พรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2550 มีอะไรเพิ่มเติมบ้าง | รับทำเงินเดือน พรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2550 มีอะไรเพิ่มเติมบ้าง | รับทำเงินเดือน

พรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2550 มีอะไรเพิ่มเติมบ้าง

พ.ร.บ. ฉบับใหม่ สมาชิกได้ประโยชน์อะไร นับตั้งแต่ประเทศไทยมี พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง คือ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2542 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ล่าสุด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา โดยสมาชิกจะได้รับประโยชน์ดีๆ เพิ่มขึ้น 5 ประการ ดังนี้

พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ. ศ. 2530

1) ออกจากงาน – คงเงินในกองทุนได้รับผลตอบแทนต่อเนื่อง
เมื่อก่อนถ้าเราออกจากงาน แต่ยังไม่สามารถโอนเงินกองทุนไปยังบริษัทนายจ้างใหม่ได้ เราสามารถขอ “คงเงิน” ของเราไว้ในกองทุนเดิมได้ไม่เกิน 1 ปี แต่เราจะถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิกกองทุน และเงินที่คงไว้จะแช่อยู่เฉยๆ ไม่มีสิทธิได้รับผลตอบแทนของกองทุน ดังนั้น ระหว่างที่เราคงเงิน ไม่ว่ากองทุนจะกำไร หรือขาดทุน เงินเราก็จะนิ่งอยู่เท่าเดิม แต่ตาม พ.ร.บ. ใหม่ ถ้าเราขอคงเงินไว้ในกองทุน ดังนั้น เงินของเราที่คงไว้จะยังได้รับผลตอบแทนต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าไม่ว่ากองทุนจะกำไร หรือขาดทุน เราก็จะมีส่วนได้เสียเหมือนสมาชิกคนอื่นที่อยู่ในกองทุน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เราคงเงิน เราไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัทนายจ้างเดิมแล้ว ทั้งเราและนายจ้างจึงไม่ต้องนำส่งเงินสะสม-สมทบเข้ากองทุนอีก นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่คงเงิน จะไม่มี ผลต่อการนับอายุงาน หรืออายุสมาชิก เพื่อยืดสิทธิประโยชน์ในเงินส่วนของนายจ้าง หรือเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะทุกอย่างสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่เราออกจากงานแล้ว โดยกฎหมายกำหนดให้บริษัทจัดการต้องเปิดระยะเวลาคงเงินของสมาชิกได้ไม่น้อยกว่า 90 วัน โดยสมาชิกสามารถแจ้งระยะเวลาที่จะคงเงินในกองทุนได้ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน ทั้งนี้ทั้งนั้น จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องภาษี ว่าหากในที่สุดไม่ได้โอนกองทุนต่อไปยังกองทุนอื่น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่คงเงินต้องเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินกองทุนที่มีสิทธิได้รับในวันสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ อย่างไร คำถามนี้ ยังต้องรอคำตอบเรื่องภาษีจากกรมสรรพากรค่ะ

2) เกษียณอายุ – รับเงินเป็นงวดได้
จากเดิมถ้าสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เราจะได้รับเงินกองทุนทั้งก้อนครั้งเดียวภายใน 30 วัน นับจากวันสิ้นสมาชิกภาพ แต่ต่อจากนี้ คนเกษียณอายุมีสิทธิเลือกว่าอยากรับเงินทั้งหมดครั้งเดียว หรือจะเลือกทยอยรับเป็นงวดๆ คล้ายกับข้าราชการที่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญ และมีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ก็ได้ ดังนั้นคนเกษียณอายุที่ไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนต่อที่ไหนดี ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ปล่อยให้เป็นหน้าที่ผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารเงินให้ต่อ แล้วรอรับเงิน เป็นงวดๆ สบายกว่ากันเยอะเลย สำหรับระยะเวลาที่จะรับเงินจะนานเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบต่างๆ ของกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนเสนอให้เลือกภายใต้กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยระหว่างที่รอรับเงินไม่ต้องนำส่งเงินสะสม-สมทบเข้ากองทุน เช่นเดียวกันกับกรณีคงเงินในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี นั่นคือ ยังไม่มีคำตอบจากกรมสรรพากรว่าคนเกษียณอายุและขอรับเงินเป็น งวดจะยังต้องเสียภาษีหรือไม่

อย่างไร ดังนั้น ระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบเรื่องภษี คนที่เกษียณอายุตามเงื่อนไข (อายุตัวไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี) ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวนอยู่แล้ว ยังมีทางออกอื่น คือ รับเงินกองทุนออกไปทั้งหมดครั้งเดียว แล้วนำเงินไปลงทุนกองทุนรวม และทยอยขายกองทุนเป็นงวดๆ ซึ่งปัจจุบันยังได้รับการยกเว้นภาษีในเรื่องของ Capital Gain

3) Master Fund – ทางออกของคนอยากเลือกนโยบายการลงทุนเอง
ถึงแม้ที่ผ่านมาจะเปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตัวเอง (Employee’s Choice) แต่ 1 กองทุน มีได้เพียง 1 นโยบายการลงทุน ดังนั้น การมีหลายนโยบายการลงทุนให้สมาชิกเลือก นั่นหมายถึง การต้องจัดตั้งหลายกองทุน ซึ่งอาจไม่สะดวกต่อนายจ้างในการดำเนินการ เพราะต้องทำข้อบังคับกองทุนหลายชุด มีคณะกรรมการหลายชุด แต่ต่อไปนี้การจัดกองทุนในรูปแบบ Master Fund ซึ่งหนึ่งกองทุนสามารถมีได้หลายนโยบายการลงทุนซึ่งจะเป็น Employee’s Choice อย่างเต็มรูปแบบ และทำให้สมาชิกไม่เพียงแต่สามารถเลือกนโยบายได้ด้วยตนเอง แต่ยังจะสามารถจัดสรรสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองได้โดยไม่สร้างความยุ่งยากให้กับนายจ้าง

รูปแบบกองทุน Master Fund “หนึ่งกองทุน มีหลายนโยบายการลงทุน” ให้สมาชิกเลือก

อย่างไรก็ดี การจัดทำ Employee’s Choice ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเดิม หรือ Master Fund ก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือ สมาชิกต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนที่ดีพอที่จะสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตนเองจริงๆ

4) เงื่อนไขการจ่ายเงิน – นายจ้างต้องเป็นธรรม
จริงอยู่ถึงแม้ว่าเงินกองทุนส่วนของนายจ้าง นายจ้างมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขว่าจะให้สมาชิกเท่าไร เมื่อไรซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่ กำหนดเอาจำนวนปีที่ทำงาน หรือจำนวนปีที่เป็นสมาชิกกองทุน เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ แต่หากระยะเวลาที่กำหนดนั้นนานเกินไป ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตาม พ.ร.บ. ใหม่ จึงกำหนดว่าการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินส่วนของนายจ้างต้องไม่ตัดสิทธิลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีแนวทางในการพิจารณารับจดทะเบียนกองทุนให้เฉพาะบริษัทที่กำหนดระยะเวลาที่สมาชิกจะได้รับเงินส่วนของนายจ้างเต็มจำนวน ไม่เกิน 10 ปี หากเกินกว่านี้ ก.ล.ต. จะไม่รับจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม การกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินส่วนของนายจ้างที่ต้องไม่ตัดสิทธิลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ ยกเว้น กรณีลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน หรือกรณีเป็นเหตุให้นายจ้างเสียหายร้ายแรง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีข้อกำหนด ห้ามพนักงานสูบบุหรี่ โดยกำหนดโทษร้ายแรงให้ออกจากงาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของบริษัทและเพื่อนพนักงาน

5) เงินกองทุน กบข. – โอนมาเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
ข่าวดีสำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และเปลี่ยนใจลาออกจากราชการมาทำงานกับบริษัทเอกชน ตอนนี้คุณสามารถโอนเงินกองทุน กบข. ที่มีสิทธิได้รับทั้งจำนวนมาเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชนได้ ทำให้สามารถออมเงินได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจาก กบข. ไปเสียภาษี เพราะเหตุออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ แต่สำหรับพนักงานเอกชนที่จะไปรับราชการ ตอนนี้ยังไม่สามารถโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเข้ากองทุน กบข. ได้ ต้องรอให้ กบข. แก้ไข พ.ร.บ. ก่อนค่ะ

ที่มา.. TISCO Asset Management Co.,Ltd.

Comments

  1. ขอสอบถามหน่อยครับ.
    ผมทำงานกับบริษัทนี้มา 8 ปี (สายธนาคาร) อยากจะถามว่าถ้าผมต้องการจะลาออกจากกองทุนแต่ไม่ลาออกจากงาน/บริษัทมีสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินสมทบ+ผลประโยชน์จากเงินสมทบ ได้หรือไม่ (ผมมีความรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทเงินส่วนนี้ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่บริษัทต้องให้กับพนักงานผมรู้สึกเหมือนโดนริดรอนสิทธิที่ผมควรจะได้รึป่าวครับ) บริษัทแจ้งกับผมว่าสามารถลาออกจากกองทุนแต่ไม่ลาออกจากงานได้แต่ 1.ถ้าออกแล้วไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ได้ / ในส่วนนี้ผมยอมรับได้เพราะเป็นการตัดสินใจของผมเองโดยบริษัทก้อได้ประโยชน์จากผมโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบให้ผมอีกต่อไป. 2.ผมจะได้เงินในส่วนที่เป็นเงินสะสม+ผลประโยชน์จากเงินสะสมเท่านั้นในส่วนที่เป็นเงินสมทบ+ผลโยชน์จากเงินสมทบของบริษัทผมจะไม่ได้รับเลยซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะอยู่ผมคิดว่าเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนนี้เลย.
    จึงอยากจะรบกวนสอบถามว่าบริษัทสามารถที่จะกระทำการดังกล่าวได้หรือไม่ครับ(ผมมีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินส่วนนี้ได้หรือไม่ครับ)
    ขอบพระคุณมากครับ.

  2. ตอนนี้ยังไม่ถอนครับ ฝากไว้อีก 2-3 ปี โดยไม่ได้ทำงานจริง สรรพากรเรียกเก็บย้อนหลังใช่ไหมครับ เพราะตอนยื่นแบบภาษีเงินได้ มันจะไม่มีรายได้แล้วครับ

  3. ตอบคุณสมชาย

    ถ้าถอนออกไม่ได้รับการยกเว้น ต้องให้ทางบริษัทแจ้งไปทางกองทุนว่า ลาออกจากกองทุนเนื่องจากเกษียณอายุ แบบนี้ถึงจะได้รับการยกเว้นครับ

  4. ขอสอบถามดังนี้
    อายุ 53 ปี ขอ Early Retirement แล้ว อายุงานมากแล้วเกิน 5 ปี
    ยังไม่อยากเสียภาษี และ ไม่รีบร้อนใช้เงิน
    สามารถฝากจ้างงานต่ออีกบริษัทในเครือที่มีกองทุนเดียวกันได้จนครบ 55 ปี
    ทำมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว ไม่ทราบว่า อีก 2 ปี ถอนออกมาก็ไม่ต้องเสียภาษีใช่ไหมครับ จ้างงานที่ว่าคือฝากชื่อไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำงานจริง

  5. ตอบคุณรัตนา

    กองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข) เป็นการส่งเงินสบทบระหว่างรัฐบาล กับข้าราชการ ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการส่งเงินสมทบระหว่างระหว่าง นายจ้าง กับ ลูกจ้าง จุดประสงค์เป็นการออมเงินเพื่อให้ลูกจ้างมีก้อนไว้ใช้จ่ายตอนเกษียณอายุ

    สำหรับข้าราชการที่รับราชการก่อนตั้งกองทุน (กบข) ยังคงได้รับสิทธิให้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญจากงบประมาณ(รัฐบาล)อยู่ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับกองทุนด้านบน (ควรสอบถามต้นสังกัดดูอีกครั้ง)

  6. รบกวนข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์กับองค์กร ดิฉันเป็นข้าราชการสังกัด มสธ.โดยปรกติเรามีกองทุนเงินสะสมสมทบ แต่ตอนนี้กำลังจะปรับเปลี่ยนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งพวกที่รับราชการรุ่นที่มีบำนาญ จะมีข้อสงสัยว่าหากเราสมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วผลประโยชน์ที่สมทบให้ได้จากรัฐบาล แล้วหากถึงตอนเกษียณอายุราชการ เมื่อเราเลือกรับบำนาญแล้วจะสามารถรับเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อีกหรือไม่..ขอความกรุณาตอบด่วนนะคะ จะนำเข้าที่ประชุมในวันที่ 18 ตค53

  7. ตอบคุณปัญญา

    บริษัทสามารถกำหนดข้อบังคับกองทุนได้ครับ เช่น คนที่สมัครต้องทำงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี / ลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากไม่ได้ หรือ ลาออกจากกองทุนแล้วสามารถสมัครใหม่ได้หรือไม่ เป็นต้น
    ส่วนเรื่องโอนย้ายผมไปหาข้อมูลมาแล้ว
    สมาชิกสามารถโอนย้ายไปกองทุนอื่น (PVD, RMF, กบข.) โดยระหว่างรอการโอนย้ายสามารถคงเงินไว้ในกองทุนเดิมได้ระยะหนึ่งทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนด้วยว่า จะยินยอมหรือไม่

  8. ขออนุญาตสอบถามอีกครั้งที่เคยถามเมื่อ 24 สิงหคม53ขอถามเพิ่มเติมเนื่องจาก สงสัยว่าระเบียบกองทุนสามารถกำหนดระเบียบห้ามสมาชิกที่ลาออกจากงานเนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลเปิดโอกาสให้เปลี่ยนฐานะจากลูกจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยโดยต้องลาออกจากตำแหน่งลูกจ้างก่อนทำให้สินสุดสมาชิกภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้าง แต่หากต้องการโอ นเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างประจำไปอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานมหาวิทยาลัยอีกกองหนึ่งทำไมจึงทำไม่ได้ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้โอนได้แต่ทำไมกรรมการกองทุนกำหนดระเบียบขัดแย้งกับกฎหมายได้ด้วยหรือ และหากมีข้อสงสัยจะไปถามเพิ่มเติมที่ไหน เพราะคิดว่าไม่รับความเป็นธรรม

  9. ตอบคุณปัญญา

    ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะโอนย้ายกองทุนไม่ได้ ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอนุญาตให้ย้ายกองทุนได้เมื่อลาออกจากงาน

    ผมเคยทำงานบริษัทในเครือและย้ายบริษัท แต่เนื่องจากเป็นกองทุนเดียวกันอยู่แล้ว ก็เลยไม่ต้องแจ้งลาออก แค่แจ้งเรื่องไปว่าย้ายจากบริษัทในเครือจากไหนไปที่ไหนก็พอ เพราะเป็นกองทุนเดียวกัน

    แต่เนื่องจากบริษัทเป็นเจ้าของกองทุนจึงมีสิทธิที่จะกำหนดระเบียบได้ว่าเป็นอย่างไร อันนี้ไม่ได้อยู่ที่กองทุนแล้วครับ

  10. เนื่องจากภรรยาของผมเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างประจำนอกงบโรงบาลรามาธิบดี แต่ปัจจุบันมีสิทธิ์เปลี่ยนสภาพจากลูกจ้างประจำนอกงบประมาณเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกกองหนึ่ง แต่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งมีฐานะเป็นนายจ้างแจ้งว่าหากจะเปลี่ยนตำแหน่งต้องมีการลาออกจากตำแหน่งเดิมและสมัครใหม่โดยไม่สามารถโอนกองทุนได้เนื่องจากระเบียบของกองทุนห้ามรับโอนสมาชิกซึ่งเป็นนายจ้างรายเดียวกันทำให้สมาชิกต้องถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้ ผมเห็นว่าคำชี้แจงดังกล่าวขัดต่อเจตนาของ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มุ่งให้สมาชิกมีการออมเงินและได้รับผลประโยชน์ในตอนอายุมาก

  11. เมื่อครบเกษียณอายุแล้ว บริษัทต่ออายุการทำงานให้ สถานภาพเป็นพนักงานประจำปกติ

    แผนกบุคคลแจ้งว่า บริษัทจะจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมไว้ทั้งหมดให้
    (แต่สามารถฝากไว้ได้มีค่าธรรมเนียมปีละ 600 และผลประโยชน์จะถูกหักภาษี)
    สำหรับเงินสำรองก่อนใหม่ก็ให้ปฏิบัติเหมือนเดิม โดยนับอายุการอยู่ในกองทุนต่อเนื่องจากก่อนเกษียณเลย

    ไม่แน่ใจว่าถูกต้องไหม

  12. ขอบคุณมากค่ะ ที่ช่วยตอบอย่างรวดเร็ว ขอรบกวนถามอีกนิดค่ะ

    ถึงแม้ว่าทางบริษัทเป็นผู้ชี้ตัวให้เราออก โดยเราไม่ได้สมัครใจขอลาออก ในทางกฎหมายก็ไม่พิจารณายกเว้นหรือค่ะ ( และเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด)

    ไม่ทราบว่ามีเว็บไซท์ไหนบ้างค่ะที่อธิบายวิธีคิดยกเว้นภาษีบางส่วน จะได้เข้าไปศึกษาค่ะ

    ขอบคุณมากค่ะ

  13. ตอบคุณ Nira

    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้กำหนดเรื่องอายุการเกษียณไว้ แต่เขียนว่า “เกษียณอายุจากการทำงานและมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี จึงจะได้รับการยกเว้นภาษี”

    อายุการเกษียณขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละบริษัทจะเป็น 55 หรือ 60 หรือ 65 ก็ได้ กรณีของคุณ Nira ถ้าบริษัทกำหนดอายุเกษียนไว้ที่ 60 ปี ก็จะไม่อยู่ในข่ายยกเว้น

    หรือหากสมาชิกออกจากกองทุนก่อนเกษียณอายุ แม้ว่าจะมีอายุครบ 55 ปี (early retirement) ก็จะมีผลเหมือนกันคือไม่ได้รับยกเว้นภาษี (แต่ยกเว้นให้บางส่วน กรณีเป็นสมาชิกเกิน 5 ปี)

  14. รบกวนถามด่วนค่ะ เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
    อายุตัว 56ปี
    อายุงาน32ปี
    อายุสมาชิกกองทุน 16 ปี(สมัครกองทุนตั้งแต่2536)
    บริษัทให้ออกจากงาน(ให้ออกรวม 86 คนส่วนใหญ่เป็นผู้สงอายุ)
    วันนี้ 27 พค.53 กองทุนนัดโอนเงินให้ แต่ของตัวเองยังไม่ได้รับโอน
    ทางกองทุนแจ้งว่าต้องรอนักกฎหมายตีความว่าเป็นผู้เกษียณหรือไม่
    เขาบอกว่าอาจจะต้องเสียภาษีบางส่วน ทำให้ผู้สูงอายุฟังแล้วก็หดหู่

    เพราะทางด้านประกันสังคมก็ไม่รับว่าเป็นผู้ว่างงานเพราะอายุเกิน 55ปี ถือว่าเป็นผู้เกษียณอายุ แต่ทางกองทุนต้องให้นักกฏหมายตีความอีก

    คุณเกียรติชัยคิดว่าต้องเสียภาษีมั๊ยค่ะ เขาบอกว่าจะรู้ผลสัปดาห์หน้าค่ะ
    เป็นหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทยค่ะ
    ขอบคุณมากค่ะ

  15. ตอบ คุณโสภา

    ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ผมเองเคยทำงานให้กับบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ไม่ได้จดทะเบียน เพราะฉะนั้น เงินที่หักไปในแต่ละเดือนไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ รวมทั้งเงินที่นายจ้างสมทบให้ก็ไม่สามารถนำมาลงเป็นค่าใช้จ่ายได้

    กรณีที่ถามมา ถ้ามีการจัดตั้งกองทุนผมว่ามันไม่คุ้มนะครับทั้งนายจ้างลูกจ้าง อีกอย่างตัวลูกจ้างเองก็เสี่ยงด้วย เนื่องจากไม่มีกฎหมายคุ้มครองต้องไปฟ้องร้องกันเอง

    ผมคิดว่ากรณีไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างก็ยังสามารถซื้อกองทุน RMF และ LTF ได้ (ตามธนาคาร)และยังได้รับการลดหย่อนตามกฎหมายด้วย ยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องไปจัดตั้งแบบไม่จดทะเบียน

    มีอีกวิธีหนึ่งนะครับ ที่ผมเห็นหลายบริษัทเค้าทำกันก็คือจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ เนื่องจากคนงานมักมีปัญหาชอบกู้เงินนอกระบบ ก็เลยจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นมาให้พนักงานกู้เงินจากสหกรณ์แทนหรือสหรกณ์จะนำมาลงทุนเพื่อหากำไรก็ได้ รายได้ก็นำมาจ่ายให้ในรูปเงินปันผล

  16. ขอสอบถามหน่อยค่ะ

    อยากทราบว่า ถ้าบริษัทมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยบริหารกันเองภายใต้ข้อกำหนดของบริษัท โดยไม่มีการไปจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ถือว่าผิดหรือไม่ ช่วยตอบกลับทาง e-mail ด้วยนะค่ะ

    ถ้ามีการอ้างอิงถึงข้อกฎหมายจะดีมากนะค่ะ

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.