Facebook-Suthep.Pongpitak | รับทำเงินเดือน - Part 7 Facebook-Suthep.Pongpitak | รับทำเงินเดือน - Part 7

จุดรับผิดชอบทางภาษีและการรับรู้รายได้จากการส่งออก

กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล "กิจการ" เป็นผู้ขายสินค้าโดยการส่งออกทางเรือเดินทะเล และได้มีการผ่านพิธีการทางศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร นั้น ขอลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในทางบัญชีและภาษีอากรดังนี้
1. กรณีกิจการได้รับคำสั่งซื้อ (P/O: Purchase Order) จากผู้ซื้อในต่างประเทศ ยังไม่ถือว่ากิจการมีการขายสินค้าโดยการส่งออกแต่อย่างใด
2. กิจการได้ออกใบตราส่งสินค้า (Performa Invoice) เพื่อนำไปใช้ประกอบการขออนุมัติส่งออกต่อเจ้าพนักงานกรมศุลกากร ณ จุดนี้ก็ยังไม่ถือว่ากิจการมีการขายสินค้าโดยการส่งออกเช่นเดียวกัน
3. กิจการขนย้ายสต๊อกสินค้าไปยังท่าเรีอเพื่อเตรียมการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า เนื่องจากยังไม่มีการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า จึงยังไม่ถือเป็นการขาย แต่มีการเคลื่อนย้ายสต๊อกออกจากคลังสินค้า กิจการจึงต้องบันทึกตัดสินค้าที่เตรียมการส่งออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ แต่เนื่องจากกิจการยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ จึงต้องบันทึกรายการสินค้าไว้ในบัญชีสินค้าระหว่างทาง (Goods in Transit)
4. กิจการดำเนินพิธีการทางศุลกากร มีเอกสาร "ใบขนสินค้า" เกิดขึ้น ณ จุดนี้มีผลต่อระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ
(1) ถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นผลให้กิจการได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0%
(2) กิจการต้องบันทึกรายงานภาษีขาย ด้วยราคา เอฟ.โอ.บี. ตามมาตรา 79/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
– กรณีที่กิจการยังได้รับชำระราคาสินค้า ให้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรือจะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ แต่เมื่อได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง "ธนาคาร" ได้
– กรณีที่กิจการได้รับชำระค่าสินค้าไว้ก่อนแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ตามที่ได้บันทึกรายการรับชำระเงินค่าสินค้านั้น
5. เมื่อมีการนำสินค้าลงเรือเดินทะเลเพื่อส่งไปให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ
(1) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข CIF ยังไม่ถือว่า กิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ จึงยังไม่มีการบันทึกบัญชีเพื่อรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้าแต่อย่างใด
(2) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข FOB ถือได้ว่า กิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าแล้ว ให้บันทึกรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้า ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร
– กรณีที่กิจการยังได้รับชำระราคาสินค้า ให้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันที่ส่งมอบสินค้านั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรือจะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ แต่เมื่อได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง "ธนาคาร" ได้
– กรณีที่กิจการได้รับชำระค่าสินค้าไว้ก่อนแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ตามที่ได้บันทึกรายการรับชำระเงินค่าสินค้านั้น
6. เมื่อสินค้าถึงท่าเรือในต่างประเทศ
(1) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข CIF ถือได้ว่า กิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าแล้ว ให้บันทึกรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้า ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร
– กรณีที่กิจการยังได้รับชำระราคาสินค้า ให้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันที่ส่งมอบสินค้านั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามทีกิจการได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง "ธนาคาร" ได้
– กรณีที่กิจการได้รับชำระค่าสินค้าไว้ก่อนแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ตามที่ได้บันทึกรายการรับชำระเงินค่าสินค้านั้น
(2) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข FOB เนื่องจากกิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้วตั้งแต่จุดที่ 5 แล้ว จึงยังไม่ต้องบันทึกบัญชีเพื่อรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้าอีกแต่อย่างใด
7. เมื่อมีการรับชำระหนี้ค่าสินค้าไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กิจการบันทึกการรับชำระราคาค่าสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันที่ได้รั้บชำระราคานั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น
8. เมือสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี หากยังได้รับชำระหนี้ไม่หมด ให้กิจการปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
(1) กรณีวันสินรอบระยะเวลาบัญชีตรงกันปีปฏิทิน กรมสรรพากรได้มีการประกาศอัตราแลกเปลี่ยน ให้กิจการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่กรมสรรพากรได้ประกาศนั้นคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทย
(2) กรณีวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีไม่ตรงกับปีปฏิทิน ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามทีกิจการได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง "ธนาคาร" ได้
9. ในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไปที่มีการรับชำระหนี้ ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับรายการตามข้อ 7 ข้างต้น

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

การหักค่าใช้จ่ายตามจริงของเงินได้บุคคลธรรมดาต่างมาตรา

ประเด็นการนำผลขาดทุนของประเภทเงินได้หนึ่งไปหักกลบกับเงินได้พึงประเมินอีกประเภทเงินได้หนึ่ง นั้น ผมเคยได้อ่านตำราของท่านศาตราจารย์ไพจิตร โรจนวนิช เล่มเก่าๆ นานมากแล้ว ได้ความว่าเป็นแนวทางวินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ไม่อนุญาตให้ผู้มีเงินได้่ที่ประกอบกิจการหลายประเภทเงินได้ หรือประเภทที่ 8 ด้วยกันแต่มีหลายรายการเงินได้ซึ่งกำหนดให้เลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาหรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ว่า หากเลือกหักค่าใข้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรหรือค่าใช้จ่ายจริงแล้วเกิดเป็นผลขาดทุนในบางประเภทเงินได้จะนำผลขาดทุนนั้นไปหักกลบกับเงินได้ประเภทอื่นไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ครั้นพอได้อ่านฉบับปัจจุบันไม่พบปัญหาดังกล่าวแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนต้วผมยังคงเห็นได้กับแนวความคิดข้างต้นดังนี้

1. กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำแนกประเภทเงินได้ออกเป็น 8 ประเภทตามมาตรา 40 (1) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในบางประเภทเงินได้พึงประเมิน เช่น เงินได้ตามมาตรา 40 (5)(ก) หรือ (6) และโดยเฉพาะ (8) แห่งประมวลรัษฎากร มีรายการเงินได้ที่กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาแตกต่างกันไปหลายการ ซึ่งในแต่ละรายการเงินได้พึงประเมินหรือเงินได้พึงประเมินประเภทเดียวกันนั้น ผู้มีเงินได้มีสิทธิที่จะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาหรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรหรือค่าใช้จ่ายจริงอย่างไรก็ได้

2. การจำแนกประเภทเงินได้ก็ด้วยมุ่งหวังที่จะแยกคำนวณภาษีเงินได้ตามหลักความสามารถเป็นรายประเภทเงินได้

3. ตามเจตนารมณ์ของการกำหนดให้เลือกหักค่าใช้จ่ายก็เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษี เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้มีเงินได้ต้องจัดทำบัญชีและเก็บรักษาเอกสารหลักฐาน ซึ่งต่างจากการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น นอกจากต้องจัดทำบัญชีและเก็บรักษาเอกสารหลักฐานตามมาตรฐานการบัญชีหรือหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปแล้ว มิได้มีการจำแนกประเภทรายได้ออกเป็นประเภทโดยละเอียดตามที่มาหรือบ่อเกิดของเงินได้ดังเช่นกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่จำแนกตามลักษณะกว้างๆ คือ รายได้จากกิจการและรายได้เนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเท่านั้น

4. การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามุ่งที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นรายปีภาษี ให้จบสิ้นไปในแต่ละปีภาษี จึงกำหนดให้มีการเปรียบเทียบจำนวนเงินภาษีที่คำนวณได้จากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้สุทธิ (ตามหลักความสามารถ) และการคำนวณจากเงินได้พึงประเมิน (ตามหลักความมั่งคั่ง) แล้วเสียภาษีเงินได้จากจำนวนที่มากกว่า ในการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร แม้จะได้มีข้อกำหนดให้นำความตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาบังคับใช้อนุโลมก็ตาม แต่ก็มิได้มุ่งหวังให้นำค่าใช้จ่ายของประเภทเงินได้หนึ่งไปหักออกจากอีกประเภทเงินได้หนึ่ง และนำผลขาดทุนสุทธิไปหักข้ามรอบระยะเวลาบัญชี ดังเช่นกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
ดังนั้น แม้จะมิได้มีข้อกำหนดห้ามมิให้นำผลขาดทุนของประเภทเงินได้หนึ่งไปหักออกจากเงินได้ของอีกประเภทเงินได้หนึ่ง แต่ตามรายละเอียดของการหักค่าใช้จ่ายเป็นรายประเภทเงินได้ การกำหนดให้สิทธิในการเลือกหักค่าใช้จ่ายในแต่ละรายการเงินได้พึงประเมิน ตลอดจนการเปรียบเทียบจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายปีภาษี จึงเป็นการบังคับให้ผู้มีเงินได้ต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นรายประเภทเงินได้เท่านั้น การขอนำผลขาดทุนของประเภทเงินได้หนึ่งไปหักออกจากเงนิได้ของอีกประเภทเงินได้หนึ่ง ย่อมไม่อาจเป็นไปได้เลย

ที่มา.Facebook.com/Suthep.Pongptiak