กันยายน, 2008 | รับทำเงินเดือน - Part 2 กันยายน, 2008 | รับทำเงินเดือน - Part 2

เบี้ยปรับเงินเพิ่ม ค่าปรับอาญา

ผู้เขียน..เกียรติชัย

ผมมักจะถูกถามเรื่องค่าปรับกรณีไม่ได้ยื่นแบบไม่ได้ยื่นงบ หรือเงินเพิ่มคำนวณยังไง บางทีก็ลืมเหมือนกันก็เลยเขียนสรุปออกมาเพราะบางเรื่องกฎหมายก็ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน เช่น ค่าปรับอาญากรณีไม่ได้ยื่นแบบ เป็นต้น มาดูกันว่าเบี้ยปรับเงินเพิ่มในแต่ละเรื่องมีอะไร

เบี้ยปรับเงินเพิ่ม – ภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. ค่าปรับอาญา กรณีไม่ได้ยื่นแบบ ภพ.30 (ไม่เคยยื่นแบบมาก่อน)

  • กำหนดการยื่นแบบ ภพ.30 ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
  • กรณียื่นแบบเกินกำหนดเวลา แต่ไม่เกิน 7 วัน ปรับ 300 บาท
  • กรณียื่นแบบเกินกำหนดเวลา และเกิน 7 วัน ปรับ 500 บาท

2. เงินเพิ่ม

  • คิดในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน)
  • กรณีไม่มีภาษีต้องเสีย ก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม จะเสียแต่ค่าปรับอาญากรณีไม่ยื่นแบบเท่านั้น

3. เบี้ยปรับ การเสียค่าเบี้ยปรับแบ่งได้ 2 กรณี คือ

  • กรณียิ่นแบบเพิ่มเติม (ต้องมีการยื่นแบบปกติมาก่อนถึงจะยื่นเพิ่มเติมได้) กับ
  • กรณีไม่เคยยื่นแบบมาก่อน (อาจจะลืมยื่นหรือมีเงินไม่พอจ่ายก็เลยไม่ยื่น)

3.1 กรณียื่นเพิ่มเติม คิดเบี้ยปรับในอัตรา 2% – 20%

  • ถ้าชำระภายใน 1-15 วัน คิดค่าเบี้ยปรับในอัตรา 2%
  • ถ้าชำระภายใน 16-30 วัน คิดค่าเบี้ยปรับในอัตรา 5%
  • ถ้าชำระภายใน 31-60 วัน คิดค่าเบี้ยปรับในอัตรา 10%
  • ถ้าชำระหลัง 60 วันไปแล้ว คิดค่าเบี้ยปรับในอัตรา 20%

หมายเหตุ

  • ถ้ามีภาษีซื้อที่ลืมยื่นไม่สามารถนำมาหักออกได้นะครับ แต่สามารถนำมาขอคืนภาษีได้ตามปกติ ที่จริงไม่ต้องยื่นเพิ่มเติมก็ได้ เพราะเราสามารถนำมายื่นขอคืนได้ในเดือนถัดไปอยู่แล้ว (ไม่เกิน 6 เดือน)
  • กฎหมายระบุไว้ว่า ให้นำภาษีที่ต้องชำระคูณ 1 เท่า แต่ไม่ต้องไปคูณก็ได้เพราะตัวเงินก็ได้เท่าเดิมอยู่แล้ว ผมใส่ไว้เป็นหมายเหตุจะได้ไม่งง

3.2 กรณีไม่ได้ยื่นแบบมาก่อน

  • ถ้าชำระภายใน 1-15 วัน คิดค่าเบี้ยปรับในอัตรา 2%  x 2 เท่า
  • ถ้าชำระภายใน 16-30 วัน คิดค่าเบี้ยปรับในอัตรา 5% x 2 เท่า
  • ถ้าชำระภายใน 31-60 วัน คิดค่าเบี้ยปรับในอัตรา 10%  x 2 เท่า
  • ถ้าชำระหลัง 60 วันไปแล้ว คิดค่าเบี้ยปรับในอัตรา 20%  x 2 เท่า

หมายเหตุ

  • ถ้าไม่มีภาษีต้องชำระ ก็ไม่เสียค่าเบี้ยปรับ แต่ยังคงต้องเสียค่าปรับอาญากรณีไม่ยื่นแบบ 500 บาท

4. การนับวัน กรณียื่นแบบเพิ่มเติมและไม่ได้ยื่นแบบ

ให้นับตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระเดือนก่อน (หรือวันสุดท้ายของการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งอาจจะไม่ใช่วันที่ 15 ก็ได้ กรณีที่วันที่ 15 ตรงกับวันเสาร์และวันที่ 16 เป็นอาทิตย์ วันสุดท้ายของการยื่นแบบก็จะเป็นวันจันทร์ที่ 17

ตัวอย่างเช่น ถ้าวันสุดท้ายของการยื่นแบบตรงกับวันที่ 15 ของเดือนก่อนและเป็นเดือนที่มี 31 วัน วันครบกำหนดชำระภาษีถ้าต้องการชำระภายใน 30 วัน จะตรงกับวันที่ 14 ของเดือนถัดไป และถ้าวันที่ 14 ตรงกับวันเสาร์และวันที่ 15 เป็นวันอาทิตย์ ก็ต้องไปชำระก่อนคือชำระในวันศุกร์ที่ 13 ถ้าไปชำระในวันจันทร์ที่ 16 จำนวนวันก็จะเกิน 30 วันไปเป็น 32 วัน จะทำให้ค่าเบี้ยปรับขยับ จาก 5% ไปเป็น 10% แทน

อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าวันสุดท้ายของการยื่นแบบตรงกับวันจันทร์ที่ 17 (บังเอิญเดือนก่อนวันที่ 15 ตรงกับวันเสาร์ ทำให้ต้องเลื่อนการยื่นแบบมาเป็นวันจันทร์ที่ 17 แทน) และเป็นเดือนที่มี 30 วัน ถ้าชำระภายใน 30 วัน จะต้องชำระภายในวันที่ 17 ของเดือนถัดไป เป็นต้น

หมายเหตุ วันหยุดให้ดูที่วันหยุดราชการ พูดง่ายๆ ก็คือสรรพากรหยุด การนับวันถึงจะเลื่อนออกไป

ข้อมูลอ้างอิงเผื่อใครอยากเข้าไปอ่าน ผมเอามาสรุปให้ตามข้อมูลข้างบนแล้ว

เบี้ยปรับเงินเพิ่ม – ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณียื่นแบบ ภงด.90 ภงด.91 เกินกำหนดเวลา

  • ค่าปรับอาญา ถ้ายื่นภายใน 7 วัน ปรับ 100 บาท ถ้าเกิน 7 วัน ปรับ 200 บาท
  • เงินเพิ่ม อีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน)

เบี้ยปรับเงินเพิ่ม – ภาษีเงินได้นิติบุคคล

กรณียื่นแบบ ภงด.1 ภงด.3 ภงด.53 เกินกำหนดเวลา

  • ค่าปรับอาญา กรณียื่นภายใน 7 วัน ปรับ 100 บาท หากเกิน 7 วัน ปรับ 200 บาท
  • เงินเพิ่ม อีกในอัตรา 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน) กรณีไม่มีภาษีต้องเสียก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม จ่ายแต่ค่าปรับอาญาเท่านั้น

กรณียื่นแบบ ภงด.50 เกินกำหนดเวลา

  • ค่าปรับอาญา กรณียื่นภายใน 7 วัน ปรับ 1,000 บาท หากเกิน 7 วัน ปรับ 2,000 บาท (แนะนำว่าถ้าไม่ทันจริงๆ ให้ยื่นแบบเปล่าไปก่อน แล้วค่อยไปยื่นเพิ่มเติมทีหลังจะได้ไม่เสียค่าปรับ)
  • เงินเพิ่ม อีกในอัตรา 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน) กรณีไม่มีภาษีต้องเสียก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม จ่ายแต่ค่าปรับอาญาเท่านั้น

ค่าปรับยื่นงบการเงินล่าช้าที่กระทรวงพาณิชย์

การยื่นงบการเงินล่าช้าหรือไม่ได้ยื่นงบการเงิน ค่าปรับจะมีอยู่ 2 ส่วนนะครับคือ ในส่วนของกรมสรรพากร กับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ลองมาดูในส่วนของกรมสรรพากรกันก่อน คุณต้องเสียค่าปรับอาญายื่นแบบเกินกำหนดเวลาไม่เกิน 2,000 บาท เค้าใช้คำว่าไม่เกิน 2,000 บาทนะครับ แต่แนวปฏิบัติของสรรพากรจะเรียกเก็บค่าปรับ 1,000 บาท สำหรับแบบที่ยื่นเกินกำหนดเวลา แต่ไม่เกิน 7 วัน หากเกิน 7 วัน ค่าปรับจะอยู่ที่ 2,000 บาท และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน) ถ้าคุณไม่มีภาษีต้องชำระก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

ส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ผมแนบตารางค่าปรับมาให้ (ดููตารางค่าปรับด้านล่าง) การจ่ายค่าปรับให้ดูในเรื่องของระยะเวลา ถ้าคุณยื่นล่าช้าไม่เกิน 2 เดือน ค่าปรับจะอยู่ที่ 1,200 บาท โดยจ่ายค่าปรับในนามบริษัท 600 บาท และจ่ายค่าปรับในนามกรรมการอีก 600 บาท เป็นต้น

DBD_FARE_RATE

คำชี้แจงเกี่ยวกับการยื่นงบการเงิน

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร ต้องยื่นงบการเงินภายใน 5 เดือน นับแต่วันปิดบัญชี ดังนั้นงบการเงินที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี จะต้องยื่นภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของปีถัดไป

2. บริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด ต้องจัดทำงบการเงินขึ้นเพื่อให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบรับรอง แล้วจึงนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ โดยจะต้องจัดให้มีการประชุมเพื่ออนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือน นับแต่วันปิดบัญชี ดังนั้น รอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี จะต้องจัดประชุมภายในวันที่ 30 เมษายน ของปีถัดไป มิฉะนั้นจะมีความผิดโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท งบการเงินที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่แล้ว จะต้องนำไปยื่นภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ เช่น 1. ประชุมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม จะต้องนำไปยื่นภายในวันที่ 30 เมษายน ของเดือนถัดไป 2. ประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน จะต้องนำไปยื่นภายในวันที่ 20 พฤษภาคม ของเดือนถัดไป

ไฟล์ตารางอัตราค่าปรับกรณียื่นงบล่าช้า

ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ก่อนครบกำหนด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :

ถาม ตามที่มีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการในการแก้ไขหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF นั้น ไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์ใดที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างครับ

ตอบ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.50 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการในการแก้ไขหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF โดยกระทรวงการคลังได้ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีว่า ตามที่ได้มีการออกกฎกระทรวงตามความในประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) กำหนดให้ผู้ที่ขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวม RMF ได้รับการยกเว้นภาษี หากถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งทำให้ผู้เสียภาษีเข้าใจว่าการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อได้ถือครองหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนกับกรณีการขายคืนหน่วยลงทุนเนื่องจากเหตุสูงอายุ คือ มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ทำให้เกิดความเข้าใจว่าผู้ลงทุนไม่มีความจำเป็นต้องถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์แต่อย่างใด

ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีการออมระยะยาว เพื่อใช้ในวัยสูงอายุโดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงจูงใจ จึงได้มีการเสนอร่างแก้ไขหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF เพื่อพิจารณาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวโดยจะมีผลกับหน่วยลงทุนที่ผู้มีเงินได้ซื้อมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.50 เป็นต้นไป

ดังนั้น หลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF จะมีการแยกพิจารณาออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. กรณีหน่วยลงทุนที่ผู้มีเงินได้ซื้อมาก่อนวันที่ 1 ต.ค.50 หากผู้มีเงินได้มีการลงทุนในกองทุนรวม RMF อย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว แม้ผู้มีเงินได้จะมีอายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ หากมีการขายคืนหน่วยลงทุนเฉพาะส่วนที่กล่าวมานั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนกับกรณีการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ คือ ได้ทั้งการยกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุน และไม่ต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปีด้วย

แต่หากผู้มีเงินได้ขายคืนหน่วยลงทุนเฉพาะส่วนที่กล่าวมานั้นที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาน้อยกว่า 5 ปี ไม่ว่าผู้มีเงินได้จะมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วหรือไม่ก็ตาม ผู้มีเงินได้จะต้องนำกำไรจากการลงทุนที่ได้ไปรวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีนั้น รวมทั้งต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปีให้กับกรมสรรพากรภายในเดือนมี.ค.ของปีถัดจากปีที่ขายคืนหน่วยลงทุนนั้นด้วย

2. กรณีหน่วยลงทุนที่ผู้มีเงินได้ซื้อมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.50 เป็นต้นไป หากผู้มีเงินได้มีการลงทุนในกองทุนรวม RMF อย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว มีการขายคืนหน่วยลงทุนเฉพาะส่วนที่กล่าวมานั้น ก่อนที่จะมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ผู้มีเงินได้จะได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุนเท่านั้น โดยยังคงมีหน้าที่จะต้องนำสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปี คืนให้กับกรมสรรพากรภายในเดือนมี.ค.ของปีถัดจากปีที่ขายคืนหน่วยลงทุนนั้น

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุนและไม่ต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปี ก็ต่อเมื่อผู้มีเงินได้ขายคืนหน่วยลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนรวม RMF อย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปีและผู้มีเงินได้มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้น

แต่หากผู้มีเงินได้ขายคืนหน่วยลงทุนเฉพาะส่วนที่กล่าวมานั้นที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาน้อยกว่า 5 ปี ไม่ว่าผู้มีเงินได้จะมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วหรือไม่ก็ตาม ผู้มีเงินได้จะต้องนำกำไรจากการลงทุนที่ได้ไปรวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีนั้น รวมทั้งต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปีให้กับกรมสรรพากรภายในเดือนมี.ค.ของปีถัดจากปีที่ขายคืนหน่วยลงทุนนั้นด้วยเช่นกัน

คราวนี้ผู้มีเงินได้ที่ได้ลงทุนไว้แล้วหรือกำลังคิดที่จะลงทุนในกองทุนรวม RMF ก็ได้รับทราบถึงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่ชัดเจนแบบฟันธง! แล้วนะครับ อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทุนหรือผู้ที่สนใจจะลงทุนแล้วยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุน หมายเลขโทรศัพท์ 0-2264-0900 ได้ตลอดเวลาทำการครับ

ที่มา.. The Krungthep turakij web site : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน

การฝากเงินกับธนาคารถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการออม ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยอย่างมาก เพราะผู้ฝากเงินส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเงินที่ฝากไว้กับธนาคารจะไม่มีความเสี่ยงในการสูญหายเนื่องจากรัฐบาลจะเป็นผู้คุ้มครองเงินฝากทั้งจำนวนให้แก่ผู้ฝากเงิน อย่างไรก็ตาม การให้ความคุ้มครองเงินฝากเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันการเงินในประเทศ ถือเป็นภาระอันหนักหน่วงของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดในการดำเนินการของธนาคาร ดังนั้น พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1.เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินจนเป็นที่แน่ใจว่าผู้ฝากเงินจะไม่ตื่นตระหนกและไม่เร่งถอนเงินฝากในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหา
2.ส่งเสริมให้ผู้ฝากเงินคำนึงถึงความมั่นคงและผลประกอบการของสถาบันการเงิน นอกเหนือจากที่มุ่งเน้นดอกเบี้ยเงินฝาก
3.เสริมมาตรการกำกับดูแลความมั่นคงอย่างครบวงจรให้แก่สถาบันการเงินเพื่อดำเนินการอย่างระมัดระวัง และไม่เป็นภาระภาษีแก่ประชาชน

แนวทางการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากคือ การคุ้มครองผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน หากสถาบันการเงินนั้นประสบกับภาวะล้มละลาย ผู้ฝากเงินจะได้รับการจ่ายคืนเงินโดยเร็วตามจำนวนที่คุ้มครอง แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือ การคุ้มครองเงินฝากทั้งจำนวนจะไม่มีอีกแล้ว เพราะสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะคุ้มครองเงินฝากในวงเงินที่จำกัดเท่านั้น สำหรับนโยบายของสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะค่อยๆ ลดวงเงินที่สถาบันจะคุ้มครอง จากทั้งจำนวนจนกระทั่งเหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 บุคคลต่อ 1 ธนาคาร ภายใน 5 ปี สรุปได้ดังนี้

deposit-1

เมื่อการคุ้มครองเงินฝากอยู่ในวงเงินที่จำกัดผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากจำนวนเกินกว่าที่รัฐให้ความคุ้มครอง ก็จะต้องพิจารณาเลือกธนาคารที่จะเข้าไปฝากเงินด้วยปัจจัยที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ ความมั่นคงของธนาคาร สถานะทางการเงิน ความสามารถ ประวัติ และชื่อเสียงของผู้บริหาร เป็นต้น โดยผู้ฝากเงินสามารถศึกษาความมั่นคงของธนาคารแต่ละแห่งได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจัดทำโดยสถาบันจัดอันดับที่มีชื่อเสียง เช่น S&P Tris และ Fitch เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2550 ประเทศไทยมีเงินฝากทั้งระบบ 6.56 ล้านล้านบาท จาก ผู้ฝากเงินทั้งหมด 52.59 ล้านราย การคุ้มครองเงินฝากตามวงเงินดังกล่าว สามารถครอบคลุมผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนี้

deposit-2

แหล่งที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อเห็นตัวเลขอย่างนี้แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่คงไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไปนัก เพราะความคุ้มครองวงเงิน 1 ล้านบาท ที่กล่าวมานั้นครอบคลุมบัญชีเงินฝากของประชาชนทั่วประเทศกว่า 98% แต่ส่วนที่เหลือต้องเลือกธนาคารที่มีความมั่นคง ไม่ใช่เลือกธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงเพียงอย่างเดียว และต้องกระจายเงินฝากออกไปในธนาคารต่างๆ มากขึ้น รวมถึงกระจายเงินไปยังการลงทุนประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในแง่ของธนาคารผู้รับฝากเงิน ต่อไปเราคงจะเห็นศึกแย่งชิงลูกค้าเงินฝาก ซึ่งธนาคารต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กคงจะต้องแข่งขันกันให้ดอกเบี้ยสูง เพื่อจูงใจและแย่งชิงลูกค้า

ที่มา.. TISCO Asset Management Co.,Ltd.