รับจดทะเบียนบริษัท | รับทำเงินเดือน รับจดทะเบียนบริษัท | รับทำเงินเดือน

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด

บริษัทจำกัด

        คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นแต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ
โครงสร้างของ "บริษัทจำกัด"
        1. ต้องมีผู้ร่วมลงทุน อย่างน้อย 3 คน
        2. แบ่งทุนออกเป็นหุ้น และมีมูลค่าหุ้นละเท่าๆ กัน
        3. มูลค่าหุ้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท
        4. ความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นมีจำกัด (เฉพาะจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ)
        5. ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัด ในการจัดตั้งบริษัทจำกัดนั้น จะต้องดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ดังนี้
        1. ต้องมีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิขึ้น แล้วไปจดทะเบียน
        2. เมื่อได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องจัดให้หุ้นของบริษัทที่จะตั้งขึ้นนั้นมีผู้ เข้าชื่อจองซื้อหุ้นจนครบ
        3. ดำเนินการประชุมตั้งบริษัท โดยต้องส่งคำบอกกล่าวนัดประชุมให้ผู้จองทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันประชุม
        4. เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัท และที่ประชุมได้แต่งตั้งกรรมการบริษัทแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องมอบหมายกิจการให้กรรมการบริษัทรับไปดำเนินการต่อไป
        5. กรรมการบริษัทเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้จองหุ้นชำระค่าหุ้นอย่างน้อยร้อย ละ 25 ของมูลค่าหุ้น (ทุนของบริษัทจะแบ่งเป็นกี่หุ้นก็ได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท)
        6. เมื่อได้รับเงินค่าหุ้นแล้ว กรรมการต้องไปจดทะเบียนเป็นบริษัทภายใน 3 เดือน ภายหลังจากการประชุมตั้งบริษัท
        7. ในการจัดตั้งบริษัท ถ้าได้ดำเนินการทุกขั้นตอนดังต่อไปนี้ ภายในวันเดียวกับวันที่ผู้เริ่มก่อการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กรรมการจะจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนตั้งบริษัทไปพร้อมกันภาย ในวันเดียวก็ได้ 
            7.1 จัดให้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นครบตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะจดทะเบียน 
            7.2 ประชุมจัดตั้งบริษัท  เพื่อพิจารณากิจการต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108 โดยมีผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนเข้าร่วมประชุม และผู้เริ่มก่อการ และผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคน ให้ความเห็นชอบในกิจการที่ได้ประชุมกันนั้น 
            7.3 ผู้เริ่มก่อการได้มอบกิจการทั้งปวงให้แก่กรรมการบริษัท 
            7.4 กรรมการได้เรียกให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น ใช้เงินค่าหุ้น โดยจะเรียกครั้งเดียวเต็มมูลค่าหรือไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า ตามมาตรา 1110 วรรคสองก็ได้  และผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนได้ชำระเงินค่าหุ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว

การดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหรือเลิกและชำระบัญชีบริษัทจำกัด
        ในกรณีที่บริษัทจำกัดนั้นได้ตกลงที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรายการใด ๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้ เป็นอย่างอื่น หรือผู้ถือหุ้นจะเลิกกิจการ ก็จะต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายการนั้น ๆ หรือจดทะเบียนเลิกและเสร็จการชำระบัญชี ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่ห้างนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
        การจดทะเบียนจัดตั้งและแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องดำเนินการตามวิธีและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและระเบียบของทางราชการได้กำหนดไว้
รายการจดทะเบียนที่บริษัทจะต้องจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม
        1. การแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิก่อนการตั้งบริษัท
        2. มติพิเศษของบริษัทให้
                (1) เพิ่มทุน
                (2) ลดทุน
                (3) ควบบริษัท
        3. ควบบริษัท
        4. แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิภายหลังตั้งบริษัท
        5. เพิ่มทุน
        6. ลดทุน
        7. กรรมการ
        8. จำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท
        9. ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และ/หรือสำนักงานสาขา
        10. ตราของบริษัท
        11. รายการอื่นที่เห็นสมควรจะให้ประชาชนทราบ

