กุมภาพันธ์, 2009 | รับทำเงินเดือน - Part 2 กุมภาพันธ์, 2009 | รับทำเงินเดือน - Part 2

เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา หลักเกณฑ์และวิธีการ

สรุปหลักเกณฑ์และวิธีการ

บุตรสามารถนำเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ทำให้แก่บิดามารดา ของตนเองหรือบิดามารดาของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ทั้งนี้สำหรับการจ่ายเบี้ยประกันตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. บิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
  2. ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา
  3. เริ่มหักค่าลดหย่อนได้ตั้งแต่ปีที่เริ่มทำประกัน
  4. หากบุตรหลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพให้บิดาหรือมารดา ให้เฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่บุตรร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  5. ต้องเป็นการทำประกันภัยสำหรับบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทย
  6. ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิต เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีโดยมีข้อความอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
    1. ชื่อ นามสกุลและเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย
    2. ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)
    3. ชื่อที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทประกันฯ
    4. จำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้สิทธิ และ
    5. ให้ระบุข้อความว่า ” สามารถนำไปยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเงิน …….. บาท “

ที่มา..ประกาศของกรมสรรพากร ฉบับที่ 162

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ  เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ย ประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

_______________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (76) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ย ประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกัน ภัย สำหรับการประกันสุขภาพ ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราช อาณาจักร เพื่อเอาประกันภัยสำหรับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ต้องเป็นการทำประกันสุขภาพให้กับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งบิดาหรือมารดาดังกล่าวแต่ละคนมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอยกเว้น ภาษีเงินได้ไม่เกินสามหมื่นบาท

(2) ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีเงินได้จากการทำประกัน สุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว

(3) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กรณีการทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่

(4) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่ผู้ มีเงินได้ร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้

(5) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ย ประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

(6) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังนี้

(ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ให้ สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม จำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

(ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และ ภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

(ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และ ภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

(7) กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เฉพาะการทำประกันภัยสำหรับบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทย

ข้อ 2 การประกันสุขภาพตามข้อ 1 ให้หมายถึง

(1) การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บ ป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ

(2) การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก

(3) การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)

(4) การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

ข้อ 3 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัย โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย

(2) ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)

(3) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับประกันภัย

(4) จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพตามข้อ 2

(5) จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

ข้อ 4 การได้รับยก เว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไปคำนวณหักจากเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

ข้อ 5 ในกรณีมีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือ เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป

ประกาศ  ณ  วันที่ 26 ธันวาคม  พ.ศ. 2549

พิชาติ  เกษเรือง

(นายพิชาติ  เกษเรือง)

รองอธิบดี  รักษาราชการแทน

อธิบดีกรมสรรพากร

เบี้ยประกันชีวิตตามหลักเกณฑ์ใหม่

สรุปหลักเกณฑ์และวิธีการ

1. กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาสัญญาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
2. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินคืน หรือผลประโยชน์ตอบแทนในระหว่างสัญญาต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
2.1 กรณีรับเงินคืนหรือเงินประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ
2.2 กรณีรับเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลา เช่น ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงเวลาที่ผู้มีรับประกันภัยกำหนดให้มีการ จ่ายเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ
2.3 กรณีได้รับเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนไม่เป็นไปตาม (2.1) หรือ (2.2) ผลรวมของเงินคืนผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินคืน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนจะต้องไปเกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้เงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามข้อ (2.1), (2.2) และ (2.3) ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ ประกันชีวิต หรือเงินคืน หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันแล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ประกันชีวิต หรือเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์
3. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ไม่สามารถนำเบี้ยประกันภัยมาหักลดหย่อนภาษีได้
4. การได้รับการยกเว้นภาษีผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายเบี้ยประกัน
5. ให้มีผลบังคับใช้สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป

ถ้าค่าเบี้ยประกันชีวิตไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ค่าเบี้ยประกันชีวิตจะไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนทางภาษีได้นะครับ

ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมในกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยได้

ขอนำประเด็นค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตใน การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร และการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันชีวิตในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (61) มาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2551 อย่างไร

วิสัชนา ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2 (61) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2551 นั้น โดยทั่วไปกำหนดขึ้นเพื่อให้ยกเลิกและใช้บังคับแทนที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 112) ลงวันที่ 30 กันยายน 2545 เว้นแต่ในสองประเด็นต่อไปนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ที่ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป โดยไม่ไปกระทบกระเทือนกรมธรรม์ที่ทำมาก่อนหน้านี้ ตามหลักกฎหมายเป็นโทษไม่มีผลย้อนหลัง

1. ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมในกรมธรรม์ประกัน ชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม โดยไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้ ซึ่งที่ผ่านมา กรมสรรพากรมิได้มีข้อกำหนดให้บริษัทผู้รับประกันต้องแยกค่าเบี้ยประกันชีวิต กันเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองอื่น เช่น ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพ เป็นต้น

2. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุ กรมธรรม์ เกินกว่าร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิต ซึ่งในปี 2551 ได้เกิดกรณีการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่กำหนดให้ผู้รับประกันชีวิตได้รับ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ถึง 80% ของเบี้ยประกันชีวิต อันเป็นเหตุให้กรมสรรพากรลุกขึ้นมาแก้เงื่อนไขตามประกาศฉบับดังกล่าวข้างต้น

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็น เบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป เฉพาะกรณีที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และเป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการ ประกันชีวิตในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท อย่างไร

วิสัชนา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมดังกล่าวไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้

2. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

(1) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ

(2) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัย กำหนดนอกจาก (1) เช่น ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มี การจ่ายเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ

(3) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนที่ไม่เป็นไปตาม (1) หรือ (2) ผลรวมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตาม (1) และหรือ (2) และหรือ (3) ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต แล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์

3. การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต

(1) กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครอง อื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน

(2) กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องระบุเงื่อนไขตามข้อ 2 ด้วย

4. กรณีผู้มีเงินได้ ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหัก ออกจากเงินได้ เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงิน ได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา…กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายให้พนักงานถือเป็นประโยชน์เพิ่ม

สรุป

1. บริษัทจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้พนักงานไม่ว่าจะเป็นประกันภัยแบบเดี่ยวหรือแบบหมู่ ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ต้องนำมารวมคำนวณเพือเสียภาษี

2. เบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มไม่เกิน 1 ปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล (ประกันสุขภาพ) ได้รับการยกเว้นไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน

ปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต

ขอนำประเด็นปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 (1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร

การ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันชีวิตในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (61) มาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประกันชีวิตพนักงานรวมทุกคน (ประกันชีวิตหมู่) และบริษัทฯ เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว โดยค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงาน บริษัทฯ ได้จ่ายไปจริงและสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ และในส่วนของพนักงานนั้นหากปรากฏว่าพนักงานไม่ได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ อันเนื่องมาจากการประกันชีวิตดังกล่าวจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างและบริษัทฯ ผู้รับประกันชีวิต ก็ไม่เข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด ถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ทำประกันชีวิตและสุขภาพให้แก่พนักงานที่ทำงานมาครบ 3 ปีทุกคน ซึ่งการทำประกันชีวิตดังกล่าวได้รับความยินยอมจากพนักงานเหล่านั้น โดยกรมธรรม์จะทำเพียงฉบับเดียว มิได้แยกเป็นรายบุคคล ระบุชื่อผู้ถือกรมธรรม์ คือ บริษัทฯ และสมาชิกผู้เอาประกันภัยคือ สมาชิกประจำทั้งหมดที่อยู่ปฏิบัติงานเต็มเวลามาแล้วสามปี ในวันที่มีผลบังคับของกรมธรรม์ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี และต่ำกว่า 65 ปี บริษัทฯ จะปิดประกาศรายละเอียดที่พนักงานจะได้รับสิทธิคุ้มครองไว้ให้พนักงานได้ทราบ พร้อมทั้งเรียกพนักงานตั้งแต่ระดับ SUB LEADER ขึ้นไปมาอธิบายและชี้แจงรายละเอียด เพื่อแจ้งให้พนักงานในบังคับบัญชาได้ทราบต่อไป กรณีพนักงานได้รับอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต ทางบริษัทผู้เอาประกันจะจ่ายค่าชดเชยการเรียกร้องของพนักงานคืนมาให้เป็น เช็คในนามของบริษัทฯ และบริษัทฯ จะเบิกจ่ายเป็นเงินสดให้แก่พนักงานหรือผู้รับผลประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ที่แท้จริง คือ พนักงาน โดยบริษัทฯ เป็นเพียงผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันและเบิกจ่ายค่าชดเชยแทนพนักงานเท่านั้น เงินค่าเบี้ยประกันที่บริษัทฯ จ่ายแทนพนักงาน จึงถือเป็นประโยชน์เพิ่มจากการจ้างแรงงานของพนักงาน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งพนักงานผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์อันเป็นสมาชิกผู้เอาประกัน ภัยแต่ละคน จะต้องนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตเฉพาะส่วนของตนไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย และกรณีบริษัทฯ จ่ายเงินชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนพนักงาน บริษัทฯ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811(กม)/795 ลงวันที่ 22 เมษายน 2541) 

อย่างไรก็ตาม นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ.2549) เพิ่ม (77) ของข้อ 2 ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) เพื่อกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ลูกจ้าง เป็นจำนวนเท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือ บริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ

(ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

(ข) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว

กล่าวโดยสรุป ค่าเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน หนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และที่นายจ้างได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้าเป็นการคุ้มครองค่าอย่างอื่นที่มิใช่การรักษาพยาบาล ลูกจ้างจะได้ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์