บทความประกันสังคม | รับทำเงินเดือน - Part 5 บทความประกันสังคม | รับทำเงินเดือน - Part 5

กรรมการมีสิทธิ์เป็นผู้ประกันตนหรือไม่

หลาย ๆ บริษัท ยังคงมีปัญหาคาใจเกี่ยวกับ การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนซึ่งจะเกี่ยวพันไปถึงการหักเงินสมทบประกัน สังคมของผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท จึงได้เสาะหาข้อมูลมาเพื่อไขข้อข้องใจของท่านดังนี้
————-
จากข้อมูลที่ทราบ เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทางสำนักงานประกันสังคมเขาจะตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่า ผู้ที่เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น ๆ มีนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างกันแน่ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าถ้าพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บุคคลผู้เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นดังกล่าว อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” หรือเป็น “นายจ้าง” โดยกฎหมายที่ว่าได้ให้ความหมายพอสรุปได้ว่า
——————
“ลูกจ้าง” คือ ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง โดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างอันหมายความว่าลูกจ้างต้องทำงานตาม ที่นายจ้างสั่ง และต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้
——————
สำหรับ “นายจ้าง” หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่ง กรรมการหรือผู้ถือหุ้น ที่จะไม่อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. เป็นผู้เริ่มก่อการและก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่แรก หรือเป็นผู้ถือหุ้น
2. ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท กล่าวคือ ลักษณะงานไม่เหมือนลูกจ้าง ไม่มีการสมัครงานปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ต้องมาทำงานในเวลาทำการทุกวัน การลา ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท
3. ไม่มีผู้บังคับบัญชา
4. การทำงานให้กับบริษัท เป็นการทำงานในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของ บริษัท เป็นการทำกิจการด้วยจุดประสงค์เพื่อจะแบ่งปันกำไรอันพึงได้เท่านั้น
——————
ดังนั้น หากแม้ว่ามีตำแหน่งเป็น กรรมการ แต่ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท และยังเป็นผู้ที่ถูกว่าจ้างให้ทำงานโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งจะต้องทำงานอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท ซึ่งหากฝ่าฝืน บริษัทสามารถลงโทษได้ และหากมีการเลิกจ้าง บุคคลผู้นี้สามารถเรียกค่าชดเชยจากบริษัทได้ ก็จะถือว่ากรรมการผู้นี้เป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
——————
และจากข้อมูลที่ทราบในขณะนี้ มีหลาย ๆ บริษัทที่ผู้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” ไม่อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท เพราะมีคุณสมบัติครบตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้ง 4 ข้อ เพียงแต่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทเป็นรายเดือน ซึ่งผู้ทำหน้าที่หักเงินประกันสังคมของบริษัทก็เข้าใจว่าการรับค่าตอบแทน จากบริษัทก็ถือเป็นค่าจ้าง ซึ่งจะต้องนำไปหักเงินสมทบประกันสังคมเพื่อนำส่งให้กับสำนักงานประกันสังคม ทุกเดือนตามปกติ หากนำมาพิจารณาดู ในเมื่อตนเองเป็น “นายจ้าง” ก็กลายเป็นว่าตนเองในฐานะ “นายจ้าง” ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมถึง 2 ส่วน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ถึงแม้จะมีสิทธิใช้บริการจากสำนักงานประกันสังคมใน 7 เรื่องที่ทราบกันอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ไปใช้บริการเหล่านี้ จากสำนักงานประกันสังคมเลย ยิ่งถ้าพูดถึงระดับอายุ ส่วนใหญ่ก็เลยวัยคลอดบุตรหรือมีบุตรแล้ว หรือถ้ามีบุตรก็โตเกินกว่าจะใช้บริการสงเคราะห์บุตร ถ้าพูดถึงฐานะการเงินก็มีพอที่จะใช้จ่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาจากรัฐ ส่วนเรื่องการว่างงานก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะคนกลุ่มนี้คงไม่ถูกเลิกจ้างแน่ ๆ ยกเว้นอยากจะทำตัวว่างงานเอง และตามพระราชบัญญัติประกันสังคมแล้ว บุคคลที่เข้าข่ายเป็น “นายจ้าง” ก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนต่อสำนักงานประกันสังคมอีกด้วย
——————
ดังนั้น หากบริษัทใดมีผู้ดำรงตำแหน่งที่เข้าข่ายไม่ได้เป็น “ลูกจ้าง” และยังคงหักเงินสมทบประกันสังคมอยู่ ก็สามารถทำหนังสือถึงฝ่ายเงินสมทบและการตรวจสอบ สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ ที่บริษัทท่านส่งเงินสมทบอยู่ เพื่อแจ้งขอไม่ส่งเงินสมทบของบุคคลที่มีฐานะเป็น “นายจ้าง” พร้อมทั้งขอคืนเงินส่วนที่หักไปแล้ว ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะคืนให้ได้ในบางส่วนด้วย สำหรับรายละเอียดท่านสามารถขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม ทุกแห่ง

ที่มา..http://www.sso.go.th/forum/page_2342

เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ จ่ายให้ผู้ประกันตนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท

สำนักงานประกันสังคม ขอความร่วมมือนายจ้างเก็บข้อมูลผู้ประกันตน กรอกแบบ สปส.รบ.2000 รวบรวมส่งก่อน 16 มี.ค.52

เลขที่ :
วันที่ประกาศ : 12/2/2552

สปส.ขอความร่วมมือนายจ้างเก็บข้อมูลผู้ประกันตน กรอกแบบ สปส.รบ.2000 รวบรวมส่งก่อน 16 มี.ค.52

สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ขอความร่วมมือนายจ้างเก็บข้อมูลผู้ประกันตนตามแบบ คำขอรับเงินตามโครงการช่วยเหลือฯ (สปส.รบ.2000) และรวบรวมข้อมูลส่ง สปส. ภายในวันที่ 16 มีนาคม 2552 นี้ ส่วนผู้ประกันมาตรา 39 และ 40 สปส.ได้ส่งตรงถึงผู้ประกันตนโดยตรงขอให้ผู้ประกันตนรีบกรอกรายละเอียดและส่ง แบบคำขอคืนภายใน วันที่ 16 มีนาคม 2552 เช่นกัน
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและช่วย เหลือค่าครองชีพแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาทเป็นเงินคนละ 2,000 บาท ตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ ในขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้สนองนโยบายของรัฐบาลโดยได้ออกมาตรการบรรเทา ปัญหาการเลิกจ้าง ของกระทรวงแรงงานคือ มาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม ได้แก่ ลดการเลิกจ้าง ลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ลดค่าครองชีพ เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ และเพิ่มการพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แก่ผู้ประกันตน จึงได้จัด ส่งแบบคำขอรับเงินตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐใน ส่วนของผู้ประกันตน (สปส.รบ.2000) ให้กับนายจ้าง โดยสำนักงานประกันสังคมขอความร่วมมือจากนายจ้างช่วยจัดเก็บข้อมูลผู้ประกัน ตนที่ทำงานกับนายจ้าง (มาตรา 33 ) โดยนายจ้างต้องสำเนาแบบคำขอให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ณ วันที่ 13 มกราคม 2552 ที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท กรอกรายละเอียดและส่งแบบคำขอรับเงินตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพ ประชาชนและบุคลากรภาครัฐในส่วนของผู้ประกันตน (สปส.รบ.2000) พร้อมแนบเอกสาร ประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยนายจ้างต้องรวบรวมคำขอพร้อมเอกสารแนบและจัดทำใบนำส่งแบบคำขอรับเงิน ตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพฯ (สปส.รบ.2000/1) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ซึ่งสถานประกอบการตั้งอยู่ กรณีที่ผู้ประกันตนเกิน 100 คน นายจ้างสามารถทยอยส่งได้ โดยขอความร่วมมือนายจ้างจัดส่งภายในวันที่ 16 มีนาคม 2552
นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39) และผู้ประกันตนที่ประกันตนเอง (มาตรา 40) สำนักงานประกันสังคมได้จัดส่งแบบคำขอรับเงินตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพ ประชาชนและบุคลากรภาครัฐในส่วนของผู้ประกันตน (สปส.รบ.2000) ให้กับผู้ประกันตนโดยตรง ซึ่งผู้ประกันตนต้องกรอกรายละเอียดและแนบเอกสารเช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่ ทำงานกับนายจ้าง (มาตรา 33) แล้วนำส่งได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดหรือสำนักงานประกันสังคมเขต พื้นที่ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ภายในวันที่ 16 มีนาคม 2552 เช่นเดียวกัน หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยต้องการตรวจสอบคำขอรับเงินตามโครงการช่วยเหลือค่า ครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐในส่วนของผู้ประกันตน (สปส.รบ.2000) โปรดติดต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดหรือสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ที่ท่านยื่นแบบคำขอ
สำหรับนายจ้างหรือผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39) หรือผู้ประกันตนที่ประกันตนเอง (มาตรา 40) ต้องการดาวน์โหลดแบบคำขอรับเงินตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและ บุคลากรภาครัฐในส่วนของผู้ประกันตน (สปส.รบ.2000) เพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลดได้ที่  www.sso.go.th เลือก e–Service และเลือก ดาวน์โหลด แบบฟอร์มคำขอรับเงินตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ ในส่วนของผู้ประกันตน (สปส.รบ.2000)

เอกสารประกอบ

——————————————————–
ศูนย์สารนิเทศ  สายด่วนประกันสังคม  1506  www.sso.go.th

นักศึกษาฝึกงานไม่ต้องหักภาษีและประกันสังคม

นักศึกษาฝึกงานไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย อ้างอิงตามเอกสารของสรรพากรดังนี้

เลขที่ข่าว ปชส. 18/2547

วันที่แถลงข่าว 4  มีนาคม  2547

เรื่อง กรมสรรพากรสนับสนุนเต็มที่ในการจ้างงานนักเรียน นักศึกษา ในช่วงปิดภาคเรียน

—————————————————————————————————————————————-

กรมสรรพากรสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา

เข้าทำงาน part time ในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ในการทำงานและมีรายได้เป็นการแบ่งเบาภาระ ของผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า  ” นักเรียน นักศึกษา ที่ทำงาน part time ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด ถึงแม้จะทำงานเต็มฤดูกาลช่วงปิดภาคเรียน ก็ยังจะมีเงินได้พึงประเมิน ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี นายจ้างจึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เงินได้ของนักเรียน นักศึกษา ที่เข้าทำงานกรณีนี้แต่อย่างใด

สำหรับนายจ้างที่จ่ายเงินค่าจ้าง นักเรียน นักศึกษา เข้าทำงานเพื่อกิจการของตน ก็สามารถหักรายจ่าย ของธุรกิจในการเสียภาษีเงินได้ประจำปีได้ และถ้าหากการจ้างงานนี้เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ก็จะทำให้สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ 1.5 เท่า เป็นพิเศษอีกด้วย”

ในส่วนของประกันสังคมก็ไม่ต้องหักเงินสมทบเนื่องจากเหตุผลดังนี้

ประเด็นแรกที่จะต้องพิจารณา คือ ระหว่างนักศึกษาและบริษัทมีนิติสัมพันธ์กันในฐานะลูกจ้างและนายจ้างหรือไม่ กฎหมายประกันสังคมกำหนดความหมายของลูกจ้างไว้ว่า หมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ส่วนนายจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง การที่นักศึกษาเข้ารับการฝึกงานกับบริษัท นักศึกษาไม่ได้มีเจตนาที่จะทำงานโดยมุ่งประสงค์ที่จะรับค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน แต่มีความประสงค์เพื่อฝึกงานตามหลักสูตรเท่านั้น

ส่วนบริษัทก็มิได้ตกลงรับนักศึกษาเข้าทำงานโดยประสงค์ที่จะใช้แรงงานเยี่ยงลูกจ้างทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและบริษัท จึงมิใช่ลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายประกันสังคม ดังนั้น เงินที่บริษัทจ่ายให้กับนักศึกษาจึงมิใช่ค่าจ้างที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อจ่ายเป็นเงินสมทบ

อ้างอิง…สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงราย