กันยายน, 2008 | รับทำเงินเดือน - Part 3 กันยายน, 2008 | รับทำเงินเดือน - Part 3

พรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2550 มีอะไรเพิ่มเติมบ้าง

พ.ร.บ. ฉบับใหม่ สมาชิกได้ประโยชน์อะไร นับตั้งแต่ประเทศไทยมี พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง คือ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2542 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ล่าสุด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา โดยสมาชิกจะได้รับประโยชน์ดีๆ เพิ่มขึ้น 5 ประการ ดังนี้

พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ. ศ. 2530

1) ออกจากงาน – คงเงินในกองทุนได้รับผลตอบแทนต่อเนื่อง
เมื่อก่อนถ้าเราออกจากงาน แต่ยังไม่สามารถโอนเงินกองทุนไปยังบริษัทนายจ้างใหม่ได้ เราสามารถขอ “คงเงิน” ของเราไว้ในกองทุนเดิมได้ไม่เกิน 1 ปี แต่เราจะถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิกกองทุน และเงินที่คงไว้จะแช่อยู่เฉยๆ ไม่มีสิทธิได้รับผลตอบแทนของกองทุน ดังนั้น ระหว่างที่เราคงเงิน ไม่ว่ากองทุนจะกำไร หรือขาดทุน เงินเราก็จะนิ่งอยู่เท่าเดิม แต่ตาม พ.ร.บ. ใหม่ ถ้าเราขอคงเงินไว้ในกองทุน ดังนั้น เงินของเราที่คงไว้จะยังได้รับผลตอบแทนต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าไม่ว่ากองทุนจะกำไร หรือขาดทุน เราก็จะมีส่วนได้เสียเหมือนสมาชิกคนอื่นที่อยู่ในกองทุน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เราคงเงิน เราไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัทนายจ้างเดิมแล้ว ทั้งเราและนายจ้างจึงไม่ต้องนำส่งเงินสะสม-สมทบเข้ากองทุนอีก นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่คงเงิน จะไม่มี ผลต่อการนับอายุงาน หรืออายุสมาชิก เพื่อยืดสิทธิประโยชน์ในเงินส่วนของนายจ้าง หรือเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะทุกอย่างสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่เราออกจากงานแล้ว โดยกฎหมายกำหนดให้บริษัทจัดการต้องเปิดระยะเวลาคงเงินของสมาชิกได้ไม่น้อยกว่า 90 วัน โดยสมาชิกสามารถแจ้งระยะเวลาที่จะคงเงินในกองทุนได้ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน ทั้งนี้ทั้งนั้น จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องภาษี ว่าหากในที่สุดไม่ได้โอนกองทุนต่อไปยังกองทุนอื่น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่คงเงินต้องเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินกองทุนที่มีสิทธิได้รับในวันสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ อย่างไร คำถามนี้ ยังต้องรอคำตอบเรื่องภาษีจากกรมสรรพากรค่ะ

2) เกษียณอายุ – รับเงินเป็นงวดได้
จากเดิมถ้าสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เราจะได้รับเงินกองทุนทั้งก้อนครั้งเดียวภายใน 30 วัน นับจากวันสิ้นสมาชิกภาพ แต่ต่อจากนี้ คนเกษียณอายุมีสิทธิเลือกว่าอยากรับเงินทั้งหมดครั้งเดียว หรือจะเลือกทยอยรับเป็นงวดๆ คล้ายกับข้าราชการที่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญ และมีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ก็ได้ ดังนั้นคนเกษียณอายุที่ไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนต่อที่ไหนดี ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ปล่อยให้เป็นหน้าที่ผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารเงินให้ต่อ แล้วรอรับเงิน เป็นงวดๆ สบายกว่ากันเยอะเลย สำหรับระยะเวลาที่จะรับเงินจะนานเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบต่างๆ ของกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนเสนอให้เลือกภายใต้กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยระหว่างที่รอรับเงินไม่ต้องนำส่งเงินสะสม-สมทบเข้ากองทุน เช่นเดียวกันกับกรณีคงเงินในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี นั่นคือ ยังไม่มีคำตอบจากกรมสรรพากรว่าคนเกษียณอายุและขอรับเงินเป็น งวดจะยังต้องเสียภาษีหรือไม่

อย่างไร ดังนั้น ระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบเรื่องภษี คนที่เกษียณอายุตามเงื่อนไข (อายุตัวไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี) ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวนอยู่แล้ว ยังมีทางออกอื่น คือ รับเงินกองทุนออกไปทั้งหมดครั้งเดียว แล้วนำเงินไปลงทุนกองทุนรวม และทยอยขายกองทุนเป็นงวดๆ ซึ่งปัจจุบันยังได้รับการยกเว้นภาษีในเรื่องของ Capital Gain

3) Master Fund – ทางออกของคนอยากเลือกนโยบายการลงทุนเอง
ถึงแม้ที่ผ่านมาจะเปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตัวเอง (Employee’s Choice) แต่ 1 กองทุน มีได้เพียง 1 นโยบายการลงทุน ดังนั้น การมีหลายนโยบายการลงทุนให้สมาชิกเลือก นั่นหมายถึง การต้องจัดตั้งหลายกองทุน ซึ่งอาจไม่สะดวกต่อนายจ้างในการดำเนินการ เพราะต้องทำข้อบังคับกองทุนหลายชุด มีคณะกรรมการหลายชุด แต่ต่อไปนี้การจัดกองทุนในรูปแบบ Master Fund ซึ่งหนึ่งกองทุนสามารถมีได้หลายนโยบายการลงทุนซึ่งจะเป็น Employee’s Choice อย่างเต็มรูปแบบ และทำให้สมาชิกไม่เพียงแต่สามารถเลือกนโยบายได้ด้วยตนเอง แต่ยังจะสามารถจัดสรรสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองได้โดยไม่สร้างความยุ่งยากให้กับนายจ้าง

รูปแบบกองทุน Master Fund “หนึ่งกองทุน มีหลายนโยบายการลงทุน” ให้สมาชิกเลือก

อย่างไรก็ดี การจัดทำ Employee’s Choice ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเดิม หรือ Master Fund ก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือ สมาชิกต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนที่ดีพอที่จะสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตนเองจริงๆ

4) เงื่อนไขการจ่ายเงิน – นายจ้างต้องเป็นธรรม
จริงอยู่ถึงแม้ว่าเงินกองทุนส่วนของนายจ้าง นายจ้างมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขว่าจะให้สมาชิกเท่าไร เมื่อไรซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่ กำหนดเอาจำนวนปีที่ทำงาน หรือจำนวนปีที่เป็นสมาชิกกองทุน เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ แต่หากระยะเวลาที่กำหนดนั้นนานเกินไป ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตาม พ.ร.บ. ใหม่ จึงกำหนดว่าการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินส่วนของนายจ้างต้องไม่ตัดสิทธิลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีแนวทางในการพิจารณารับจดทะเบียนกองทุนให้เฉพาะบริษัทที่กำหนดระยะเวลาที่สมาชิกจะได้รับเงินส่วนของนายจ้างเต็มจำนวน ไม่เกิน 10 ปี หากเกินกว่านี้ ก.ล.ต. จะไม่รับจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม การกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินส่วนของนายจ้างที่ต้องไม่ตัดสิทธิลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ ยกเว้น กรณีลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน หรือกรณีเป็นเหตุให้นายจ้างเสียหายร้ายแรง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีข้อกำหนด ห้ามพนักงานสูบบุหรี่ โดยกำหนดโทษร้ายแรงให้ออกจากงาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของบริษัทและเพื่อนพนักงาน

5) เงินกองทุน กบข. – โอนมาเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
ข่าวดีสำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และเปลี่ยนใจลาออกจากราชการมาทำงานกับบริษัทเอกชน ตอนนี้คุณสามารถโอนเงินกองทุน กบข. ที่มีสิทธิได้รับทั้งจำนวนมาเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชนได้ ทำให้สามารถออมเงินได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจาก กบข. ไปเสียภาษี เพราะเหตุออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ แต่สำหรับพนักงานเอกชนที่จะไปรับราชการ ตอนนี้ยังไม่สามารถโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเข้ากองทุน กบข. ได้ ต้องรอให้ กบข. แก้ไข พ.ร.บ. ก่อนค่ะ

ที่มา.. TISCO Asset Management Co.,Ltd.

