ตุลาคม, 2008 | รับทำเงินเดือน - Part 2 ตุลาคม, 2008 | รับทำเงินเดือน - Part 2

ประเภทเงินได้บุคคลธรรมดา

ในการเสียภาษีจะต้องคำนวณภาษีอย่างไร?

เนื่อง จากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความ เป็นธรรม ในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้(พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนด วิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนี้
1. เงินได้ประเภทที่ 1

ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น
– เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
– เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
– เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
– เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
– เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น

2. เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น
– ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
– เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
– เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
– เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
– เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
– เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
3. เงินได้ประเภทที่ 3

ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่า แห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

4. เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร   เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น
(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะมี หลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหัก ภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอน กับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลัก ประกันหรือไม่ก็ตาม
(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือ ประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายไทยให้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ
(ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
(จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือรับช่วงกันไว้รวมกัน
(ฉ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือ รับช่วงกันหรือ เลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
(ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

เงิน ได้ประเภทที่ 4 ในหลาย ๆ กรณี กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษี ในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย สามารถประหยัดภาษีได้

5. เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจาก
– การให้เช่าทรัพย์สิน
– การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
– การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว


6. เงินได้ประเภทที่ 6
ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้

7. เงินได้ประเภทที่ 7
ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

8. เงินได้ประเภทที่ 8
ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว

ที่มา..กรมสรรพากร

ผู้มีเงินได้(บุคคลธรรมดา)มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง

การหักลดหย่อน หมาย ถึง รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีก่อนนำเงินได้ที่เหลือซึ่ง เรียกว่าเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายการหักลดหย่อนกรณีต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

1. การหักลดหย่อนในกรณีทั่วไป

1.1 ผู้มีเงินได้ 30,000 บาท (ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน หรือไม่ก็ตาม)

1.2 สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
(1) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิหักลดหย่อน จะต้องเป็นสามีหรือภริยาชอบด้วยกฎหมาย การสมรส ไม่ครบปีภาษีก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ เช่น จดทะเบียนสมรสระหว่างปีภาษี หรือตายในระหว่างปีภาษี ก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
(2) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่จะนำมาหักลดหย่อนจะต้องไม่มีเงินได้พึง ประเมินหรือมีแต่ไม่ได้แยกคำนวณภาษี ตัวอย่าง สามีภริยาแต่งงานครบปีภาษีและต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ประเภทที่ 1 กรณีดังกล่าว ภริยาสามารถแยกคำนวณภาษีต่างหากจากสามีได้โดยชอบ ทั้งสามีภริยาจึงไม่มีสิทธินำคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ แต่หากภริยามีเงินได้ประเภทอื่น (2-8) ให้สามีนำเงินได้ของภริยามารวมคำนวณและมีสิทธินำคู่สมรสมาหัก ลดหย่อนได้

1.3 การหักลดหย่อนบุตร ให้หักสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มี เงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย

โดยมีเงื่อนไขว่าบุตรที่เกิด ก่อนหรือ ในพ.ศ.2522 หรือที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรม ก่อน พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท บุตรที่เกิด หลัง พ.ศ.2522 หรือที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรมในหรือหลัง พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
การ นับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะ บุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร โดยให้นับรวมทั้งบุตร ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการหักลดหย่อนด้วย
การหักลดหย่อนสำหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาเฉพาะภายในประเทศให้ลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท หรือเป็น ผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความ อุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้ หักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้ ดังกล่าวต้องไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 ให้ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
การหักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าว ให้หักได้ ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีจะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ และในกรณีบุตรบุญธรรมนั้นให้หักลดหย่อนในฐานะบุตรบุญธรรมได้ในฐานะเดียว

1.4 เบี้ยประกันภัย ที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยส่วนแรกหักได้ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยา ได้มีอยู่ตลอดปีภาษีให้หักลดหย่อนได้ด้วยสำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายสำหรับการ ประกันชีวิตของสามีหรือภริยานั้นตามเกณฑ์ข้างต้น
การฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว ก็อยู่ในข่ายที่จะขอหักลดหย่อนตามเกณฑ์นี้ได้ด้วย

1.5 เงินสะสม ที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท เป็นเงินที่ได้รับยกเว้นภาษี โดยนำจำนวนเงินส่วนที่เกินดังกล่าวหักจากเงินได้พึงประเมิน ก่อนหักค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 490,000 บาท
ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หักได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน กบข. (ถ้ามี) แล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องจ่ายเป็นค่าซื้อ หน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวม คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท

1.6 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 เป็นต้นไป โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการดังนี้


(1) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมจากผู้ประกอบกิจการในราชอาณาจักรเฉพาะที่กำหนดไว้ ได้แก่ ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ นายจ้างซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ ลูกจ้าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อ ที่อยู่อาศัย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่า ด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่เขารับ ช่วงสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมดังกล่าว กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(2) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมี สิทธิครอบครอง

(3) ต้องจำนองอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดิน เป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้น โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม

(4) ต้องใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม(3)นั้นเป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับ ยกเว้นภาษี แต่ไม่รวมถึงกรณีลูกจ้าง ซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไปปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำหรือกรณีอาคารหรือห้องชุดดังกล่าวเกิดอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือภัยอันเกิดจากเหตุอื่น ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดของผู้มีเงินได้จนไม่อาจใช้อาคารหรือห้องชุดนั้นอยู่ อาศัยได้

(5) กรณีผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3) เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนเกินกว่า 1 แห่ง ให้หักลดหย่อนได้ทุกแห่ง สำหรับอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3)

(6) ให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักลดหย่อนได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่

(7) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืม ให้หักลดหย่อนได้ทุกคนโดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกิน 100,000 บาท

(8) กรณีสามีภริยาร่วมกันกู้ยืมโดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียวให้หักลด หย่อนสำหรับผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

(9) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกัน ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ดังนี้
(ก) ถ้าความเป็นสามีภริยา มิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
(ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้ มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน และสามีภริยายื่นรายการโดยรวมคำนวณภาษี ให้หักลดหย่อนรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
(ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้ มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ ขอหักลดหย่อน และภริยายื่นรายการโดยแยกคำนวณภาษี ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้กึ่งหนึ่ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

(10) กรณีมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้ ตาม (1) ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวข้างต้น ให้หมายความรวมถึง ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย หรือห้องชุดด้วย ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้าง ชำระนั้น
ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกำหนด จากผู้ให้ให้กู้ยืม เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินการ ดังกล่าวนั้นด้วย


1.7 เงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการ ประกันสังคมตามจำนวนที่จ่ายจริง ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ข้างต้นและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้ด้วย สำหรับเงินสมทบของสามีหรือภริยาที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตาม เกณฑ์ข้างต้น

1.8 ค่าลดหย่อนบิดามารดา กรณีผู้มีเงินได้และคู่สมรสที่มีเงินได้รวมคำนวณภาษี หรือคู่สมรสไม่มีเงินได้ อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่ง มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ผู้มีเงินได้และ คู่สมรสมีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ บิดาหรือมารดาของผู้มีเงินได้หรือคู่สมรส จะต้องออกหนังสือรับรองว่าบุตรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเพียงคนเดียว

1.9 เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา ได้แก่ เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา มี สิทธิหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

1.10 เงินบริจาค เมื่อหักลดหย่อนต่าง ๆ หมดแล้ว เหลือเท่าใดให้หักลดหย่อนได้อีกสำหรับ เงินบริจาค เงิน บริจาคที่หักค่าลดหย่อนได้นั้นผู้มีเงินได้ต้องบริจาคเป็นเงินให้แก่การกุศล สาธารณะ โดยหักได้ เท่าจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว

การบริจาค ได้แก่
(1) การบริจาคเงินให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล และกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ (ต้องเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา)
(2) การบริจาคเงินให้แก่คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างสวนสาธารณะเพื่อเฉลิมพระ เกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา
(3) การบริจาคเงินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในโครงการปลูกป่าเทิดพระเกียรติเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 90 พรรษา
(4) การบริจาคเงินให้แก่กองทัพอากาศในโครงการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริฯ
(5) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
(6) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50
(7) การบริจาคเงินให้แก่โครงการอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
(8) การบริจาคเงินให้แก่โครงการสืบสานพระราชปณิธาน “กาญจนาภิเษก”
(9) การบริจาคเงินให้แก่โครงการร้อยใจช่วยเยาวชนไทยในภาวะวิกฤต
(10) การบริจาคเงินให้แก่โครงการโพธิ์ทองของชาวไทย
(11) การบริจาคเงินให้แก่โครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนาง เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสทรงพระชนม์มายุ 72 พรรษา
(12) การบริจาคเงินให้แก่ส่วนราชการที่จัดขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
(13) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ
(14) การบริจารเงินเพื่อการกีฬา ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการกีฬา คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกีฬาในจังหวัด สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการเพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน หรือสมาคมกีฬาสมัครเล่น
(15) การบริจาคเงินให้แก่ส่วนราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมาชาติอื่น
(16) การบริจาคเงินให้แก่ส่วนราชการหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล

.

2. การหักลดหย่อนในกรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ถ้า ความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ให้หักลดหย่อนรวม กันได้ 60,000 บาท แต่ถ้าความเป็นสามีหรือภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี หรือภริยาแยกคำนวณเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ต่างหากจากสามี ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท และสำหรับการหักลดหย่อนบุตรและค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้อื่น ๆ ให้ต่างฝ่ายต่างหักได้กึ่งหนึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละกรณีเฉพาะในปี ภาษีนั้น

3. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ บุตร และการศึกษาของบุตรของผู้มีเงินได้

4. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้เสมือนผู้ตายมีชีวิตอยู่ตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย

5. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้เป็นกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้30,000 บาท

6. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้ หัก ลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนที่ อยู่ในประเทศไทยคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

ที่มา.. กรมสรรพากร

เปิดบริษัทใหม่ต้องทำอะไรบ้าง

1.ขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

มาดูกันตั้งแต่เริ่มแรกเลยนะครับ การเปิดบริษัทใหม่ การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอาจจะไม่ใช่เรื่องยากมากนัก เพียงแต่มีเอกสารที่ต้องจัดทำค่อนข้างมาก และปัจจุบันทางกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเปลี่ยนให้การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสามารถจดในวันเดียวกันได้ ทำให้ระยะเวลาที่ใช้สั้นลง นอกจากนี้ยังลดจำนวนผู้เริ่มก่อการจาก 7 คนลดเหลือ 3 คน แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเรื่องเอกสารที่ต้องจัดทำยังเหมือนเดิมทุกอย่าง

เรามาดูขั้นตอนการจดทะเบียนกันนะครับ

ศึกษาขั้นตอนเรียบร้อยแล้วก็มาเริ่มจดทะเบียนบริษัทกันเลยนะครับ ลิงค์ด้านล่างนี้จะเป็นการจดทะเบียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

หรือถ้าต้องการนำแบบฟอร์มมาพิมพ์และนำไปยื่นเองก็สามารถทำได้ คลิ๊ก ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม

2.บัญชีที่ต้องจัดทำและการจัดทำงบการเงิน (กระทรวงพาณิชย์)

ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรต้องจัดทำบัญชีดังต่อไปนี้ โดยต้องจัดทำให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี
(๑) บัญชีรายวัน
(ก) บัญชีเงินสด
(ข) บัญชีธนาคาร แยกเป็นแต่ละเลขที่บัญชีธนาคาร
(ค) บัญชีรายวันซื้อ
(ง) บัญชีรายวันขาย
(จ) บัญชีรายวันทั่วไป
(๒) บัญชีแยกประเภท
(ก) บัญชีแยกประเภทสินทรัพย์ หนี้สินและทุน
(ข) บัญชีแยกประเภทรายได้และค่าใช้จ่าย
(ค) บัญชีแยกประเภทลูกหนี้
(ง) บัญชีแยกประเภทเจ้าหนี้
(๓) บัญชีสินค้า
(๔) บัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภทอื่น และบัญชีแยกประเภทย่อยตามความจำเป็นแก่การทำบัญชีของธุรกิจ

คลิ๊ก อ่านเพิ่มเติม ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการบัญชี และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี

การจัดทำงบการเงิน

  • จัดให้มีผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ปิดงบการเงินครั้งแรกภายใน 12 เดือน (เฉพาะปีแรกอาจปิดงบไม่ถึง 12 เดือนก็ได้ เช่น ถ้าจดทะเบียนวันที่ 18 สิงหาคม และต้องการปิดบัญชีในวันที่ 31 ธันวาคมก็ได้ ปีแรกจะปิดบัญชีวันไหนก็ได้ แต่อย่าเกิน 12 เดือน) หลังจากนั้นให้ปิดบัญชีครั้งต่อไปทุกรอบ 12 เดือน
  • จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือนนับจากวันปิดบัญชี เช่น ปิดงบการเงินวันที่ 31 ธันวาคม ก็ต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบภายในวันที่ 30 เมษายน ปีถัดไปและหลังจากงบได้รับการอนุมัิติจากที่ประชุมแล้วก็ต้องนำไปยื่นกระทรวงพาณิชย์ภายใน 1 เดือน หรือภายในวันที่ 31 พฤษภาคม

3.การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย (กรมสรรพกร)

ถ้ายังไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเลขทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเลขทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ สามารถเขาไปจดทะเบียนที่กรมสรรพากรได้

การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือการเสียภาษีประจำปี

ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี โดยใช้แบบ ภงด.50 กำหนดเวลาในการยื่นแบบภายใน 150 วันนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เช่น ถ้าปิดงบวันที่ 31 ธันวาคม จะต้องยื่นภายในวันที่ 29 พฤษภาคม (ในกรณีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน) หรือต้องยื่นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม (กรณีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน)

นอกจากนี้ยังต้องประมาณการเพื่อเสียภาษีครึ่งปี สำหรับงบที่มีรอบระยะเวลาบัญชี มค-ธค. รอบระยะเวลา 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน กำหนดยื่นภายใน 2 เดือน ต้องยื่นภายในวันที่ 31 สิงหาคม

ภาษีเิงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ต้องยื่นประจำทุกเดือน

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งให้สรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน โดยเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 70 สำหรับแบบที่ใช้ในการยื่น ได้แก่

  • ภงด.1 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง
  • ภงด.3 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ประเภทอื่นที่ที่จ่ายให้แก่บุคคลธรรมดา
  • ภงด.53 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่จ่ายให้แก่บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ข้อมูลอ้างอิงและถ้าต้องการศึกษาเพิ่มเติม

การยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30) ต้องยื่นประจำทุกเดือน

กำหนดยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มต้องยื่นภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ไม่ว่าจะมีภาษีต้องเสียหรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่มีภาษีต้องจ่่ายก็ให้ยื่นฟอร์มเปล่า อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

4.ประกันสังคม

สำหรับกิจการที่มีูลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องยื่นขึ้นทะเบียนนายจ้าง ภายใน 30 วันนับจากที่มีลูกจ้าง และนำส่งเงินประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยใช้แบบนำส่ง สปส.1-10

เอกสารที่ต้องแนบมาพร้อมกับการยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง

กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล (ต้องใช้เอกสารแนบทุกข้อที่กำหนด)

  1. สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์
  2. สำเนา หรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ช.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
  3. แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ
  4. หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)

การยื่นขอขึ้นทะเบียนให้ใช้ แบบขึ้นทะเบียนทะเบียนนายจ้าง (สปส.1-01)

คลิ๊กเพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์มประกันสังคม