ตุลาคม, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 2 ตุลาคม, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 2

ผลิตสินค้าตามคำสั่งลูกค้า ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

เนื่องจากผมเคยทำงานโรงงานอุตสาหกรรมมาก่อน ตอนแผนกจัดซื้อสั่งซื้อสินค้า (ชิ้นส่วน) ซึ่งเกิดจากการออกแบบของเราเอง ส่งให้ Supplier ผลิตตามแบบที่เราต้องการ ตอนจ่ายเงินผมจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 3 % เคยถามสรรพากรก็ได้คำตอบแบบนี้ ถ้าไม่ใช่สินค้าที่อยู่ใน Catalogue ของผู้ขาย ถือเป็นการรับจ้างทำของ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แม้กระทั้งรุ่นพี่(ที่เก่งเรื่องภาษี) ก็บอกต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เหมือนกัน

แต่ที่จริงแล้ว ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ลองมาดูที่สรรพากรตอบไว้นะครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/5546

วันที่ : 22 กรกฎาคม 2553

เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการผลิตสินค้าเพื่อขาย และการผลิตสินค้าตามคำสั่งลูกค้า

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          ห้างฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เช่น เสื้อโปโล เสื้อแจ๊คเก็ต เสื้อเชิ้ต และกางเกง โดยใช้วัสดุในการผลิตแตกต่างกัน รวมทั้งมีการผลิตและจำหน่ายให้แก่ลูกค้าตามคำสั่งมีลักษณะดังนี้
          1. ลูกค้าสั่งซื้อตามรูปแบบตามที่ห้างฯ รับผลิต หรือตามตัวอย่างที่ห้างฯ จัดเตรียมไว้และลูกค้าขอเลือกวัสดุ เช่น สีผ้า ชนิดผ้า กระดุม และแบบกระดุม ที่ห้างฯ จัดเตรียมและมีไว้ให้เลือก ซึ่งบางครั้งคำสั่งซื้อจะมีการติดเครื่องหมายของ บริษัทลูกค้า โลโก้ หรือเครื่องหมายอื่นที่ลูกค้าต้องการบนเสื้อตามจุดที่ลูกค้าต้องการ
          2. ลูกค้าสั่งผลิตสินค้าโดยลูกค้าเป็นผู้ออกแบบเอง แต่ใช้วัตถุดิบในการผลิตตามตัวอย่างที่ห้างฯ จัดเตรียมและมีไว้ให้เลือก และอาจมีการติดเครื่องหมายของบริษัทลูกค้า โลโก้ หรือเครื่องหมายอื่นที่ลูกค้าต้องการบนเสื้อตามจุดที่ลูกค้าต้องการ
          ห้างฯ จึงขอทราบว่า การกระทำลักษณะดังกล่าวของห้างฯ เป็นการขายสินค้า มิใช่เป็นการรับจ้างผลิต ห้างฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ความเข้าใจของห้างฯ ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย
          กรณีห้างฯ ได้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าลูกค้าจะสั่งซื้อสินค้าตามรูปแบบที่ห้างฯ จัดเตรียมไว้หรือลูกค้าเป็นผู้ออกแบบเอง แต่ใช้วัตถุดิบในการผลิตของห้างฯ ที่จัดเตรียมและมีไว้ให้เลือก การรับทำสินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

เลขตู้ : 73/37422

แท็กของ Technorati: {กลุ่มแท็ก}

เงินช่วยเหลือการศึกษาบุตร ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้

หลายบริษัทมักจะมีทุนการศึกษาแจกให้บุตรของพนักงานบริษัท ที่ทำงานเก่าผมก็เคยมีลักษณะนี้ มีทั้งทุนเรียนดี กับ ทุนการศึกษาสำหรับพนักงานรายได้น้อย

ผมเองก็ได้รับคำถามนี้อยู่บ่อยๆ ว่าทุนการศึกษาที่แจกให้พนักงานได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ คำตอบที่สรรพากรตอบไว้ก็คือ ถือเป็นประโยชน์เพิ่มต้องนำมารวมคำนวณเพื่อภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ ลองมาดูที่สรรพากรตอบไว้นะครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/5526

วันที่ : 22 กรกฎาคม 2553

เรื่อง  : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินช่วยเหลือการศึกษาบุตรของพนักงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 39 และมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          บริษัทฯ ได้มีระเบียบสวัสดิการเรื่องเงินช่วยเหลือการศึกษาบุตรที่มอบให้พนักงานทุก คนเป็นการทั่วไปโดยมิได้เลือกปฏิบัติ เพื่อ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนทุกข์ยาก เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี เป็นการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาบุตรของพนักงาน โดยบริษัทฯ จะจ่ายให้ตามรายจ่ายที่ได้จ่ายจริงหรือน้อยกว่า โดยพิจารณาจากข้อกำหนดของการจ่ายเงินช่วยเหลือ บริษัทฯ จึงขอ ทราบว่า เงิน สวัสดิการดังกล่าวถือเป็นรายได้ของพนักงานหรือไม่

แนววินิจฉัย
          กรณีสวัสดิการหรือประโยชน์ที่ พนักงานได้รับจากนายจ้างข้างต้น ถือเป็นประโยชน์เพิ่มอันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เลขตู้ : 73/37415

 

แท็กของ Technorati: {กลุ่มแท็ก}

ผลเสียหายเนื่องจากการยักยอกทรัพย์

ขอนำประเด็นรายจ่ายผลเสียหายเนื่องจากการยักยอกทรัพย์ มาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ อย่างไร

วิสัชนา โดยทั่วไป เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลย่อมสามารถนำผลเสียหายที่เกิดขึ้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรได้เช่นเดียวกับ ในทางการบัญชี สำหรับผลเสียหายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับเงินชดเชย หรือค่าสินไหมทดแทนคืนกลับมานั้น ในทางบัญชีให้รับรู้เป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปีที่เกิดความเสียหาย และให้รับรู้รายได้เงินชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการประกันหรือสัญญา ค้ำประกันใดๆ ในรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ได้รับเงินชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว

ในทางภาษีอากร ให้ชะลอการรับรู้รายจ่ายค่าความเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกัน หรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ไว้จนกว่าจะได้รับเงินชดเชย หรือค่าสินไหมทดแทนคืนกลับมา

ในกรณีที่จำนวนค่าความเสียหายมีจำนวนเกินกว่าเงินชดเชย หรือค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับคืนกลับมาจากผู้ประกันหรือผู้ค้ำประกัน ก็ให้รับรู้ผลขาดทุนเป็นรายจ่าย ในทางตรงกันข้ามหากจำนวนเงินชดเชย หรือค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับคืนกลับมามีจำนวนมากกว่าค่าความเสียหาย ก็ให้รับรู้ผลกำไร

เป็นรายได้

1. ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกัน หมายถึง ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้ทำประกันไว้กับบริษัทรับประกัน เช่น การประกัน

อัคคีภัย ทรัพย์สิน และสินค้า การประกันภัยทางทะเล การประกันวินาศภัยต่างๆ

2. ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากสัญญาคุ้มกันใดๆ หมายถึง ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการละเมิดหรือยักยอกทรัพย์สินที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสัญญาค้ำประกัน เช่น สัญญาค้ำประกันการทำงานของพนักงานการเงิน พนักงานเก็บเงิน

ปุจฉา บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชและสัตว์ เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย และกำจัดศัตรูพืชหรือโรคของพืชและสัตว์ บริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ของปีถัดไป ในการขายสินค้าบริษัท ได้มอบหมายให้พนักงานขายไปติดต่อกับลูกค้าและมีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้า ด้วย นาย พ. ผู้จัดการฝ่ายขายได้ยักยอกเงินสดจำนวน 720,508 บาท และสินค้าเป็นมูลค่า 365,175 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,085,683 บาท ซึ่งบริษัทฯ และ พนักงานอัยการได้ดำเนินการฟ้องร้องนาย พ. ในข้อหายักยอกและฉ้อโกง ต่อมาในวันที่ 1 มีนาคม 2547 นาย พ. รับสารภาพในชั้นศาล พร้อมทั้งยินยอมผ่อนชำระค่าเสียหายแก่บริษัท เดือนละไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี บริษัทจึงขอทราบว่า

1. ผลเสียหายจากการยักยอกเงินสดและสินค้าดังกล่าว บริษัทจะถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้หรือไม่ และเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด

2. เงินที่บริษัทได้รับคืนจากนาย พ. จะถือเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัท ได้รับเงินถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา กรณีดังกล่าว กรมสรรพากรได้วางแนววินิจฉัยไว้ตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/1435 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ดังนี้

ตามข้อเท็จจริง กรณีที่พนักงานของบริษัท ได้ยักยอกเงินและสินค้าของบริษัทไป โดยบริษัทและพนักงานอัยการได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล และในวันที่ 1 มีนาคม 2547 พนักงานดังกล่าวได้รับสารภาพและได้ตกลงผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทเป็น ประจำทุกเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี กรณีถือได้ว่า เป็นผลเสียหายอันเนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัท ดังนั้น

1. หากผลเสียหายดังกล่าวมิอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ บริษัทมีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผลเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้น คือ รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 เนื่องจากพนักงานรับสารภาพในชั้นศาลในวันที่ 1 มีนาคม 2547

2. บริษัทต้องนำเงินที่ได้รับจากการผ่อนชำระจากพนักงานดังกล่าวมาถือเป็นรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ด้วยตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์