โปรแกรมบัญชีฟรีของ Formula

ที่จริงรู้มาตั้งแต่ปีก่อนแล้วว่า โปรแกรม Formula เปิดให้ใช้งานฟรี แต่ตอนนั้นเพื่อนบอกว่าสำนักงานบัญชีใช้งานโปรแกรมบัญชีฟรี แต่การใช้งานต้องใช้ผ่านระบบ online ทำให้ต้องซื้อบริการ ฟังดูแล้วไม่เห็นจะฟรีเลย ทำให้ไม่สนใจที่จะเอามาใช้งาน แต่ที่จริงเราสามารถใช้งานในแบบ offline ได้แบบปกติทั่วไป เพียงแต่คุณต้องใช้งานแบบ online 1 ครั้งภายใน 6 เดือน (ไม่เสียค่าบริการ เหมือนกับให้โปรแกรมได้ลงทะเบียนแบบ online ก่อน)

เมื่อเดือนก่อน (กรกฎาคม) มีความคิดว่าจะหาโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปมาใช้งานแทนตัวเก่า เงื่อนไขก็คือต้องเป็นโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปของคนไทย เพราะจะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผมเองใช้เวลารวบรวมข้อมูลแล้วคิดว่าโปรแกรม Prosoft myAccount น่าสนใจที่สุด ดูจาก Feature แล้ว มีระบบ Dilldown ซึ่งจะทำให้การจัดทำงบง่ายขึ้น เมื่อต้องย้อนข้อมูลจาก Trial balance กลับไปดู Transaction ซึ่งตัวอื่นๆ น่าจะไม่มี และราคาก็ไม่แพงเท่าไหร่ น่าจะไม่ถึง 20,000 บาท (ส่วนใหญ่โปรแกรมบัญชีราคาก็จะอยู่ประมาณนี้อยู่แล้ว และต้องมีครบทุกระบบ)

ผมเอาเอกสารโบรชัว ที่เคยได้รับแจกตอนไปสัมมนาที่ ศูนย์ประชุมอิมแพคมาดูอีกที ถึงโปรแกรมบัญชีที่แจกฟรีของ Formula  ตอนนั้น จำได้ว่าที่บู๊ตจะเอาคู่มือโปรแกรมมาขายในราคา 500 บาท แถม CD โปรแกรมบัญชี Formula

ตอนนี้ผมได้ทดลอง download โปรแกรมมาใช้ดูแล้ว พบว่า สามารถใช้งานได้จริง โดยทาง CrytalSoftware เปิดให้ download โปรแกรมทั้งหมด 5 รุ่น ได้แก่

1.Formula Small Biz

2.Formula Accounting Firm

3.Formula SmartBiz

4.Formula Payroll (จำกัดจำนวนพนักงานไม่เกิน 50 คน ถ้าเกินน่าจะต้อง upgrade โปรแกรมแล้วเสียเงินเพิ่ม)

5.Formula POS (ตัวนี้เห็นในเอกสารที่เคยได้รับแจกมา แจ้งว่าจะเปิดให้ download ได้ตั้งแต่วันที่ 31/03/2551 แต่ผมยังไม่เห็นเปิดให้ download ใน เว็บเลยตอนนี้)

ทุกรุ่นทำงานในแบบ Stand Alone ถ้าต้องการใช้งานบน Lan ต้อง upgrade และเสียค่าบริการเพิ่มเติม

แปลกนะครับ เปิดให้ download เกือบครบเลย น่าจะเป็นเพราะนโยบายของกระทรวงพาณิชย์นะครับที่ต้องการให้ธุรกิจขนาดเล็ก (ซึ่งมีจำนวนมากและส่วนใหญ่ใช้บริการสำนักงานบัญชี) ได้ใช้โปรแกรมที่มีมาตรฐาน ทางกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์น่าจะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายโปรแกรมตัวนี้นะครับ จึงทำให้เราสามารถ download โปรแกรมมาใช้งานได้ฟรีหลายตัว ซึ่งก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานของธุรกิจขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี

เราลองมาดูนะครับว่าโปรแกรม small Biz, Accounting Firm กับ Smart Biz ต่างกันอย่างไร พูดง่ายๆ เลยก็คือ Small Biz + Accounting Firm = Smart Biz เพราะฉะนั้นโหลดตัว SmartBiz ไปตัวเดียวก็พอ บวกกับ payroll

โปรแกรม Accounting Firm จะมี GL,FA,CQ (แยกประเภท, สินทรัพย์, ระบบเช็ค)

โปรแกรม Small Biz จะมี PO,AR,SO,AP,IC,CQ,FA (ระบบซื้อ,ลูกหนี้,ระบบขาย,เจ้าหนี้,ระบบสต๊อค,ระบบเช็ค,สินทรัพย์) จะไม่มี GL ตัวเดียว

ไม่ต้องแปลกใจนะครับ เพราะเค้าต้องการให้ Accounting Firm ถูกใช้งานที่สำนักงานบัญชี ส่วนลูกค้าใช้ Small Biz แล้ว online ส่งข้อมูลมาเข้าที่ สำนักงานบัญชี อีกทีหนึ่ง จึงแยกโปรแกรมออกเป็น 2 ส่วน แต่ได้ข่าวจากในเว็บบอร์ดของคริสตอล มาว่าต่อไป Accounting Firm จะถูกเพิ่ม Module ทั้ง 8 ตัวของ Small Biz เข้าไปให้ครบ (ซึ่งต่อไปจำนวนรุ่นโปรแกรมก็น่าจะลดลง ไม่ต้องออกหลายมาหลายรุ่น)

สำหรับคนที่จะเข้าไป donwload คุณต้องเข้าไปลงทะเบียนก่อนถึงจะ download ได้นะครับ เค้าให้ donwload คู่มือที่เป็น pdf ไฟล์ รวมทั้งไฟล์มัลติมิเดีย

คลิ๊กที่นี่ ดาวน์โหลด

นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปเรียนโปรแกรมนี้ได้ที่ Digital University โดยเข้าไปที่ -> แหล่งการเรียน -> หลักสูตร -> วิธีใช้งานโปรแกรมบัญชี -> SMEs Account@Click (เป็นตัวกับ Formula แต่เรียกคนละชื่อ)

คลิ๊กที่นี่ http://app.sme.go.th/eservices/auth/1%3A11%3A1696087%3Anidle%3A77732982142879/

เพิ่มเติมข้อมูลพอดีไปอ่านเจอมา

– เฉพาะโปรแกรม Smartbiz จะต้องมีการต่อ Online 1 ครั้งภายใน 6 เดือนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้งานหลังจากนั้นก็ไม่จำเป็นต้อง online ครับ

– คู่มือโปรแกรม Smartbiz และ Formula Payroll มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือซีเอ็คบุ๊ค

– Version ที่ Download หลังวันที่ 01/06/2008 ได้ปรับปรุงเมื่อมีการเปิดบริษัทใหม่สามารถนำแบบพิมพ์/แบบฟอร์มของบริษัทตัวอย่างมาใช้งานได้ (เดิมเมื่อเปิดบริษัทใหม่ แบบฟอร์มต่างๆ ต้องสร้างเองใหม่หมด รวมทั้งผังบัญชีด้วย) เท่าที่ลองติดตั้งโปรแกรมใหม่ พบว่าโปรแกรม Accounting Firm ได้เพิ่มเติม Module ของ Smallbiz เข้าไปให้แล้ว ทำให้ตัว Accounting Firm กับ SmartBiz ดูแล้วไม่แตกต่างกันแล้ว