ข้อหารือภาษีอากร | รับทำเงินเดือน ข้อหารือภาษีอากร | รับทำเงินเดือน

การนับอายุงานต่อเนื่อง กรณีโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปพร้อมพนักงาน (0702/8892)

ปกติแล้วการนับอายุงานต่อเนื่องกรมสรรพากรให้นับได้เฉพาะที่ทำงานสุดท้ายเท่านั้น แต่จากข้อหารือนี้ (ปี 2555) จะพบว่า การใช้สิทธิแยกยื่นเพื่อเสียภาษีสำหรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนับอายุงานต่อเนื่องได้ ให้นับอายุงานในบริษัทผู้โอนกับบริษัทผู้รับโอน (กรณีไม่มีการโอนเงินกองทุนจะไม่สามารถนับอายุงานต่อเนื่องได้)

เลขที่หนังสือ : กค 0702/8892

วันที่ : 5 ตุลาคม 2555

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการนับอายุงานสำหรับการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1) (2) มาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
1. บริษัท เอ. (นายจ้าง) ซึ่งเป็นนายจ้างของกองทุนฯ มีข้อตกลงเกี่ยวกับการรับพนักงานชาวต่างชาติที่โอนมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศเข้ามาเป็นพนักงานของนายจ้าง โดยให้นับอายุงานที่พนักงานปฏิบัติงานมากับบริษัทแม่ในต่างประเทศต่อเนื่องกับอายุงานที่ทำกับนายจ้างเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากนายจ้างเสมือนพนักงานทั่วไป รวมถึงสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย แต่ไม่ได้โอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในต่างประเทศมายังกองทุนในประเทศไทย เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(สำนักงาน ก.ล.ต.) ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตีความว่า เงินที่จะโอนเข้ามายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นั้นต้องเป็นเงินที่โอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้นต่อมาพนักงานชาวต่างชาติดังกล่าวได้ลาออกจากงานหรือกลับไปปฏิบัติงานที่บริษัทแม่ในต่างประเทศโดยมีระยะเวลาปฏิบัติงานกับบริษัทนายจ้างในต่างประเทศเป็นเวลา 4 ปี และมีระยะเวลาปฏิบัติงานกับนายจ้างในประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปี รวมระยะเวลาปฏิบัติงานกับนายจ้างทั้งสองแห่งต่อเนื่องกันเป็นเวลา 6 ปี

2. บริษัทฯ ได้หารือว่า เมื่อพนักงานดังกล่าวได้พ้นจากการเป็นลูกจ้างของนายจ้าง และได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เงินได้ที่พนักงานดังกล่าวได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย
1. กรณีการโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปพร้อมกับพนักงาน การนับจำนวนปีที่ทำงานของพนักงานเพื่อการหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ให้นับอายุงานในบริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอนต่อเนื่องกันได้ แต่หากไม่มีการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังบริษัทผู้รับโอน ก็ไม่สามารถนับอายุงานต่อเนื่องได้

2. กรณีนายจ้างในประเทศไทยรับโอนพนักงานชาวต่างชาติของบริษัทแม่ในต่างประเทศเข้ามาเป็นพนักงานของนายจ้างโดยให้นับอายุงานต่อเนื่องเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนพนักงานทั่วไปรวมถึงสวัสดิการจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ไม่ได้โอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในต่างประเทศมายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างในประเทศไทย กรณีดังกล่าว ไม่ว่าจะมีการโอนหรือไม่มีการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมายังบริษัทฯ ในประเทศไทยก็ไม่สามารถนับอายุการปฏิบัติงานในบริษัทแม่ในต่างประเทศผู้โอนและบริษัทนายจ้างผู้รับโอนต่อเนื่องกันได้เนื่องจากเงินที่โอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายไทยเท่านั้น ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องเขตอำนาจรัฐซึ่งใช้บังคับเหนือการกระทำทั้งหมดที่เกิดในดินแดนหรือในเขตอำนาจอธิปไตยในราชอาณาจักรไทย เมื่อพนักงานชาวต่างชาติซึ่งมีอายุการปฏิบัติงานกับนายจ้างในประเทศไทยเป็นเวลาเพียง 2 ปี จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานมาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นได้ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบข้อ 2(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 พนักงานชาวต่างชาติต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวมารวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่ได้รับในระหว่างปี เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 75/38300

เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน กรณีจ่ายไม่พร้อมกัน (0702/9608)

เงินชดเชยที่จ่ายให้เพราะเหตุออกจากงานกรณีเลิกจ้าง (ให้ออก) เงินชดเชยที่จ่ายทุกประเภท เช่น เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยง เงินชดเชยอื่นๆ ฯลฯ การคำนวณภาษีโดยใช้สิทธิแยกยื่นจากเงินเดือน ให้ใช้ได้ครั้งเดียวเฉพาะครั้งแรกที่มีการจ่ายเท่านั้น ในข้อหารือจะพบว่ามีการจ่ายเงินชดเชยไม่พร้อมกัน จ่ายคนละปี ในปีถัดมาจึงไม่สามารถใช้สิทธิแยกยื่นได้

เลขที่หนังสือ : กค 0702/9608

วันที่ : 26 ตุลาคม 2555

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 48(5) มาตรา 40(1) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ 
กรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งได้รับในปีภาษีถัดไป โดยสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้ 
1. นาง จ. ออกจากงานในวันที่ 15 ธันวาคม 2553 โดยได้รับเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท คือ 
    1.1 เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวนเงิน 1,449,497 บาท ได้รับ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 
    1.2 เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวนเงิน 1,189,047.89 บาท ได้รับ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 20 มกราคม 2554 
2. นาง จ. นำเงินชดเชยจากการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน จำนวนเงิน 1,449,497 บาท ที่ได้รับในปีภาษี 2553 มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) ในปีภาษี 2553 โดยเลือกคำนวณเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร 
3. ต่อมานาง จ. ได้นำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวนเงิน 1,189,047.89 บาท ไปยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ในปีภาษี 2554 โดยเลือกคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้เพราะเหตุออกจากงาน ต้องยื่นครั้งเดียวพร้อมกับเงินชดเชยการเลิกจ้างที่ได้รับจากนายจ้างในเดือนธันวาคม 2553 จึงไม่อาจใช้สิทธิลดหย่อนในปีภาษีถัดไปได้อีก

แนววินิจฉัย 
กรณีนาง จ. ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 เป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินจากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท นาง จ. จะเลือกเสียภาษีต่างหากจากเงินได้อื่นได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535

เลขตู้  : 75/38337

เงินได้จากหน้าที่การงานในต่างประเทศ (0702/7797)

กรณีชาวต่างชาติอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน มีเงินได้จากต่างประเทศและนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ในปีภาษีเดียวกัน เงินได้ดังกล่าวต้องเสียภาษี

เช่นเดียวกัน กรณีคนไทยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน (มีบางกรณีไปทำงานต่างประเทศนานหลายเดือนทำให้อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วันก็มี เช่น นักกีฬา นักแสดง)  มีเงินได้จากต่างประเทศ ถ้าไม่ได้นำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศ ก็จะไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย แต่ถ้านำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปีที่มีเงินได้ ก็ต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย เช่นกัน

เลขที่หนังสือ : กค 0702/7797

วันที่ : 3 กันยายน 2555

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจัดเก็บภาษีจากเงินได้ที่เกิดจากหน้าที่การงานในต่างประเทศ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1) และมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจัดเก็บภาษีจากเงินได้ที่เกิดจากหน้าที่การงานในต่างประเทศ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ในปี ๒๕๕๒ นาย ท. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้ประเภทเงินเดือนและเงินปันผลใน ประเทศฟินแลนด์ โดยนาย ท. ได้รับเงินเดือน จำนวน ๕,๗๓๐ ยูโร และดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร จำนวน ๑,๕๑๐ ยูโร และในปี ๒๕๕๒ นาย ท. ได้โอนเงินจำนวนหนึ่ง (ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นเงินจำนวนเท่าใด) จากบัญชีเงินฝากธนาคารในประเทศฟินแลนด์เข้ามาในประเทศไทย เจ้าพนักงานสรรพากรจึงแนะนำให้นาย ท. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. ๙๐) จากเงินได้ที่โอนเข้ามาในประเทศไทย กล่าวคือ เงินเดือน จำนวน ๕,๗๓๐ ยูโร หรือ ๒๗๑,๑๙๙.๘๑ บาท และดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร จำนวน ๑,๕๑๐ ยูโร หรือ ๗๒,๖๗๓.๘๘ บาท แต่นาย ท. โต้แย้งว่า เงินได้ของนาย ท. ที่โอนเข้ามาในประเทศไทยในปี ๒๕๕๒ เป็นเงินได้ของปี พ.ศ. ๒๕๕๒ และก่อนปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเงินได้ของปีใด บท. จึงขอทราบว่า นาย ท. ต้องนำเงินได้ที่โอนเข้ามาในประเทศไทยในปี๒๕๕๒ ทั้งจำนวนมารวมคำนวณเพื่อภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย
เนื่องจากในปี ๒๕๕๒ นาย ท. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๑) และ ๔๐(๔)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร จากประเทศฟินแลนด์ หากนาย ท. นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้ นาย ท. ต้องนำเงินได้ที่นำเข้ามาในประเทศไทยทั้งจำนวนมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา ๔๑ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 75/38265