Facebook-Suthep.Pongpitak | รับทำเงินเดือน - Part 6 Facebook-Suthep.Pongpitak | รับทำเงินเดือน - Part 6

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเปิดบริษัทบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่

Marnit Aongphisud ได้โพสต์ไปจากบริเวณ Bangkok เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2556 ว่า

"เรียนอาจารย์สุเทพครับ รบกวนสอบถามอาจารย์สุเทพประเด็นค่าใช้จ่ายก่อนการจัดตั้งกิจการ กรณีที่ผู้ถือหุ้นได้จ้างให้สำนักงานกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการให้ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกิดขึ้นก่อนที่บริษัทฯจะจัดตั้งเสร็จเรียบร้อย ซึ่งสำนักงานกฎหมายได้ระบุไว้ในรายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทฯแล้ว

ประเด็นคำถามครับ เอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเปิดบริษัทฯเป็นใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินที่ออกในนามผู้ถือหุ้นและผู้เริ่มก่อการ อยากทราบว่าเอกสารดังกล่าวสามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่ครับ หรือมีข้อควรระวังเรื่องเอกสารหลักฐานเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับความรู้ และความคิดเห็นที่อาจารย์แบ่งปันนะครับ — กับ Kamolthip Katutat"

เรียน Marnit Aongphisud
ประเด็นรายจ่ายก่อนการจัดตั้งกิจการบริษัทฯ หากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้ถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการ บริษัทฯ ก็สามารถนำมาบันทึกเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการได้เช่นเดียวกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทฯ และในทางภาษีอากรก็ใช้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการพิจารณารายจ่ายที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกับรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั่วไป กล่าวคือ

1. ต้องพิจารณาแยกให้ได้ว่า รายจ่ายนั้นเป็นรายจ่ายฝ่ายทุน หรือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั่วไป
หากเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนก็ย่อมต้องคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคานับแต่วันที่ได้มาซึ่งสินทรัพย์นั้น เฉพาะส่วนที่เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคมในช่วงเวลาก่อนที่จะได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เท่านั้น ที่สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายได้ เมื่อจัดตั้งบริษัทฯ เรียบร้อยแล้วก็ให้คิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อเนื่องไป
2. สำหรับรายจ่ายในการดำเนินกิจการให้นำหลักเกณฑ์ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
(1) ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ และ
(2) ต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปโดยมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจ่ายรายการรายจ่ายนั้น และ
(3) ต้องเป็นรายจ่ายเป็นไปเพื่อกิจการหรือเพื่อการหากำไรโดยเฉพาะ และ
(4) ต้องเป็นรายจ่ายสิ้นเปลืองหมดไปในรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดๆ ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และ
(5) ต้องเป็นรายจ่ายที่มีหลักฐานการจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับได้ว่าเป็นบุคคลใด และ
(6) ต้องเป็นรายจ่ายที่ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

กรณ๊เอกสารรายจ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเปิดบริษัทฯ เป็นใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินที่ออกในนามผู้ถือหุ้นและผู้เริ่มก่อการ นั้น ขอเรียนว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว และ (18) รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ รวมทั้งอาจมีข้อสงสัยว่า เป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น จึงควรที่ต้องมีเอกสารประกอบการจ่ายรายจ่ายทั้งหลายเหล่านั้น ตามหลักการควบคุมภายในที่ดี ประกอบการเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจ่าย เพราะเหตุผลประการหนึ่งของการรวมตัวกันตั้งบริษัทฯ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการมุ่งค้าและหากำไรมาแบ่งปันกัน หาใช่การที่จะมาฉกฉวยเอาจากบริษัทฯ ครับ

ที่มา..ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

เงินมัดจำค่ารถต้องออกใบกำกับภาษีหรือไม่

คุณ Pattama Wadee ได้โพสต์ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2556 ว่า
“สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ รบกวนเรียนปรึกษานะคะ
1. กรณีกิจการขายรถยนต์ เวลารับเงินค่าจองรถ ซึ่งค่าจองรถนั้นไปหักกับค่ารถ ณ วันที่ออกรถ คำถามคือ ค่าจองรถต้องออกใบกำกับภาษีขายหรือไม่คะ และกรณีถ้าไม่ได้ออก แต่นำไปออก ยอดรวมในราคารถ ณ วันที่ออกรถเลย สามารถทำได้หรือไม่คะ
2. กรณีกิจการ เพิ่มสาขาที่ 2 ซึ่งสาขาที่ 1 เคยทำเรื่อง ขอยื่นรวมกับสำนักงานใหญ่ ไม่ทราบว่า สาขาที่ 2 กิจการต้อง ทำเรื่องขอยื่นรวมกับสำนักงานใหญ่อีกหรือไม่คะ
รบกวนอาจารย์อีกแลัวนะคะ ขอบคุุณนะคะ”
เรียน คุณ Pattama Wadee
1. เกี่ยวกับการับเงินจองรถยนต์ ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายรถยนต์ดังกล่าว กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ตามข้อ 5 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 36/2536 ดังนี้
“(2) ในกรณีเงินชำระล่วงหน้าเป็นเงินค่าสินค้าที่ได้ชำระบางส่วนหรือเป็นเงินจองหรือเงินมัดจำที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) ถือได้ว่าผู้ขายซึ่งได้รับเงินชำระล่วงหน้า เงินจองหรือเงินมัดจำได้รับชำระราคาสินค้าเป็นบางส่วนตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ผู้ขายต้องออกใบกำกับภาษีตามมูลค่าที่ได้รับชำระในขณะที่ได้รับชำระราคาสินค้าเป็นบางส่วน เงินจองหรือเงินมัดจำตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร”
2. การเพิ่มสาขาที่ 2 โดยเป็นกรณีที่สาขาที่ 1 ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ยื่นแบบ ภ.พ.30 รวมกับสำนักงานใหญ่แล้วนั้น ถือว่า สาขาที่ 2 ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบ ภ.พ.30 รวมกับสำนักงานใหญ่โดยอัตโนมัติ ซึ่งกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติภายในไว้ดังนี้
“กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ยื่น ภ.พ.09 แจ้งเพิ่มสถานประกอบการแห่งใหม่ ให้ถือว่าสถานประกอบการแห่งใหม่ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันกับสถานประกอบการซึ่งได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันไว้แล้วทันที โดยไม่ต้องยื่น ภ.พ.02 อีก
ตัวอย่าง บริษัท ก มีสำนักงานใหญ่และสำนักสาขา 1 แห่ง ได้รับอนุมัติให้ยื่น ภ.พ.30 รวมกัน ณ สำนักงานใหญ่ ต่อมา บริษัทฯ แจ้งเพิ่มสำนักงานสาขาที่ 2 ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องนำรายการภาษีของสำนักงานสาขาที่ 2 ไปยื่น ภ.พ.30 รวมกัน ณ สำนักงานใหญ่ด้วย โดยไม่ต้องยื่น ภ.พ.02 อีก”

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

ใบลดหนี้ที่มีข้อความไม่ถูกต้องใช้ลดภาษีซื้อได้หรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมสรรพากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือเลขที่ กค 0706/พ./2067 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2549

เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบลดหนี้เนื่องจากการคืนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้า ดังนี้

ข้อหารือ :

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมประเภทผลิตอาหารสัตว์ การทำฟาร์มสัตว์เลี้ยงและการแปรรูปเนื้อสัตว์ให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัทฯ ได้ซื้อสินค้ากุ้งแปรรูปแช่แข็งจากบริษัทในเครือซึ่งประกอบด้วยบริษัท ก. จำกัด บริษัท ข. จำกัด และบริษัท ค. จำกัด โดยบริษัทฯ ซื้อสินค้าดังกล่าวเพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศในนามบริษัทฯ และเนื่องจากการส่งออกสินค้ากุ้งแปรรูปแช่แข็งไปขายในต่างประเทศจะต้องมีเอกสารการรับรองสินค้า Certificate จากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศรับรอง ดังนั้น การซื้อขายสินค้าดังกล่าวระหว่างบริษัทฯ กับบริษัทในเครือทั้งสาม ได้มีข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายระหว่างกันกำหนดว่า หากภายหลังที่ซื้อขายสินค้าดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ไม่สามารถส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศได้ เนื่องจากยังมิได้รับหนังสือรับรองสินค้าในนามบริษัทฯ บริษัทในเครือทั้งสามจะรับคืนสินค้าดังกล่าว และดำเนินการส่งออกสินค้าเอง เนื่องจากบริษัทในเครือทั้งสามมีเอกสารหนังสือรับรองในการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. กรณีบริษัทฯ ซื้อสินค้ามาจากบริษัทในเครือทั้งสาม และได้คืนสินค้าให้แก่บริษัทในเครือทั้งสามตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว บริษัทในเครือทั้งสามมีสิทธิออกใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

2. กรณีบริษัทในเครือทั้งสามมีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้ระบุถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้ผิดพลาด เป็นลดหนี้เนื่องจากสินค้าขาดจำนวนแทนที่จะเป็นการคืนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้า การออกใบลดหนี้ดังกล่าวจะมีผลในทางภาษีอย่างไรหรือไม่

แนววินิจฉัย:

1. กรณีบริษัทในเครือทั้งสาม ได้รับสินค้าคืนจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าเพื่อส่งออก เนื่องจากบริษัทฯ ผู้ซื้อสินค้าไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ และได้คืนสินค้าให้แก่บริษัทในเครือทั้งสามตามข้อตกลงในการซื้อขายสินค้า การคืนสินค้าดังกล่าวจึงเป็นการคืนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน ซึ่งเป็นสาเหตุในการออกใบลดหนี้ได้ ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา 82/10 (1) (2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 ดังนั้น บริษัทในเครือทั้งสามจึงมีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ได้

2. กรณีบริษัทในเครือทั้งสาม ได้ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุสาเหตุในการออกใบลดหนี้ว่า "ลดหนี้เนื่องจากสินค้าขาดจำนวน" แต่สาเหตุในการออกใบลดหนี้ของบริษัทในเครือทั้งสาม เนื่องมาจากมีการคืนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน จึงเป็นกรณีที่บริษัทในเครือทั้งสามออกใบลดหนี้โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 86/10(5) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ใบลดหนี้ดังกล่าวยังคงเป็นใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 77/1(22) และมาตรา 86/10 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากบริษัทในเครือทั้งสาม ได้ออกใบลดหนี้โดยมีรายการที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาเมื่อบริษัทในเครือทั้งสามนำภาษีขายที่ลดลงตามใบลดหนี้ที่มีรายการไม่ครบถ้วนดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในเดือนที่ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร มีผลทำให้บริษัทฯ ผู้ซื้อสินค้ามีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ดังกล่าวมาหักออกจากภาษีซื้อในเดือนที่ได้รับใบลดหนี้ ตามมาตรา 82/10 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 69/33971