ปัญหาภาษีสำหรับกิจการนายหน้าประกันภัย | รับทำเงินเดือน ปัญหาภาษีสำหรับกิจการนายหน้าประกันภัย | รับทำเงินเดือน

ปัญหาภาษีสำหรับกิจการนายหน้าประกันภัย

กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิต

และนายหน้าประกันชีวิต ไว้นานแล้วตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 ลงวันที่ 17 กันยายน 2545 จึงเห็นควรนำมาปัดฝุ่นทบทวนในส่วนที่เป็นปัญหาทางภาษีอากรของกิจการดังกล่าว โดยนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคำว่า “บริษัทประกันชีวิต” “ตัวแทน” “นายหน้า” “หัวหน้าตัวแทน” และคำว่า “ค่าตอบแทน” ไว้อย่างไร

วิสัชนา ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545 ได้กำหนดนิยามศัพท์ของแต่ละคำดังกล่าวไว้ดังนี้
     1. คำว่า “บริษัทประกันชีวิต” หมายความว่า บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต (ซึ่งในปัจจุบันมีข้อกำหนดให้แยกต่างหากจากกิจการประกันวินาศภัยโดยเด็ดขาด แล้ว)

     2. คำว่า “ตัวแทน” หมายความว่า ตัวแทนประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับตัวแทนประกัน ชีวิตให้แก่บุคคลใดๆ

     3. คำว่า “นายหน้า” หมายความว่า นายหน้าประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และหมายความรวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับนายหน้าประกัน ชีวิตให้แก่บุคคลใดๆ

     4. คำว่า “หัวหน้าตัวแทน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อตกลงหรือข้อผูกพันกับบริษัทประกันชีวิตให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ นำกลุ่มซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือด้วยประการอื่นใด แก่ตัวแทนที่อยู่ในกลุ่มหรืออยู่ในทีมหรือในลักษณะทำนองเดียวกับกลุ่ม หรือทีม ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าเขต หรือหัวหน้าภาค หรือเรียกเป็นอย่างอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน โดยจะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันชีวิต

     5. คำว่า “ค่าตอบแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อย่างอื่นที่คำนวณได้เป็นเงิน รวมทั้งค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นค่าบำเหน็จ ค่าธรรมเนียม ส่วนลด รางวัล โบนัส หรือเรียกเป็นอย่างอื่นที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับเนื่อง จากการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน

ปุจฉา ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนได้รับถือเป็นเงินได้ประเภทใด

วิสัชนา โดยทั่วไป ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

     อย่างไรก็ตาม ค่าตอบแทนที่ตัวแทน หรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนได้รับอาจถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรได้ หากตัวแทน หรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนมีหลักฐานในการประกอบกิจการให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจและสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบ กิจการได้ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการดังนี้

         (1) ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและ
         (2) ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือเช่าจากบุคคลอื่น โดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน และ
         (3) มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และ
         (4) มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด.1 ก.
         (5) มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า และ
         (6) มีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้
        ซึ่งจะมีผลทำให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ค่าใช้จ่ายจริง) จะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาดังเช่นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้อีกต่อไป
ปุจฉา กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับประโยชน์จากการที่บริษัท ประกันชีวิตได้ให้ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศหรือไปสัมมนาที่ต่างประเทศ ต้องถือรวมเป็นเงินได้ค่าตอบแทนหรือไม่

วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้นำมูลค่าของประโยชน์ที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากการ ไปท่องเที่ยวหรือสัมมนาในต่างประเทศดังกล่าว ถือเป็นค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัท ประกันชีวิตที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วย

ปุจฉา กรณีบริษัทประกันชีวิตมีนโยบายให้รางวัลแก่ตัวแทนประกันชีวิต หรือนายหน้าประกันชีวิตหรือหัวหน้าตัวแทน ที่ทำผลงานได้ดีเด่น หรือทำรายได้ได้ตามเป้า ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทประกันชีวิตกำหนดไว้ โดยให้รางวัลเป็นเงินหรือทรัพย์สิน ต้องถือรวมเป็นเงินได้ค่าตอบแทนหรือไม่

วิสัชนา รางวัลดังกล่าวย่อมถือเป็นค่าตอบแทนของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิต ซึ่งต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วยเช่นกัน

(1)

ขอนำปัญหามาการเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้า ประกันชีวิต

ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 มาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา กรณีตัวแทนหรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนมีเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 พร้อมกับชำระภาษีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นฝ่ายภริยา และได้อยู่ร่วมกันกับสามีตลอดปีภาษีในปีที่มีเงินได้ ให้ถือเอาเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา กรณีตัวแทนหรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนมีเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษี ดังนี้

1. ค่าตอบแทนที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ให้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.94 พร้อมกับชำระภาษีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

2. ค่าตอบแทนที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ให้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 พร้อมกับชำระภาษีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยให้นำภาษีที่ชำระไว้แล้วตาม 1. มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้ ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นฝ่ายภริยาและได้อยู่ร่วมกันกับสามีตลอดปีภาษีในปีที่มีเงินได้ ให้ถือเอาเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่ง กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งได้มีการรวมกับบุคคลอื่นใน ลักษณะเป็นกลุ่มหรือทีมหรือในลักษณะทำนองเดียวกันในการหาผู้เอาประกันชีวิต โดยตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ เป็นตัวแทนหรือนายหน้าเพียงคนเดียว แต่ปรากฏหลักฐานว่าให้มีการรับเงินค่าตอบแทนในชื่อบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้รับค่าตอบแทนจริงหรือไม่ ให้ถือว่าค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินได้ของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัว แทนนั้นทั้งจำนวน เช่น นาย ก. เป็นตัวแทนประกันชีวิต ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตตามกรมธรรม์ที่นาย ก. เป็นตัวแทนในการหาประกันชีวิตแต่เพียงผู้เดียว แต่ได้มีการจ่ายค่าตอบแทนในชื่อของบุคคลอื่นที่อยู่ในกลุ่มหรือทีมในการหา ประกันชีวิตของนาย ก. ด้วย ถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้นาย ก. เพียงคนเดียว

ปุจฉา กรณีตัวแทนหรือนายหน้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร

วิสัชนา กรณีนายหน้าประกันชีวิตซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับค่า ตอบแทนจากการเป็นนายหน้าประกันชีวิต ต้องนำมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา นายหน้าหรือตัวแทนหรือหัวหน้าตัวแทนต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่อย่างไร

วิสัชนา การให้บริการของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนแก่บริษัทประกันชีวิต หรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำรายรับซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้

1. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ.2548 จึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตามหากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนดังกล่าว ประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้กระทำได้โดยให้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.01 ได้โดยทันทีที่มีความประสงค์

2. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,200,000 บาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตรา 7% ของมูลค่าของฐานภาษี

ปุจฉา กรณีบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทน หรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่อย่างไร

วิสัชนา บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อกรมสรรพากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

(2)

ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 มาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา บริษัทประกันชีวิตที่เป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทน หรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา บริษัทประกันชีวิตที่เป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทน หรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทน ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังนี้

1. กรณีจ่ายค่าตอบแทนที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ให้คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

  (1) กรณีการจ่ายค่าตอบแทนที่สามารถคำนวณหาจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย (ต่อปี) ได้ให้คำนวณหาจำนวนค่าตอบแทนเสมือนว่าได้จ่ายทั้งปี โดยให้นำค่าตอบแทนที่จ่ายแต่ละคราวคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายในปีภาษี นั้น ได้จำนวนเท่าใดให้นำค่าตอบแทนเสมือนจ่ายทั้งปีนั้น มาคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ นำมาหัก ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ได้จำนวนภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำมาหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายทั้งปี ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในแต่ละคราวที่จ่ายเงิน

(2) กรณีมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนค่าตอบแทนที่จ่ายระหว่างปีให้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายใหม่ทุกคราว ตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น

(3) กรณีมีการจ่ายเงินพิเศษเป็นครั้งคราวระหว่างปี เช่น รางวัล โบนัส หรือประโยชน์จากการได้ไปสัมมนาหรือท่องเที่ยว ให้นำเงินพิเศษนั้นคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย (ต่อปี) เพื่อหาจำนวนเงินพิเศษเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี และให้นำมารวมเข้ากับค่าตอบแทนที่จ่ายตามปกติที่คำนวณได้เสมือนหนึ่งว่าได้ จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีใหม่ ตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ นำมาหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้นำภาษีที่คำนวณจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามปกติทั้งปี (ก่อนจ่ายเงินพิเศษ) หักออกได้ผลลัพธ์เป็นเงินภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินพิเศษซึ่งจ่ายเป็นครั้งคราวนั้น แล้วให้นำมารวมกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินที่จ่ายตามปกติในคราวนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นเงินภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายทั้งสิ้น ในคราวที่มีการจ่ายเงินพิเศษนั้น

2. กรณีจ่ายค่าตอบแทนที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

3. กรณีจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นายหน้า ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ให้ผู้จ่ายหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 

ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวการนำค่าตอบแทนไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิของกิจการประกันชีวิตอย่างไร

วิสัชนา บริษัทประกันชีวิตซึ่งได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้า ตัวแทน และพิสูจน์ได้ว่ารายจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นรายจ่าย เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และสามารถพิสูจน์ตัวผู้รับได้ ค่าตอบแทนดังกล่าวย่อมนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุน สุทธิในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร

รายจ่ายค่าตอบแทนที่บริษัทประกันชีวิตได้จ่ายไป เพื่อให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับประโยชน์จากรายจ่ายดัง กล่าว เช่น รายจ่ายเพื่อให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนไปท่องเที่ยวหรือสัมมนา ในต่างประเทศ ที่จะเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามวรรคหนึ่ง จะต้องเป็นรายจ่ายที่บริษัทประกันชีวิตได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน และมีข้อผูกพันที่จะต้องให้ประโยชน์แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ตามระเบียบ หรือข้อกำหนดของบริษัทประกันชีวิตที่ประกาศให้ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้า ตัวแทนทราบโดยทั่วกัน

ปุจฉา การจ่ายค่าตอบแทนของกิจการอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกิจการประกันชีวิต จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับกิจการประกันชีวิตหรือไม่อย่างไร

วิสัชนา กรมสรรพากรกำหนดให้นำรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนดังได้กล่าวมาแล้ว ทั้งหมดไปใช้บังคับสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีเงินได้ลักษณะทำนองเดียวกับตัว แทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต เช่น ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย ตัวกลางค้าข้าว (หยง) ด้วย

(3)

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.