Facebook-Suthep.Pongpitak | รับทำเงินเดือน - Part 4 Facebook-Suthep.Pongpitak | รับทำเงินเดือน - Part 4

รายจ่ายค่าฝึกอบรมสัมมนา ยกเว้นภาษีเงินได้ต้องเป็นการส่งลูกจ้างเท่านั้น

คุณ Preeda Khempet ได้โพสต์จากบริเวณ Bangkok ไปยัง Suthep Pongpitak เมื่อ 16 ก.ค. 2556 ว่า
"ขอเรียนถามท่านเรื่องรายจ่ายในการส่งลูกจ้างไปฝึกอบรมที่บริษัทจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ของบริษัทเป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างของบริษัทเข้ารับการศึกษาหรืออบรม มี 3 กรณี
1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าใช้จ่าย Training Fee: Senior Executive Program ให้กรรมการบริหารชาวต่างชาติ ระยะเวลาการอบรม 20 วัน จำนวนเงิน 519,000.00 บาท ให้กับสถาบันของรัฐที่เปิดสอนในระดับปริญญาโท
2. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าอบรม Directors Certification program ตามใบเสร็จรับเงิน ให้กรรมการบริหารชาวต่างชาติ จำนวน 115,500.00 บาท โดยจ่ายให้กับสมาคมในประเทศไทย
3. กรณีบริษัท จ่ายค่าใช่จ่าย Crestcom Bulletproof Manager Training ให้กับผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ จำนวน 144,000.00 บาท โดยจ่ายให้กับนิติบุคคลในประเทศไทย ที่ประกอบการทางด้านฝึกอบรม
ทั้ง 3 กรณี นี้บริษัท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ของบริษัทเป็นจำนวนร้อยละร้อย ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 หรือเปล่าค่ะ
ขอขอบพระคุณมากค่ะ"

เรียน คุณ Preeda Khempet
ตามมาตรา 4 แห่งตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 บัญญัติว่า
"มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นหรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(2) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 148) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 60)ฯ ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2539
ข้อ 2 หลักสูตรที่ใช้ฝึกอบรมลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องเป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้าง และได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงานและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้างแต่ละคนนั้นต้องเป็นไปตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน
ข้อ 3 การฝึกอบรมตามข้อ 2 ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นนายจ้างนั้น
ข้อ 4 ลูกจ้างที่เข้ารับการฝึกอบรมตามข้อ 2 ต้องเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเพื่อเป็นหลักฐานการทำงานของลูกจ้าง
ข้อ 5 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานลูกจ้างของตน ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างที่เข้ารับการฝึกอบรมนั้นกลับเข้าทำงานให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหลังจากการฝึกอบรมเสร็จสิ้น
ข้อ 6 วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการฝึกอบรมตามข้อ 2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องกำหนดลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติของวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อมิให้ปะปนกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการตามปกติของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
เฉพาะกรณีที่ 3. ที่บริษัทฯ ได้จ่ายค่าใช่จ่าย Crestcom Bulletproof Manager Training ให้กับผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ จำนวน 144,000.00 บาท โดยจ่ายให้กับนิติบุคคลในประเทศไทยที่ประกอบการทางด้านฝึกอบรม เท่านั้นที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ของบริษัทเป็นจำนวนร้อยละร้อย ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 เนื่องจากกฎหมายยกเว้นภาษีดังกล่าว ต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าเป็น "รายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น" จึงจะได้สิทธิ กรณีที่ 1 และ 2 เป็นรายจ่ายในการฝึกอบรมให้แก่กรรมการบริหารชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทฯ

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

เงินสนับสนุนจากการขายไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย

คุณ Pu Boonkua ได้โพสต์ไปเมื่อ 15 ก.ค. 2556 ประมาณ 21 ชั่วโมงที่แล้ว ว่า
"เรืยน ท่านอาจารย์ สุเทพ
ดิฉันขอเรียนถามค่ะ
บริษัทฯ ประกอบกิจการภัตตาคาร ขายอาหารและเครื่องดื่ม ปกติก็ได้รับเงินสนับสนุนการขายจากบริษัทผู้จำหน่ายเหล้า หรือไวน์ บริษัทฯ มีความประสงค์จะปรับปรุงร้านเพื่อดูดีขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มยอดขายได้ บริษัทผู้จำหน่ายเหล้า/ไวน์ นั้นได้ให้เงินมาจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยในการปรับปรุงร้าน
อยากทราบว่า
1. บริษัทฯ ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
2. กรณีนี้ถือเป็นเงินสนับสนุนการขายหรือไม่
ขอกราบขอพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งที่ช่วยตอบปัญหานี้ค่ะ"

เรียน คุณ Pu Boonkua
ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ได้นิยามความหมายของคำว่า
"รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย" ที่อยู่ในข่ายที่ผู้จ่ายเงินได้ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 101/2544 ในอัตรา 3% ของเงินได้ ว่า "หมายถึง เงินอุดหนุน เงินสนับสนุน เงินช่วยเหลือ เงินส่วนลด หรือเงินอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันที่ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายได้จ่ายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายที่ซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินดังกล่าวจะคำนวณจากฐานการซื้อขายหรือคำนวณจากฐานอื่นใด เพื่อให้มีผลต่อการขาย การลดต้นทุน หรือลดรายจ่าย ของผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่าย"
ซึ่งตามข้อ 8 ของคำสั่งดังกล่าวกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ว่า
"ข้อ 8 รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายตามข้อ 1 ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับจึงไม่ต้องนำเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร"
ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการภัตตาคาร ขายอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับเงินสนับสนุนการขายจากบริษัทผู้จำหน่ายเหล้า หรือไวน์ แม้จะเป็น "รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย" ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

ประกอบกิจการเป็นตัวแทนส่งออกสินค้าอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

คุณ Peachana Pitaktigul ได้โพสต์ไปเมื่อ 15 ก.ค. 2556 ว่า
"เรียนถามท่านสุเทพ
เนื่องด้วยทางบริษัทประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนในการส่งออก มีการรับรู้รายได้จากการเป็นตัวแทนส่งออก (มี VAT ด้วย) แต่ถ้าจะต้องการเพิ่มรายได้ของธุรกิจ โดยการจัดหาสินค้าเพื่อส่งออกให้กับลูกค้าชาวต่างชาติเท่านั่น โดยรายได้จะเท่ากับราคาสินค้าบวกค่าบริการ (คิดเป็น % ตามมูลค่าของสินค้า) ซึ่งมูลค่านี้จะเท่ากับยอดส่งออกตามใบขนขาออกคำถามมีดังนี้
1) การรับรู้รายได้ดังกล่าวจะต้องมี VAT รึเปล่าค่ะ
2) หลักฐานในการรับรู้รายได้จะต้องมีเอกสารใดประกอบค่ะ
3) ส่วนค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนแยกออกเป็น2ประเภทคือ
– ซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT ใบกำกับที่มีขอคืนได้ไหมค่ะ
– ซื้อสินค้าจากบุคคลหรือร้านค้าทั่วไปมีแต่นามบัตรกับบิลเงินสดจะสามารถลงค่าใช่จ่ายได้รึเปล่าค่ะ ควรจะใช้หลักฐานใดได้บ้างเพื่อลงต้นทุน
คำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจการด้านขนส่ง
การขนส่งภายในประเทศเป็นธุรกิจได้รับยกเว้นVAT ถูกต้องใช่มั๊ยค่ะแต่ถ้าเป็นการขนส่งทางรถเพื่อส่งออกตามชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านจะถือว่าเป็นธุรกิจในอัตรา0 หรือยกเว้น VAT ค่ะ
ขอขอบพระคุณอย่างสูงมาณ.ที่นี้ค่ะ"

เรียน คุณ Peachana Pitaktigul
ต่อคำถาม เกี่ยวกับการส่งออก
1. การส่งออกถือเป็นการประกอบกิจการ "ขายสินค้า" ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่า เพิ่ม ในอัตรา 0% ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทฯ ผ่านพิธีการทางศุลกากร แต่ถ้าส่งออกโดยทางไปรษณีย์ หรือนำติดตัวออกไปต่างประเทศ หรือทางคูเรียร์ ที่ไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร บริษัทฯ ต้องมีภาระ VAT ในอัตรา 7% เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์การส่งออกที่จะได้สิทธิอัตรา 0%
2. หลักฐานในการรับรู้รายได้ แบ่งเป็น
(1) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ใช้หลักฐานอินวอยส์ทางกาค้าทั่วไป โดยต้องรับรู้รายได้เมือมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า ซึ่งต้องพิจารณาจากเงื่อนไขการขาย คือ FOB หรือ CIF แล้วแต่กรณี
(2) กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ศึกษาจากแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 97/2543
3. เมื่อบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว บริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำภาษีซื้อตามหลักฐานใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกให้ และไม่เข้าเงื่อนไขเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร มาถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้

กรณีบริษัทฯ ซื้อสินค้าจากบุคคลหรือร้านค้าทั่วไป มีแต่เพียงนามบัตรกับบิลเงินสด นั้น บริษัทฯ ต้องสามารถพิสูจน์ผู้รับได้ว่าเป็นใคร จึงจะสามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยทั่วไป หลักฐานที่อาจพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ มีอาทิ
– Invoice (ใบส่งของ)
– Tax Invoice (ใบกำกับภาษี)
– ประกอบกับ สำเนาภาพถ่าย และต้นขั้วเช็คชีดคล่อมที่ระบุ "A/C payee only" เว้นแต่ไม่มีหลักฐานข้างต้นก็ใช้เฉพาะหลักฐานตามข้อนี้
– สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับเงินค่าสินค้าอย่างแท้จริง (มิใช่ไมหยิบฉวยของผู้ใดมา)

เกี่ยวกับธุรกิจการด้านขนส่ง
– การให้บริการขนส่งภายในประเทศ และการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเล เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้น VAT ตามมาตรา 81 (1)(ณ) และ (ด) แห่งประมวลบรัษฎากร แล้วแต่กรณี ถูกต้องครับ
– การใน้บริการขนส่งระหว่างประเทศทาง โดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล เท่านั้น ที่ได้สิทธิเสีย VAT ในอัตรา 0% ตามมาตรา 80/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ตาม การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยอากาศยาน เป็นกิจการที่ผู้ประกอบการมีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 81/3 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 241) พ.ศ. 2534

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak