มิถุนายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 3 มิถุนายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 3

เกษียณอายุล่วงหน้ากับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เนื่องจากผมค่อนข้างได้รับคำถามค่อนข้างบ่อยเกี่ยวกับการโครงการเกษียนอายุก่อนกำหนดกับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลจากเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ถ้าเป็นการเลิกจ้างจากการเกษียณอายุตามปกติ (ตามระเบียบของบริษัท) ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร

แต่ถ้าเป็นการเกษียณอายุก่อนกำหนดนี่สิ มักจะมีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากสรรพากรเคยมองกรณีแบบนี้ไว้ว่า ไม่สามารถได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จนเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลฎีกา ตามคำพิพากษาเลขที่ 2077 พศ.2548

เนื่องจากพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งได้ขอเกษียณอายุเมื่ออายุ 56 ปี ทั้งนี้ตามระเบียบบริษัท ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดอายุเกษียนของพนักงานไว้เป็น 2 กรณีคือ

  1. พนักงานจะเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์
  2. บริษัทอาจอนุญาตให้พนักงานเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ ได้โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ หนึ่ง-บริษัทกับพนักงานต้องมีข้อตกลงเป็นหนังสือ, สอง-พนักงานที่ขอเกษียณอายุต้องมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และ สาม-พนักงานผู้ขอเกษียณอายุต้องมีอายุการทำงานอย่างน้อย 15 ปี

สำหรับข้อสรุปการพิจาษณาของศาล เป็นดังนี้

การได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากออกจากงาน กรณีเกษียณอายุก่อนกำหนด เนือ่งจากตามประกาศไม่ได้ให้คำนิยามศัพท์ คำว่า เกษียณอายุไว้ จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมว่า ครบกำหนดอายุรับราชการ สิ้นกำหนดเวลารับราชการหรือการทำงาน การครบหรือสิ้นอายุการทำงาน จึงหมายถึงการที่นายจ้างให้พนักงาน ลูกจ้างออกจากงานเนื่องจากสูงอายุตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย (ระเบียบริษัทต้องกำหนดเรื่องการเกษียณอายุก่อนกำหนดไว้ด้วย)

เมื่อศาลพิจาณาแล้วเห็นว่าป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงาน เพราะเกษียณอายุ กล่าวคือ

  1. กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ (พนักงานลาออกเมื่ออายุ 56 ปี) และ
  2. เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
  3. เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี (พนักงานทำงานกับบริษัทอายุงาน 18 ปีเศษ เป็นสมาชิกกองทุนเพียง 2 ปี 1 เดือน แต่สมัครเข้ากองทุนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2538 (ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุว่าต้องสมัครระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 – 2 ธันวาคม 2538) และเกษียณอายุวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 (ซึ่งก็เป็นไปตามข้อกำหนดเช่นกันที่ระบุว่าต้องลาออกออกวันที่ 2 ธันวาคม 2543)

สรุปคือพนักงานสามารถได้รับสิทธิยกเว้น ไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากเป็นไปหลักเกณฑ์ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร อีกทั้งระเบียบบริษัทก็มีกำหนดไว้ให้เกษียณอายุก่อนกำหนดได้

อ้างอิง: คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2548
อ้างอิง : ประการศกรมสรรพากรฉบับที่ 52 และ ประกาศกรมสรรพากรฉบับที่ 151

หลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

“ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี” หมายความว่า นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙

“ทุน” หมายความว่า ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด ทุนชำระแล้วของบริษัทมหาชนจำกัด ส่วนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเงินที่ผู้เป็น
หุ้นส่วนหรือสมาชิกนำมาลงหุ้นในนิติบุคคลอื่น

“รายได้” หมายความว่า รายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามประเภทหนึ่งประเภทใดรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันมาพร้อมกับการยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี การเพิ่มทุนหรือลดทุนของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในระหว่างรอบปีบัญชีไม่กระทบต่อจำนวนหลักประกันที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้จัดให้มีแล้วในรอบปีบัญชีนั้น

ประเภทของหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ได้แก่

  1. เงินฝากสถาบันการเงินในประเทศประเภทฝากประจำตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
  2. บัตรเงินฝากซึ่งสถาบันการเงินในประเทศออกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานการฝากเงินของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้น
  3. พันธบัตรรัฐบาลไทยที่จำหน่ายในราชอาณาจักร
  4. พันธบัตรองค์การหรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
  5. กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชีของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

หลักประกันข้างต้นต้องปราศจากภาระผูกพัน

จำนวนของหลักประกันตามข้อ (2) (3) และ (4) ให้ถือตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตราสารนั้น ส่วนหลักประกันตามข้อ (5) ให้ถือตามจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องดำรงหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการ

ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีทุกปี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชี ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันในระหว่างรอบปีบัญชี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีแจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันหรือการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกสภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนด

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่จดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีอยู่แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ต้องจัดให้มีหลักประกันประเภทหนึ่งประเภทใดรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมาแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายใน 60 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพประกอบกิจการไม่ถึงหนึ่งรอบปีบัญชี ต้องจัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันที่แจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชี

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ บัญญัติให้นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ ต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตามประเภท จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เอกสารอ้างอิง : หลักประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ภาษีเงินได้ นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นวิธีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ทั้ง ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย รวมทั้งกิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบกิจการใน ประเทศไทย หรือกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย หรือมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการ ซึ่งมีเงินได้ที่มิใช่มูลนิธิ หรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสาธารณ กุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้รับเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร จากรัฐบาล องค์การของรัฐบาลทั้งหลาย จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา ผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง

วิสัชนา ผู้จ่ายเงินได้ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ในกรณีนี้ ได้แก่
1. รัฐบาล

2. องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล ได้แก่
              (1) กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด
             (2) มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหลาย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น
            (3) โรงพยาบาลของรัฐบาล และองค์การของรัฐบาลทั้งหลาย เช่น ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ เป็นต้น

3. กิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น ได้แก่
           (1) รัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การนิคมแห่งประเทศไทย องค์การค้าของคุรุสภา โรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์การเภสัชกรรม องค์การสงเคราะห์สวนยางแห่งประเทศไทย องค์การทหารผ่านศึก เป็นต้น

            (2) องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล สุขาภิบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด องค์การบริหารราชการส่วนตำบล และองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

             (3) กองทุนสวัสดิการที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ (ดูพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยยกเว้นรัษฎากร) (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2547

              (4) หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ ซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เช่น องค์การค้าของคุรุสภา โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง คณะกรรมการจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ เป็นต้น

4. ตัวแทนของรัฐบาล หรือตัวแทนขององค์การของรัฐบาลดังกล่าวข้างต้น

ปุจฉา มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไร

วิสัชนา กรณีส่วนราชการจัดซื้อ หรือจ้างทำของเพื่อใช้ในราชการต้องออกใบสั่งซื้อ หรือสั่งจ้าง แต่ในบางกรณีผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ซื้อหรือผู้จ้างต้องไปรับของ ณ ที่ทำการของผู้ขายหรือผู้รับจ้าง และต้องชำระเงินค่าของทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการจำเป็นต้องยืมเงินราชการไปจ่ายค่าซื้อหรือค่า จ้างทำของนั้นเช่นนี้ ส่วนราชการจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา  50 (4)  หรือมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อส่วนราชการได้ออกใบสั่งซื้อหรือใบสั่งจ้างโดยตรงเท่านั้น กรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ยืมเงินทดรองของส่วนราชการไปซื้อสินค้าหรือจ้างทำของ ณ สถานที่ของผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เจ้าหน้าที่ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำของแต่อย่างใด เพราะยังไม่ถือว่าส่วนราชการเป็นผู้จ่าย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/14408 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2537)

กรณีที่เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการใดๆ ได้ยืมเงินทดรองส่วนราชการนั้นๆ ไปซื้อสินค้าหรือจ้างทำของ ณ สถานที่ของผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งกรมสรรพากรวางแนวตามหนังสือตอบข้อหารือว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำของแต่อย่างใด  เพราะยังไม่ถือว่าส่วนราชการเป็นผู้จ่าย ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงของการกระทำของเจ้าหน้าที่ประกอบกับเอกสารหลักฐาน ต่างๆ จนเป็นที่แน่ชัดว่า ส่วนราชการนั้นๆ มิได้เป็นผู้จ่ายเงินได้ การกระทำดังกล่าวจึงจะถือได้ว่า ส่วนราชการนั้นไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่ถ้าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการนั้นกระทำในนามตัวแทนของส่วน ราชการ โดยมีหลักฐานแจ้งชัดว่า เจ้าหน้าที่ได้ระบุให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างระบุชื่อส่วนราชการนั้นๆ ในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี เจ้าหน้าที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ว่าจ้างคนนั้นยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายในฐานะตัวแทนของส่วนราชการนั้น ตามหลัก "ตัวการมีหน้าที่โดยประการใด ตัวแทนย่อมมีหน้าที่โดยประการนั้น"

ปุจฉา เงินได้ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร มีอย่างไรบ้าง

วิสัชนา เงินได้ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้แก่ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ทุกประเภท ตั้งแต่เงินได้ตามมาตรา 40 (2) ถึง (8) ดังนี้

1. เงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากการรับทำงานให้

2. เงินได้ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือค่าแห่งสิทธิอย่างอื่น

3. เงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้า บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดอกเบี้ยพันธบัตรที่องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ของรัฐวิสาหกิจ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้กู้ เป็นต้น

4. เงินได้ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าอาคารสถานที่ ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าเช่าเครื่องจักร และอุปกรณ์ เป็นต้น

5. เงินได้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น เงินได้จากการประกอบโรคศิลป์ กฎหมาย บัญชี วิศวกรรม สถาปัตยกรรม หรือประณีตศิลปกรรม

6. เงินได้ตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับเหมาต้องจัด หาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การจ้างเหมาก่อสร้าง การจ้างเหมาติดตั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ การจ้างเหมาตกแต่ง เป็นต้น

7. เงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในกรณีนี้ ได้แก่ เงินได้จาก การธุรกิจ เช่น ค่าจ้างทำความสะอาด ค่าจ้างเฝ้ายาม หรือค่ารักษาความปลอดภัย ค่าที่พักในโรงแรม ค่าอาหาร ค่าบริการตามสัญญาจัดจ้างอื่นๆ เป็นต้น การพาณิชย์ เช่น ค่าจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือ เช่น ค่าจ้างเหมาขนส่ง เป็นต้น และการอื่นใดที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (1)  ถึง (7) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น รางวัลจากการประกวด การแข่งขัน เป็นต้น

ปุจฉา เงินได้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่ไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร มีประการใดหรือไม่

วิสัชนา เงินได้พึงประเมินกรณีดังกล่าว ได้แก่
1. เงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หรือ

2. เงินได้ตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้ง ขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา ผู้มีเงินได้ใดบ้างที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

วิสัชนา ผู้มีเงินได้ที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในกรณีนี้ ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังต่อไปนี้
1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทย
3. กิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรในประเทศไทย โดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
4.  กิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย
5. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีเงินได้ ที่มิใช่มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้ เป็นองค์การสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร 

ปุจฉา อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ กำหนดไว้อย่างไร

วิสัชนา ให้รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นผู้จ่ายเงินได้ตามข้อ 1 คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับเงินได้พึงประเมินที่มีจำนวนตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16)) แต่ทั้งนี้ ไม่รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กองสลากจ่ายค่าซื้อกระดาษให้แก่บริษัทจำกัดแห่งหนึ่งจำนวน 1,000,000 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 เป็นเงิน 70,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,070,000 บาท เช่นนี้ ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของราคาสินค้าเท่านั้น คิดเป็นเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย (1,000,000 x 1%) = 10,000 บาท 

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์