ข้อหารือภาษีอากร | รับทำเงินเดือน - Part 3 ข้อหารือภาษีอากร | รับทำเงินเดือน - Part 3

การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการถูกเลิกจ้าง (0706/6342)

การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกรณีถูกเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุ โดยสามารถใช้สิทธิแยกยื่น โดยคำนวณในใบแนบ ซึ่งจะหักค่าใช้จ่ายได้ 7,000 บาท x ปีที่ทำงาน เหลือเท่าไหร่ ให้หักค่าใช้จ่ายได้อีก 50% คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษี

เลขที่หนังสือ กค 0706/6342

วันที่ : 6 กรกฎาคม 2547

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการถูกเลิกจ้าง

ข้อกฎหมาย : มาตรา 48(5), มาตรา 50(1), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ

ข้อหารือ

นาย ภ. อายุ 57 ปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานบริษัท ท. จำกัด มาแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 9 ปี บริษัทฯ ได้ออกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ต้อง
เกษียณอายุการทำงานและรวมถึงลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ใหม่นี้จะมีผลใช้บังคับด้วย โดยถือว่าลูกจ้างรายนั้นถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุการทำงาน ตั้งแต่ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่นี้และได้ทำงานมา แล้วตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพ การจ้างใหม่นี้มีผลทำให้นาย ภ. ต้องถูกเลิกจ้างเนื่องจากมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วในวันที่ข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่นี้มีผลใช้บังคับและบริษัทฯ ได้จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้แก่นาย ภ. แล้ว แต่นาย ภ. เห็นว่าการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทฯ ได้คำนวณไว้จากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงหารือว่าการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินที่นายจ้างจ่ายจากการเลิกจ้างมีวิธีการอย่างไร

แนววินิจฉัย

กรณีบริษัทฯ ได้กำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุ ลูกจ้างเกษียณอายุโดยตกลงจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้สำหรับลูกจ้างที่ได้ทำงานมาแล้วตาม
ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เงินชดเชยที่นาย ภ. ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามข้อ 1(ค) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่าย
ให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับจำนวนเงินที่นาย ภ. ได้
รับให้คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือให้นำเงินได้พึงประเมิน ดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับ 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน แต่ไม่เกิน
เงินได้พึงประเมินเหลือเท่าใดหักค่าใช้จ่ายอีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือนั้น แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 50(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535

เลขตู้ : 67/33017

การให้ทุนการศึกษาแก่พนักงาน ภาษีที่เกี่ยวข้อง

สรุปประเด็นที่กรมสรรพากรได้ตอบข้อหารือ มีดังนี้ ครับ

1. กรณีบริษัทฯ ได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทแก่พนักงานของบริษัทฯ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น หากค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีที่บริษัทฯ มีสิทธิหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายนั้น ต้องเป็นการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึก อบรมในสถานศึกษาที่ทางราชการของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น หรือโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานเฉพาะที่มีฐานะเป็นมูลนิธิ สมาคม บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ
และ การให้บริการการศึกษาหรือฝึกอบรมต้องเป็นการศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพ ความรู้ความสามารถ ทักษะ ฝีมือของลูกจ้างให้สูงขึ้น

3. กรณีหากบริษัทฯ จ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานไปศึกษาต่อดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่การดำเนิน งานของบริษัทฯ ไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานผู้ได้รับทุน

ข้อหารือตามหนังสือเลขที่ : กค 0706(กม.06)/1568

วันที่ : 30 พฤษภาคม 2550

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการให้ทุนการศึกษาแก่พนักงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตเครื่องหนัง บริษัทฯ ได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทแก่พนักงานของบริษัทฯ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับระบบการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานสำหรับรองรับระบบในอนาคต ระยะเวลาของหลักสูตร 2 ปี หลังจากจบการศึกษาแล้ว ผู้ได้รับทุนต้องทำงานให้บริษัทฯ เป็นระยะเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนการศึกษา มีค่าใช้จ่ายในการศึกษาประกอบด้วย ค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าประกันสุขภาพ และค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในหอพัก เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องครัว บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ มีสิทธินำค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 2 เท่าของค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ และค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานผู้ได้รับทุนการศึกษาหรือไม่

แนววินิจฉัย
กรณีบริษัทฯ ได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทแก่พนักงานของบริษัทฯ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น หากค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีสิทธิหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายนั้น ต้องเป็นการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาที่ทางราชการของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นหรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษา-เอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานเฉพาะที่มีฐานะเป็นมูลนิธิ สมาคม บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ และการให้บริการการศึกษาหรือฝึกอบรมต้องเป็นการศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพ ความรู้ความสามารถ ทักษะ ฝีมือของลูกจ้างให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นนายจ้าง ตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 ประกอบกับข้อ 3 และ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่รับลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้าศึกษาหรือฝึกอบรม ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ของบริษัทฯ เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานของบริษัทฯ เข้ารับการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น และกรณีหากบริษัทฯ จ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานของบริษัทฯ ไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานผู้ได้รับทุนดังกล่าว

เลขตู้ : 70/35010

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีชดใช้เงินเดือนและเบี้ยปรับแทนลูกจ้าง

การรับลูกจ้างที่มีภาระผูกพันจากการลาไปศึกษาต่อ ซึ่งนายจ้างมักให้ทุนการศึกษาและจ่ายเงินเดือนให้ระหว่างลาไปศึกษาต่อ แต่จะมีสัญญาผูกมัดให้กลับมาทำงานกับนายจ้างเป็นระยะเวลากี่ปีแล้วแต่จะตกลงกัน กรณีลูกจ้างลาออกจากงานก่อนกำหนดอาจต้องชดใช้เงินคืนให้แก่นายจ้างรวมทั้งอาจจะมีเบี้ยปรับด้วย อันนี้เป็นกรณีที่ลูกจ้างได้รับทุนการศึกษาและออกงานจากก่อนกำหนด โดยนายจ้างใหม่ยินดีชดใช้เงินคืนรวมทั้งค่าปรับให้แก่นายจ้างเดิม สำหรับเงินค่าชดเชยและค่าปรับที่จ้างใหม่จ่ายแทนให้ลูกจ้าง ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ของลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างใหม่มีหน้าที่คำนวณภาษีและนำส่งต่อไป

เลขที่หนังสือ : กค.0702/4669

วันที่ : 8 มิถุนายน 2555

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการชดใช้เงินเดือนและเบี้ยปรับตามสัญญาลาศึกษา

ข้อกฎหมาย : มาตรา 39 มาตรา 40(1) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

สำนักงานฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการชดใช้เงินเดือนและเบี้ยปรับตามสัญญาลาศึกษา โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า สำนักงานฯ เป็นองค์การมหาชน จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ มีความประสงค์จะรับนาย ช. และนาย ศ. ซึ่งปัจจุบันเป็นพนักงาน ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองราย ได้รับอนุมัติจาก สวทช. ให้ลาไปศึกษาตามระเบียบสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน ปฏิบัติงานวิจัย และบริการทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๒ และฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๒) โดยในระหว่างที่ได้รับอนุมัติ ให้ลาไปศึกษา ได้รับเงินเดือนในอัตราร้อยละ ๗๕ ของเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจาก สวทช. ซึ่งหากต้องการลาออกจาก สวทช. เพื่อมาปฏิบัติงานกับ สำนักงานฯ แล้วจะต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับในระหว่างลาศึกษาและเบี้ยปรับอีกจำนวน ๑ เท่า แทนการปฏิบัติงานชดใช้ทุนเป็นระยะเวลาสองเท่าของวันลาตามระเบียบ สวทช.ฯ ซึ่งคิดเป็นเงินที่ต้องชดใช้กรณี นายชัยชนะฯ จำนวน ๑,๘๒๑,๙๖๐.๐๐ บาท และกรณีนาย ศ. จำนวน ๒,๙๕๓,๗๑๖.๓๘ บาท ทั้งนี้ โดยได้รับแจ้งจาก สวทช. ว่า หาก สำนักงานฯ มีความประสงค์จะรับบุคคลทั้งสองรายเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานฯ ต้องชดใช้เงินทุน จำนวนดังกล่าวให้แก่ สวทช. แทนบุคคลทั้งสองรายจนครบจำนวนในวันที่โอนย้ายมาปฏิบัติงานที่ สำนักงานฯ ได้

สำนักงานฯ จึงหารือว่า การที่สำนักงานฯ ชำระเงินชดใช้เงินเดือนและเบี้ยปรับตามสัญญาศึกษาให้แก่ สวทช. แทนบุคคลทั้งสองราย โดยให้บุคคลทั้งสองรายชดใช้เงินดังกล่าวให้แก่ สำนักงานฯ ด้วยการปฏิบัติงานชดใช้ตามระยะ เวลาที่ สำนักงานฯ กำหนด ถือว่าเป็นกรณีที่บุคคลทั้งสองรายได้รับเงินได้ซึ่งต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือไม่ และหากถือเป็นเงินได้ที่บุคคลทั้งสองรายได้รับแล้ว สำนักงานฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

กรณีตามข้อเท็จจริง นาย ช. และนาย ศ. ซึ่งเป็นพนักงานของ สวทช. ได้รับทุนการศึกษาจาก สวทช. ให้ลาไปศึกษา ตามระเบียบ สวทช.ฯ โดยบุคคลทั้งสองได้สำเร็จการศึกษาแล้ว และมีความประสงค์จะย้ายไปปฏิบัติงานที่ สำนักงานฯ ใน ระหว่างที่ชดใช้ทุนการศึกษา และ สำนักงานฯ ตกลงจะชดใช้ทุนการศึกษา เงินเดือน และเบี้ยปรับที่ สวทช. จ่ายให้แทน ถือว่า นาย ช. และนาย ศ. ได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้แทนของ สำนักงานฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร โดยสำนักงานฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นาย ช. และ นาย ศ. ตามมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 75/38151