีภูมิลำเนาในไทย จึงกำหนดให้ผู้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าว ได้รับเครดิตภาษีเท่ากับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หารด้วยร้อยลบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งอาจแสดงเป็นสูตรได้ดังนี้

เครดิตภาษี    =    เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร   x   อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

100 – อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

เครดิตภาษีที่ได้รับให้นำมาถือรวมเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้เป็นเงินภาษีเท่าใด ให้นำเครดิตภาษี (รวมทั้งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย) มาหักออก หากยังขาดให้ชำระเพิ่ม แต่ถ้าเกินให้มีสิทธิขอคืนภาษีจากกรมสรรพากร

ซึ่งวิธีการเครดิตภาษีดังกล่าวเป็นการที่รัฐให้เครดิตภาษีเต็มจำนวน (FULL CREDIT) ที่ผู้มีเงินได้ได้ชำระภาษีเงินได้ในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคล

ประการที่ 2 การพิจารณาให้เครดิตภาษีดังกล่าว เป็นการให้ทางเลือกเเก่ผู้มีเงินได้ที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลัก ความสามารถในการเสียภาษี (ABILITY TO PAY PRINCIPLE) กล่าวคือ หากผู้มีเงินได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% ของเงินปันผล เท่ากับผู้มีเงินได้ได้เสียภาษีเงินได้ไปแล้วเป็นจำนวนถึง 37% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุด ที่ใช้สำหรับผู้ที่มีเงินได้สุทธิเกินกว่าสี่ล้านบาทขึ้นไป กฎหมายจึงให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้ที่จะเลือกเสียภาษีเงินได้เท่ากับจำนวน ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยไม่ต้องนำเงินปันผลมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้อีกต่อไป เพราะโดยภาพรวมรัฐได้เม็ดเงินภาษีจากผู้มีเงินได้ท่านนั้นเต็มตามจำนวนที่ รัฐพึงได้แล้ว

แต่สำหรับผู้มีเงินได้ที่ความสามารถในการเสียภาษียังไม่ถึงขั้นที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้ในอัตราสูงสุดหรือ 37% ของเงินได้สุทธิ การได้สิทธิเครดิตตามเหตุผลประการที่ 1 ดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดความเป็นธรรมที่ผู้มีเงินได้จะได้เริ่มคำนวณภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาจากเงินกำไรสุทธิในส่วนของตนอีกครั้งหนึ่ง ตามขั้นหรือระดับความสามารถในการเสียภาษีของตน

ปุจฉา การได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรจะเกิดขึ้นในกรณีใดและเมื่อใด

วิสัชนา เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้จ่ายเงิน ปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ไม่ว่าผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ ตาม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้จ่ายเงินได้จะทำการหักภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา 10% ของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งขอกำไร ซึ่งผู้เงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 วิธีดังนี้

วิธีที่ 1 เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย โดยไม่นำเงินได้ที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรมารวมคำนวณเพื่อ เสียเงินได้ตามปกติ และไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายนั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ได้ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยวิธีนี้ ผู้มีเงินได้จะไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

วิธีที่ 2 เลือกที่จะนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาตามวิธีปกติ คือ นำเงินได้พึงประเมินมาหักด้วยค่าใช้จ่าย (ถ้ามี) และค่าลดหย่อน คงเหลือเป็นเงินสุทธิเท่าใด นำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า แต่จำนวนภาษีที่ต้องเสียต้องไม่น้อยกว่าจำนวนภาษีที่คำนวณได้จากอัตรา 0.5% ของเงินได้พึงประเมินที่จำนวนตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป แต่ทั้งนี้ไม่รวมเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร

โดยวิธีนี้ เฉพาะผู้มีเงินได้ที่อยู่ในประเทศไทย หรือเป็นผู้มีภูมิลำเนาในไทย จะได้รับเครดิตภาษีเท่ากับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หารด้วยร้อยลบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะต้องนำเครดิตภาษีที่ได้รับให้นำมาถือรวมเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

เครดิตภาษีสำหรับเงินปันผล (2)

ขอนำประเด็นสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการใช้เครดิตภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับเงินปันผล หรือ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทย ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.119/2545 มา ปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ครับ

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้มีเงินได้ที่จะได้รับเครดิตภาษี หรือไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรอย่างไร

วิสัชนา หลักเกณฑ์เบื้องต้นในการพิจารณาว่า ผู้มีเงินได้รายได้จะได้รับเครดิตภาษีตามกฎหมายหรือไม่ ดังนี้

1. สิทธิประโยชน์ข้อนี้ กำหนดไว้เป็นพิเศษแก่เฉพาะผู้มีเงินได้ที่เป็นอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษี หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย กล่าวคือ เป็นผู้มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร์ของไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว

2. ต้องเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย รวมทั้งกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย หรือจากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น กองทุนสินภิญโญ กองทุนทรัพย์ทวิ เป็นต้น

3. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รวมทั้งกิจการร่วมค้า เว้นแต่กองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิมาแล้ว

ปุจฉา กรณีใดบ้างที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไร แต่ไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

วิสัชนา กรณีดังต่อไปนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่ง ของกำไร โดยไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

1. สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

(1) กรณีได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยจ่ายจากกำไรของโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน และได้รับในช่วงเวลาที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนนั้น

(2) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทการจัดการกองทุนรวม

(3) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือกิจการฝึกอบรมภายในแก่พนักงานของตนและพนักงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลในเครือเดียวกัน บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ประกอบกิจการขนส่งสินค้าโดยเรือเดิน ทะเล

2. สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

(1) เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่ นิติบุคคล ซึ่งกฎหมายกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(14) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ปุจฉา กรณีได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล แต่มีการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวภายหลังพ้นระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลง ทุน ผู้ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งขอกำไรดังกล่าวมีภาระภาษีอย่างไร และมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

วิสัชนา กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

1. กรณีกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนได้จ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของ กำไรในช่วงเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ผู้ได้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด และไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีสำหรับเงินได้ดังกล่าว

2. กรณีกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนได้จ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของ กำไรภายหลังพ้นระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ผู้จ่ายเงินปันผลต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ออกให้แก่ผู้มีเงินได้ว่า “ไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร” ด้วย ทั้งนี้ ผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด

เครดิตภาษีสำหรับเงินปันผล (3)

ขอ นำประเด็นสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการใช้เครดิตภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้ง ขึ้นตามกฎหมายไทย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.119/2545 มา ปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ครับ

ปุจฉา ช่วยตอกย้ำแนวคิดในการมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อีกสักครั้งหนึ่ง เพราะยังไม่ชัดเจนในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็น

วิสัชนา เป็นคำถามที่ดี ที่ยังไม่ได้ชี้แจงมาก่อน จึงขอโอกาสนี้กล่าวถึงแนวคิดในการมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ครับ

1.ในบ้านเรากำหนดหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นสองระดับ กล่าวคือ นอกจากระดับที่เป็นกำไรสุทธิ ซึ่งอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยทั่วไป คือ ร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ คงเหลือกำไรสะสมหลังจากเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวนร้อยละ 70 ของกำไรสุทธิ ในระดับที่สอง คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินปันผล ซึ่งเสียภาษีสูงสุดในอัตราร้อยละ 10 ของเงินกำไรสะสมที่เหลือดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 7 ของกำไรสุทธิ

เมื่อรวมภาษีเงินได้ที่ชำระทั้งสองระดับแล้วเทียบกับกำไรสุทธิทั้งสิ้น โดยคิดเป็นอัตรา % ก็จะได้เป็นร้อยละ 37 ของกำไรสุทธิ ซึ่งจะเห็นได้ว่า อัตราร้อยละ 37 เป็นอัตราเดียวกับอัตราสูงสุดของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นเองเป็นคำตอบว่าทำไมอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรดาสูงสุดจึงเป็นอัตราร้อย ละ 37 ของเงินได้สุทธิ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการจัดเก็บภาษีเงินได้ทั้งสองประเภท เพราะไม่ว่าจะเลือกประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดาหรือประกอบกิจการในรูป ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็ตาม อัตราภาษีเงินได้สูงสุดก็จะไม่เกินร้อยละ 37 ทั้งสองรูปแบบ อันเป็นหลักการของภาษีอากรที่ดี ในข้อที่ว่าด้วย “ความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ”
ดังนั้น หากผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งได้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 10 ของเงินปันผล ตามมาตรา 48(3) แห่งประมวลรัษฎากร ก็จะทำให้ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าว เสียภาษีเงินได้ทั้งสิ้นร้อยละ 37 ของกำไรสุทธิ

2.กล่าวสำหรับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่อาจจะมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 37 ของกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงเกิดแนวคิดที่จะให้ผู้มีเงินได้รายนั้นๆ ได้ความเป็นธรรมในระบบภาษีอากรสูงสุด และเป็นไปตามหลักความสามารถในการเสียภาษีอากร กล่าวคือ หากมีเงินได้น้อยก็ให้เสียภาษีเงินได้ในอัตราต่ำ และเพิ่มอัตราสูงขึ้นไปเป็นขั้นบันไดหรือที่นิยมเรียกกันว่า “อัตราก้าวหน้า” (PROGRESSIVE RATE) ทั้งนี้ โดยให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับเงินได้ ที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ได้สิทธิเสียภาษีจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้ประกอบกิจการเองแต่เพียงลำพัง จึงให้คำนวณและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกำไรสุทธิในส่วนของผู้มีเงิน ได้อีกครั้งหนึ่ง สำหรับภาษีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายที่ตนได้เสียไป ก็ให้นำมาเป็นเครดิตหักออกจากจำนวนภาษีที่คำนวณได้ หากเหลือก็ให้มีสิทธิได้รับคืนจากรัฐ

แนวคิดดังกล่าว เป็นแนวคิดที่ประเทศไทยเราได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษ อันเป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเรียกการให้เครดิตในลักษณะนี้ว่า ระบบเครดิตเต็มจำนวน (FULL CREDIT)
แต่เดิมอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระบบอัตราเดียว คือ ร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ การบัญญัติกฎหมายมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จึงกำหนดเป็นการตายตัวว่า เครดิตที่ผู้มีเงินได้ได้รับคิดเป็นอัตราเศษ 3 ส่วน 7 ของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้มีเงินได้ได้รับ

ครั้นต่อมา มีการพัฒนาระบบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระบบหลายอัตรา จึงจำเป็นต้องปรับจำนวนเครดิตภาษีให้เป็นธรรมตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นๆ ได้เสียไปจริง

ปุจฉา การจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิที่เกิดจากการรับรู้รายได้ตามเกณฑ์ส่วนได้ส่วนเสีย (EQUITY METHOD) มีผลกระทบต่อการได้รับเครดิตภาษีอย่างไร

วิสัชนา เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากบริษัทที่รับรู้รายได้ตามเกณฑ์ส่วนได้ส่วน เสีย จะไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อบริษัทผู้จ่ายปันผลได้รับเงินปันผลจากบริษัทร่วมหรือบริษัทในเครือ ของตน ก็ไม่มีสิทธินำมาจ่ายเงินปันผลอีก จึงทำให้ผู้ถือหุ้นเสียสิทธิประโยชน์ข้อนี้ไป แต่ข้อดีคือผู้ถือหุ้นได้สิทธิรับเงินปันผลก่อน

เครดิตภาษีสำหรับเงินปันผล (4)

ขอนำประเด็นสิทธิ ประโยชน์เกี่ยวกับการใช้เครดิตภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.119/2545 มา ปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ครับ

ปุจฉา กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไร จากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจะได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

วิสัชนา กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือมีภูมิลำเนาในประเทศไทย และเป็นผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการใน ประเทศไทย และได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิ ผู้มีเงินได้ดังกล่าวก็ย่อมได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรด้วย เนื่องจากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ถือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิเช่นเดียวกับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตาม กฎหมายไทยทั่วไป เงินส่วนแบ่งของกำไรจึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น กองทุนสินภิญโญ หรือกองทุนทรัพย์ทวี และเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร และผู้ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร จะได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

วิสัชนา กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม เช่น กองทุนสินภิญโญ กองทุนทรัพย์ทวี ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าว มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลือกเสียภาษีเท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% ของเงินได้ หรือจะนำเงินส่วนแบ่งของกำไรไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแบบ ภ.ง.ด.90 เมื่อสิ้นปีภาษีตามปกติก็ได้ ซึ่งผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด เนื่องจากเงินได้ของกองทุนรวม และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไร จากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เช่น กองทุนบัวหลวง กองทุนรวงข้าว เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เช่นนี้ผู้ได้รับเงินปันผลไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด เนื่องจากกองทุนดังกล่าวไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และหากผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา 10% ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลือกเสียภาษีเท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย หรือจะนำเงินส่วนแบ่งของกำไรไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแบบ ภ.ง.ด.90 เมื่อสิ้นปีภาษีตามปกติก็ได้ ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 262) พ.ศ.2536

โดยทั้งสองกรณี ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ออกให้แก่ผู้มีเงินได้ว่า “ไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร” ด้วย

ปุจฉา กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการสถานฝึกอบรม เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้างของตน หรือของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ผู้ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร จะได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

วิสัชนา เนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนและ สถาบันอุดมศึกษา หรือกิจการสถานฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้างของตน หรือของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวล รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 284) พ.ศ.2538 ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกิจการดังกล่าว จะไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษา ยังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2(37) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ส่วนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ประกอบกิจการสถานฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้างของตน หรือของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ผู้จ่ายเงินปันผลต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% ของเงินได้ ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้จ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร จะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ออกให้แก่ผู้มีเงินได้ว่า “ไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร” ด้วย

เครดิตภาษีสำหรับเงินปันผล (5)

ขอนำประเด็นสิทธิ ประโยชน์เกี่ยวกับการใช้เครดิตภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้มีเงินได้ที่เป็นถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับเงินปันผลหรือ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทย ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545 มา

ปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ครับ ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

วิสัชนา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหลายอัตรา เมื่อจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และผู้จ่ายเงินได้ทราบโดยชัดแจ้งว่า จ่ายจากเงินกำไรสุทธิหลังจากเสียภาษีในอัตราใด ผู้จ่ายเงินได้จะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายนั้น จำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวไม่สามารถทราบโดยชัดแจ้งว่า จ่ายจากเงินกำไรสุทธิหลังจากเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราใด ให้เฉลี่ยเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามส่วนของกำไรสุทธิหลังจากเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลในแต่ละอัตราภาษี และจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายนั้น จำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราใด ซึ่งในกรณีนี้ ทั้งยุ่งยาก และที่สุดแล้วก็ต้องระบุอยู่ดีว่า ได้จ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกำไรสุทธิหลังจากเสียภาษีเงิน ได้บุคคลอัตราใด ดังนั้น จึงควรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหลาย อัตรา เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับการลดอัตรา หรือกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จะได้จัดทำบัญชีแยกประเภทกำไรสะสมหลังจากเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งบัญชีสำรองตามกฎหมาย (สำหรับบริษัทจำกัด) เป็นรายอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อความสะดวกในการจัดสรรกำไรสะสมเป็นเงินปันผล โดยเลือกจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิหลังจากเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราใด ก่อนหลังก็ได้

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโทษ กรณีระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิการได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไร วิสัชนา มีแนวปฏิบัติดังนี้

1. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผล แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้โดยถูกต้องและครบถ้วนแล้ว หากผู้มีเงินได้มิได้นำไปใช้เครดิตภาษี หรือนำไปใช้เครดิตภาษีถูกต้องตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผล แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว หากผู้มีเงินได้นำไปใช้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่ใช้เครดิตภาษีไม่ถูกต้อง โดยเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ อันเป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้ได้รับเงินภาษีคืนเกินไปหรือชำระภาษีไว้ไม่ครบ ถ้วน ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับผู้มีเงินได้ต้องรับผิดตามจำนวนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกินไปหรือเงิน ภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบถ้วน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเรียกคืนเงินจำนวนดังกล่าวหรือประเมินเรียก เก็บภาษีเพิ่มเติมจากผู้มีเงินได้ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผล แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ถูกต้อง และผู้มีเงินได้มิได้นำไปใช้เครดิตภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

4. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผล แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ถูกต้อง และผู้มีเงินได้นำไปใช้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้จะได้รับเงินภาษีคืนเกินไป หากผู้มีเงินได้ยังไม่ได้รับเงินภาษีคืน หรือได้รับเงินภาษีคืนแต่ยังไม่เกินกว่าจำนวนที่พึงได้รับ ผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

5. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผล แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ถูกต้อง และผู้มีเงินได้นำไปใช้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ อันเป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้ได้รับเงินภาษีคืนเกินไปหรือชำระภาษีไว้ไม่ครบ ถ้วน ผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ตามจำนวนเงินภาษีที่ได้รับคืน เกินไปหรือเงินภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเรียกคืนเงินจำนวนดังกล่าวหรือประเมินเรียก เก็บภาษีเพิ่มเติมจากผู้จ่ายเงินได้ก่อน

แต่ถ้าเรียกคืนเงินภาษีหรือเรียกเก็บภาษีจากผู้จ่ายเงินได้ไม่ได้หรือไม่ครบ จำนวนที่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจเรียกคืนเงินภาษีหรือเรียกเก็บภาษีจากผู้มีเงิน ได้ ตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเงินปันผลจากผู้จ่ายเงินได้หลายราย และผู้จ่ายเงินได้บางรายแสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการ หักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ถูกต้อง หากผู้มีเงินได้นำไปใช้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ อันเป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้ได้รับเงินภาษีคืนเกินไปหรือชำระภาษีไว้ไม่ครบ ถ้วน ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งแสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ถูกต้อง ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ตามจำนวนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกินไปหรือเงิน ภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

เครดิตภาษีสำหรับเงินปันผล (6)

ขอนำประเด็นสิทธิ ประโยชน์เกี่ยวกับการใช้เครดิตภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้มีเงินได้ที่เป็นถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับเงินปันผลหรือ เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.119/2545 มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ครับ

ปุจฉา กรณีบริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกิจการดังต่อไปนี้ ผู้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร

1. บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

2. กองทุนรวมทั้งกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น กองทุนสินภิญโญ กองทุนทรัพย์ทวี และกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

3. กิจการร่วมค้า (JOINT VENTURE: JV) ที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

4. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมการลงทุน

วิสัชนา กรณีดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

1. สำหรับบริษัทจดทะเบียน ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งกรณีบริษัทจดทะเบียนทั่วไป (SET) และบริษัทจดทะเบียนในตลาด MAI

(1) กรณีได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกิจการดังต่อไปนี้ ให้ได้สิทธิไม่ต้องนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี เงินได้นิติบุคคล (ก) บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(ข) กองทุนรวมทั้งกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และกองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(ค) กิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย

(ง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ ได้ส่งเสริมการลงทุน และได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวในช่วงเวลาที่ได้รับส่ง เสริมการลงทุน

กรณีตาม (ก) และ (ข) ต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนในกิจการผู้จ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ดังต่อไปนี้ ไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเดือนทั้งก่อนและหลังวันได้รับเงินปันผลหรือเงิน ส่วนแบ่งของกำไร จึงจะได้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว

(1) กรณีได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกิจการดังต่อไปนี้ ต้องนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลทั้งจำนวน (ก) ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

2. สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(1) กรณีได้รับเงินปันผลจากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยได้ถือหุ้นในกิจการผู้จ่ายเงินปันผล ไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเดือนทั้งก่อนและหลังวันได้รับเงินปันผล

(ก) บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยทั่วไป ได้สิทธินำเงินปันผลมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงกึ่งหนึ่ง (50%)

(ข) สำหรับบริษัท HOLDING COMPANY หรือบริษัทจำกัดที่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง และบริษัทจำกัดตามข้อ 1 มิได้ถือหุ้นในบริษัท HOLDING COMPANY ผู้รับเงินปันผลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และได้ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลตามข้อ 1 ไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเดือนทั้งก่อนและหลังวันได้รับเงินปันผล บริษัท HOLDING COMPANY จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลที่ได้รับนั้นทั้งจำนวน

(2) กรณีได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หรือกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จะได้สิทธินำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงิน ได้นิติบุคคลเพียงร้อยละ 50

(3) กรณีได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกิจการร่วมค้า ที่ประกอบกิจการในประเทศไทย หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลง ทุน และเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ ได้ส่งเสริมการลงทุน และได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวในช่วงเวลาที่ได้รับส่ง เสริมการลงทุน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร จากกิจการดังกล่าวทั้งจำนวน

เงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี

เงินได้พึงประเมินอะไรบ้างที่ได้รับยกเว้นภาษี?

เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี มีอยู่หลายกรณีที่สำคัญๆ ได้แก่ การยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร การยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 การยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับต่างๆ เป็นต้น  เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมีดังนี้

1. ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือ ค่าพาหนะ ซึ่ง ลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงาน ให้ได้จ่ายไปโดยสุจริต ตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมด ในการนั้น
2. ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตรา ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง
3. เงินค่าเดินทางซึ่ง นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมดโดยจำเป็น เพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างสิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการย้ายกลับ ถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิมภายใน 365 วัน นับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง
4. ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญากันโดยสุจริตก่อนใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475 มีข้อกำหนดว่า นายจ้างจะชำระเงินบำเหน็จ เงินค่าธรรมเนียม เงินค่านายหน้า หรือเงินโบนัส ให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเดียวเมื่อการงานที่จ้างได้สิ้นสุดแล้ว แม้ เงินเต็มจำนวนนั้นจะได้ชำระภายหลังที่ใช้ บทบัญญัติในส่วนนี้ก็ดี เงินบำเหน็จ เงินค่าธรรมเนียม เงินค่านายหน้า หรือเงินโบนัส  ส่วนที่เป็นค่าจ้างแรงงาน อันได้ทำในเวลาก่อนใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475 นั้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
5. เงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่ง และเงินค่าเช่าบ้าน หรือบ้านที่ให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าสำหรับข้าราชการสถานทูต หรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ
6. เงินได้จากการขาย หรือส่วนลดจากการซื้ออากรแสตมป์หรือแสตมป์ไปรษณียากรของรัฐบาล
7. เบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้
8. ดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่ ดอกเบี้ยดังต่อไปนี้
(1) ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภท ฝากเผื่อเรียก
(2) ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์
(3) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภท ออมทรัพย์เฉพาะ กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดี ประกาศ(มาตรา 42(8))
(4) ดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศไทยและจากสหกรณ์ออม ทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ในประเทศ เป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับแต่วันที่ฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากันแต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือนและรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท
9. การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร แต่ไม่รวมถึงเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไปหรือแพ
10. เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี
11. รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ รางวัลสลากกินแบ่งหรือสลากออมสิน ของรัฐบาล รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้ในการประกวดหรือแข่งขัน ซึ่งผู้รับมิได้มีอาชีพในการประกวดหรือแข่งขัน หรือสินบนรางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทำความ ผิด
12. บำนาญพิเศษ บำเหน็จพิเศษ บำนาญตกทอด หรือบำเหน็จตกทอด
13. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด เงินที่ได้จากการประกันภัยหรือการฌาปนกิจสงเคราะห์
14. เงินส่วนแบ่งกำไรจาก ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งต้องเสียภาษี ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม
15. เงินได้ของชาวนาที่ได้จากการขายข้าว อันเกิดจากกสิกรรมที่ตนและหรือครอบครัว ได้ทำเอง
16. เงินได้ที่ได้รับจากกองมรดกซึ่งได้เสียภาษีเงินได้ไว้ในนามของกองมรดกแล้ว
17. รางวัลสลากบำรุงกาชาดไทย เงินได้จากการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลากบำรุง กาชาดไทย
18. ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการคืนเงินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
19. เงินได้ที่เป็นเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนที่สหกรณ์จ่ายให้แก่สมาชิก
20. เงินปันผลที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบการขนส่งทางทะเลและ ถือกรรมสิทธ์เรือ ไทย หรือที่ประกอบกิจการอู่เรือที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ก็ต่อเมื่อได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวล รัษฎากรแล้ว
21. เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม
22. เงินได้ของกองทุนรวม
23. เงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตน ได้รับจากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วย การประกันสังคม
24. เงินได้จากกิจการโรงเรียนราษฎร์ (โรงเรียน เอกชน) แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายของ การรับจ้างทำของหรือการให้บริการอื่นใดที่โรงเรียนราษฎร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาได้รับจากผู้ซึ่งมิใช่นักเรียน
25. เงินได้จากการจำหน่ายหรือส่วนลดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาล
26. เงินได้ส่วนที่เป็นค่าจ้างการทำงานในระหว่างเวลาปิดภาคการศึกษาของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือนิสิตที่เข้ามาศึกษา ณ สถานศึกษาในประเทศไทย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
27. เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาล สำหรับ
(1) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย
(2) ลูกจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว
ทั้งนี้ เงินจำนวนดังกล่าวได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
28. เงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เป็นเงินค่าเช่าบ้าน หรือ เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้ อยู่บ้านที่ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดาร เงินยังชีพหรือ เงินค่าอาหารทำการนอกเวลา
29. เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่าที่ผู้มี เงินได้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความเป็นจริง หรือเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่รัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้ อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าและรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้
30. เงินช่วยการศึกษาบุตร เงิน ช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดารหรือเงินยังชีพที่ได้รับจาก รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอัตราเดียวกับที่ทางราชการให้ แก่ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้จำนวนดังกล่าว ให้
31. รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับภาษีอากร
32. ดอกเบี้ยเงินสะสมที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอัตราเดียวกับที่ทางราชการจ่ายให้ แก่ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้จำนวนดังกล่าว ให้
33. เงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยได้รับจากรัฐบาลของตน ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
34. เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนและเงินใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ที่คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้แทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยได้รับจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ
35. ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์เฉพาะเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ ซึ่งใช้สมุดคู่ฝากในการฝากถอน
36. เงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้เบิกจ่ายได้
37. เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือ ค่าจ้างและเงินใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ที่คน ต่างด้าวซึ่งไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับจาก
(1) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานในการปฏิบัติงาน ในประเทศไทย
(2) รัฐบาลแห่งประเทศของตนในการปฏบัติงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อพยพจาก อินโดจีนในประเทศไทย
38. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรือ อสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการ ให้โดยเสน่หาที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยาหรือการปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้จากการขายในส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น
39. เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบ ครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนโดยไม่มีค่าตอบแทน บุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมด้วย
40. เงินได้จากการขายสินค้ายาสูบที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังได้เสียภาษีเงินได้แทน ผู้ขายสินค้าดังกล่าวทุกทอดตามมาตรา 48 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
41. ดอกเบี้ยพันธบัตรหรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายพันธบัตร หรือหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ทั้งนี้ เฉพาะพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น สำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และผู้มีเงินได้นั้นมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
42. ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
43. เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงเงินได้ จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร
44. เงินได้จากการขายโลหะดีบุกตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 สำหรับโลหะดีบุกที่ซื้อมาระหว่างวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ทั้งนี้ เฉพาะที่ไม่นำรายจ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการซื้อและขายโลหะดีบุกดังกล่าว ไปรวมคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิ
45. เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร แล้วแต่กรณีจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคลหรือจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตาม กฎหมายไทย ทั้งนี้เฉพาะส่วนที่เป็นการคำนวณจากเงินได้จากการขายโลหะดีบุกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 สำหรับโลหะดีบุกที่ซื้อระหว่างวันที่ กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และรายจ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการซื้อและขายโลหะดีบุกดังกล่าว
46. เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มี ค่าตอบแทนให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา
47. เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มี ค่าตอบแทนให้แก่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมนาชินีนาถ
48. เงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะที่ดินที่ต้องเวนคืน และอสังหาริมทรัพย์อื่นบนที่ดินที่ต้องเวนคืน
49. เงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้
(1) ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาซื้อตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใดๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและมีการ จำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคา ไถ่ถอน แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาเป็นผู้ทรงคนแรก
(2) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใดๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ไม่มี ดอกเบี้ย
(3) ดอกเบี้ยที่ได้จากตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใดๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นก่อนการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากดอกเบี้ย ดังกล่าว ทั้งจำนวนไว้แล้ว
50. เงินได้ที่ผู้เชี่ยวชาญของประชาคมยุโรปที่ เป็นคนต่างด้าวและไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับเนื่องจากการเข้ามาทำ งานในประเทศไทย ภายใต้โครงการความช่วยเหลือที่ประเทศไทยได้รับจากประชาคม ยุโรป
51. เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ แต่ ไม่รวมถึงเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
52. เงินได้ที่คณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทได้รับเพื่อประโยชน์ในการสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่และปรับปรุงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
53. เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในจำนวนคนละ ไม่เกินสองชุดต่อปีและเสื้อนอกในจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี
54. เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตาม กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
55. เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือตายดังนี้
(1) กรณีเกษียณอายุลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
(2) กรณีทุพพลภาพ ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและ แสดงความเห็นว่าลูกจ้างผู้นั้นไม่สามารถที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ซึ่ง ปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป ไม่ว่าเหตุทุพพลภาพนั้นจะเกิดเนื่องจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ก็ ตาม
(3) กรณีตาย ไม่ว่าการตายนั้นจะเกิดจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่
56. เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตาม กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวจะต้องมิได้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก กิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือกิจการสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
57. ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่ เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น
58. เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่คนประจำเรือได้รับเนื่องจากการปฏิบัติงาน บนเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวีที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
59. เงินได้ที่คณะกรรมการบริหาร “ทุนการกุศลสมเด็จพระเทพฯ” ได้รับเพื่อประโยชน์ ของการกุศลสมเด็จพระเทพฯ
60. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้
(1) บ้าน โรงเรียน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
(2) อสังหาริมทรัพย์ตาม (1) พร้อมที่ดิน
(3) ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
ทั้ง นี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้อสังหาริมทรัพย์ตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจดทะเบียนการได้มาใน พ.ศ. 2540 และขายอสังหาริมทรัพย์นั้นภายหลังจากการจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550
61. ผลประโยชน์ที่ได้จากการควบเข้ากันของธนาคารตาม กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และหรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
62. เงินได้เท่าที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจ่าย เป็นเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
63. เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้า ราชการ เนื่องจากออกจากราชการ เพราะเหตุสูงอายุ เหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทน หรือตาย ดังนี้
(1) กรณีเหตุสูงอายุ
(2) กรณีเหตุทุพพลภาพ สำหรับสมาชิกซึ่งออกจากราชการเพราะป่วย เจ็บ ทุพพลภาพ ซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าไม่สามารถที่จะรับ ราชการในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไปได้
(3) กรณีเหตุทดแทน สำหรับสมาชิกซึ่งออกจากราชการเพราะทางราชการเลิก หรือ ยุบตำแหน่งหรือมีคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิดหรือทหารซึ่งออกจากกองหนุน เบี้ยหวัด
(4) กรณีตาย สำหรับสมาชิกซึ่งออกจากราชการเพราะถึงแก่ความตายในระหว่าง รับราชการ
64. เงินได้ที่คณะกรรมการกองทุนลานกีฬาต้านยาเสพติด สำนักนายกรัฐมนตรีได้รับ เพื่อประโยชน์ของกองทุนลานกีฬาต้านยาเสพติดดังกล่าว
65. ดอกเบี้ยพันธบัตรออมสิน รุ่นพันธบัตรเงินฝากช่วยชาติ
66. เงินได้ที่เป็นเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ ซึ่ง เป็นคนต่างด้าวและไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ได้รับจากศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ เนื่องจากการเข้ามาทำงาน ในประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ
67. รางวัลบัตรออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
68. เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่ วัด วัดบาดหลวงโรมันคาทอลิค หรือมัสยิด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้เฉพาะการโอนที่ดินส่วนที่ทำให้วัด วัดบาดหลวงโรมันคาทอลิค หรือมัสยิดมีที่ดินไม่เกินห้าสิบไร่
69. ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
70. ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้ รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมาย ว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อย วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
71. เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยโดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ ยืมนั้น ตามจำนวน ที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด ทั้งนี้เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ซึ่งจ่ายให้แก่
(1) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(3) นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลัก ทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่นิติบุคคลเฉพาะกิจ ดังกล่าว เข้ารับช่วงสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมตาม (1) หรือ (2) ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์หรือนายจ้าง
72. เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้ แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้างสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อเช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยโดยจำนองอาคาร ที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ซึ่งรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท และเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
อาคารตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย
73. เงินได้เท่าที่ผู้อำนวยการ ผู้บริหาร ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเอกชนจ่าย เป็นเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
74. เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะ ส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกและไถ่ถอนหน่วยลงทุนนั้นเมื่อผู้มี เงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
กรณีที่ผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วยเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตาม วรรคหนึ่งเมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุน บำเหน็จบำนาญข้าราชการต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90))
ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคสามให้ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นตามวรรค หนึ่งและต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่ง มาแล้วด้วย
75. เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับจากกองทุนรวมดังกล่าวเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
76. เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ครูใหญ่หรือครูโรงเรียนเอกชนได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เมื่อครูใหญ่หรือครูโรงเรียนเอกชนออกจากงานเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
77. ยกเว้นเงินปันผลที่ได้จากการถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่ง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้มาตรา 5 อัฏฐารส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.
2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 396) พ.ศ. 2545
78. ยกเว้นผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่ง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตร 5 อัฏฐารส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 396) พ.ศ. 2545
79. ยกเว้นเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่กองทุนบำเหน็บบำนาญข้าราชการ ตาม กฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับการกู้ยืมเงิน เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
อาคารตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย
80. ยกเว้นดอกเบี้ยและรางวัลสลากออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แต่ไม่รวมถึงดอกเบี้ย ซึ่งผู้รับมิใช่ผู้ทรงคนแรก ทั้งนี้สำหรับสลากออกทรัพย์ที่ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไป
81. ยกเว้นเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยใน ปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่ เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร ทั้งนี้สำหรับเบี้ยประกันที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
82. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้
(1) บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
(2) อสังหาริมทรัพย์ตาม (1) พร้อมที่ดิน
(3) ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
ทั้ง นี้ เฉพาะสำหรับกรณีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้มีเงินได้ใช้เป็น ที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อย กว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
การ ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องปรากฏว่าภายในกำหนดเวลา 1 ปีก่อนหรือนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้มีเงินได้ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ซึ่งมีลักษณะตาม (1) (2) หรือ (3) เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ทั้งนี้ ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
83. เงินได้จากการขายข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย เฉพาะกรณีที่ไม่มีการส่งมอบสินค้าเกษตร
84. เงินบำเหน็จดำรงชีพที่ผู้ได้รับบำนาญขอใช้สิทธิรับบำเหน็จดำรงชีพในระหว่างวันที่ยังมีชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2546
85. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตาม กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และเงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับสิทธิยก เว้นภาษีเงินได้
86. เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตาม กฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ได้มีการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็น กองทุนรวมภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2550 ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น และเงินได้ดังกล่าวต้องเป็นเงินได้ของผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ ยังไม่ได้แบ่ง ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรค หนึ่ง และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ในกรณีที่ผู้มี เงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคสอง ให้ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่งด้วย
87. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้ แก่ กองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มี เงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย และเงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับสิทธิยก เว้นภาษีเงินได้
88. ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้น ไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548 เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
89. เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี
90. เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ในโครงการเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครนายก
91. เงินได้ดังต่อไปนี้เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ สำหรับปีภาษี 2547 และปีภาษี 2548
(1)  เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามมาตรการของรัฐบาล ตามพระราชกฤษฎีกาเงิน ช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามมาตรการของรัฐบาล พ.ศ. 2547
(2)  เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามมาตรการของรัฐบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามมาตรการของรัฐบาลในการ เพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ พ.ศ. 2548
(3)  เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อออกจากราชการตาม (1) หรือ (2)
92.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล และบุคคลที่ถือว่า อยู่ในคณะทูตตามความตกลง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ
93. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการขาย แลกเปลี่ยน ให้ โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใน อสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการขายตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
(1) การให้ การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน
(2) การแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์กับส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะในกรณีที่ส่วน ราชการหรือรัฐวิสาหกิจนั้นมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นอย่างอื่นนอก จากอสังหาริมทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนนั้น
94. ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม มาตรา 4 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว
95. ผู้มีเงินได้ซึ่งอยู่ในประเทศไทย และได้รับเงินส่วนแบ่งของกองทุนรวมที่ จัดตั้ง ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้
96. ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม มาตรา 48(3)(ก) และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรประเภท เงินฝากประจำ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนด
97. เงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนแล้ว โดยให้ยกเว้นเท่าจำนวนเงินที่บริจาคให้กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50
98. เงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินเท่าจำนวนเงินที่บริจาคในการจัดสร้างเครื่องทรง พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
99. เงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ หรือการประนอมหนี้ตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้ มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการและการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการดำเนินการ ตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบ ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
100. ภาษีเงินได้สำหรับเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท แรก สำหรับปีภาษีนั้น (พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551)
101. เงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงินที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
102. เงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การ ขายสินค้า หรือการให้บริการ และการกระทำ ตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ดำเนินการ ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศ ไทยกำหนด
103. เงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้อื่นซึ่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยนำหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาใช้โดยอนุโลม
104. เงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การ ขายสินค้า หรือการให้บริการ และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ อื่นโดยนำหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาใช้โดยอนุโลม
105. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายอื่นในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ ดังต่อไปนี้
(1) เงินปันผลที่ ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคล ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น
(2) แห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น จากผู้ได้รับการส่งเสริมตามสัญญาที่ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมา รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับการส่งเสริมมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการ ส่งเสริม
106. เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และการบริจาคอสังหาริมทรัพย์ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ทั้งนี้ สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2546 เป็นต้นไป
107. เงินได้จากการขายสุรากลั่นชุมชนของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ ทำสุรากลั่นชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยสุรา จำนวนไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อปี เป็นเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ทำสุรากลั่นชุมชน เฉพาะกรณีที่ได้รับอนุญาตให้นำสุรากลั่นชุมชนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2548
108. เงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อ การได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานเพื่อการ ปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิม เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายนั้น เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(6)(7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเงินเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยก เว้นภาษี สำหรับระยะเวลา 5 ปีภาษี
109. เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่สภากาชาดไทย
110. เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ เฉพาะ ส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
111. เงินที่มีลักษณะเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพ ตาม กฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้า ราชการ ซึ่งพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และพนักงานธนาคารออมสิน ได้รับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป โดยมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมาย ว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
112. เงินได้ที่คณะกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ได้รับเพื่อประโยชน์ของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป
113. เงินได้จากการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตาม กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกระทำในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เฉพาะกรณีที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 เป็นต้นไป (กฎกระทรวง 260 พ.ศ.2549)

114. เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้ แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภรยาของผู้มีเงินได้ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอแก่ การยังชีพ ทั้งนี้ ต้องเป็นเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายในปี พ.ศ.2549 เป็นต้นไปและให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด (กฎกระทรวง 263 พ.ศ.2550)

115. เงินได้เท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้ แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ
(ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
(ข) ลูกจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในขณะที่ ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2549 เป็นต้นไป (กฎกระทรวง 263 พ.ศ.2550)

116. เงินได้ของรัฐวิสาหกิจชุมชน ตาม กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีเงินได้ไม่เกิน 1,200,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (กฎกระทรวง 266 (พ.ศ. 2551))

ที่มา..สรรพากร

นักศึกษาฝึกงานไม่ต้องหักภาษีและประกันสังคม

นักศึกษาฝึกงานไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย อ้างอิงตามเอกสารของสรรพากรดังนี้

เลขที่ข่าว ปชส. 18/2547

วันที่แถลงข่าว 4  มีนาคม  2547

เรื่อง กรมสรรพากรสนับสนุนเต็มที่ในการจ้างงานนักเรียน นักศึกษา ในช่วงปิดภาคเรียน

—————————————————————————————————————————————-

กรมสรรพากรสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา

เข้าทำงาน part time ในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ในการทำงานและมีรายได้เป็นการแบ่งเบาภาระ ของผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า  ” นักเรียน นักศึกษา ที่ทำงาน part time ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด ถึงแม้จะทำงานเต็มฤดูกาลช่วงปิดภาคเรียน ก็ยังจะมีเงินได้พึงประเมิน ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี นายจ้างจึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เงินได้ของนักเรียน นักศึกษา ที่เข้าทำงานกรณีนี้แต่อย่างใด

สำหรับนายจ้างที่จ่ายเงินค่าจ้าง นักเรียน นักศึกษา เข้าทำงานเพื่อกิจการของตน ก็สามารถหักรายจ่าย ของธุรกิจในการเสียภาษีเงินได้ประจำปีได้ และถ้าหากการจ้างงานนี้เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ก็จะทำให้สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ 1.5 เท่า เป็นพิเศษอีกด้วย”

ในส่วนของประกันสังคมก็ไม่ต้องหักเงินสมทบเนื่องจากเหตุผลดังนี้

ประเด็นแรกที่จะต้องพิจารณา คือ ระหว่างนักศึกษาและบริษัทมีนิติสัมพันธ์กันในฐานะลูกจ้างและนายจ้างหรือไม่ กฎหมายประกันสังคมกำหนดความหมายของลูกจ้างไว้ว่า หมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ส่วนนายจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง การที่นักศึกษาเข้ารับการฝึกงานกับบริษัท นักศึกษาไม่ได้มีเจตนาที่จะทำงานโดยมุ่งประสงค์ที่จะรับค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน แต่มีความประสงค์เพื่อฝึกงานตามหลักสูตรเท่านั้น

ส่วนบริษัทก็มิได้ตกลงรับนักศึกษาเข้าทำงานโดยประสงค์ที่จะใช้แรงงานเยี่ยงลูกจ้างทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและบริษัท จึงมิใช่ลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายประกันสังคม ดังนั้น เงินที่บริษัทจ่ายให้กับนักศึกษาจึงมิใช่ค่าจ้างที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อจ่ายเป็นเงินสมทบ

อ้างอิง…สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงราย