เมษายน, 2009 | รับทำเงินเดือน เมษายน, 2009 | รับทำเงินเดือน

STOCK สินค้าสำคัญแค่ไหน

ความสำคัญของ STOCK สินค้า

และแล้วฤดูกาลของการตรวจนับสินค้าคง เหลือปลายปี (ending inventory) ก็เวียนมาอีกครั้ง ทำให้พนักงานบริษัทต่างๆ ต้องเหน็ดเหนื่อย (อีกแล้ว) ต้องฝืนกลั้นใจจากฝุ่น หรือกลิ่นสินค้า (จำพวกสารเคมี ฯ) เพื่อนับยอด เคลียร์ยอด สินค้าปลายปีกันเป็นประเพณีปีละครั้งเพื่อนำผลการตรวจนับไปบันทึกบัญชี และแจ้งในงบดุลส่งกระทรวงพาณิชย์ และกรมสรรพากร ตามลำดับ

แน่นอนว่าปริมาณสินค้าที่สูญหาย ขาดเกินจากสมุดสต็อกย่อมมีผลกระทบต่องบการเงิน ต่อการบันทึกบัญชีและภาษีอากร โดยเฉพาะในแง่ VAT นั้นจะมีโทษปรับสูงเสียด้วย แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขปมปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร หรือไม่? ลองติดตามดูกันไปดีกว่า….

1. ธุรกิจใด ต้องตรวจนับสต็อกบ้าง?

เนื่องจากมาตรฐานการบัญชี (ฉบับที่ 31) ของ ‘สมาคมนักบัญชีและ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย’ ได้ให้นิยาม ‘สินค้าคงเหลือ’ ว่าหมายถึง สินค้าสำเร็จรูป (finished goods) สินค้าระหว่างผลิต (work in process) และวัตถุดิบ (raw material) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ธุรกิจใดก็ตามที่มีสินค้าหรือวัตถุดิบในครอบครองล้วนต้องทำการ ตรวจนับสินค้าปลายปีทั้งสิ้น อาทิเช่น การผลิตสินค้า รับเหมาก่อสร้าง ซื้อมาขายไป การนำเข้าและส่งออก เป็นต้น

กิจการผลิตสินค้าดูจะยุ่งยากกว่า กิจการอื่นๆ เพราะต้องทำการตรวจนับทั้งวัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะพบว่ายอดตามผลการตรวจนับจริง มักจะแตกต่างจากยอดตามสมุดบัญชีคุมสินค้าอยู่เนืองๆ สาเหตุเกิดได้ในทุกช่วงของการผลิต ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบมา ซึ่งอาจมีปริมาณไม่ครบถ้วนตามใบกำกับสินค้า เนื่องจากมีการระเหิด ระเหย ชำรุด สูญหาย หรือผิดพลาดจากการชั่งตวงวัดก็เป็นได้ทั้งนั้น

ช่วงระหว่างการผลิต ก็จะเกิดปัญหาจากส่วนสูญเสียหรือเศษซากการผลิต รวมทั้งการหย่อนประสิทธิภาพในขณะผลิต หรือสินค้าเสียหายมาก เกินมาตรฐาน เป็นต้น

กิจการให้บริการ ซึ่งมองดูผิวเผินก็มักจะคิดว่าไม่ต้องทำการตรวจนับสินค้าอะไร (เพราะไม่มีตัวสินค้าให้ตรวจนับ) แต่อย่าลืมว่ากิจการเหล่านี้อาจต้องใช้วัสดุ อะไหล่ต่างๆ ในการให้บริการ เช่น อู่ซ่อมรถต้องมีสต็อกอะไหล่หลายๆ ชนิด หรือกิจการรับเหมาก่อสร้างก็ต้องใช้อิฐ หิน ดิน ทราย และเหล็ก ในการรับจ้างก่อสร้าง เป็นต้น ดังนั้นธุรกิจเหล่านี้ก็จำเป็นต้องทำการตรวจนับอะไหล่ หรือวัตถุดิบต่างๆ ที่คงเหลือตอนปลายปีด้วย เพื่อการบันทึกบัญชี และคำนวณต้นทุนของงานบริการ เป็นต้น

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กับ ‘สินค้าคงเหลือ’

มาตรา 65 ทวิ (6) บัญญัติว่า “ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุน หรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าและให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคง เหลือยกมา สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย”

จากบทบัญญัติข้างต้น แสดงว่ากฎหมายภาษีอากรยอมรับวิธีปฏิบัติที่ตรงกันกับกฎหมายบัญชีด้วย นั่นคือ เมื่อมีการตรวจนับสินค้าปลายงวดแล้ว จะต้องให้ผู้ตีราคาอิสระมาทำการแยกแยะและตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดออกมา แล้วถือเอาราคาทุนหรือราคาตลาดที่ต่ำกว่า (lower of cost or market value (LCM)) เป็นราคาสินค้าคงเหลือปลายปี และยกไปต้นปีถัดไป

ณ จุดนี้ จะมีปัญหาที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก เมื่อปริมาณที่ตรวจนับได้ มีความแตกต่างจากยอด ตามบัญชีคุมสินค้า บริษัทต้องปรับปรุงบัญชีอย่างไร ?

หลักการมีอยู่ว่า ให้บริษัทถือยอดตามผลการตรวจนับได้เป็นยอดที่ถูกต้อง แล้วทำการปรับปรุงการบันทึกบัญชีเสียใหม่ ดังนี้ครับ….

1. กรณีบันทึกสินค้าคงเหลือด้วยวิธี periodic inventory method บริษัทเพียงปรับปรุงปริมาณสินค้า ตามสมุดสต็อก (บัญชีย่อย) ให้ตรงตามผลการตรวจนับและให้นำมูลค่าสินค้าคงเหลือตามที่ตรวจนับและตีราคา ไว้ ไปบันทึกบัญชี ถือเป็น ‘สินค้าคงเหลือปลายงวด’ ในงบการเงินได้เลย ผลจากการปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้ ต้นทุนสินค้าที่ขายได้แบกรับมูลค่าสินค้าขาดเกินจากบัญชีคุมฯ โดยปริยาย

2. กรณีบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือด้วยวิธี perpetual inventory method บริษัทจะต้องปรับปรุงบัญชี ‘สินค้าคงเหลือ’ และ ‘ต้นทุนขาย’ เสียใหม่ให้ตรงตามผลการตรวจนับ ซึ่งจะมีผลให้ยอดตามบัญชีทั้งสองเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามยอดสินค้าที่ขาดหรือเกินไปตามลำดับ

ประเด็นที่สอง มีปัญหาว่าสินค้าที่ขาดหายไปจะต้องถือเป็นการขาย ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) หรือไม่?

ในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่ากรมสรรพากรไม่มีอำนาจประเมินมูลค่าสินค้าที่ขาดหาย และถือเป็นการขาย ทั้งนี้เพราะบริษัทมิได้มีการจำหน่ายจ่ายโอนสินค้าใดๆ ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร (ในทางปฏิบัติมักมีการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีดังกล่าวอยู่ เนืองๆ)

3. VAT กับ ‘สต็อกสินค้า’

กฎหมาย VAT มีบทลงโทษ สำหรับสินค้าขาดหรือเกินจาก ‘รายงานสินค้าและวัตถุดิบ’ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการทำการตรวจนับเอง (นับบ่อยก็จะโดนบ่อย) หรือเกิดจากการบุกเข้าตรวจปฏิบัติการของเจ้าพนักงานฯ (ดังตาราง)

มีข้อสังเกตว่าบทลงโทษจะรุนแรงมาก สำหรับกรณีมีสินค้าหรือวัตถุดิบขาดจากบัญชีคุมสินค้า (รายงานสินค้าและวัตถุดิบ) ทั้งนี้เพราะผู้ยกร่างกฎหมายมุ่งที่จะป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี แต่ดาบนี้ได้สร้างปัญหาให้กิจการต่างๆ ต้องถูกลงโทษทั้งๆ ที่สุจริต ที่บอกว่าสุจริตเพราะเป็นธรรมชาติของทุกกิจการที่ต้องมีสินค้าหรือวัตถุดิบ ขาดเกินไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานาอันเป็นปกติวิสัยทางการค้า อาทิเช่น ความผิดพลาดจากการชั่งตวงวัดสำหรับสินค้า (หรือวัตถุดิบ) ชนิดน้ำ หรือชนิดผง หรือในบางธุรกรรมที่มีสต็อกมากถึง 30,000 ชนิด (เช่น อะไหล่ยนต์) ก็มีโอกาสผิดพลาด และสับสนในการตัดสต็อกได้บ่อยๆ เป็นต้น

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว จึงควรแก้กฎหมายให้มีบทลงโทษ เฉพาะในกรณีที่ถูกตรวจปฏิบัติการจากเจ้าพนักงาน หรือกรณีที่มีหลักฐานว่ามีการฉ้อฉลเท่านั้น หาไม่แล้วก็รังแต่จะเป็นการเร่งผลักให้บริษัทต่างๆ ต้องตะกายหาช่องหลบภัยกันจ้าละหวั่น

ตัวอย่าง ‘บริษัท 8-12 จำกัด’ ผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ต้องทำการตรวจเช็คสต็อกสินค้าทุกๆ เดือน เพราะสินค้ามีมากชนิด และส่วนใหญ่เป็นชิ้นเล็กๆ ง่ายต่อการซื้อขาย และหยิบฉวย (โดยไม่จ่ายสตางค์) ดังนั้น การตรวจนับบ่อยๆ จึงเป็นวิธีควบคุมภายในที่ดีอย่างหนึ่ง

แต่ร้าน ‘8-12’ หารู้ไม่ว่า ‘รายงานผลการตรวจนับสินค้า’ ทุกๆ เดือนที่เก็บไว้ที่แผนกบัญชีนั้น ไม่ต่างจากการนอนกอดขีปนาวุธ ‘โทมาฮอร์ค’ สักเท่าใด…ถ้า ‘สรรพากร’ ยึดไปได้ละก็ คุณเอ๋ย ลองเหลียวดูโทษข้างต้นสักหน่อยซิ !…ดังนั้น ที่ปรึกษาของร้านจึงมักแนะนำให้ ‘8-12’ ลงบัญชีสต็อกแบบ Sooking Account (คือ ซุกใต้โต๊ะ) เสียเลย อย่าให้ ‘สรรพากร’ ทราบเป็นเด็ดขาดเชียว !

4. อวสาน…ด้วยน้ำตาของผู้ตรวจนับ

สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมมีจุด อ่อนเป็นธรรมดา อาทิเช่น งูย่อมแพ้เชือกกล้วย มหันตไฟจะถูกดับด้วยน้ำ (เท่านั้น)…ฟุตบอลไทย ก็แพ้ทาง ‘กาตาร์’ (ในโดฮาเกมส์) โดยที่ ‘ปาฏิหาริย์’ ไม่ยอมมาตามนัด…เป็นต้น

กฎหมาย VAT ก็ไม่อาจหลีกหนีจากสัจธรรมดังกล่าว…แต่ผู้เขียนมองเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำ พอสังเขป ดังนี้ครับ

1. การมีสินค้าเกินจากรายงานฯ มีโทษต่ำมากๆ…ถ้าจะพึงผิดพลาดแล้วไซร้ การมีสินค้าเกินย่อมดีกว่าขาด

2. หลายๆ บริษัท นิยมเพ่งกสิณ (หรือที่พวกโหรนิยมเรียก ‘นั่งเทียน’) แทนการตรวจนับจริง…ซึ่งเมื่อ ลืมตาขึ้นก็สามารถสรุป (เอาเอง) ว่า “ผลการตรวจนับของข้าพเจ้า ได้ผลตรงกับยอดในบัญชีสต็อกเปี๊ยบเลย”

3. บางท่านหัวเสธ. รู้ดีและรู้ลึก ก็เลยไม่ค่อยยอมทำบัญชีคุมสินค้าเสียดื้อๆ โดยอ้างว่าของอยู่ในมือเซลส์แมนบ้าง นำไปขายตามงานแสดงสินค้าบ้าง (เป็นสถานประกอบการชั่วคราว).…กรณีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับให้ต้องโชว์สต็อก ตามกฎหมาย VAT จ้า…เออแน่ะ ! เข้าใจคิดแฮะ

ฯลฯ

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงออกจะเห็นใจผู้มีหน้าที่ตรวจนับสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของบริษัทต่างๆ ซึ่งนอกจากจะต้องมานั่งหลังขดหลังแข็ง เข้าไปทำงานในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า แทนที่จะได้ Happy New Year (ท่ามกลางพลุระเบิด (แฮ่ๆ)) เหมือนชาวบ้านทั่วไปแล้ว พวกเขายังต้องมีผลงานเป็นที่ถูกใจของบุคคลอีก 3 ฝ่ายด้วยคือ (1) เจ้านายตัวเอง (2) ผู้สอบบัญชี และ (3) สรรพากร

โดยเฉพาะในรายที่ 3 นี่ ถ้าบริษัทเกิดเผลอไปสะดุดบ่วงภาษีเข้า นอกจากตัวบริษัทจะม่อยแล้ว ตัวผู้นับเอง ก็อาจโดนยึดอั้งเปา (โบนัส) ส่งท้ายปี 2549 เป็นบำเหน็จความเหนื่อยบวกข้อหา “ทิ้งสเปโตให้ ‘สรรพากร’ น็อคมืด จนบริษัทต้องเสียค่าโฮ่”….เฮ้อ! Amazing Inventory & VAT จริงๆ!


ที่มา  :  กรุงเทพธุรกิจ  19/1/2550   โดย  อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์

โม้ทุนจดทะเบียน+กรรมการไซฟ่อนเงิน

โม้ทุนจดทะเบียน + กรรมการไซฟ่อนเงิน

  บริษัทนั้น ถือเป็นบุคคลประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย และดำเนินงานผ่านกรรมการของบริษัท โดยจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้ และต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม

ยังจำกันได้มั้ยว่า ใน การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งรวมถึงการเพิ่มทุนด้วย กรรมการบริษัทมีหน้าที่ ที่จะต้องรับชำระเงินค่าหุ้นให้เรียบร้อยเสียก่อนหลังจากได้ประชุมจัดตั้ง แล้ว จากนั้นจึงไปจดทะเบียนบริษัท

คุณ รู้มั้ยว่า บริษัท SMEs … ส่วนใหญ่ > 80% ไม่ได้เรียกชำระค่าหุ้นครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ส่วนใหญ่เขาจะทำการเรียกชำระทุนเต็มจำนวน แต่มักไม่ได้จ่ายเงินเข้าบริษัทกันจริงๆ อย่างที่เรียกชำระกัน

ซึ่ง การจดทะเบียนแบบนี้ (โม้ทุนจดทะเบียน) ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดปัญหาตามมา ทำให้กรรมการต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากันเกือบทุกรายไหนจะเรื่องภาระภาษีที่ เกิดจากดอกเบี้ยซึ่งคิดจากลูกหนี้กรรมการ ภาระภาษีจากรายการค่าใช้จ่ายเท็จที่กรรมการต้องสร้างขึ้นเพื่อล้างเงินส่วน ขาด ฯลฯ

      ในกรณีของกิจการที่เกิดไปโม้ทุนจดทะเบียน เพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่จะประมูลงานกับหน่วยงานราชการ หรืออื่นๆ ได้นั้น สมมุติว่าคุณประมูลและได้งานนั้นมาสมใจ แล้วคุณจะเอาเงินมาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากการลงทุนของเจ้าของบริษัทซึ่งก็คือค่าหุ้นที่จะต้องเรียกเก็บมา ในตอนแรก หรือไม่ก็กู้เงินจากสถาบันการเงิน

      สมมุติต่อว่าคุณโชคดีที่พอมีเงินอยู่บ้าง และสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้มาบางส่วน พอใช้ในการดำเนินการ พอทำไปได้สักระยะก็ต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเงินหมุนไม่ทัน หรือเกิดขาดทุน ได้เงินเข้ามาไม่พอค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้การค้าทั้งหลาย

      ต่อมาทั้งธนาคาร และเจ้าหนี้ รุมทวงถามเงินกู้ ปรากฏว่าจ่ายไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และโดนบังคับคดีนำสินทรัพย์ที่ประกันขายทอดตลาด และหลังจากขายทอดตลาดไปแล้ว ทางเจ้าหนี้ยังได้เงินไม่พอกับที่ปล่อยให้กู้ หรือให้สินเชื่อไป เจ้าหนี้จึงได้บังคับเอากับทรัพย์ของบริษัทที่ยังเหลืออยู่ นั่นคือ ลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ (กรณีที่ท่านล้างเงินส่วนที่ขาดไม่หมด)

หรือ แม้กระทั่ง คุณกรรมการจะได้สร้างค่าใช้จ่าย เพื่อล้างเงินส่วนที่ขาดออกไปหมดแล้วก็ตาม แต่เกิดโชคร้าย ทางเจ้าหนี้ตรวจสอบพบว่า รายการเหล่านั้นเป็นรายการเท็จ ถูกตั้งข้อหาว่ากรรมการจงใจไซฟ่อนเงินออกจากบริษัท อันนี้คุณจะโดนหนักไม่ใช้น้อย…

      เรื่องของการโม้ทุนจดทะเบียนนั้น นอกจากวิธีการผู้ถือหุ้นไม่ได้จ่ายเงินเข้าบริษัทกันจริงๆ แล้ว (โดยมากมักเรียกว่าหุ้นลม) แต่ก็ยังมีเจ้าของบริษัทบางท่านที่แกล้งทำเป็นจ่ายเงินเข้ามาในตอนจดทะเบียน แล้วก็นำออกไปใช้จ่ายส่วนตัวตามปกติ โดยคุณอาจจะหลงคิดว่าเงินส่วนนั้นเป็นของคุณ ซึ่ง ในทางกฎหมายแล้วเงินที่ได้นำมาชำระค่าหุ้นแล้วนั้น จะต้องเป็นของบริษัท และจะต้องใช้ในการดำเนินงานของบริษัท… และผลของการจ่ายค่าหุ้นแบบหลอกๆ นี้ก็สร้างปัญหาที่ไม่ได้แตกต่างกับการไม่จ่ายเงินเลย และผมคิดว่า มันจะยิ่งสร้างปัญหาความซับซ้อนมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ

      อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งผมเพิ่งจะเข้ามาดูแลอยู่ในขณะนี้ คือเรื่องเกิดขึ้นว่า เจ้าของบริษัท ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ท่านหนึ่งเป็นหญิงชาวไทย ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นชายชาวต่างชาติ ในการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 4 ล้านบาท ซึ่งเขาก็ได้ชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนเข้ามาจริง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ได้นำเงินค่าหุ้นนี้ไปซื้อบ้านพักรับรอง อาคาร รถยนต์ …ฯลฯ ทั้งหมดซื้อในนามของกรรมการหญิง บางอย่างสด บางอย่างก็เช่าซื้อ

      แล้วท่านก็นำใบเสร็จเหล่านั้นมาให้พนักงานบัญชีที่ดูแลในขณะนั้น… บันทึกลงสมุด … ลองเดาเล่นๆ ดูนะครับว่าใบเสร็จเหล่านั้นจะถูกบันทึกในบัญชีอะไร

      ผมว่าบางท่านอาจจะคิดออกแล้วก็ได้ … คำตอบที่ถูกต้องก็เหมือนกับ ในคราวก่อนนั่นแหละ คือ ใบเสร็จต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ว่าจะถูกนำมาบันทึกอยู่ในบัญชี “ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ” นอก จากคุณกรรมการหญิง จะเป็นหนี้บริษัท และจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้บริษัทแล้ว บรรดาดอกเบี้ยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเช่าซื้อ รวมถึงค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ทั้งหมด ก็ไม่สามารถจะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้อีกด้วย

ทำให้บริษัทมีต้นทุน มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้มีกำไร และภาษีสูงลิบลิ่ว และยังเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องขึ้นในกิจการ เนื่องจากค่าใช้จ่ายรุมเร้า เจ้าหนี้ทวงถาม ภาระภาษีสูงกว่าที่ควรจะเป็นอยางมาก เก็บเงินจากลูกค้าได้ช้า แล้วสินทรัพย์ที่มีก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ ก่อให้เกิดเกิดความเสียหายหลายแสน… ซึ่งสภาวะอย่างนี้อาจทำให้กิจการล้มคลืนได้อย่างง่ายดาย ครั้นจะไปขอกู้จากสถาบันการเงินนั้น ผมว่าคุณๆ คงจะพอเดาออกว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร …

      ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคือเรื่องราวที่จะเกิดขึ้น…หากไม่ได้มีการแต่งเติมทางบัญชีเข้าไปอีก

 

ที่มา : http://www.smethaiclub.com

หุ้น..แจ้งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า

“แจ้งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าเลยดีไหม”

การเรียกชำระค่าหุ้น…100% (แบบโอเว่อร์เกินจริง) มันเป็นเทคนิคการจดทะเบียนอย่างหนึ่งที่ชอบใช้กันเสมอ พบได้ทั่วไป ซึ่งหลายท่านดำเนินการจดทะเบียนโดยไม่ได้ศึกษาถึงรายละเอียดผลดีผลเสีย วิธีการจัดการให้ดีซะก่อน จึงเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมายเลยทีเดียว

สมมุติว่า นายจิตร่วมกับญาติ และเพื่อนๆ ตั้งบริษัทขึ้นมาแห่งหนึ่ง มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยนายจิตเป็นกรรมการบริษัทแต่เพียงผู้เดียว ได้ดำเนินการจดทะเบียนจนแล้วเสร็จและได้รับหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ มาไว้ในครอบครองเป็นที่เรียบร้อย โดยระบุว่าบริษัทได้มีการรับชำระทุนจดทะเบียนจากผู้ถือหุ้นเต็มมูลค่าครบ ทั้ง 10 ล้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่ข้อเท็จจริงคือ นายจิตมีเงินค่าหุ้นที่ได้รับชำระแล้วเข้าบริษัทจริงๆ แค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลืออีก 9 ล้าน…เป็นแค่เพียงอากาศเท่านั้น ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นที่เป็นญาติ และเพื่อนๆ นั้น แค่ขอยืมชื่อเขามาใส่ถือคนละหุ้น เพื่อให้ครบจำนวนก็แค่นั้นเอง ไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าหุ้นให้นายจิต จริงแต่อย่างใด

การจดทะเบียนโดยเรียกชำระค่าหุ้นเต็ม 100% แบบหลอกๆ (หรือที่มักเรียกกันว่า หุ้นลม) อย่างนี้ ทำให้นายจิตซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทมีสภาพเป็น “ลูกหนี้เงินกู้ยืมจากบริษัท” ไปในบัดดล เหตุผล ที่ทำให้นายจิตกลายเป็นลูกหนี้ของบริษัท ก็เพราะในตอนที่ประชุมจัดตั้งบริษัทนั้น กฎหมายได้กำหนดให้กรรมการชุดแรกของบริษัทเป็นผู้เรียก และรับชำระเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้น ก่อนจะนำเอกสารต่างๆ ไปจดทะเบียนตั้งบริษัท

โดยที่เอกสารชุดที่นำไปขอจดทะเบียน จะมีรายงานอยู่ฉบับหนึ่งที่กรรมการต้องเซ็นต์ชื่อรับรองว่า “มีการเรียกและรับชำระค่าหุ้นมาแล้วเป็นจำนวนเท่าใด” ซึ่งนายจิตก็ได้เซ็นต์ชื่อรับรองไปว่าได้รับค่าหุ้นมาครบแล้ว 10 ล้าน โรคจิตสมชื่อจริงๆ… (นี่คือเทคนิคที่เขาชอบแนะนำให้ทำกัน) และตอนไปจดทะเบียนเจ้าหน้าที่ ที่รับจดทะเบียนเขาไม่ได้ขอตรวจนับเงินกันจริงๆ ซะด้วยสิ….เริ่มสนุกแล้วสิ

และเมื่อถึงสิ้นปี บริษัทต้องจัดทำงบการเงินให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรอง พอผู้สอบบัญชีเขาตรวจดูก็จะทราบทันที ว่าอะไรเป็นอะไร(อ๋อ….จดทะเบียนแบบนี้กันอีกแล้ว)

เมื่อมีเงินไม่ครบ แล้วจะทำไงล่ะครับทีนี้…… ไม่ยากครับผู้สอบบัญชีก็ต้องให้ลงเป็นลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการบริษัทไปก็เท่านั่นเองครับ (ผู้สอบบัญชีคงไม่ยอมเสี่ยงคุกกับกรรมการด้วยแน่ๆ) เพราะเอกสารหลักฐานบ่งบอก และตามกฎหมายอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ” กรรมการเป็นคนรับผิดชอบเงินค่าหุ้นทั้งหมด ที่รับมาก่อนจะจดทะเบียนบริษัท ดังนั้น ถ้ามีส่วนขาดหายไปกรรมการบริษัทต้องเป็นผู้รับผิดชอบ”

ประเด็นต่อมา คือ เมื่อบริษัทให้บุคคลภายนอก (กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น) กู้ยืมเงินไป จะต้องคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ ซึ่ง ในกรณีนี้ก็คือ นายจิตกรรมการโรคจิตของเรานั่นเอง จะไม่คิดดอกเบี้ยไม่ได้ครับ……เฮียสรรพากรแกคงไม่ยอมเป็นแน่ครับ เพราะถือว่า บริษัทเสียประโยชน์จากการนำเงินส่วนนั้นไปหารายได้ให้งอกเงยขึ้นมา (อย่างน้อยๆ ก็ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารไงครับ) ทำให้บริษัทมีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้เฮียแกเก็บภาษีจากบริษัทได้น้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง….ส่วนวิธีการคิดการคิดดอกเบี้ยก็ ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารพาณิชย์เป็นเกณฑ์

ท้ายสุดนายจิต ไม่รู้จะนำเงินจากไหนมาจ่าย ก็ดอกเบี้ยที่คำนวณได้ตั้ง 450,000 บาท…..! (9,000,000 * 5%) ทำให้ยอดรายได้เพิ่ม และก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เเต่เงินที่มีอยู่ในบริษัทก่อนหน้านี้ก็ใช้ดำเนินงานไปจนไม่เหลือหรอ แถมจนป่านยังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้สักบาท เลยต้องไปหากู้เงินมาจ่ายภาษีแทนบริษัท ครั้นจะบอกความจริง กับเฮียแก ก็กลัวว่าจะโดนเฮียแกแจ้งจับ ข้อหาแจ้งความเท็จต่อทางราชการ (กระทรวงพาณิชย์) ที่มีโทษทั้งจำและปรับ หรือถ้าจะปิดบริษัทหนี งานนี้มีหวังโดนหนักกว่าเดิมครับ เพราะนอกจากจะโดนข้อหาข้างต้นแล้ว ยังจะโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาจ่ายภาษีอีก 2 เด้งครับงานนี้ อยู่ดีๆ ก็เป็นหนี้ 2 ก้อนเลย ไหนจะหนี้จากบริษัทตัวเอง แล้วยังมีหนี้ที่ไปกู้เงินมาเพื่อจ่ายภาษีให้กับบริษัทอีก นะคนเรา……
“แล้วความผิดตามกฎหมาย!!……นะเขาว่ายังไงกัน”

ต่อกันกันอีกนิดสำหรับเรื่องหุ้นลม ว่าชะตาชีวิตของนายจิตจะเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากที่ต้องเป็นลูกหนี้เงินกู้ ยืมกรรมการไปแล้ว นายจิตได้ตั้งข้อสังเกตว่าแล้วสามารถ ใช้วิธีทางการบัญชีโดยสร้างค่าใช้จ่าย ให้เกิดขึ้น แล้วล้างบัญชีลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการออกไป ก็ได้นี่ อันนี้ก็ทำได้ครับ(แถมเป็นที่นิยมอีกต่างหาก) แต่ขอบอกไว้ก่อนนะครับว่าผิดกฎหมายนะ (วางแผนให้ดีอย่าให้ถูกจับได้ละ) จะไม่ผิดได้ไง….ก็สร้างหลักฐานเท็จกันเห็นๆ แถมค่าใช้จ่ายที่ต้องสร้างขึ้นก็จะเป็นจำพวก ค่าบริการ ค่าที่ปรึกษาต่างๆ ซึ่งเมื่อจ่ายเงินออกไป (แม้ไม่ได้จ่ายจริงก็ตาม) จำเป็นต้อง หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งเฮียสรรพากรแกอีกต่างหากแล้วถ้าเฮียแกจับได้อีกละว่าเป็นรายการเท็จ ……เฮ้อ ทำให้ถูกต้องซะแต่ทีแรกก็หมดเรื่องแล้ว นี่ดีนะว่าเรื่องนี้เกิดกับบริษัทของนายจิตเองเพียงคนเดียว ชื่อคนอื่นที่ใส่ไว้ก็แค่ให้ครบจำนวนเท่านั้น ถ้ามีคนอื่นมาถือหุ้นใหญ่ร่วมบริหารงานด้วยจะเป็นไงบ้างน้อ….ไม่อยากจะคิด คงวุ่นวานน่าดู

กลับมาต่อกันในเรื่องความผิดตามกฎหมายดีกว่า สิ่งนายจิตจะต้องโดนอะไรบ้าง หลังจากที่ตัวเองต้องเป็นหนี้บริษัทเพราะความไม่รู้เรื่องของตัวเองแล้วแท้ๆ นายจิตคงไม่รู้ด้วยซ้ำครับว่าตนเองแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ตั้ง บริษัท จะไม่ให้ผิดได้อย่างไรละครับก็ตัวมีเงินแค่ 1,000,000 บาท ดันทะลึ่งไปแจ้งว่าได้รับชำระค่าหุ้นเต็มแล้วเป็นจำนวน 10,000,000 บาท อย่างนี้ก็โดนเต็มๆ ครับ ตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดฯ มาตรา 15 บริษัทจำกัดใดลงพิมพ์หรือแสดงจำนวนต้นทุนของบริษัทโดยฝ่าฝืนมาตรา 1149 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (เป็นโทษปรับบริษัท)
ส่วน ตัวนายจิตนั้นจะมีโทษตามมาตรา 25 ในกรณีที่บริษัทจำกัดใดกระทำความผิดตามมาตรา 7 ถึงมาตรา 24 กรรมการของบริษัทนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกิน 50,000 บาท

เกิดวันดีคืน แจ็คพ็อต มีคนแอบไปแจ้งความกล่าวโทษนายจิต ว่ากระทำผิดกฎหมายละก็!…นี่ยังไม่ได้ตรวจดูอีกนะว่าบริษัท ของนายจิต ได้เคยมีการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นภายใน 6 เดือนนับแต่จัดตั้งบริษัทและให้มีการประชุมอย่างว่าอีกอย่างน้อยปีละครั้ง หรือเปล่า….มีการจัดทำใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือเปล่า…ได้ทำบัญชีถูก ต้องหรือไม่..ฯลฯ ทุกข้อที่กล่าวมาถ้ามีการตรวจแล้วไม่กระทำมีความผิดนะครับจะหาว่าผมไม่เตือน ไม่ได้นะ

คิดๆดูแล้วก็น่าเห็นใจผู้ประกอบการนะครับ คิดที่จะทำตัวให้เป็นพลเมืองดีที่ทำถูกต้องตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ แต่ทำไมมันถึงทำยากเย็นนักนะ แต่ถึงจะด้วย เหตุผลใดก็ตามแต่ผู้ประกอบการไทยยังคงละเลยถึงความรู้ทางด้านกฎหมาย บัญชี ภาษี การบริหารองค์กร ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นไม่แพ้เรื่อง จะขายยังไงให้ได้……ครับ

ที่มา…www.smethaiclub.com (หุ้น…ลมๆ…แล้งๆ)