หน้าที่ของบริษัทจำกัด
        1. บริษัทจำกัด ต้องทำงบการเงินอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือน โดยมีผู้ สอบบัญชีอย่างน้อย หนึ่งคนตรวจสอบ แล้วนำเสนอที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นอนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือน นับแต่วันปิดรอบปีบัญชี พร้อมทั้งยื่นงบการเงินต่อสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันอนุมัติงบการเงิน ทั้งนี้รวมถึงบริษัทที่แม้ว่าจะยังมิได้ประกอบกิจการก็ตาม จะต้องส่งงบการเงินด้วย มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
        2. จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นและให้นำส่งต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วน บริษัทกรุงเทพมหานคร หรือที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดแล้วแต่กรณี ภายใน 14 วัน นับจากวันที่ประชุม มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
        3. ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญ ภายหลัง 6 เดือน นับแต่วันจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และจัดประชุมครั้งต่อไปอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกระยะเวลา 12 เดือน มิฉะนั้น จะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
        อนึ่ง คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัด ประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และ
        ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของ บริษัท ก่อนนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ เพือลงมติพิเศษให้กระทำการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน
        4. ต้องจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
        5. ต้องจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
        6. บริษัทใดย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ ต้องขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท  มิฉะนั้นจะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
        ในกรณีนิติบุคคลไม่จัดส่งงบการเงินประจำปีตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนิติบุคคลจะมีความผิดแล้วกรรมการผู้จัดการหรือกรรมการผู้มีอำนาจกระทำ การแทนนิติบุคคล ก็มีความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับนิติบุคคลด้วย

กิจการที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาในการยื่นจดทะเบียน
        1. คำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 3 เดือน นับแต่วันประชุมตั้งบริษัท
        2. คำขอจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการของบริษัทขึ้นใหม่ และ/หรือกรรมการออกจากตำแหน่ง ต้องยื่นขอขอจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ตั้งกรรมการขึ้นใหม่ หรือกรรมการออกจากตำแหน่ง
        3. คำขอจดทะเบียนมติพิเศษให้เพิ่มทุน หรือลดทุนของบริษัทจำกัด หรือให้ควบบริษัทจำกัด ต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมได้มีการลงมติพิเศษ
        4. คำขอจดทะเบียนตั้งข้อบังคับขึ้นใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของบริษัทจำกัด ต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมได้มีการลงมติพิเศษ
        5. คำขอจดทะเบียนควบบริษัทจำกัด ต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้มีการควบบริษัทเข้ากัน
        6. คำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทจำกัด ต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เลิกกัน
        7. คำขอจดทะเบียนเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชี ต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้เปลี่ยนตัว
        8. คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจผู้ชำระบัญชี ต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมได้มีการลงมติ หรือวันที่ที่ศาลได้มีคำพิพากษา
        9. คำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของบริษัทจำกัด ต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมได้มีการลงมติ
        10. การยื่นรายงานการชำระบัญชีของบริษัทจำกัด ต้องยื่นทุกระยะ 3 เดือนครั้งหนึ่งนั้น ผู้ชำระบัญชีจะต้องยื่นรายงานการชำระบัญชีภายใน 14 วัน นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน *ท่านสามารถ Download แบบพิมพ์ไปใช้ในการจดทะเบียนได้หรือ ขอรับแบบพิมพ์ได้ที่สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดทุกแห่ง

ประเภทการจดทะเบียน

1. หนังสือบริคณห์สนธิ 
        คำขอ บอจ.1 , หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ บอจ.1)
        รายการ: แบบ บอจ.2 (ใช้ทั้งสองหน้า) ผนึกอากร 200 บาท
        เอกสารประกอบรายการ :แบบ ว.
        เอกสารประกอบ
             1. แบบจองชื่อนิติบุคคล
             2. หลักฐานให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจจากหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง  (ใช้เฉพาะในการประกอบธุรกิจที่มีกฎหมายพิเศษควบคุม)
             3. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้เริ่มก่อการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             4. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             5. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

2.แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิก่อนการตั้งบริษัท
        คำขอ :แบบ บอจ.1, หน้าหนังสือรับรอง(ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ บอจ.1)
        รายการ แบบ บอจ.2 (ใช้เฉพาะหน้า 1)
        เอกสารประกอบรายการ แบบ ว. (ในกรณีแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุที่ประสงค์)
        เอกสารประกอบ
             1. แบบจองชื่อนิติบุคคล (ใช้เฉพาะกรณีเปลี่ยนชื่อบริษัท)
             2. หลักฐานการให้ความยินยอมของผู้เริ่มก่อการทุกคน
             3. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้เริ่มก่อการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             4. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             5. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

