Company | รับทำเงินเดือน Company | รับทำเงินเดือน

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีคนต่างด้าวร่วมลงทุนหรือมีคนต่างด้าวเป็นกรรมการ

จากเดิมบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นตั้งแต่ 40% ขึ้นไป กำหนดให้ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทที่เป็นคนไทยทุกคน ต้องส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุนประกอบคำขอจดทะเบียน เช่น สำเนาสมุดเงินฝากธนาคารหรือสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคาร 6 เดือน หรือเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น หรือสำเนาหลักฐานที่แสดงแหล่งที่มาของเงินลงทุนหรือถือหุ้น หลักฐานดังกล่าว จะต้องแสดงจำนวนเงินที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นนำมาลงหุ้นหรือถือหุ้นแต่ละราย แต่ถ้าคนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึง 40% ก็ไม่ต้องแสดงที่มาของเงินลงทุน แต่ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2556 เป็นต้นไป ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่มีคนต่างด้าวถือหุ้น หุ้นส่วนหรือผู้ร่วมก่อตั้งคนไทยทุกคนต้องส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุน (Bank Statemenet)

—————————————————————-

ประกาศสำนักทะเบียนธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์

ด้วยปรากฏว่ามีชาวต่างชาติประกอบธุรกิจบางประเภทโดยมิได้รับอนุญาต โดยจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจํากัดโดยให้คนไทยลงทุนหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ดังนั้นเพื่อให้การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจํากัดที่มีคนต่างด้าวร่วมลงทุน หรือคนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้มีอํานาจลงนามหรือร่วมผูกพันบริษัท เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง จึงได้ออกคําสั่งที่ 205/2555 ให้ผู้ขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว ส่งเอกสารหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยทุกคนประกอบคําขอจดทะเบียนโดยเอกสารดังกล่าว ต้องแสดงจํานวนเงินที่สอดคล้องกับจํานวนเงินที่นํามาลงหุ้นหรือถือหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นแต่ละราย ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) กรณีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัดมีผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นที่เป็นคนต่างด้าวลงหุ้นหรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัดไม่ถึงร้อยละ 50 ของเงินลงหุ้นหรือทุนจดทะเบียน

(2) กรณีบริษัทจํากัดไม่มีคนต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้น แต่คนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้มีอํานาจลงนาม หรือร่วมลงนามผูกพันบริษัท

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2556 เป็นต้นไป

………………………………………………………..

ฝ่ายบริหารทั่วไป สํานักทะเบียนธุรกิจ

จองชื่อนิติบุคคลผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตเพียงช่องทางเดียว

เดิมทีการจองชื่อนิติบุคคล สามารถยื่นคำร้องขอจองชื่อผ่านหน่วยงานของกรม กระทรวงพาณิชย์ โดยกรอกใบคำขอ “แบบจองชื่อนิติบุคคล” แล้วนายทะเบียนก็จะทำการลงทะเบียนจองชื่อให้ต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 14/01/2556 เป็นต้นไป กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ปรับปรุงระบบการจองชื่อและเพื่อให้มีการแจ้งผลได้รวดเร็วขึ้น จึงปรับให้จองชื่อนิติบุคคลผ่านระบบอินเตอร์เพียงช่องทางเดียว จากประสบการณ์ในจองชื่อบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ่านระบบอินเตอร์พบว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วัน ถึงจะทราบผลการอนุมัติ ทั้งนี้นายทะเบียนจะต้องเป็นผู้สั่งอนุมัติชื่ออีกครั้ง เนื่องจากระบบตรวจสอบชื่อยังไม่ละเอียดพอ เช่น กรณีสะกดคำไม่เหมือนกัน ระบบก็จะมองว่าชื่อไม่ซ้ำกัน เช่น บางชื่อใส่ ร์ บางชื่อก็ไม่ใส่ เป็นต้น

ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2556 เป็นต้นไป กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พัฒนาระบบการตรวจและจองชื่อนิติบุคคล โดยผู้ขอจดทะเบียนสามารถตรวจสอบชื่อที่ต้องการใช้ได้ด้วยตนเอง  ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ก่อนทําการจองชื่อว่าชื่อที่ต้องการใช้เหมือนหรือมีเสียงเรียกขานตรงกัน หรือคล้ายคลึงกับนิติบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วหรือไม่ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ของกรมฯ  จะประมวลผลและแสดงข้อมูลชื่นิติบุคคลที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับชื่อที่ต้องการตรวจ เพื่อให้พิจารณาและตัดสินใจเองว่าจะใช้ชื่อนั้นหรือไม่  และเมื่อตรวจสอบแล้วว่าชื่อดังกล่าวไม่เหมือนหรือมีเสียงเรียกขานตรงกัน หรือคล้ายกับนิติบุคคลอื่น ให้ดําเนินการจองชื่อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต  ทั้งนี้ นายทะเบียนจะตรวจสอบชื่อที่ขอจองอีกครั้งเฉพาะประเด็น ดังต่อไปนี้

– ชื่อที่ใช้คําที่ขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐหรือชื่อที่ใช้คําที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
– ชื่อที่ใช้ภาษาต่างประเทศมีความหมายหรือมีเสียงเรียกขานไม่ตรงกับชื่อภาษาไทย
– ชื่อที่ใช้คําหรือตัวอักษรไม่ถูกหลักภาษาไทย

หากชื่อที่ใช้เหมือนหรือมีเสียงเรียกขานตรงกัน หรือคล้ายคลึงกับชื่อนิติบุคคลอื่น  ผู้ขอจองชื่อ/ห้างหุ้นส่วน/บริษัทจํากัด ต้องรับผิดชอบในการใช้ชื่อนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18  มาตรา 67 และมาตรา 1115 และต้องจดทะเบียนแก้ไขชื่อทันทีที่ทราบหรือควรทราบ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจองชื่อ ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่หน่วยงานของกรม และมีการแจ้งผลการจองชื่อได้รวดเร็วขึ้น จึงได้ปรับช่องทางจองชื่อให้จองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพียงช่องทางเดียว

หมายเหตุ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 18 สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้น ถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์ เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอํานาจให้ใช้ได้ก็ดี บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้  ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

มาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอํานาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกําหนดไว้ในกฎหมายข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง

มาตรา 67 ภายใต้บังคับมาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น

มาตรา 1115 ถ้าหากว่าชื่อบริษัทซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิพ้องกับชื่อบริษัทอื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้วก็ดีหรือพ้องกับชื่อซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิฉบับอื่นอันได้จดทะเบียนแล้วก็ดีหรือคล้ายคลึงกับชื่อเช่นกล่าวนั้นจนน่าจะลวงให้มหาชนหลงไปได้ก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้ที่มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เริ่มก่อการบริษัทก็ได้และจะร้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้เปลี่ยนชื่อนั้นเสียใหม่ก็ได้

เมื่อศาลมีคําสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องบอกชื่อซึ่งเปลี่ยนใหม่นั้นจดลงทะเบียนแทนชื่อเก่า และต้องแก้ใบสําคัญการจดทะเบียนด้วยตามกันไป

ที่มา .. ฝ่ายพิจารณาอนุญาตชื่อนิติบุคคล  ส่วนบริหารการจดทะเบียน  สํานักทะเบียนธุรกิจ โทร. 0 2547 4450   e–mail : nameit@dbd.go.th 

การลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ด้วยทรัพย์สินหรือแรงงาน

การลงทุนในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท โดย การลงหุ้นด้วยทรัพย์สิน การลงหุ้นด้วยแรงงาน และผลทางภาษีอากร

ในการลงทุนทางธุรกิจนั้น ผู้ลงทุนมีสิทธิเลือกลงทุนได้ทั้ง เงิน ทรัพย์สิน และแรงงาน ดังในตัวบทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1026 "ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน สิ่งที่นำมาลงด้วยนั้น จะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้"

มาตรา 1108 "กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัทนั้น คือ
(1) ทำความตกลงตั้งข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัท
(2) ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง อย่างใดซึ่งเขาต้องออกไปในการเริ่มก่อบริษัท
(3) วางกำหนดจำนวนเงินซึ่งจะให้แก่ผู้เริ่มก่อการ ถ้าหากมีเจตนาว่าจะให้
(4) วางกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ ทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิแห่งหุ้นนั้น ๆ ว่าเป็นสถานใดเพียงใด ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
(5) วางกำหนดจำนวนหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่า ได้ใช้เต็มค่าแล้วหรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้ว เพราะใช้ให้ด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน และกำหนด ว่าเพียงใดซึ่งจะถือเอาเป็นว่าได้ใช้เงินแล้ว ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
ให้แถลงในที่ประชุมโดยเฉพาะว่า ซึ่งจะออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิให้ เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินแล้วเช่นนั้น เพื่อแทนคุณแรงงานหรือตอบแทนทรัพย์สินอย่างใดให้ พรรณนาจงชัดเจนทุกประการ
(6) เลือกตั้งกรรมการและพนักงานสอบบัญชีอันเป็นชุดแรกของบริษัท และ วางกำหนดอำนาจของคนเหล่านี้ด้วย"

อ่าน แล้วคิดอย่างไรกันบ้างครับ…สรุปได้ว่ากฎหมายเปิดช่องให้เราได้มีโอกาส เลือกที่จะลงทุนไว้ แต่จะมีสักกี่คนที่เลือกลงทุนด้วยทรัพย์สินและแรงงาน บ้างก็ว่ากฎหมายระบุไว้ให้ลงได้แต่เงิน, เดี่ยวนี้เขาไม่ทำกันแล้ว, ยาก, ทำได้แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัททำไม่ได้ หรือไม่ก็จริงๆ ลงทุนกันไว้เป็นทรัพย์สิน หรือ แรงงาน แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียน เพราะอาจทำไม่เป็นหรือไม่ทราบว่าทำได้

วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันโดยละเอียด

บางคนอาจต้องการลงทุนในห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท แต่ไม่มีเงินทุนมากเพียงพอ ก็สามารถแปลงสินทรัพย์ และแรงงานของท่าน มาเป็นทุนของห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัทได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โต๊ะ อุปกรณ์ออฟฟิศ รถบรรทุก เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แผนธุรกิจ สูตรลับต่างๆ เป็นต้นวิธีนี้จะช่วยทำให้คุณสามารถหาสมัครพรรคพวกที่มีความสามารถ มีอุดมการณ์ร่วมกัน แต่ไม่มีเงินมาช่วยกันสร้างธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องใช้การลงทุนด้วยเงินเพียงอย่างเดียว

การใช้ทรัพย์สินและแรงงาน มาลงทุนนั้น ใช่ว่าใครอยากจะใช้อะไรมาลงก็ได้ จะตีราคาให้มากน้อยได้ตามอำเภอใจนะครับ

ทรัพย์สินหรือแรงงานที่จะนำมาลงทุน ต้องเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการ โดยจะตีราคาตามมูลค่ายุติธรรม (ตลาด) ต้องเป็นสิ่งที่หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ยอมรับ เพราะถ้าหากมีการตีราคาเกินจริง ก็จะถูกลงโทษ ตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499

มาตรา 48 "ผู้ใดโดยทุจริต กำหนดค่าแรงงาน หรือทรัพย์สินที่นำมาลงในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด แทนเงินค่าหุ้นให้สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท"

ส่วน การใช้แรงงานแลกหุ้นนั้น ก็จะต้องเป็นตาม ระเบียบว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ.2549 เขาระบุไว้ดังนี้ครับ

ข้อ 44 "หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจะลงทุนด้วยแรงงานไม่ได้"

ข้อ 45 "แรงงานที่จะนำมาตีราคาเป็นทุนจดทะเบียนในห้างหุ้นส่วน จะเป็นแรงงานที่ได้กระทำไปแล้ว หรือ กระทำภายหลังการจดทะเบียน
เป็นห้างหุ้นส่วนก็ได้ (ห้างหุ้นส่วน) แรงงานที่จะนำมาตีราคาเป็น ค่าหุ้นของบริษัท” ต้องเป็นแรงงานที่ได้กระทำไปแล้ว" (บริษัทจำกัด)

ในกรณีบริษัท การที่ใครจะชำระค่าหุ้นเป็นแรงงานและทรัพย์สินได้สำเร็จ นอกจากเงื่อนไขข้างต้นแล้ว ในการประชุมเพื่อลงมติจะต้องได้รับมติเสียงข้างมาก อันมีคะแนนของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นรวมกัน ไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้งหมดซึ่งมีสิทธิลงคะแนนได้ และคิดตามจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นนั้นๆ ทั้งหมดด้วยกัน … ถ้าได้รับมติตามที่บอก ก็เป็นอันว่าเรียบร้อยครับ

::::::: เมื่อตัดสินใจที่จะลงทุนด้วยทรัพย์สินและแรงงานกันแล้ว ก็ต้องมีการวางแผนกันก่อนนะครับ เพราะอาจเป็นปัญหาขึ้นมาภายหลังได้ :::::::

การ ลงทุนด้วยแรงงานแลกกับหุ้นนั้น มูลค่าหุ้นที่ได้รับตอบแทนในบริษัทนั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ลงทุนจะต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการลงทุนด้วยแรงงานนี้ถือเหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินแล้ว จึงคืนเป็นเงินเมื่อเลิกบริษัทได้ครับ

ส่วน ในกรณีห้างหุ้นส่วนนั้น การลงหุ้นด้วยแรงงานเป็นการร่วมเข้าทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนเพื่อแบ่งผลกำไร เป็นการร่วมหัวจมท้ายกัน ขาดทุนก็แบ่งกันขาดทุน ถ้าได้กำไรจึงจะเอารายได้มาเสียภาษี โดยไม่ได้รับหุ้นเป็นการตอบแทนเหมือนกรณีบริษัท จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และ การลงทุนด้วยแรงงานนี้ หุ้นแรงงานเป็นทุนสมมุติ มิใช่ทุนทรัพย์อันแท้จริง ตามหลักบัญชีก็ไม่ลงบัญชีเงินทุน (Capital Account) จึงไม่ตีราคาคืนเมื่อเลิกห้างครับ

การนำทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่นอาคาร หรือที่ดิน มาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท ในทางภาษีถือว่าเป็นการขาย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ที่นำมาลงทุนต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ตามปกติในรอบปีภาษีนั้นด้วยนะครับ

การนำทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โต๊ะ อุปกรณ์ออฟฟิศ รถบรรทุก เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แผนธุรกิจสูตรลับต่างๆ โดยตีมูลค่าทรัพย์สินมาลงทุนในบริษัท ถือเป็นการนำสังหาริมทรัพย์มาลงเป็นหุ้น โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท และผู้ถือหุ้นได้หุ้นเป็นค่าตอบแทน ดังนั้นมูลค่าหุ้นที่ได้รับจึงเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
และหากทรัพย์สินตามข้อเท็จจริงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาโดยทางมรดก ประกอบกับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน นั้นสามารถคำนวณได้จากปริมาณและมูลค่า จึงถือได้ว่า ผู้โอนมีเจตนาได้มาโดยมุ่งในทางการค้า เข้าลักษณะเป็นการขาย สังหาริมทรัพย์ที่ได้มา โดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เป็นเหตุให้ไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้ถือหุ้นในบริษัทจะต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (เทียบเคียงได้กับข้อหารือภาษีอากร เลขที่ กค 0706/9344 เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง: http://www.rd.go.th/publish/30741.0.html)

ส่วนการลงหุ้นด้วยทรัพย์สินในห้างหุ้นส่วนนั้น ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม้ได้มีไว้เพื่อขาย หรือได้มาโดยมิได้มุ่งหวังทางการค้าหรือหากำไร ก็จะได้รับยกเว้น ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร

**การ นำทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์มาลงทุนนั้น ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นทรัพย์สินอันเป็นมรดก หรือ สังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ที่มิใช่เรือกำปั่นเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือ แพ ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร

แต่ ยังมีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกันอยู่นะครับว่า "การโอนที่ถือว่าเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้า หากำไร" จะมีได้ในกรณีใดบ้าง บางทีอาจเป็น ของใช้ส่วนตัว สิ่งของที่ใช้มาแล้ว หรือ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ถ้าเป็นประโยชน์แก่กิจการ และเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยหาเงินมาจ่ายภาษีให้คุณสรรพากร แล้วเอามาแลกหุ้นกับบริษัท ก็พอจะต่อรองกับเค้าได้บ้างนะ ลองพูดกับเขาดีๆ อธิบายกับเขาว่า การโอนทรัพย์สินนี้เป็นการลงทุน ไม่ได้มีเจตนาไปขายต่อหรือค้าหากำไร ถ้าไม้ได้มีสาระสำคัญมากนักเขาก็ไม่สนใจครับ