พฤศจิกายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 3 พฤศจิกายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 3

ยื่นแบบเพื่อขอคืนภาษี แต่ลืมประทับตรา

การยื่นแบบที่สรรพากร กรณีที่แบบนำส่งลืมประทับตรา ปกติเจ้าหน้าที่เค้าจะไม่รับยื่น กรณีแบบ ภพ.30 ที่ขอคืนภาษีเป็นเงินสด กรรมการจะต้องลงลายมือชื่อไว้ 2 แห่งและประทับตราทั้ง 2 แห่ง ผมเคยลืมประทับตรงที่ขอคืนเป็นเงินสด ประทับตราไว้ที่เดียวตรงผู้มีอำนาจลงนาม แต่เซ็นชื่อไว้ครบทั้ง 2 แห่ง เจ้าหน้าที่บางแห่งก็รับ บางแห่งก็ไม่รับ ถ้ามาดูตามข้อหารือที่เจ้าหน้าที่สรรพากรเคยตอบไว้ กรณีกรรมการลงลายมื่อไว้แล้วเพียงคนเดียวและไม่ได้ประทับตรา ก็ถือได้ว่ายื่นแบบถูกต้องตามกฎหมายแล้วครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/4292

วันที่ : 18 มิถุนายน 2553

เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการลงลายมือชื่อขอคืนภาษี

ข้อกฎหมาย : มาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          1. บริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547มีกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทฯ คือ นาง ส. และนาย ก. ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547
          2. จากการตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ฉบับปกติสำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2552 พบว่า บริษัทฯ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 53,354,688.53 บาท โดยมีนาง ส. กรรมการบริษัทฯ ลงลายมือชื่อขอคืนเพียงคนเดียว และมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทฯ แต่อย่างใด
          เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 นาง ส. ได้มาพบเจ้าพนักงานและชี้แจงว่า คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ สำหรับ เดือนภาษีพฤษภาคม 2552 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เนื่องจากนาง ส. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามหนึ่งในจำนวนสองคน และเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทฯ ถือเป็นตัวแทนของบริษัทฯ ตามมาตรา 1167 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่หลงลืมประทับตราของบริษัทฯ เท่านั้น และในวันที่ 10 กันยายน 2552 นาย ก. กรรมการบริษัทฯ อีกคนหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือ ลงวันที่ 9 กันยายน 2552 ต่อ สท.กทม.9 แจ้งว่า บริษัทฯ มีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ ได้คือ นาย ก. และนาง ส. ลงลายมือชื่อร่วมกันเท่านั้นจึงจะสมบูรณ์

แนววินิจฉัย
          ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า "บรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่นซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องทำยื่นนั้น ให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ" ดังนั้น กรณีตาม ข้อเท็จจริง บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2552 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงิน 53,354,688.53 บาท โดยมี นาง ส. กรรมการบริษัทฯ ลงลายมือชื่อในช่องการขอคืนภาษีในแบบ ภ.พ.30 เพียงคนเดียว และมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทฯ แม้จะต่างจากหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของบริษัทฯ ที่ระบุว่า "กรรมการ ลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทฯ คือ นาง ส. ลงลายมือชื่อร่วมกับนาย ก. และประทับตราสำคัญของบริษัทฯ" ก็ตาม กรณีจึงถือได้ว่า การยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2552 ของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

เลขตู้ : 73/37334

เงินได้จากการตรวจรักษาผู้ป่วย ถือเป็นเงินได้ตามมาตราไหน

เงินได้จากการตรวจรักษาผู้ป่วยที่แพทย์ได้รับ ถือเป็นเงินได้ประเภทค่าจ้าง หรือเงินได้จากรับทำงานให้ หรือเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ต้องดูวิธีการที่ได้รับเงินได้มา ถ้าทำงานในฐานะลูกจ้างของโรงพยาบาลก็ถือเป็นเงินเดือนค่าจ้าง ตามมาตรา 40(1) ถ้าไม่ได้เป็นลูกจ้างแต่มาทำงานพิเศษนอกเวลา ก็ถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แต่ถ้าเป็นการเปิดคลีนิคเอง หรือตกลงทำสัญญาเพื่อขอใช้สถานที่กับโรงพยาบาลแบบนี้ ถึงจะเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ตามมาตา 40(6) ลองมาดูที่สรรพากรตอบไว้นะครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/1703

วันที่ : 4 มีนาคม 2553

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1) มาตรา 40(2) และมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          นาย ก. ได้รับเงินเดือนและได้รับเงินจากการตรวจรักษาผู้ป่วยที่ คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการของโรงพยาบาล โดยมี หนังสือข้อตกลงการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งแพทย์เป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาจากผู้ ป่วยและมีการตกลงแบ่งรายได้จากค่าตรวจ รักษาให้โรงพยาบาลตามอัตราส่วนที่กำหนด เงินรายได้จากการตรวจรักษาผู้ป่วยที่คลินิก พิเศษนอกเวลาราชการดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีเอกสารรับรองเป็นค่าตอบแทนจากการประกอบ วิชาชีพอิสระ ตาม มาตรา 40(6) แห่ง ประมวลรัษฎากร ซึ่งนาย ก.ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2551 แล้ว แต่เมื่อเดือนกันยายน 2552 นาย ก. เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก.จึงขอทราบว่า เงินได้จากการตรวจผู้ป่วยในคลินิกพิเศษนอก เวลาราชการเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด

แนววินิจฉัย
          1. หากค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน ค่า ตอบแทนดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่างานที่ปฏิบัตินั้นจะใช้วิชาการทางการประกอบ โรคศิลปะอันเป็นวิชาชีพอิสระก็ตาม และเงินได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน หมายรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้รับ เนื่องจากการจ้างแรงงาน
          2. หากค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือ ตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ซึ่งรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้ ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่ รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. สำหรับค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับ ซึ่งจะถือเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องปรากฏว่าแพทย์ได้เปิดคลินิกรักษาคนไข้เป็นการส่วนตัว หรือแพทย์ทำสัญญาหรือ ตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือและ อุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปะในนามของแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วยโดย แพทย์เป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาเองและมีข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ ได้รับจากผู้ป่วยให้แก่สถานพยาบาลเป็นลายลักษณ์อักษร หรือแพทย์ทำสัญญาหรือตกลงกับ สถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปะในนาม ของแพทย์เพื่อ ตรวจและรักษาผู้ป่วย และมี ข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนแพทย์ แล้วนำมาจ่ายให้กับแพทย์เพื่อแบ่งรายได้ให้สถานพยาบาล เงินได้ที่แพทย์เรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งจำนวนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เฉพาะส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักส่วนแบ่งของสถานพยาบาลออก
          กรณีตามข้อเท็จจริง หากนาย ก.ทำสัญญาหรือข้อตกลงกับ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อประกอบโรคศิลปะในนามของนาย ก. เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วย และมีข้อตกลงแบ่งค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย โดย มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนนาย ก. แล้วนำมาจ่ายให้กับนาย ก. เพื่อ แบ่งรายได้ให้มหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป เงินได้ที่นาย ก.เรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งจำนวนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวล รัษฎากร มิใช่เฉพาะ เงินส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักส่วนแบ่งของมหาวิทยาลัยมหิดลออกแล้ว

เลขตู้ : 73/37159

ลาออกจากงาน เนื่องจากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก

เงินชดเชย เงินช่วยเหลือที่ได้รับไม่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากเป็นกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข แต่ทั้งนี้ต้องมีหลักฐานยืนยันทางการแพทย์ ลองมาดูที่สรรพากรตอบไว้นะครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/1968

วันที่ : 12 มีนาคม 2553

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการออกจากงานก่อนการเกษียณอายุ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 42 และมาตรา 42(25) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          นาย ก. อายุ 54 ปี เป็นพนักงานธนาคารฯ (ธนาคารฯ) มีอายุงาน 31 ปี ได้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 โดยมีอาการอัมพาตอ่อนแรงซีกขวา ธนาคารฯ ได้แนะนำให้นาย ก. ยื่น ใบลาออกโดยขอรับเงินช่วยเหลือตามระเบียบของธนาคาร ซึ่งพิจารณาตามตำแหน่งองค์กรและอายุงาน นาย ก. มีตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน มีอายุงาน 25 ปีขึ้นไป นาย ก. จึงยื่นใบลาออกจากงานโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2553 โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารฯ ดังนี้
          1. เงินช่วยเหลือตามระเบียบของธนาคาร โดยคิดจากเงิน เดือน เดือนสุดท้ายรวมกับค่าครองชีพคูณด้วยอายุงาน
          2. เงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
          3. เงินบำเหน็จชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม
          นาย ก. จึงขอทราบว่า เงินดังกล่าวมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

แนววินิจฉัย
          1. กรณีตาม 1. เงินช่วยเหลือตามระเบียบของธนาคารเข้าลักษณะ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวล รัษฎากร ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวม คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 แห่ง ประมวลรัษฎากร และในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้เงินได้พึงประเมินดังกล่าวได้ รับการยกเว้นภาษีเงินได้แต่อย่างใด
          2. กรณีตาม 2. เมื่อนาย ก. ได้ยื่นความประสงค์จะขอลาออก จากงานก่อนเกษียณอายุ 60 ปี เพราะป่วยด้วยโรคหลอดเลือด สมองแตก หากนาย ก. มีหลักฐานยืนยันจากแพทย์ที่ทางราชการรับรองว่า นาย ก.ออกจากงานเพราะทุพพลภาพ ทำให้ไม่สามารถ ที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป และมีหลักฐานจากธนาคารฯ รับรองว่า นาย ก. ออกจากงานเพราะเหตุดังกล่าว มาแสดง จึงเข้าลักษณะเป็นการออกจากงานเพราะทุพพลภาพ ตามข้อ 1(2) และข้อ 1 วรรคสอง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการ สำหรับกรณี ลูกจ้างออกจากงาน เพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่นาย ก. ได้รับจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีดังกล่าว จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
          3. กรณีตาม 3. หากเป็นเงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตน ได้รับจากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วย การประกันสังคม ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(25) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 73/37199