ข้อหารือภาษีอากร | รับทำเงินเดือน - Part 4 ข้อหารือภาษีอากร | รับทำเงินเดือน - Part 4

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเป็นตัวแทนประกันชีวิต

เลขที่หนังสือ : กค 0706/6632

วันที่ : 14 กรกฎาคม 2547

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเป็นตัวแทนประกันชีวิต

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1), มาตรา 40(2), มาตรา 40(8), มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 65 ตรี, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502

ข้อหารือ

กรณี นาย ก. ประกอบอาชีพเป็นตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิต ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเข้าใจว่าค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเป็นเงินได้พึงประเมินตา มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และได้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 มาโดยตลอด โดยมิได้เก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายไว้ ต่อมาได้มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/254 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2545 กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร นาย ก. ไม่สามารถหาหลักฐานค่าใช้จ่ายเพื่อพิสูจน์รายจ่ายได้ และไม่สามารถขอให้ผู้รับเงินออกใบเสร็จรับเงินย้อนหลังได้ในช่วงปีภาษี 2545 จึงขอให้กรมสรรพากรผ่อนผันการชำระภาษีสำหรับปีภาษี 2545 และให้ถือว่าการชำระภาษีในปีดังกล่าวถูกต้องแล้ว

แนววินิจฉัย

1. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใด ๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของค่าตอบแทนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท และในกรณีที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จากนายจ้างอื่นด้วย ให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) และมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ที่ได้รับ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
2. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน มีหลักฐานในการประกอบกิจการที่แสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจ และสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการดังนี้
(1) ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและ
(2) ได้จัดตั้งสำนักงานในการประกอบกิจการโดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือเช่าจากบุคคลอื่นโดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน
และ
(3) มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และ
(4) มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการโดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตาม ภ.ง.ด.1 ก. และ
(5) มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรองหรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ใน
การติดต่องานกับลูกค้า และ
(6) มีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้

ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัทประกันชีวิตในการประกอบกิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งหากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่สามารถพิสูจน์รายจ่ายและไม่มีหลักฐานในการประกอบกิจการตามที่กล่าวแล้วข้างต้นมา พิสูจน์ให้เห็นได้ เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น กรณีที่ท่านยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่านายหน้าที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตโดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 ของเงินได้ จึงไม่ใช่การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด และกรมสรรพากรไม่อาจพิจารณาให้ถือว่าการเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังกล่าวเป็นการเสียภาษีที่ถูกต้องแล้วได้

เลขตู้ : 67/33028

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีให้เช่าพื้นที่วางตู้ ATM

การให้เช่าพื้นที่วางตู้ ATM โดยได้รับค่าเช่าเป็นรายเดือน ไม่ถือว่าเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปกติค่าเช่าจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สรรพากรถือว่าเป็นการให้บริการทางธุรกิจหรือวิชาชีพ จึงต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการค่าเช่าด้วย

เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./3173

วันที่ : 3 พฤษภาคม 2554

เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าที่ดินเพื่อติดตั้งเครื่องรับฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ATM)

ข้อกฎหมาย
: มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2(1) มาตรา 82/3 มาตรา 78/1 มาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
สัญญา เช่าฯ ตกลงให้ธนาคาร ก. เช่าพื้นที่ เนื้อที่ ๖.๐๐ ตารางเมตร ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของการไฟฟ้าฯ เพื่อใช้เป็นที่ติดตั้งเครื่องรับฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) โดยมีอัตราค่าเช่า ๖,๐๐๐ บาทต่อเดือน ระยะเวลาการเช่า ๓ ปี เป็นเงินค่าเช่าทั้งสิ้น ๒๑๖,๐๐๐ บาท
จึงขอทราบว่า สัญญาให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๑(๑)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย
กรณีการ ไฟฟ้าฯ ทำสัญญาให้ธนาคารฯ เช่าพื้นที่เพื่อใช้ติดตั้งเครื่อง ATM หากการไฟฟ้าฯ ไม่มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่ให้แก่ธนาคารฯ โดยเด็ดขาด และธนาคารฯ ไม่มีสิทธิหวงกันพื้นที่ที่เช่าได้ การไฟฟ้าฯ ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแลบริเวณที่เช่าตลอดจนอำนวยความสะดวกให้กับธนาคารฯ โดยกรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพตามมาตรา ๗๗/๑(๑๐) แห่งประมวลรัษฎากร การไฟฟ้าฯ ต้องนำค่าบริการที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๗๗/๒(๑) และมาตรา ๘๒/๓ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา ๗๘/๑ แห่งประมวลรัษฎากร โดยการไฟฟ้าฯ ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการ และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา ๘๒/๔ และมาตรา ๘๖ แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้  : 73/37718

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรางวัลตอบแทนพนักงานและพนักงานรับเหมาจ้าง

รางวัลจูงใจ โนนัส หรือ Incentive แล้วแต่จะเรียก โดยกำหนดจ่ายจากฐานกำไรสุทธิ ถ้ามีกำไรถึงจะจ่าย ถ้าขาดทุนไม่จ่าย แบบนี้ถือเป็นรายต้องห้ามตามกฎหมาย เนื่องจากถือเป็นรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้รับเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 ตรี ข้อ 19

 

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2311

วันที่ : 18 เมษายน 2554

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรางวัลตอบแทนพนักงานและพนักงานรับเหมาจ้าง

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1) มาตรา 50(1) และมาตรา 65(19) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
บริษัทฯ ได้มีนโยบายจ่ายเงินรางวัลตอบแทนประจำปี ๒๕๕๓ เพื่อกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ลดงานเสียจากการผลิต และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดไว้ว่า สวัสดิการที่จัดให้กับพนักงานของบริษัทฯ จะต้องจัดให้กับพนักงานรับเหมาแรงงานด้วย ดังนั้น จึงกำหนดให้ทุกคนที่ปฏิบัติงานในบริษัทฯ มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนโดยจ่ายเงินให้กับพนักงานรับเหมาแรงงานโดยไม่ ผ่านบริษัทรับเหมาแรงงานคู่สัญญา เนื่องจาก บริษัทฯ ต้องการที่จะจูงใจให้พนักงานรับเหมาแรงงานนั้นมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานร่วม กับบริษัทฯ นานๆ เพื่อลดปัญหาการลาออก และเข้าใหม่ของพนักงานซึ่งมีผลเสียต่อกระบวนการผลิต และให้พนักงานรับเหมาแรงงานมีสวัสดิการเหมือนหรือใกล้เคียงกับพนักงานประจำ ของบริษัทฯ ด้วย ดังนั้น พนักงานและพนักงานรับเหมาแรงงานในบริษัทฯ หากอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด มีสิทธิที่จะได้รับเงินรางวัลดังกล่าว โดยมีการจ่ายเป็นเงินสดให้กับทุกคน เงินรางวัลจะคำนวณโดยอิงกับผลกำไรขาดทุนทุกสามเดือนมาเป็นฐานการคำนวณรางวัล ให้กับพนักงานในอัตราร้อยละ ๓ จากฐานกำไรก่อนหักภาษีเงินได้นิติบุคคลของผลดำเนินงานทุกไตรมาส (๓ เดือน) แต่ถ้าในไตรมาสใด บริษัทฯ ประสบผลขาดทุน ก็จะไม่มีการจ่ายเงินตอบแทนดังกล่าว จึงขอทราบว่า
๑. การจ่ายเงินจูงใจเพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงานบริษัทฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่
๒. เงินรางวัลที่จ่ายให้แก่พนักงานรับเหมาแรงงาน บริษัทฯ ได้จ่ายเป็นเงินสดให้แก่พนักงานโดยตรง โดยไม่ได้ผ่านบริษัทรับเหมาแรงงาน ถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย
๑. เงินรางวัลที่จ่ายให้แก่พนักงานในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเป็นราย บุคคล เงินรางวัลที่ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา ๔๐(๑)แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินรางวัลดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษีที่ได้รับและบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร
๒ ตามข้อเท็จจริงหากปรากฏว่า เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทฯ มีผลกำไรและการจ่ายเงินรางวัลของบริษัทฯ เป็นการกำหนดจ่ายโดยอิงกับผลกำไรทุกไตรมาสมาเป็นฐานในการคำนวณเงินรางวัล ดังนั้น แม้การกำหนดรายจ่ายเงินรางวัลของบริษัทฯ จะมิได้กำหนดจากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี แต่เป็นที่เห็นได้ว่ากำหนดจากผลกำไรเป็นฐานในการกำหนดการจ่ายเงินรางวัลของ บริษัทฯ อีกทั้ง หากไม่มีผลกำไรบริษัทฯ จะไม่จ่ายเงินรางวัล จึงเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา ๖๕ ตรี (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำรายจ่ายดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิได้

เลขตู้ : 74/37705