ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | รับทำเงินเดือน - Part 10 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | รับทำเงินเดือน - Part 10

การยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากประจำ สำหรับผู้สูงอายุ

ตามที่คุณสุ ได้โพสถามมาถึงหลักเกณฑ์และวิธีการยกเว้นภาษีเงินได้ดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับผู้สูงอายุ ผมนำมาสรุปให้

หลักเกณฑ์วิธีการ และเงือนไข มีดังนี้

1. ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำในประเทศ ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

2. จำนวนเงินรวมทุกบัญชีเงินฝากประจำ ไม่เกิน 30,000 บาท

3. ผู้มีเงินได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี

4. ต้องเป็นชื่อบัญชีผู้มีเงินได้คนเดียว

5. ใช้แบบฟอร์ม “หนังสือแจ้งการขอใช้ สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลา การฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปและผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์” แจ้งต่อธนาคารก่อนรับดอกเบี้ย

เนื่องจากเป็นดอกเบี้ยที่ได้รับการยกเว้นภาษี เพราะฉะนั้นทางธนาคารจะไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายตอนจ่ายดอกเบี้ย

ที่มา..ประกาศกรมสรรพากรฉบับที่ 137

ฝากแบงค์อย่างไร ไม่ต้องเสียภาษี

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 % จาก 3.75 % เหลือ 2.75 % นับว่าเป็นการลดดอกเบี้ยลงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดตั้ง กนง. เมื่อปี 2543 และวันที่ 14 มกราคม 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงินก็ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.75 % เหลือ 2 % เนื่องจาก กนง. ประเมินว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมชะลอตัวรุนแรง และข้อมูลล่าสุดแสดงว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างรวดเร็ว นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายลงเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยเข้าใกล้ 0 % เข้าไปทุกทีเช่นเดียวกับประเทศตะวันตกและญี่ปุ่น

ผลที่จะตามมาจากนี้ก็คือ สถาบันการเงินทั้งหลายจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้น้อยลงและผู้ที่ฝากเงินกับสถาบันการเงินก็จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากน้อยลงด้วยเช่นกัน

ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยตํ่าอย่างนี้ และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอีกนั้น ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดเห็นจะเป็นผู้ที่อาศัยรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากในการดำรงชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่เกษียณจากการทำงานและใช้เงินบำเหน็จมาฝากไว้กับสถาบันการเงิน เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากไม่พอใช้ก็อาจจำใจต้องถอนเงินต้นบางส่วนมาใช้จ่ายเพิ่มเติม เพราะอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

เสียงร้องที่จะมีตามมาหลังจากนี้ ก็คือ การขอให้รัฐบาลพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เก็บจากดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งปัจจุบันถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15 % โดยมีสิทธิเลือกว่าจะเสียในอัตรา 15 % ณ ที่จ่ายนี้ หรือจะนำดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับไปยื่นแบบรายการเสียภาษีรวมกับเงินได้อื่นตอนปลายปี โดยนำภาษีดอกเบี้ยที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้าคำนวณแล้วมีจำนวนภาษีที่ต้องเสียน้อยกว่าก็สามารถขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เกินได้

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ระบบภาษีอากรของไทยได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับดอกเบี้ยเงินฝากหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับโดยผู้สูงอายุ

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทแรก เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยให้แก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ คือ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำจากธนาคารในราชอาณาจักรที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทแล้วมีจำนวนไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี (ปีปฏิทิน) นั้น และผู้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่สอง เป็นการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจาก 15% เหลือ10% ให้กับผู้ฝากทุกคน สำ หรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปที่ได้รับจากธนาคารในราชอาณาจักร ในกรณีดังต่อไปนี้
1) เพื่อใช้สำหรับการศึกษาของตนเองหรือครอบครัว
2) เพื่อใช้สำหรับที่อยู่อาศัยของตนเองหรือครอบครัว หรือ
3) เมื่อผู้ฝากมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการถอนก่อนครบกำหนด หรือหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ แล้วยังต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่จ่ายขาดไป

ข้อสังเกต ดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทแรกเป็นการยกเว้นภาษีและจำกัดให้เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทที่สองเป็นการลดอัตราภาษีและไม่จำกัดจำนวนดอกเบี้ยเงินฝาก

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่สาม เป็นการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากให้กับผู้ฝากทุกคนที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารในราชอาณาจักรหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ฝากเป็นรายเดือนติดต่อกันอย่างน้อย 24 เดือน โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และรวมเงินฝากทั้งหมดไม่เกิน 600,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด เช่น ต้องมี
บัญชีเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีนี้เพียงบัญชีเดียว จะขาดการฝากหรือฝากไม่ครบวงเงินหรือฝากล่าช้า
กว่ากำหนดเกิน 2 เดือนไม่ได้ เป็นต้น

เช่นเดียวกันกับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่สอง ถ้าการฝากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ต้องคืนสิทธิประโยชน์ภาษีทั้งหมดและเสียเงินเพิ่ม

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่สี่ เป็นการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้แก่
– ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารในราชอาณาจักรไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษี
– ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากสหกรณ์
– ดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก (คือเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์) จากธนาคารออมสินและ
– ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่ห้า เป็นการยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยและรางวัลสลากออมสินและดอกเบี้ยและรางวัลสลากออมทรัพย์ของ ธกส.

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทสุดท้าย คือ ดอกเบี้ยเงินฝากอื่น ๆ ที่ผู้ได้รับถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% แต่ผู้มีเงินได้จากดอกเบี้ยดังกล่าวสามารถเลือกที่จะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% หรือจะนำดอกเบี้ยดังกล่าวไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณและยื่นแบบเสียภาษีตอนปลายปีซึ่งต้องคำนวณอัตราภาษี 5 % ถึง 37 % โดยได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก

กรณีนี้ ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีหรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องลองนำดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับมารวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีโดยหักค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหลือเป็นเงินได้สุทธิหลังหัก150,000 บาทแล้วเสียภาษีสูงกว่า 15 % หรือไม่

ถ้าต่ำกว่า 15 % ก็นำมารวมคำนวณภาษีตอนปลายปี โดยขอหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่ายจากธนาคารมาแนบรวมกับแบบแสดงรายการภาษี
ถ้าสูงกว่า 15 % ก็อย่านำดอกเบี้ยมารวมเสียภาษีตอนปลายปี คือยอมเสียภาษี 15 % ณ ที่จ่าย

คราวนี้มาลองคำนวณคร่าว ๆ เพื่อหายอดเงินต้นที่ดอกเบี้ยเงินฝากจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีเป็นคนโสดที่มีเงินได้จากดอกเบี้ยอย่างเดียวและนำดอกเบี้ยเงินฝากมายื่นเสียภาษีตอนปลายปี ซึ่งจะหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาทและได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ150,000 บาทแรก รวมเป็นจำนวนเงินเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากที่จะได้รับยกเว้นภาษีจำนวน 180,000
บาท โดยสมมุติอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 2 % ต่อปี (ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน) จะได้เงินต้นเท่ากับ 9 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีฐานะดีพอสมควร

พิเศษอีกประการสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ทุกประเภทเป็นจำนวนไม่เกิน 190,000 บาทอีกด้วย ถ้ารวมเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีจำนวน 150,000 บาทและหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท จะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้นจำนวน 370,000 บาท หรือเท่ากับ 30,800 บาทต่อเดือน

จะเห็นว่าระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันของไทยได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มีเงินฝากสูงมาก โดยผู้มีเงินฝากน้อยกว่า 9 ล้านบาท (อัตราดอกเบี้ย 2 %) ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลย และผู้สูงอายุที่มีเงินได้ในรูปดอกเบี้ยเงินฝากก็ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีหลายประการ

โดย นายชนะชัย ประยูรสิน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ปัญหาภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา หรือค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงและสมควรแล้ว กฎหมายยังให้หักลดหย่อนได้อีก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้ ซึ่งจะแตกต่างการประกอบกิจการในรูปของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอย่าง มาก ที่กำหนดให้หักเฉพาะค่าใช้จ่ายเท่านั้น เหลือเท่าไรเป็นกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที

ปัจจุบัน การหักลดหย่อนเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีมากหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนส่วนบุคคล ทั้งในส่วนที่เป็นลดหย่อนส่วนตัวผู้มีเงินได้ คู่สมรส บุตร และบุพการีของผู้มีเงินได้ หรือค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ค่าลดหย่อนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ค่าลดหย่อนเงินบริจาค

มี ปัญหาเกี่ยวกับค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ถึงขนาดเป็นความกัน แม้จำนวนเงินจะไม่มาก แต่เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญ กล่าวคือ ผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ภายหลังจากที่ผู้มีเงินได้ได้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และในปีที่ยื่นรายการนั้นคู่สมรสหรือภริยามีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และใช้สิทธิแยกคำนวณภาษีเงินได้ต่างหากจากสามีหรือผู้มีเงินได้ แต่ในการคำนวณหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ผู้มีเงินได้ผู้เป็นสามีได้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำให้เสียภาษีเงินได้ต่ำไปตามฐานการหักลดหย่อนดังกล่าว กรมสรรพากรตรวจสอบแบบแสดงรายการแล้ว เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงทำการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีเงินได้เพิ่ม เติม โจทก์ผู้มีเงินได้จึงอุทธรณ์ และนำคดีขึ้นสู่ศาลภาษีอากรกลาง และคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาตามลำดับ โดยในชั้นศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ไม่ต้องจ่ายค่าภาษีเงินได้ที่กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บไป

เมื่อ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ตามข้อกฎหมายแล้วพิพากษาว่า ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่มีคู่สมรส และคู่สมรสแยกคำนวณและเสียภาษีต่างหากนั้น ได้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้กึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะได้ร่วมกู้หรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ชอบแล้ว เพราะได้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น ทั้งนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 9759/2542
เป็นอุทาหรณ์ ให้ท่านที่มีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้พิจารณาก่อนยื่นแบบภาษีเงินได้ครับ.

บทความโดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์  ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 10 มีนาคม 2551

สรุปให้อีกที

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน ถึงแม้่ว่าจะทำเรื่องกู้ยืมก่อนสมรส ซึ่งต่อมาได้มาได้สมรสกัน และถึงแม้ว่าคู่สมรสจะไม่ได้เป็นผู้กู้ร่วม ถ้าคู่สมรสแยกยื่นภาษีเงินได้ สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่ง ส่วนผู้มีเงินได้จะมีสิทธิหักลดหย่อนได้เพียงครึ่งหนึ่งเช่นกัน

มาดูข้อกฎหมายที่สรรพากรเขียนไว้อีกที่นะครับ ผมก๊อบปี้ข้อความมาให้อ่านนะครับอยู่ในข้อ 1.6 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ข้อย่อย (9)

(9) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกัน ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ดังนี้
(ก) ถ้าความเป็นสามีภริยา มิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
(ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้ มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน และสามีภริยายื่นรายการโดยรวมคำนวณภาษี ให้หักลดหย่อนรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
(ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้ มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน และภริยายื่นรายการโดยแยกคำนวณภาษี ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท