ข้อหารือภาษีอากร | รับทำเงินเดือน - Part 5 ข้อหารือภาษีอากร | รับทำเงินเดือน - Part 5

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (0702/2136)

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2136

วันที่ : 22 มีนาคม 2554

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ข้อกฎหมาย : ข้อ 2(36) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ

ข้อหารือ
1. นาย ก. เกิดวันที่ 24 พฤศจิกายน 2495 เป็นพนักงานของธนาคาร ท. (ธนาคารฯ) และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารฯ ตั้งแต่ปี 2541 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ธนาคารฯ ได้ออกประกาศ “โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดโดยสมัครใจปี 2552” (โครงการฯ) โดยกำหนดให้พนักงานประจำทุกตำแหน่งที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และมีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป นับถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 มีสิทธิสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อ ขอเกษียณอายุก่อนกำหนดได้ ซึ่งนาย ก. ได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับอนุมัติให้พ้นสภาพการจ้างงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยขณะนั้น นาย ก. มีอายุ 56 ปี 10 เดือน มีอายุการทำงาน 33 ปี และนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ 11 ปี 9 เดือน
2. นาย ก. ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 จำนวน 2,905,586.94 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งไว้ จำนวน 246,188.04 บาท ซึ่งนาย ก. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเงินจำนวนดังกล่าว ดังนี้
2.1 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ได้ยื่นคำร้อง ค.10 เพื่อขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 246,188.04 บาท
2.2 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ได้นำเงินได้จำนวน 2,905,586.94 บาท ไปรวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่นที่ได้รับในปีภาษี 2552 แล้วยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ตามคำแนะนำของเจ้าพนักงาน ซึ่งมีภาษีชำระไว้เกิน จึงขอคืนเงินเป็นจำนวน 292,271.41 บาท
3. กรณีนาย ก. ยื่นคำร้อง ค.10 เพื่อขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 246,188.04 บาท ตาม 2.1 นั้น สท. แจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร เพราะเหตุว่า เงินที่นาย ก. ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีลาออกจากงานตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดดังกล่าว ไม่เป็นไปตามระเบียบข้อกำหนดของธนาคารฯ ตั้งแต่แรกเข้าทำงาน จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นาย ก. ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปคำนวณภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
นาย ก. ได้ยื่นหนังสือเพื่ออุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง กรณีแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลประกอบสรุปความได้ว่า ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงาน เพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือตาย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ได้กำหนดเงื่อนไขกรณีเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ว่า ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลาย ลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งนาย ก. เห็นว่า ตนเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ กล่าวคือ
(1) นาย ก. มีอายุ 56 ปี 10 เดือน ณ วันที่ธนาคารฯ อนุมัติให้นาย ก. เกษียณอายุก่อนกำหนด (วันที่ 1 ตุลาคม 2552) ซึ่งอายุเกิน 55 ปี ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าว
(2) นาย ก. ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วเป็นเวลา 11 ปี 9 เดือน ณ วันที่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน
(3) ธนาคารฯ มีระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุของพนักงาน และมีหลักเกณฑ์การเกษียณอายุ สรุปได้ดังนี้
(3.1) พนักงานทุกคนจะเกษียณเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
(3.2) พนักงานทุกตำแหน่งที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิที่จะยื่นขอเกษียณอายุก่อนกำหนดได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคารแต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะเห็นสมควรให้ พนักงานพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานของธนาคาร เพื่อรับเงินค่าชดเชยและเงินสมทบตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงาน
การสิ้นสภาพการเป็นพนักงานของนาย ก. ตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระเบียบ จึงถือได้ว่า เป็นการพ้นสภาพการเป็นพนักงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

แนววินิจฉัย
กรณีที่ นาย ก. เป็นพนักงานของธนาคารฯ และธนาคารฯ ได้มีระเบียบกำหนดให้พนักงานทุกคนเกษียณเมื่อมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ หรือพนักงานทุกตำแหน่งที่มีอายุครบ ๕๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิที่จะยื่นขอเกษียณอายุก่อนกำหนดได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคารฯ ต่อมาธนาคารฯ ได้ออกประกาศโครงการฯ ซึ่งกำหนดให้พนักงานประจำทุกตำแหน่งที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และมีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป นับถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 มีสิทธิสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อขอเกษียณอายุก่อนกำหนดได้ เมื่อนาย ก. ได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับอนุมัติให้พ้นสภาพการจ้างงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยขณะนั้น นาย ก. มีอายุ 56 ปี 10 เดือน มีอายุการทำงาน 33 ปี และนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ 11 ปี 9 เดือน ดังนั้น การออกจากงานของนาย ก. จึงมีลักษณะเป็นการตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่เป็นการเกษียณอายุโดย สิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อขณะเกษียณนาย ก. มีอายุไม่ต่ำ 55 ปีบริบูรณ์ และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินที่นาย ก. ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2(36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙)ฯ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ ประกอบกับข้อ ๑(๑) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๕๒)ฯ ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘

เลขตู้  : 74/37691

space

การนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการ

การนำสินค้าที่ไว้เพื่อขาย เช่น รถยนต์ หรือ เครื่องจักร นำมาใช้งานเองในบริษัท เช่น นำรถยนต์ มาไว้ให้ลูกค้าทดลองขับ หรือเครื่องจักร นำไปสาธิตวิธีการใช้ให้ลูกค้าดู เป็นต้น แบบนี้ทรัพย์สินดังกล่าว ได้รับการยกเว้นไม่ถือเป็นรายได้ และไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

เลขที่หนังสือ : กค 0702/398

วันที่ : 13 มกราคม 2554

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(8)(ง) มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1) และ (ฉบับที่ 2)ฯ

ข้อหารือ
บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการผลิต ซื้อขายเครื่องจักร และอะไหล่เครื่องจักร รวมทั้งการให้บริการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องจักร ในปี 2550 บริษัทฯ นำเข้าเครื่อง SHOT HANGER BLASTING รุ่น SHB-II จากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นสินค้าไว้เพื่อขาย จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 2,530,557.82 บาท ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2552 บริษัทฯ ได้นำเครื่องจักรดังกล่าวมาใช้ในการประกอบกิจการโดยใช้เป็นเครื่องจักรตัวอย่างให้ลูกค้าทดสอบการทำงานของเครื่อง โดยบริษัทฯ ได้โอนเครื่องจักรดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ และคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในอัตราร้อยละ 10.0 ต่อปี บริษัทฯ จึงขอหารือดังนี้
1. บริษัทฯ ต้องนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการดังกล่าวมาถือเป็นภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ และต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบหรือไม่ อย่างไร
2. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของสินค้าดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร
3. การนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานยืนยันการอนุมัติหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย
1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ นำเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อขายมาใช้ในการประกอบกิจการ โดยใช้เป็นตัวอย่างเพื่อให้ลูกค้าทดสอบการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งบริษัทฯ ได้โอนเครื่องจักรดังกล่าวมาเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ซึ่งไม่ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และให้บริษัทฯ ตัดบัญชีออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ นำเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อขายมาใช้ในการประกอบกิจการและได้โอนมาเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่เป็นสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย และถือเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ตามมาตรา 65 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

3. กรณีตาม 3. ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดให้บริษัทฯ จัดทำหลักฐานเพื่อยืนยันการอนุมัติการนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายไว้ การจัดทำหลักฐานดังกล่าวขึ้นอยู่กับระเบียบของบริษัทฯ เอง

เลขตู้  : 73/37104