พฤศจิกายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 4 พฤศจิกายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 4

การเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณี มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่เป็นสาระ สำคัญ ซึ่งได้แก่ การเลิกกิจการ การโอนหรือควบกิจการ การเปลี่ยนแปลงประเภทของการประกอบการ การเปลี่ยนแปลงประเภทสินค้าหรือบริการ การเปลี่ยนแปลงการคำนวณภาษี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรายการอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนชื่อสถานประกอบการ การเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้ถือหุ้น (ผู้มีอำนาจลงนาม) หรือการหยุดกิจการชั่วคราว (มีกำหนดระยะเวลาภายใน 1 ปี) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สำหรับกรณีการย้ายสถานประกอบการ, การรับโอนกิจการ, การเพิ่มสาขา จะต้องแจ้งก่อนมีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยกรอกแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบภ.พ.09 พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้

เอกสาร ที่ใช้ประกอบการพิจารณา

            (1)   แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) จำนวน 4 ฉบับ

            (2)   ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ฉบับจริงพร้อมภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว

            (3)   สำเนาแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเดิม (ภ.พ.01) หรือสำเนาแบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการ(ภ.พ.09) ครั้งสุดท้าย

            (4)   บัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรพร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว

            (5)   หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (กรณีเป็นนิติบุคคล) พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว

            (6)   หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา) พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว

            (7)   บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว

            (8)   กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ พร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว โดยผู้รับมอบอำนาจอำนาจต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป

            (9)   กรณีหยุดกิจการชั่วคราว ต้องมีหนังสือจากผู้ประกอบการชี้แจงเหตุผลในการหยุดกิจการ พร้อมประทับตรานิติบุคคลและลงนามโดยกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

ที่มา.. http://www.rd.go.th/publish/7053.0.html

กรมสรรพากรชี้แจงการเรียกเก็บภาษีกรณีผู้ที่ได้รับรางวัลจากการชิงโชค

ตามที่สื่อมวลชนได้ลงข่าวกรณีผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเงินสด 1 ล้านบาท พร้อมรถยนต์ 1 คัน จากการประกวดตั้งชื่อหมีแพนด้า เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา และทางสรรพากรพื้นที่สกลนคร ได้มี หนังสือแจ้งให้ไปชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม จากการที่ไม่ได้ยื่นแบบชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด นั้น

นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “สำหรับผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเงินสด หรือของรางวัลจากการประกวด แข่งขัน หรือชิงโชค นั้น รางวัลที่ได้รับถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้โชคดีมีหน้าที่ต้องนำมูลค่าของรางวัลที่ได้รับไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ด้วยแบบฯ ภ.ง.ด.90 รวมกับเงินได้ประเภทอื่น ๆ (ถ้ามี) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป และในกรณีที่ผู้โชคดีเป็นผู้เยาว์ ก็เป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ต้องทำหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษีแทน แม้ในขณะที่รับรางวัลนั้นได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ผู้รับรางวัลยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบฯ ภายในเวลาที่กำหนด ถ้าคำนวณภาษีแล้ว พบว่าภาษีที่ต้องชำระน้อยกว่าที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ก็มีสิทธ์ิได้รับภาษีคืน แต่ถ้าคำนวณแล้วมากกว่าก็ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมให้ครบถ้วน”

รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเตือนในท้ายที่สุดว่า “กรณีที่เป็นข่าวในขณะนี้นับเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้มีเงินได้ทุกประเภท เมื่อท่านมีเงินได้เกิดขึ้นแล้ว ต้องยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนด การถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ก็เป็นการชำระภาษีล่วงหน้าเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้ทำให้การชำระภาษีเสร็จสิ้น ครบถ้วนแต่อย่างใด เพราะท่านยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษีประจำปี และที่สำคัญการไม่ยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนดนอกจากต้องชำระภาษีและเงินเพิ่มตามกฎหมายแล้ว ยังต้องเสียค่าปรับกรณีไม่ยื่นแบบฯ ภายในเวลาที่กำหนดด้วย”

การหักภาษี ณ ที่จ่าย กับขายคืน RMF LTF ผิดเงื่อนไข

Q…ผมได้ลงทุน ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไว้

เพื่อนำไปใช้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี  ต่อมาผมมีความเดือดร้อนต้องใช้เงิน  ผมจึงจำเป็นต้องขายคืนเงินลงทุนทั้งใน RMF และ LTF  ซึ่งผมก็จะไปยื่นแก้ไขแบบภาษีเงินได้ประจำปีในแต่ละปีที่ได้เคยใช้สิทธิลด หย่อนอยู่แล้ว  แต่ทำไมบริษัทจัดการ (บลจ.) จึงยังมาหักภาษี ณ ที่จ่ายกับผมอีก  บลจ. มีสิทธิทำแบบนั้นได้ด้วยหรือครับ

A….ผมต้องขอเรียนทำความเข้าใจกับท่านผู้ถามเกี่ยวกับเรื่องภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดาว่า ในเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ละปีที่ผู้ถามได้เคยได้ใช้สิทธินำเงินลง ทุนใน RMF และ LTF ไปหักลดหย่อนเงินได้เพื่อคำนวณภาษีประจำปี  เมื่อผู้ถามมีการขายคืนที่ผิดเงื่อนไขการลงทุนของ RMF หรือ LTF แล้วผู้ถามไปยื่นแก้ไขแบบภาษีเงินได้ประจำปีนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องตาม หน้าที่แล้วครับ

แต่สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนใน RMF และ LTF จะแยกเป็น 2 กรณี คือ

1. หากเป็น LTF ที่มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผล  เมื่อ LTF จ่ายเงินปันผลจากการลงทุนให้กับผู้ลงทุน  เงินปันผลดังกล่าวจะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร  สามารถดูได้จากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด. 90) โดยจะถือเป็นเงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535  ซึ่งหากผู้มีเงินได้ไม่ให้ LTF หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 หรือยอมให้หักแต่ขอคืนหรือขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น  ผู้มีเงินได้จะต้องนำเงินปันผลดังกล่าวมารวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษี เงินได้ประจำปีนั้น  แต่หากให้ LTF หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 แล้วไม่ขอคืนหรือขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้  ผู้มีเงินได้ก็ไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณ ภาษีเงินได้ประจำปีนั้น

2. ส่วนกำไรจากการลงทุนใน RMF หรือ LTF  เมื่อมีการขายคืนเงินลงทุนที่ผิดหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนตามที่กรม สรรพากรกำหนดไว้นั้น  กำไรดังกล่าวจะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร  ซึ่งตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 104/2544
ลงวันที่ 15 กันยายน 2544 ในข้อ 12/1 ได้กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งก็คือ RMF หรือ LTF หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยให้หักไว้ในอัตราร้อยละ 3 ไม่ว่าผู้มีเงินได้จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศ ไทยก็ตาม

ดังนั้น การที่ บลจ. ทำหน้าที่แทน RMF หรือ LTF ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเงินปันผลจาก LTF และแจ้งให้ LTF หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้  และกรณีที่ผู้มีเงินได้มีกำไรจากการขายคืน RMF หรือ LTF ที่ผิดหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้  จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหน้าที่ครับ

ทั้งนี้ ในกรณีเมื่อผู้มีเงินได้นำเงินได้ซึ่งเป็นเงินปันผลที่ได้รับจาก LTF กรณีที่ไม่ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายหรือขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้  หรือเงินได้ซึ่งเป็นกำไรที่ได้รับจากการลงทุนใน RMF หรือ LTF ที่ผิดหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด  ไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีแล้วมีการหักภาษีไว้เกิน กว่าภาษีที่ต้องชำระ  ผู้มีเงินได้ก็มีสิทธิที่จะขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้เกินนั้นได้ครับ

อย่างไรก็ดี บลจ. ซึ่งทำหน้าที่แทน RMF หรือ LTF มีสิทธิที่จะพิจารณาไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก็ได้  สำหรับกรณี บลจ. เห็นหรือพิสูจน์ได้ว่าผู้มีเงินได้มีกำไรจากการลงทุนใน RMF หรือ LTF ที่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุน นั้น  แต่หากในข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามนั้นแล้วกรมสรรพากรมาตรวจพบในภายหลัง บลจ. ซึ่งทำหน้าที่แทน RMF หรือ LTF จะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนดโดยนอก จากอาจจะต้องรวมจ่ายภาษีหากผู้มีเงินได้ไม่มีเงินจ่ายและยังมีโทษปรับต่าง หากอีกด้วยนะครับ  ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอความเห็นใจจากผู้ลงทุนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายของ บลจ. ตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ด้วยครับ

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์