พฤศจิกายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 2 พฤศจิกายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 2

การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.104/2544

เรื่อง   การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณี การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร

———————————————

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาเกี่ยวกับการ เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่าง ประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

                ข้อ 1   กรณีผู้ประกอบการซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการ นั้นในราชอาณาจักร ถือว่าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อได้ มีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา 78/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 79 และอัตราภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 2   การให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศได้กระทำขึ้นในต่างประเทศ และผู้รับบริการในราชอาณาจักรได้นำผลของการกระทำนั้นมาใช้ในราชอาณาจักร

                        กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าที่ไม่มีรูปร่างให้กับ ผู้ประกอบการหรือบุคคลใดในราชอาณาจักรไม่ถือเป็น การให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตาม มาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร

                        การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามวรรคสอง เช่น การโอนกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร การโอนกรรมสิทธิ์ในกู๊ดวิลล์ การโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า การโอนกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ การโอนกรรมสิทธิ์ในสัมปทาน การโอนกรรมสิทธิ์ในค่าสิทธิ หรือการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

                        กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศได้ให้ผู้ประกอบการหรือบุคคลใดใน ราชอาณาจักรได้ใช้สิทธิในสิทธิบัตร ได้ใช้กู๊ดวิลล์ ได้ใช้เครื่องหมายการค้า ได้ใช้ลิขสิทธิ์ ได้ใช้สัมปทาน ได้ใช้ค่าสิทธิ หรือได้ใช้สินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน โดยผู้ประกอบการใน ต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สัมปทาน ค่าสิทธิ หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักรตามมาตรา 77/2 วรรคสาม และมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศรับจ้างเขียนซอฟต์แวร์ให้กับผู้ประกอบการหรือ บุคคลใดซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างในราชอาณาจักร โดยผู้ว่าจ้างในราชอาณาจักรยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ดังกล่าว ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักรตามมาตรา 77/2 วรรคสาม และมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 3   กรณีผู้รับบริการในราชอาณาจักรจ่ายเงินค่าบริการให้กับผู้ประกอบการตามข้อ 1 ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสีย ภาษีตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้กับผู้ ประกอบการตามมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง

                        (1) บริษัท ก จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ดำเนินการ ให้คำปรึกษาและแนะนำด้านการบริหาร การจัดการ การวางแผน กฎหมาย การเงิน การตลาดและบุคคล ซึ่งการให้บริการทั้งหมดได้กระทำในต่างประเทศและบริษัทในต่างประเทศได้จัด ส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านทางโทรศัพท์ โทรสาร E – MAIL (ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์) และจดหมายให้กับบริษัท ก จำกัด กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ก จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (2) บริษัท ข จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าเครื่องจักรจากบริษัทในต่างประเทศเพื่อ นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปถือเป็นการให้บริการที่กระทำใน ต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ข จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (3) บริษัท ค จำกัด ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบคำนวณโครงสร้างทางยกระดับโครงการแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัท ค จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างช่วงงานคำนวณโครงสร้างบางส่วนกับบริษัทในต่างประเทศโดยบริษัท ในต่างประเทศจะดำเนินการออกแบบและ คำนวณโครงสร้างในต่างประเทศ และส่งผลของงานให้กับบริษัท ค จำกัด กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ค จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (4) บริษัท ง จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต สินค้าโดยส่งเครื่องจักรไปซ่อมแซมในต่างประเทศ เมื่อบริษัทในต่างประเทศดำเนินการเรียบร้อยแล้วได้ส่งกลับมาให้บริษัท ง จำกัด ใช้ในประเทศไทย กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ง จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (5) บริษัท จ จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับสนามกอล์ฟได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ ดำเนินการออกแบบสนามกอล์ฟโดยมีการจัดทำแผนผัง รายละเอียดและงานเขียนแบบสำหรับใช้ในการก่อสร้างสนามกอล์ฟ ซึ่งบริษัทในต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในงานเขียนแบบและแผนผัง อื่น ๆ เงินค่าจ้างออกแบบดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่า ตอบแทนเพื่อค่าสิทธิ กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท จ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (6) บริษัท ช จำกัด ประกอบธุรกิจถลุงโลหะ ได้ซื้อลิขสิทธิ์กรรมวิธีการผลิตจากบริษัทในต่างประเทศโดยบริษัทในต่าง ประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์กรรมวิธีการผลิต กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ช จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (7) ส่วนราชการแห่งหนึ่งทำสัญญาจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากบริษัทในต่างประเทศ โดยบริษัทในต่างประเทศเสนอราคาค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ ที่บริษัทในต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ ค่าติดตั้ง ค่าบำรุงรักษา ค่าฝึกอบรม ค่าให้คำปรึกษา ค่าเดินทาง และค่าที่พักของพนักงาน กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ส่วนราชการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (8) บริษัท ซ จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศผลิต BROCHURE เป็นรูปภาพของโรงแรมและเย็บเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ โดยบางส่วนแจกให้ลูกค้าในประเทศไทย และบางส่วนแจกให้ลูกค้าในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ซ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 36) โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด

                        “(9) บริษัท ฌ จำกัด ได้ทำสัญญาใช้บริการนำเสนอข้อมูลสินค้าหรือบริการผ่านอินเตอร์เน็ต หรือบริการเช่าพื้นที่บนเว็บไซท์ (Web Site) หรือบริการเช่าพื้นที่บนเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของบริษัทในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ฌ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด

                        (10) บริษัท ญ จำกัด ได้ทำสัญญาใช้บริการอินเตอร์เน็ต หรือบริการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet Service Provider) จากบริษัทในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ญ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด

                        (11) บริษัท ฎ จำกัด ได้ทำสัญญาใช้บริการรับฝากเซิร์ฟเวอร์ (Data Management หรือ Co-Location) จากบริษัทในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ฎ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด”

( แก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.116/2545 )

                ข้อ 4   การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้คำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 79 และอัตราภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

                        ฐานภาษีสำหรับการให้ บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการ ซึ่งหมายความถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน

                        กรณีผู้รับบริการในราชอาณาจักรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร หรือมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับบริการในราชอาณาจักรต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินได้พึงประเมินที่ จ่ายทั้งจำนวนก่อนหักภาษีเงินได้

                        กรณีผู้รับบริการในราชอาณาจักรตกลงเป็นผู้ออกเงินค่าภาษีเงินได้แทนผู้ ประกอบการตามข้อ 1 ภาษีเงินได้ที่ออกแทนถือเป็นประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ผู้รับบริการในราชอาณาจักรต้องนำภาษีที่ออกแทนมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐาน ภาษีจนกว่าจะไม่มีเงินค่าภาษีที่ต้องออกแทนให้อีก

                ข้อ 5   กรณีผู้รับบริการในราชอาณาจักรตามข้อ 3 เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้รับบริการในราชอาณาจักรมีสิทธินำภาษีมูลค่า เพิ่มที่ได้นำส่งตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากรไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดยมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษีที่มีการยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่า เพิ่ม (ภ.พ.36) และได้รับใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร

                “ข้อ 6   กรณีผู้ประกอบการซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและ มิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ไม่ถือว่าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินค่าบริการจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง

                        (1) บริษัท ก จำกัด ประกอบกิจการขายสินค้า ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้เป็นนายหน้าติดต่อหาลูกค้าในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ก จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (2) บริษัท ข จำกัด ประกอบกิจการประเภทธุรกิจหลักทรัพย์ ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารในต่างประเทศ โดยบริษัท ข จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศแห่งหนึ่งเป็นตัวแทนในการจัดหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งบริษัท ข จำกัดจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ตัวแทน ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ข จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (3) บริษัท ค จำกัด ประกอบกิจการผลิตสินค้า ได้ทำสัญญาแต่งตั้งบริษัทในต่างประเทศเป็นตัวแทนในการชำระราคาค่าสินค้าให้ แก่ผู้ขายในต่างประเทศ โดย ตัวแทนต้องจ่ายเงินทดรองแทนบริษัทฯ ไปก่อนและเรียกเก็บเงินคืนจากบริษัทฯ พร้อมกับ เรียกเก็บค่าบริการ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ค จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (4) บริษัท ง จำกัด ประกอบกิจการโรงแรม ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ดำเนินการส่งเสริมการขาย การตลาด โฆษณา และรับจองห้องพัก ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ง จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (5) สถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศรับจ้างโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ในต่างประเทศ โดยมีรายได้จากการรับจ้างโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์จากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย สินค้าทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งมีผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าในประเทศไทยได้ว่าจ้างโฆษณาดังกล่าวด้วย ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าในประเทศไทยไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษี มูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (6) บริษัท จ จำกัด ว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศจัดทำโฆษณาลงในนิตยสารสวัสดีที่มีผู้โดยสารอ่านบน เครื่องบินซึ่งมีทั้งสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท จ จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (7) บริษัท ฉ จำกัด ว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศลงพิมพ์โฆษณาในนิตยสาร (Magazine) ในต่างประเทศ ซึ่งมีการขายนิตยสารดังกล่าวในประเทศไทยด้วย ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ฉ จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)”

( แก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.116/2545 )

                ข้อ 7   กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82(1) แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่าง ประเทศ เป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศและได้ ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณอัตราภาษีตาม มาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 8   การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตาม ข้อ 7 หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าที่ไม่มีรูปร่างให้กับผู้ ประกอบการหรือบุคคลใดในต่างประเทศ ไม่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นใน ต่างประเทศตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร

                        การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามวรรคสอง เช่น การโอนกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร การโอนกรรมสิทธิ์ในกู๊ดวิลล์ การโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า การโอนกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ การโอนกรรมสิทธิ์ในสัมปทาน การโอนกรรมสิทธิ์ในค่าสิทธิ หรือการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ให้ผู้ประกอบการหรือบุคคลใดในต่างประเทศได้ใช้ สิทธิในสิทธิบัตร ได้ใช้กู๊ดวิลล์ ได้ใช้เครื่องหมายการค้า ได้ใช้ลิขสิทธิ์ ได้ใช้สัมปทาน ได้ใช้ค่าสิทธิ หรือได้ใช้สินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สัมปทาน ค่าสิทธิ หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/5 และมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนรับจ้างเขียนซอฟต์แวร์ให้กับผู้ประกอบการหรือ บุคคลใดซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างในต่างประเทศโดยผู้ว่าจ้างในต่างประเทศยังคงเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ดังกล่าว ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นใน ต่างประเทศตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/5 และมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร

สั่ง ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา..กรมสรรพากร

กรรมการ ผู้ถือหุ้น ถือเป็นนายจ้าง ตามระบบประกันสังคมหรือไม่

1. กรรมการมีสิทธิเข้าระบบประกันสังคมหรือไม่ ?

ต่อคำถามที่ท่านอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีกรรมการบริษัท ซึ่งได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทจริงในการทำงาน แต่กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น จึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ ทั้งที่ตนเองก็รับเงินเดือนในการทำงานจริงเช่นเดียวกันกับพนักงาน จึงขอนำข้อสรุปมาให้ทราบดังนี้

เมื่อนำเอกสารไปขอขึ้นทะเบียนประกันสังคม ทางสำนักงานประกันสังคมก็จะตรวจสอบเอกสารและสอบถามข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น ๆ มีนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างกันแน่ โดยพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  บุคคลผู้เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นดังกล่าว อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” หรือเป็น “นายจ้าง” โดยกฎหมายที่ว่าได้ให้ความหมายพอสรุปได้ว่า

“ลูกจ้าง” คือ ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง โดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างอันหมายความว่าลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่ง และต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้

สำหรับ “นายจ้าง” หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่ง กรรมการหรือผู้ถือหุ้น ที่จะไม่อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง”  จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. เป็นผู้เริ่มก่อการและก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่แรก หรือเป็นผู้ถือหุ้น
  2. ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท กล่าวคือ ลักษณะงานไม่เหมือน ลูกจ้าง ไม่มีการสมัครงาน ปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ต้องมาทำงานในเวลาทำการทุกวัน การลา ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท
  3. ไม่มีผู้บังคับบัญชา
  4. การทำงานให้กับบริษัท เป็นการทำงานในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัท เป็นการทำกิจการด้วยจุดประสงค์เพื่อจะแบ่งปันกำไรอันพึงได้เท่านั้น

ดังนั้น หากแม้ว่ามีตำแหน่งเป็น กรรมการ แต่ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท และยังเป็นผู้ที่ถูกว่าจ้างให้ทำงานโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งจะต้องทำงานอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท ซึ่งหากฝ่าฝืน บริษัทสามารถลงโทษได้ และหากมีการเลิกจ้าง บุคคลผู้นี้สามารถเรียกค่าชดเชยจากบริษัทได้ ก็จะถือว่ากรรมการผู้นี้เป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
ในปัจจุบันยังมีอีกหลาย ๆ บริษัทที่ผู้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” ไม่อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท เพราะมีคุณสมบัติครบตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้ง 4 ข้อ เพียงแต่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทเป็นรายเดือน ซึ่งผู้ทำหน้าที่หักเงินประกันสังคมของบริษัทก็เข้าใจว่าการรับค่าตอบแทนจากบริษัทก็ถือเป็นค่าจ้าง ซึ่งจะต้องนำไปหักเงินสมทบประกันสังคมเพื่อนำส่งให้กับสำนักงานประกันสังคมทุกเดือนตามปกติ

ซึ่งการตีความของประกันสังคมจะมองว่า ในเมื่อตนเองเป็น “นายจ้าง” ก็กลายเป็นว่าตนเองในฐานะ “นายจ้าง” ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมถึง 2 ส่วน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ถึงแม้จะมีสิทธิใช้บริการจากสำนักงานประกันสังคมใน 7 เรื่องที่ทราบกันอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ไปใช้บริการเหล่านี้ จากสำนักงานประกันสังคมเลย ยิ่งถ้าพูดถึงระดับอายุ ส่วนใหญ่ก็เลยวัยคลอดบุตรหรือมีบุตรแล้ว หรือถ้ามีบุตรก็โตเกินกว่าจะใช้บริการสงเคราะห์บุตร ถ้าพูดถึงฐานะการเงินก็มีพอที่จะใช้จ่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาจากรัฐ ส่วนเรื่องการว่างงานก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะคนกลุ่มนี้คงไม่ถูกเลิกจ้างแน่ ๆ ยกเว้นอยากจะทำตัวว่างงานเอง และตามพระราชบัญญัติประกันสังคมแล้ว บุคคลที่เข้าข่ายเป็น “นายจ้าง” ก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนต่อสำนักงานประกันสังคมอีกด้วย

ดังนั้น หากบริษัทใดมีผู้ดำรงตำแหน่งที่เข้าข่ายไม่ได้เป็น “ลูกจ้าง” และยังคงหักเงินสมทบประกันสังคมอยู่ ก็สามารถทำหนังสือถึงฝ่ายเงินสมทบและการตรวจสอบ สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ ที่บริษัทท่านส่งเงินสมทบอยู่ เพื่อแจ้งขอไม่ส่งเงินสมทบของบุคคลที่มีฐานะเป็น “นายจ้าง” อีกต่อไป พร้อมทั้งทำแบบ สปส 6-09 แจ้งออก ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะคืนให้เพียงบางส่วนตามเปอร์เซ็นต์ที่ประกันสังคมกำหนด (จะขอรับเงินคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปี) หากผู้ประกันตนยังคงทำงานอยู่จริงหลังจากอายุเกิน 55 ปีแล้วก็ตาม ก็สามารถอยู่ในระบบได้ต่อไป

** เกี่ยวกับข้อหารือของสำนักงานประกันสังคม ได้อนุโลมให้กรรมการที่ได้อยุ่ในระบบประกันสังคมมาก่อนปี 2550 สามารถอยู่ต่อในระบบได้โดยไม่ต้องออกจากระบบ แต่กรรมการที่ประสงค์จะเข้าระบบประกันสังคมหลังจาก ปี 2550 เป็นต้นมา จะไม่สามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ดังกล่าว

**อนึ่ง หากจะออกจากกรรมการบริษัท จะต้องจัดทำแบบยื่น สปส .6-09 เพื่อแจ้งออกให้ถูกต้อง หากไม่แจ้งและออกจากระบบให้ถูกต้อง เมื่อประกันสังคมตรวจสอบพบ อาจทำให้ต้องเสียเบี้ยปรับย้อนหลังได้

2. ผู้ถือหุ้น(ที่มีชื่อในบัญชีหุ้น) มีสิทธิเข้าประกันสังคมหรือไม่ ?

ในกรณีมีผู้ถือหุ้นบางท่านที่มีชื่อในบัญชีหุ้น จะสามารถเข้าระบบประกันสังคมได้หรือไม่ จะมีเกณฑ์พิจารณาเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ประกันสังคม เช่น ผู้ถือหุ้นคนดังกล่าวถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มาก เช่น ถ้าบริษัทกำหนดทุนมีจำนวน 10,000 หุ้น และผู้ถือหุ้นคนดังกล่าวถือหุ้นอยู่ 100 หุ้น ก็จะสามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ ทั้งนี้ต้องแล้วแต่เงื่อนไขของประกันสังคมแต่ละพื้นที่

3. ลูกจ้างที่มีนามสกุลเดียวกับกรรมการ เช่น ญาติ,พี่น้อง,ภรรยา,สามี ของกรรมการ (ทั้งที่มีและไม่มีชื่อในบัญชีหุ้น บอจ.5 ) มีสิทธิเข้าประกันสังคมหรือไม่ ?

กรณีนี้หากมีลูกจ้างรายใดที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนประกันสังคม เนื่องจากมีเงินเดือนที่ได้รับจริงจากบริษัทที่มีกรรมการเป็นนายจ้าง ซึ่งมีนามสกุลเดียวกับกรรมการ เช่น เป็นพี่น้อง,เป็นญาติ,เป็นภรรยา สามารถทำเอกสารชี้แจงเมื่อต้องการเข้าสุ่ระบบประกันสังคม หรือหากได้ทำการยื่นแจ้งเข้าประกันสังคมแล้ว และต่อมาทางประกันสังคมมีจดหมายมาเพื่อให้ทางบริษัททำชี้แจงในชุดตรวจสอบพร้อมกับยื่นเอกสารประกอบเพิ่มเติม เช่น ใบสมัครงาน,ใบลงเวลา, ใบสำคัญการจ่ายเงินที่บริษัทจ่ายให้ เป็นต้น

เมื่อได้ยื่นเอกสารตามที่ประสังคมขอมาแล้ว ทางประกันสังคมก็จะพิจารณาว่าเอกสารที่จัดทำไปนั้นมีเหตุผลสมควรให้อนุมัติเข้าระบบประกันสังคมได้หรือไม่ต่อไป

เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นำมาลดหย่อนภาษีได้

การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการบริจาคดังต่อไปนี้

(1) ต้องเป็นการบริจาคโดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตาม (1) ต้องดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางอย่างเปิดเผยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553 ถึงวันที่31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

(3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ตาม (2) ที่มิใช่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล และองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แจ้งชื่อต่ออธิบดีกรมสรรพากร (ผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี หรือผ่านสรรพากรพื้นที่) ว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าว ตามหนังสือแจ้งที่มีข้อความอย่างน้อยที่แนบท้ายนี้

(4) หลักฐานการบริจาคที่ผู้บริจาคจะนำมาใช้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ต้องเป็นหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนในการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า จัดทำขึ้นเพื่อแสดงการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ระบุข้อความที่มีสาระสำคัญว่าเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553 ถึงวันที่
31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หรือข้อความอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

     (ก) กรณีผู้บริจาคเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : ให้นำหลักฐานแสดงการรับเงินบริจาคที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงินดังกล่าว
ออกให้ เป็นหลักฐานในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เงินบริจาคดังกล่าวเมื่อรวมกับการบริจาคอื่นแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ

     (ข) กรณีผู้บริจาคเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล : ให้นำหลักฐานแสดงการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่บริจาคที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็น
ตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าวออกให้ เป็นหลักฐานในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้เงินบริจาคดังกล่าวเมื่อรวมกับการบริจาคการกุศลสาธารณะอื่นแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริจาค ที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่
บริจาคนั้น เช่น ใบกำกับภาษี ใบรับเงิน ที่ได้ซื้อสินค้าหรือทรัพย์สินมาบริจาค เป็นต้น หรือหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือเป็นผู้ขายสินค้าที่บริจาคที่แสดงต้นทุนสินค้านั้นได้ ซึ่งจะต้องเป็นทรัพย์สินหรือสินค้ารายการเดียวกับที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนในการรับทรัพย์สินหรือสินค้าออกเป็นหลักฐานในการรับบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้านั้นให้แก่ผู้บริจาค

(5) ภายหลังจากการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หากยังมีเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าเหลืออยู่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ได้แจ้งชื่อต่อกรมสรรพากรตาม (3) ต้องส่งมอบเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

(6) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงินทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ได้แจ้งชื่อต่อกรมสรรพากรตาม (3) ต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานให้แก่กรมสรรพากร ได้แก่ สำเนาบัญชีการรับเงินบริจาคซึ่งต้องแยกออกจากบัญชีการดำ เนินงานตามปกติสำเนาบัญชีแสดงรายการจ่ายค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และสำเนารายชื่อผู้รับบริจาคโดยให้จัดส่งภายในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

——————————————–
Download คำขอแจ้งเป็นตัวแทนรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
สมัครข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ : RD Call Center โทร.1161