Facebook-Suthep.Pongpitak | รับทำเงินเดือน - Part 2 Facebook-Suthep.Pongpitak | รับทำเงินเดือน - Part 2

ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการยกหนี้ให้ ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี

"เรียน ท่านอาจารย์สุเทพ
หนูขอคำแนะนำในเรื่องภาษีดังนี้นะคะ
บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2011 ในปีที่จัดตั้งบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งบริษัทฯ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่บริษัทฯ ได้ใช้บริการจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และมีค่าใช้จ่ายบางรายการที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทมีทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทและค่าบริการในการจัดตั้งบริษัท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีเอกสารครบถ้วนเป็นชื่อของบริษัทในไทย บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายครบถ้วน และได้ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ส่ง Invoice มาเรียกเก็บเงินทดรองจ่ายเหล่านี้
2. ค่าบริการในการบริหารจัดการที่ใช้บริการพนักงานหรือทีมงาน ข้อมูล จากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ที่มาช่วยในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ในช่วงเริ่มแรกในการจัดตั้งบริษัทฯ บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ส่ง Invoice มาเรียกเก็บ แสดงรายการที่ใช้บริการ
3. ค่าใช้บริการช่างเทคนิค ที่บริษัทแม่ส่งมาช่วยงานในช่วงเริ่มแรกในการติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งบริษัแม่ที่ญี่ปุ่นส่ง Invoice มาเรียกเก็บเงิน
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ได้บันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปี 2011 แต่เนื่องจากยังไม่ได้จ่าย จึงยังคงค้างจ่ายจนถึงปี 2013 บริษัทแม่ที่ญึ่ปุ่นมีนโยบายช่วยเหลือบริษัทในไทยด้วยว่าบริษัทในไทยเพิ่งเริ่มดำเนินกิจการ กระแสเงินสดยังไม่ดี จึงมีมติจากที่ประชุมผู้บริหารยกหนี้ในส่วนนี้ให้บริษัทในไทย โดยมีหนังสือจาก บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นและมีผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อลงนามยกหนี้ให้ ขอเรียนสอบถามดังนี้
1. หนี้สินทั้งหมดที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นยกให้นี้ ถือเป็นเงินได้ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่ยกหนี้ให้คือปี 2013 ถูกต้องหรือไม่คะ
2. หากบริษัทในไทยไม่ได้จ่ายเงิน ค่าบริการ ค่าช่างเทคนิค ให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการยกหนี้ให้ ภาระภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ภ.ง.ด.54 และ ภ.พ.36 ยังต้องรับภาระนำส่งหรือไม่ สำหรับค่าใช้จ่ายในข้อ 2 และ 3 คะ หากต้องนำส่งต้องนำส่งอย่างไรคะ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันไหนคะ หากไม่ต้องนำส่งเนื่องจากไม่ได้จำหน่ายเงินไปต่างประเทศจริง รู้สึกเหมือนว่าชำระภาษีไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องคะ
3.ค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 ที่ในปี 2011 มีการใช้ภาษีซื้อไปแล้วในการขอคืนภาษีซื้อ หากไม่มีการจ่ายเงินจริงยกหนี้ในปี 2013 ภาษีที่ขอคืนไปนั้น จะต้องถือว่าเป็นภาษีซื้อที่ขอคืนสูงเกินไปหรือไม่ ต้องไปยื่นเพิ่มเติมหรือไม่คะ
ขอบคุณมากคะ

เรียน ประภาพร ชอบม่วงนา
ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการที่กระทำในราชอาณาจักรดังนี้
มาตรา 78/1 ภายใต้บังคับมาตรา 78/3 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การให้บริการนอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) หรือ (4) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
(ก) ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
(ข) ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี"
ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติเกี่ยวกับการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
"มาตรา 83/6 เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือ ราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษี
(1) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3
(2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
(3) ผู้ประกอบการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
ให้นำมาตรา 83/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ"
การระงับแห่งหนี้ นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดวิธีการระงับแห่งนี้ไว้ดังนี้
1. โดยการชำระหนี้ ตามปพพ. มาตรา 315 "อันการชำระหนี้นั้น ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์”
2. โดยการปลดหนี้ ตามปพพ. มาตรา 340 "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย"
3. การหักกลบลบหนี้ ตามปพพ. มาตรา 341 "ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้"
4. การแปลงหนี้ใหม่ ตามปพพ. มาตรา 349 “เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่”
5. หนี้เกลื่อนกลืนกัน ตามปพพ. มาตรา 353
“ถ้าสิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน ท่านว่าหนี้รายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”
เมื่อเจ้าหนี้ได้ปลดหรือลดหนี้ให้ นั้น ในทางภาษีอากร อาจพิจารณาได้ดังนี้
1. ให้ถือเสมือนหนึ่งว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ แล้ว ลูกหนี้จึงต้องล้างเจ้าหนี้ออกจากบัญชี
2. เจ้าหนี้ได้คืนเงินที่รับชำระนั้นกลับมาให้ลูกหนี้ ลูกหนี้จึงต้องรับรู้รายได้จากการปลดหนี้

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. หนี้สินทั้งหมดที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นยกให้นี้ ถือเป็นเงินได้ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่ยกหนี้ให้คือปี 2013 ถูกต้องแล้วครับ
2. หากบริษัทในไทยไม่ได้จ่ายเงิน ค่าบริการ ค่าช่างเทคนิค ให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการยกหนี้ให้ บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่ได้รับการปลดหนี้ ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร เสมือนหนึ่งว่าบริษัทฯ ได้ชำระหนี้นั้นให้แก่บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น
เนื่องจากบริการและค่าช่างเทคนิคถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ตาม DTA ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้ได้เฉพาะกรณีที่บริษัทญี่ปุ่นมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย กรณีจึงไม่ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
3. ค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 ที่ในปี 2011 ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทมีทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทและค่าบริการในการจัดตั้งบริษัท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีเอกสารครบถ้วนเป็นชื่อของบริษัทฯ ในไทย บริษัทฯได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายครบถ้วน และได้ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน และส่ง Invoice มาเรียกเก็บเงินทดรองจ่ายเหล่านี้ ถือได้ว่า ในปี 2011 บริษัทฯ ได้ชำระค่าบริการดังกล่าวให้แก่ผู้ให้บริการแล้ว โดยใช้เงินยืมทดรองจากบริษัทแม่จึงถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่ต้องห้าม บริษัทฯ จึงไม่ต้องยื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

การนับรอบระยะเวลาบัญชี กรณีรอบไม่ได้สิ้นสุดเดือนธันวาคม

คุณโคมทอง ราษฎร์เจริญ ได้โพสต์ไปยัง Suthep Pongpitak เมื่อ 24 ก.ค. 2556 ประมาณ 22 นาทีที่แล้วว่า
"ขอเรียนถามอาจารย์สุเทพ เกี่ยวกับเรื่องรอบระยะเวลาบัญชี เช่น กรณีบริษัทมีรอบฯ บัญชี 1 มิถุนายน 2555 – 31 พฤษภาคม 2556 ในกรณีนี้เรียกว่ามีรอบฯ บัญชีปี 2555 หรือ 2556 คะ"

Suthep Pongpitak ได้โพสต์ตอบไปเมื่อ 16.40 น. ว่า
"กรณีตามข้อถาม เรียกว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ครับ แต่ควร () วงเล็บให้ทราบกรอบของรอบระยะเวลาบัญชีไว้ด้วย
วิธีการนับรอบระยะเวลาบัญชีที่ถ่ายทอดกันมาแต่เก่าก่อน ซึ่งทุกวันนี้อาจจางหายไปมากแล้ว เพราะไม่ค่อยจะได้มีการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลัน กล่าวคือ ให้นำ 150 วัน บวกเข้าไปในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วลบด้วย 1 ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้นับเป็นรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้น

ตัวอย่าง เช่น รอบระยะเวลาบัญชี 1 เม.ย. 2554 ถึง 31 มีนาคม 2555 ให้นำ 150 วัน (กำหนดเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร) มาบวกเข้าไป ก็จะได้วันสุดท้ายของกำหนดเวลาดังกล่าว คือ วันที่ 28 สิงหาคม 2555 เช่นนี้ ตกปี 2555 นำมาลบออกด้วย 1 คงเหลือ 2554 จึงำกำหนดให้เรียกรอบระเวลาบัญชีดังกล่าวว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2554 หรือ

รอบ ระยะเวลาบัญชี 1 ต.ค. 2554 ถึง 30 กันยายน 2555 ให้นำ 150 วัน (กำหนดเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร) มาบวกเข้าไป ก็จะได้วันสุดท้ายของกำหนดเวลาดังกล่าว คือ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 เช่นนี้ ตกปี 2556 นำมาลบออกด้วย 1 คงเหลือ 2555 จึงำกำหนดให้เรียกรอบระเวลาบัญชีดังกล่าวว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เป็นต้น

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

ซื้อเครื่องจักรเก่ามาซ่อม เพื่อส่งออกไปยังบริษัทแม่ที่ต่างประเทศ

คุณ Nuttakan Wongviboonsin ได้โพสต์ไปเมื่อ 22 ก.ค. 2556 ว่า
"เรียนถามอาจารย์ที่เคารพค่ะ
บริษัทในไทย ซื้อเครื่องจักรเก่าและนำมาซ่อม วัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศเกาหลี โดยบริษัทแม่ได้ส่งเงินมาให้ 2 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ (ที่ไม่สามารถหาซื้อในเมืองไทยได้) มาเพื่อใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมเครื่องจักร ตอนนี้ยังซ่อมไม่เสร็จจึงยังไม่ได้ส่งเครื่องจักรไปยังเกาหลี
ขอความกรุณาเรียนถามค่ะว่า
1. การได้รับเงินจากบริษัทแม่ ถือเป็นรายได้จากการส่งออกที่เสียVAT อัตราร้อยละ 0 และถือเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่ได้รับเงิน ใช่ไหมคะ แม้ว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้ส่งเครื่องจักรไปประเทศเกาหลี และในวันที่ส่งออกเครื่องจักร เราต้องแสดงมูลค่าเครื่องจักรใน Invoice เป็นเท่าไหร่ และบริษัทฯ ไม่ต้องนำมูลค่าเครื่องจักรไปลงในรายงานภาษีขายอีก เพราะได้ยื่นไปรายได้ตามจำนวนเงินที่ได้รับไปแล้วในเดือนที่รับเงิน ใช่ไหมคะ
2. การได้รับชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์จากบริษัทแม่ ต้องถือเป็นรายได้จากการส่งออกที่เสีย VAT อัตราร้อยละ 0 และถือเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่ได้ชิ้นส่วน ด้วยหรือไม่
หนูอ่าน FAQ จากเว็ปกรมสรรพากร
คำถาม : บริษัทได้รับเงินช่วยเหลือจากบริษัทแม่ในต่างประเทศโดยไม่มีเงื่อนไขต้องนำเงินช่วยเหลือมาเสียภาษีหรือไม่
คำตอบ : เงินที่ได้รับจากการช่วยเหลือจากบริษัทแม่ถือเป็นรายได้เนื่องจากกิจการต้องนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
หนูขอความกรุณาถามเพิ่มเติมค่ะ
เงินช่วยเหลือนี้จะต้องถือเป็นรายได้ที่ต้องแสดงในแบบ ภ.พ.30 ด้วยหรือไม่คะ และต้องเสียภาษีในอัตราใด
กราบขอบพระคุณอาจารย์มาล่วงหน้า"
เรียน คุณ Nuttakan Wongviboonsin
เนื่องจากไม่มีโอกาสได้ซักถามข้อเท็จจริงอื่นจนกระจ่างชัดที่จะตอบให้ดีกว่าที่มี จึงพิจารณาจากข้อมูลที่ให้มา
1. บริษัทในไทย ซื้อเครื่องจักรเก่าและนำมาซ่อม วัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศเกาหลี (ไม่ทราบว่านำเข้าหรือซื้อในประเทศ ซื้อจากบริษัทแม่หรือซื้อจากคนอื่น)
– ถือว่าบริษัทฯ ซื้อสินค้าเครื่องจักรเก่าเพื่อนำมาซ่อมเพื่อขายให้แก่บริษัทแม่ในประเทศเกาหลี
– รายจ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ซื้อจนกระทั่งซ่อมเสร็จถือเป็นต้นทุนของสินค้าเครื่องจักรนั้น
– บริษัทฯ ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ และบันทึกต้นทุนสินค้าเครื่องจักรเก่าเป็นรายชิ้น (Specific Item Method)
2. บริษัทแม่ได้ส่งเงินมาให้ 2 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ (ที่ไม่สามารถหาซื้อในเมืองไทยได้) มาเพื่อใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมเครื่องจักร
– เมื่อเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าเครื่องจักร โดยการส่งออกไปให้บริษัทแม่ในประเทศเกาหลี ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงย่อมเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรสำหรับสินค้าเครื่องจักรเก่าที่ได้ซ่อมเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ตามนัยมาตรา 78 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
"(4) การขายสินค้าโดยส่งออก ให้ความรับผิดเกิดขึ้นดังต่อไปนี้
(ก) การส่งออกนอกจากที่ระบุใน (ข) หรือ (ค) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออก ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร…"
– ดังนั้น เงินจำนวน 2 ล้านบาท ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ที่บริษัทฯ ส่งมาให้นั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรับชำระราคาค่าสินค้า บริษัทฯ จึงยังไม่ต้องนำไปบันทึกในรายงานภาษีขาย จนกว่าจะได้ส่งออกเครื่องจักรไปให้บริษัทแม่ในประเทศเกาหลี โดยถือเป็นรายได้รับล่วงหน้าค่าขายสินค้า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนหากเงินที่ได้รับเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้ใช้ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ได้รับเงินจากบริษัทแม่
– ในขณะที่บริษัทฯ ได้นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ บริษัทฯ ตัองสำแดงในใบขนสินค่า เพื่อเสียอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วนำมาบันทึกเป็นต้นทุนเครื่องจักร (เพื่อรอการขาย – ส่งออก) ต่อไป มูลค่าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ (ตามที่บริษัทแม่แจ้ง) ถือเป็นทั้งมูลค่าต้นทุนและรายได้รับล่วงหน้า เช่นเดียวกับเงิน 2 ล้านบาท

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. เนื่องจากการได้รับเงินจากบริษัทแม่ ถือเป็นรายได้จากการส่งออกสินค้าที่เสีย VAT อัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อผ่านพิธีการทางศุลกากร ให้บริษัทฯ นำไปบันทึกในรายงานภาษีขายและแสดงเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่มีการส่งออก โดยผ่านพิธีการทางศุลกากรไปยังประเเทศเกาหลี
ในวันที่ส่งออกเครื่องจักร เราต้องแสดงมูลค่าเครื่องจักรใน Invoice ตามราคาตลาดที่ควรจะเป็น แต่ไม่ต่ำกว่า "2 ล้านบาท" (ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริง ณ วันที่ได้รับเงิน) บวกค่าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์
2. การได้รับชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์จากบริษัทแม่ ได้อธิบายในข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว โดยบริษัทฯ ต้องนำไปถือเป็นทั้งต้นทุนและรายได้จากการส่งออกเครื่องจักรที่เสีย VAT ในอัตราร้อยละ 0 และถือเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่มีการส่งออกเครื่องจักรเก่านั้นออกไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ เพราะถือเป็นการขายสินค้า – ส่งออก ที่มิใช่การให้บริการในราชอาณาจักร และมีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามที่ได้วิเคราะห์ไว้ข้างต้น
ปล. ตาม FAQ เป็นกรณีเงินอุดหนุนให้เปล่าที่มิได้หวังสิ่งตอบแทน มิใช่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่คุณ Nuttakan ได้เล่าไปว่า บริษัทฯ ได้ซื้อเครื่องจักรมาซ่อมเพื่อส่งไปให้บริษัทแม่ โดยบริษัทแม่จ่ายค่าเครื่องจักรมา 2 ล้านบาท พร้อมทั้งอะหลั่ยชิ้นส่วนอันเป็นสัญญาต่างตอบแทน (ซื้อขาย) มิใช่การให้เปล่า ทั้งนี้ เว้นแต่ ข้อเท็จจริงจะเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างไปจากที่ได้รับข้างต้น
ฉะนั้น ขอความกรุณาเถอะแม่คุณ พ่อทูนหัวทั้งหลาย อย่าประหยัดเวลาในการเล่าข้อเท็จจริง ไตร่ตรองให้รอบคอบเรียบเรียงให้ดี เสียก่อน อย่าพลีพลามอยากจะได้คำตอบ ซึ่งถามไปก็เทานั้น ไม่ได้ความจริงที่ถูกต้อง ขอให้ "หมดเปลือก" ไปเลย เหมือนไปหาหมอ ไม่เล่าอาการ ก็จะได้แต่ยาแก้ปวดเท่านั้น ซึ่งอาจรักษาอะไรไม่ได้เลย เสียทัังคนไข้และหมอ

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak