มิถุนายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 2 มิถุนายน, 2010 | รับทำเงินเดือน - Part 2

ทุนจดทะเบียนที่ดีต้องมีการวางแผน

       โดยปกติกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจและต้องการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดนั้น ย่อมต้องกำหนดทุนของบริษัทขึ้นมาตั้งแต่ตอนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ หากแต่ท่านทราบหรือเข้าใจคำว่า “ทุนจดทะเบียน” และ “ทุนเรียกชำระ” หรือไม่ว่ามีความแตกต่างกันเพียงใด และจะมีผลกระทบกับบริษัทของท่านอย่างไรหากขาดการวางแผนที่ดี

       คำว่า “ทุนจดทะเบียน” นั้นคือ ทุนของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือบริคณฑ์สนธิ โดยจะแบ่งเป็นจำนวนหุ้น และราคาต่อหุ้น หรือ ที่เรียกว่าราคาพาร์ ส่วนคำว่า “ทุนเรียกชำระ” คือ เงินที่ได้เรียกชำระจากผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งอาจจะน้อยกว่าหรือเท่ากับ จำนวนทุนจดทะเบียนก็ได้ โดยตามกฎหมายได้กำหนดว่าจะต้องเรียกชำระค่าหุ้นไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน เช่น บริษัท ทุนเหลือเฟือ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นจำนวน 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ผู้ถือหุ้นทั้งหมดต้องชำระค่าหุ้นขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 250,000 บาท หรือ ไม่น้อยกว่าหุ้นละ 25 บาทนั่นเอง

       จำนวนหุ้นและเงินที่ชำระแล้วต่อหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคนนั้น เราสามารถดูได้จากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ แบบ บอจ.5 ที่นำส่งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ตอนจดทะเบียนบริษัท แต่ปัญหาก็คือ บางบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่อาจไม่ทราบข้อกำหนดดังกล่าว จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามแต่ ท่านอาจลงรายการในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามทุนจดทะเบียน ซึ่งเสมือนหนึ่งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า ปัญหาที่ตามมาประการแรกก็คือ เป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบันทึกบัญชีและการคำนวณภาษีเงินได้อีกทอดหนึ่ง

       มองภาพง่าย ๆ ก็คือ ถ้าบริษัท ทุนเหลือเฟือ จำกัด ลงรายการในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า มีเงินชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า 1 ล้านบาท แต่ความเป็นจริงได้มีการชำระค่าหุ้นเพียงแค่ 250,000 บาท เป็นต้น เท่ากับว่าเงินส่วนที่เหลืออีก 750,000 ได้หายออกไปจากบัญชี ในแง่ของการทำบัญชีอาจต้องปรับปรุงรายการ โดยการถือเสมือนว่าผู้ถือหุ้นได้กู้ยืมเงินไปจากบริษัท แต่ในแง่ของกรมสรรพากรจะไม่เพียงแค่เสมือนว่า มีการกู้ยืมเงินไปจากบริษัทเท่านั้น แต่ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสินทรัพย์ที่ต้องคิดค่าตอบแทนหรือคำนวณดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมดังกล่าวด้วย

       ท่านเอสเอ็มอีคงเริ่มเห็นความยุ่งยากที่ตามมาเพราะการคำนวณดอกเบี้ยรับเข้าไปในงบการเงินย่อมหมายถึงการเพิ่มฐานกำไรสุทธิในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือถึงแม้ว่า เราจะไม่ปรับปรุงรายการเข้าไปในงบการเงินแต่ในการคำนวณภาษีก็ยังคงต้องปรับเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยรับเข้าไปอยู่ดี

       ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะเริ่มจดทะเบียนบริษัท จึงควรวางแผนเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนให้ดีเสียก่อนว่า ระดับทุนเท่าใดที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจและผู้ถือหุ้นมีความสามารถชำระค่าหุ้นได้ และ ควรแจ้งข้อมูลที่เป็นจริงแก่กระทรวงพาณิชย์ในการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาทุนเกินเงิน ดังที่กล่าวมาแล้ว
       อย่างไรก็ตาม ท่านเอสเอ็มอี ที่ได้ประสบปัญหาดังกล่าวอยู่ ก็ยังพอมีทางเลือกให้ปฏิบัติอยู่บ้าง ได้แก่

       • การลดทุนจดทะเบียนให้เท่ากับทุนที่มีอยู่จริง
       • เรียกชำระค่าหุ้นให้ครบจำนวนตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
       • คำนวณดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม โดยรวมคำนวณเป็นรายได้ดอกเบี้ยรับเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

       ทางเลือกที่ 3 ออกจะเป็นทางเลือกที่ไม่น่าเลือกเท่าไรเพราะดูเหมือนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่บริษัทของเราเลย อีกทั้งยังต้องเสียภาษีโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ดังนั้น แนะนำว่าท่านเอสเอ็มอี ควรวางแผนให้ถูกต้องตั้งแต่แรกจะเป็นการดีที่สุด

* * * บทความโดย : ดุลวรรณ์ สกุลดี * * *

ที่มา..ผู้จัดการออนไลน์

อัตราค่าแรงขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

ครม.มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในอัตรา 1-8 บาท จำนวน 71  จังหวัด และอีก 5 จังหวัด มีมติให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในอัตราเดิม ตามที่คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเสนอ ไม่ปรับ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 

ทั้งนี้ มีจังหวัดที่ไม่ปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 5 จังหวัด และปรับค่าจ้างแรงงาน 71 จังหวัด โดย 5 จังหวัดที่ไม่ปรับ ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน อัตราค่าจ้าง 151 บาท สุโขทัย 153 บาท เชียงราย 157 บาท เพชรบูรณ์  155 บาท และอุทัยธานี 158 บาท

ส่วนอีก 71 จังหวัดมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1-8 บาท ประกอบด้วย จังหวัดที่ปรับค่าจ้าง 1 บาท มี 7 จังหวัดได้แก่   น่าน ปรับจาก 151 บาท เป็น 152 บาทพะเยา ปรับจาก 150 บาท เป็น 151 บาท  แพร่ ปรับจาก 150 บาท เป็น 151 บาท  พิษณุโลก ปรับจาก 152 บาทเป็น 153 บาท อุตรดิตถ์ ปรับจาก 152 บาท เป็น 153 บาท พิจิตร ปรับจาก 150 บาท เป็น 151  บาท เลย ปรับจาก162 บาท เป็น 163 บาท

จังหวัดที่ปรับค่าจ้างเพิ่ม 2 บาทรวม 20  จังหวัด ได้แก่  ลำปาง ปรับจาก 154 บาท เป็น 156 บาท    ตาก ปรับจาก151 บาท เป็น 153 บาท กำแพงเพชร ปรับจาก 156 บาท เป็น 158 บาท หนองคาย ปรับจาก 157 บาทเป็น 159 บาท อุดรธานี ปรับจาก 157 บาทเป็น 159 บาท หนองบัวลำภู ปรับจาก 154 บาท เป็น 156 บาท นครพนม ปรับจาก 153 บาท เป็น 155 บาท มุกดาหาร ปรับจาก 153 บาท เป็น 155 บาท สกลนคร ปรับจาก 155 บาทเป็น 157 บาท กาฬสินธุ์ ปรับจาก 155 บาท เป็น 157 บาท สุรินทร์ ปรับจาก 151 บาท เป็น 153 บาท บุรีรัมย์ ปรับจาก 155 บาท เป็น 157 บาท อำนาจเจริญ ปรับจาก 153  บาทเป็น 155 บาท ศรีสะเกษ ปรับจาก 150 บาท เป็น 152 บาท ยโสธร ปรับจาก 155 บาท เป็น 157 บาท ชุมพร ปรับจาก 158 บาท เป็น 160 บาท นนทบุรี ปรับจาก 203 บาท เป็น 205 บาท ปทุมธานี ปรับจาก 203 บาท เป็น 205 บาท  นครปฐม ปรับจาก 203 บาท เป็น 205 บาท และสมุทรสาคร ปรับจาก 203 บาท เป็น 205 บาท

อีก 11 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 3 บาท  ได้แก่  เชียงใหม่ ปรับจาก 168 บาท เป็น 171 บาท นครสวรรค์ ปรับจาก 155 บาท เป็น 158บาท ราชบุรี ปรับจาก 164 บาท เป็น 167 บาท    สมุทรสงครามปรับจาก 160 บาท เป็น 163 บาท ร้อยเอ็ด ปรับจาก 154 บาท เป็น 157 บาท    ขอนแก่น ปรับจาก 154 บาท เป็น 157 บาท    มหาสารคาม ปรับจาก 151 บาท เป็น 154 บาท    นครราชสีมา ปรับจาก 170 บาท เป็น 173 บาทสระแก้ว ปรับจาก 160บาท เป็น 163 บาท  กรุงเทพมหานคร ปรับจาก 203 บาท เป็น 206 บาท และสมุทรปราการ ปรับจาก 203 บาท เป็น 206บาท  

สำหรับ 20 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 4 บาท ประกอบด้วย ลำพูน ปรับจาก 156 บาท เป็น 160 บาท นครนายก ปรับจาก 156 บาท เป็น160 บาท ชลบุรี ปรับจาก 180 บาท เป็น 184 บาท    จันทบุรี ปรับจาก 163 บาท เป็น 167 บาท ตราด ปรับจาก 156 บาท เป็น 160 บาท ชัยนาท ปรับจาก 154 บาท เป็น 158 บาท สิงห์บุรี ปรับจาก 161 บาท เป็น 165 บาท   อ่างทอง ปรับจาก 161 บาท เป็น 165 บาท    กาญจนบุรีปรับจาก 165 บาท เป็น 169 บาท    สุพรรณบุรี ปรับจาก 154 บาท เป็น 158 บาท เพชรบุรี ปรับจาก 164 บาท เป็น 168 บาท ประจวบคีรีขันธ์ ปรับจาก 160 บาท เป็น 164 บาท  ชัยภูมิ ปรับจาก 152 บาท เป็น 156 บาท  ระนอง ปรับจาก 169 บาท เป็น 173 บาท    สุราษฎร์ธานี ปรับจาก 155 บาทเป็น 159 บาท นครศรีธรรมราช ปรับจาก 155 บาท เป็น 159 บาท  พัทลุง ปรับจาก 155 บาท เป็น 159 บาท   สงขลา ปรับจาก 157 บาท เป็น161 บาท สตูล ปรับจาก 155 บาท เป็น 159 บ าท และปัตตานี ปรับจาก 155 บาท เป็น 159 บาท

6 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 5 บาท ได้แก่  ระยอง ปรับจาก 173 บาท เป็น 178 บาท สระบุรี ปรับจาก 179 บาทเป็น 184 บาท พังงาปรับจาก 168 บาท เป็น 173 บาท กระบี่ ปรับจาก 165 บาท เป็น 170 บาท ตรัง ปรับจาก 157 บาท เป็น 162 บาท และยะลา ปรับจาก 155 บาท เป็น160 บาท  ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดเดียวที่ได้ปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำขึ้นอีก 6 บาท หรือจาก 154 บาท เป็น 160 บาท

ขณะที่ 5 จังหวัดที่ได้ปรับขึ้น 5 บาท ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปรับจาก 173 บาท เป็น 180 บาท ปราจีนบุรี ปรับจาก 163 บาท เป็น 170 บาท ลพบุรี ปรับจาก163 บาทเป็น 170 บาท นราธิวาส ปรับจาก 153 บาทเป็น 160 บาท ภูเก็ต ปรับจาก 197 บาทเป็น 204 บาท  ด้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ปรับขึ้น 8 บาทจาก 173 บาท เป็น 181 บาท

ดูตารางสรุป

MinimumWage-2553-rz

ข้อมูลอ้างอิง : ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 3)

ปัญหาภาษีสำหรับกิจการนายหน้าประกันภัย

กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิต

และนายหน้าประกันชีวิต ไว้นานแล้วตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 ลงวันที่ 17 กันยายน 2545 จึงเห็นควรนำมาปัดฝุ่นทบทวนในส่วนที่เป็นปัญหาทางภาษีอากรของกิจการดังกล่าว โดยนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคำว่า “บริษัทประกันชีวิต” “ตัวแทน” “นายหน้า” “หัวหน้าตัวแทน” และคำว่า “ค่าตอบแทน” ไว้อย่างไร

วิสัชนา ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545 ได้กำหนดนิยามศัพท์ของแต่ละคำดังกล่าวไว้ดังนี้
     1. คำว่า “บริษัทประกันชีวิต” หมายความว่า บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต (ซึ่งในปัจจุบันมีข้อกำหนดให้แยกต่างหากจากกิจการประกันวินาศภัยโดยเด็ดขาด แล้ว)

     2. คำว่า “ตัวแทน” หมายความว่า ตัวแทนประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับตัวแทนประกัน ชีวิตให้แก่บุคคลใดๆ

     3. คำว่า “นายหน้า” หมายความว่า นายหน้าประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และหมายความรวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับนายหน้าประกัน ชีวิตให้แก่บุคคลใดๆ

     4. คำว่า “หัวหน้าตัวแทน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อตกลงหรือข้อผูกพันกับบริษัทประกันชีวิตให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ นำกลุ่มซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือด้วยประการอื่นใด แก่ตัวแทนที่อยู่ในกลุ่มหรืออยู่ในทีมหรือในลักษณะทำนองเดียวกับกลุ่ม หรือทีม ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าเขต หรือหัวหน้าภาค หรือเรียกเป็นอย่างอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน โดยจะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันชีวิต

     5. คำว่า “ค่าตอบแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อย่างอื่นที่คำนวณได้เป็นเงิน รวมทั้งค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นค่าบำเหน็จ ค่าธรรมเนียม ส่วนลด รางวัล โบนัส หรือเรียกเป็นอย่างอื่นที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับเนื่อง จากการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน

ปุจฉา ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนได้รับถือเป็นเงินได้ประเภทใด

วิสัชนา โดยทั่วไป ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

     อย่างไรก็ตาม ค่าตอบแทนที่ตัวแทน หรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนได้รับอาจถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรได้ หากตัวแทน หรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนมีหลักฐานในการประกอบกิจการให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจและสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบ กิจการได้ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการดังนี้

         (1) ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและ
         (2) ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือเช่าจากบุคคลอื่น โดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน และ
         (3) มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และ
         (4) มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด.1 ก.
         (5) มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า และ
         (6) มีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้
        ซึ่งจะมีผลทำให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ค่าใช้จ่ายจริง) จะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาดังเช่นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้อีกต่อไป
ปุจฉา กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับประโยชน์จากการที่บริษัท ประกันชีวิตได้ให้ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศหรือไปสัมมนาที่ต่างประเทศ ต้องถือรวมเป็นเงินได้ค่าตอบแทนหรือไม่

วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้นำมูลค่าของประโยชน์ที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากการ ไปท่องเที่ยวหรือสัมมนาในต่างประเทศดังกล่าว ถือเป็นค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัท ประกันชีวิตที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วย

ปุจฉา กรณีบริษัทประกันชีวิตมีนโยบายให้รางวัลแก่ตัวแทนประกันชีวิต หรือนายหน้าประกันชีวิตหรือหัวหน้าตัวแทน ที่ทำผลงานได้ดีเด่น หรือทำรายได้ได้ตามเป้า ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทประกันชีวิตกำหนดไว้ โดยให้รางวัลเป็นเงินหรือทรัพย์สิน ต้องถือรวมเป็นเงินได้ค่าตอบแทนหรือไม่

วิสัชนา รางวัลดังกล่าวย่อมถือเป็นค่าตอบแทนของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิต ซึ่งต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วยเช่นกัน

(1)

ขอนำปัญหามาการเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้า ประกันชีวิต

ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 มาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา กรณีตัวแทนหรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนมีเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 พร้อมกับชำระภาษีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นฝ่ายภริยา และได้อยู่ร่วมกันกับสามีตลอดปีภาษีในปีที่มีเงินได้ ให้ถือเอาเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา กรณีตัวแทนหรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนมีเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษี ดังนี้

1. ค่าตอบแทนที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ให้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.94 พร้อมกับชำระภาษีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

2. ค่าตอบแทนที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ให้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 พร้อมกับชำระภาษีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยให้นำภาษีที่ชำระไว้แล้วตาม 1. มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้ ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นฝ่ายภริยาและได้อยู่ร่วมกันกับสามีตลอดปีภาษีในปีที่มีเงินได้ ให้ถือเอาเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่ง กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งได้มีการรวมกับบุคคลอื่นใน ลักษณะเป็นกลุ่มหรือทีมหรือในลักษณะทำนองเดียวกันในการหาผู้เอาประกันชีวิต โดยตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ เป็นตัวแทนหรือนายหน้าเพียงคนเดียว แต่ปรากฏหลักฐานว่าให้มีการรับเงินค่าตอบแทนในชื่อบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้รับค่าตอบแทนจริงหรือไม่ ให้ถือว่าค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินได้ของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัว แทนนั้นทั้งจำนวน เช่น นาย ก. เป็นตัวแทนประกันชีวิต ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตตามกรมธรรม์ที่นาย ก. เป็นตัวแทนในการหาประกันชีวิตแต่เพียงผู้เดียว แต่ได้มีการจ่ายค่าตอบแทนในชื่อของบุคคลอื่นที่อยู่ในกลุ่มหรือทีมในการหา ประกันชีวิตของนาย ก. ด้วย ถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้นาย ก. เพียงคนเดียว

ปุจฉา กรณีตัวแทนหรือนายหน้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร

วิสัชนา กรณีนายหน้าประกันชีวิตซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับค่า ตอบแทนจากการเป็นนายหน้าประกันชีวิต ต้องนำมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา นายหน้าหรือตัวแทนหรือหัวหน้าตัวแทนต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่อย่างไร

วิสัชนา การให้บริการของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนแก่บริษัทประกันชีวิต หรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำรายรับซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้

1. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ.2548 จึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตามหากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนดังกล่าว ประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้กระทำได้โดยให้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.01 ได้โดยทันทีที่มีความประสงค์

2. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,200,000 บาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตรา 7% ของมูลค่าของฐานภาษี

ปุจฉา กรณีบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทน หรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่อย่างไร

วิสัชนา บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อกรมสรรพากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

(2)

ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 มาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา บริษัทประกันชีวิตที่เป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทน หรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา บริษัทประกันชีวิตที่เป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทน หรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทน ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังนี้

1. กรณีจ่ายค่าตอบแทนที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ให้คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

  (1) กรณีการจ่ายค่าตอบแทนที่สามารถคำนวณหาจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย (ต่อปี) ได้ให้คำนวณหาจำนวนค่าตอบแทนเสมือนว่าได้จ่ายทั้งปี โดยให้นำค่าตอบแทนที่จ่ายแต่ละคราวคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายในปีภาษี นั้น ได้จำนวนเท่าใดให้นำค่าตอบแทนเสมือนจ่ายทั้งปีนั้น มาคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ นำมาหัก ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ได้จำนวนภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำมาหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายทั้งปี ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในแต่ละคราวที่จ่ายเงิน

(2) กรณีมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนค่าตอบแทนที่จ่ายระหว่างปีให้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายใหม่ทุกคราว ตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น

(3) กรณีมีการจ่ายเงินพิเศษเป็นครั้งคราวระหว่างปี เช่น รางวัล โบนัส หรือประโยชน์จากการได้ไปสัมมนาหรือท่องเที่ยว ให้นำเงินพิเศษนั้นคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย (ต่อปี) เพื่อหาจำนวนเงินพิเศษเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี และให้นำมารวมเข้ากับค่าตอบแทนที่จ่ายตามปกติที่คำนวณได้เสมือนหนึ่งว่าได้ จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีใหม่ ตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ นำมาหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้นำภาษีที่คำนวณจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามปกติทั้งปี (ก่อนจ่ายเงินพิเศษ) หักออกได้ผลลัพธ์เป็นเงินภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินพิเศษซึ่งจ่ายเป็นครั้งคราวนั้น แล้วให้นำมารวมกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินที่จ่ายตามปกติในคราวนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นเงินภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายทั้งสิ้น ในคราวที่มีการจ่ายเงินพิเศษนั้น

2. กรณีจ่ายค่าตอบแทนที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

3. กรณีจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นายหน้า ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ให้ผู้จ่ายหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 

ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวการนำค่าตอบแทนไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิของกิจการประกันชีวิตอย่างไร

วิสัชนา บริษัทประกันชีวิตซึ่งได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้า ตัวแทน และพิสูจน์ได้ว่ารายจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นรายจ่าย เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และสามารถพิสูจน์ตัวผู้รับได้ ค่าตอบแทนดังกล่าวย่อมนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุน สุทธิในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร

รายจ่ายค่าตอบแทนที่บริษัทประกันชีวิตได้จ่ายไป เพื่อให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับประโยชน์จากรายจ่ายดัง กล่าว เช่น รายจ่ายเพื่อให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนไปท่องเที่ยวหรือสัมมนา ในต่างประเทศ ที่จะเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามวรรคหนึ่ง จะต้องเป็นรายจ่ายที่บริษัทประกันชีวิตได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน และมีข้อผูกพันที่จะต้องให้ประโยชน์แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ตามระเบียบ หรือข้อกำหนดของบริษัทประกันชีวิตที่ประกาศให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้า ตัวแทนทราบโดยทั่วกัน

ปุจฉา การจ่ายค่าตอบแทนของกิจการอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกิจการประกันชีวิต จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับกิจการประกันชีวิตหรือไม่อย่างไร

วิสัชนา กรมสรรพากรกำหนดให้นำรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนดังได้กล่าวมาแล้ว ทั้งหมดไปใช้บังคับสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีเงินได้ลักษณะทำนองเดียวกับตัว แทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต เช่น ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย ตัวกลางค้าข้าว (หยง) ด้วย

(3)

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์