3.จัดตั้งบริษัท
        คำขอ :แบบ บอจ.1 , (หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ บอจ. 1)
        รายการ : แบบ บอจ.3 (ใช้ทั้ง 2 หน้า)
        เอกสารประกอบรายการ : แบบ ก.
        เอกสารประกอบ
             1. แบบ บอจ.5
             2. สำเนาหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท
             3. สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
             4. สำเนาข้อบังคับ ผนึกอากร 200 บาท (ถ้ามี)
             5. สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
             6. กรณีมีคนต่างด้าวลงทุนในบริษัทจำกัดตั้งแต่ร้อยละ 40 แต่ไม่ถึงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนหรือต่ำกว่าร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียน แต่คนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทให้ผู้ถือหุ้นทุกคนที่ มีสัญชาติไทยส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุนซึ่งปรากฏจำนวนเงินสอดคล้องกับ จำนวนเงิน ที่ชำระค่าหุ้นแล้วของผู้ถือหุ้นแต่ละคน ดังนี้
                  – สำเนาสมุดเงินฝากธนาคารหรือสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน หรือ
                  – เอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะทางการเงินของผู้ถือหุ้น หรือ
                  – สำเนาหลักฐานที่แสดงแหล่งที่มาของเงินที่นำมาชำระค่าหุ้น
             7. แบบ สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ
             8. สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             9. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             10. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

4. หนังสือบริคณห์สนธิและจัดตั้งบริษัท พร้อมกันภายในวันเดียวกัน
        คำขอ :แบบ บอจ.1 หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ บอจ.1)
        รายการ :
             1. แบบ บอจ.2 (ใช้ทั้ง 2 หน้า) ผนึกอากร 200 บาท
             2. แบบ บอจ.3 (ใช้ทั้ง 2 หน้า)
        เอกสารประกอบรายการ :
             1. แบบ ก.
             2. แบบ ว.
        เอกสารประกอบ
             1. แบบจองชื่อนิติบุคคล
             2. หลักฐานให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจจากหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง(เฉพาะการประกอบธุรกิจที่มีกฎหมายพิเศษควบคุม)
             3. แบบ บอจ.5
             4. สำเนาบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นในการประชุมให้ความเห็นชอบในกิจการที่ได้
             5. สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
             6. สำเนาข้อบังคับ ผนึกอากร 200 บาท (ถ้ามี)
             7. สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
             8. กรณีมีคนต่างด้าวลงทุนในบริษัทจำกัดตั้งแต่ร้อยละ 40 แต่ไม่ถึงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนหรือต่ำกว่าร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียน แต่คนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ให้ผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีสัญชาติไทยส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุนซึ่ง ปรากฏจำนวนเงินสอดคล้องกับจำนวนเงินที่ชำระค่าหุ้นแล้วของผู้ถือหุ้นแต่ละคน ดังนี้
                  – สำเนาสมุดเงินฝากธนาคารหรือสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน หรือ
                  – เอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะทางการเงินของผู้ถือหุ้น หรือ
                  – สำเนาหลักฐานที่แสดงแหล่งที่มาของเงินที่นำมาชำระค่าหุ้น
             9. แบบ สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ
             10. สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             11. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             12. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

5. มติพิเศษของบริษัทให้เพิ่มทุน, ลดทุน, ควบบริษัท
        คำขอ : แบบ บอจ.1, หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ในด้านหลังของหน้าแบบ บอจ.1)
        รายการ : แบบ บอจ.4
        เอกสารประกอบรายการ : –
        เอกสารประกอบ
             1. หลักฐานให้ความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบ ธุรกิจประกันภัย(ใช้เฉพาะบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัยหรือนายหน้าประกัน ภัย)
             2. สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             3. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             4. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

6. ควบบริษัท
        คำขอ : แบบ บอจ.1,หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ บอจ.1)
        รายการ :
             1. แบบ บอจ.2 (ใช้เฉพาะหน้า 1 แต่ไม่ต้องกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เริ่มก่อการ) ผนึกอากร 200 บาท
             2. แบบ บอจ.3 (ใช้ทั้ง 2 หน้า)
        เอกสารประกอบรายการ
             1. แบบ ก.
             2. แบบ ว.
        เอกสารประกอบ
             1. แบบ บอจ.5ของบริษัทตั้งใหม่ตามที่ควบเข้ากัน
             2. แบบจองชื่อนิติบุคคล (ใช้เฉพาะกรณีตั้งชื่อบริษัทขึ้นใหม่)
             3. หลักฐานให้ความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)
             4. สำเนาข้อบังคับของบริษัทตั้งใหม่ตามที่ควบเข้ากัน ผนึกอากร 200 บาท (ถ้ามี)
             5. แบบ สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ
             6. สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             7. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             8. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

7. แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิภายหลังตั้งบริษัท ได้แก่ แก้ไขชื่อบริษัท, ที่ตั้ง, สำนักงานใหญ่ข้ามจังหวัด วัตถุที่ประสงค์ และรายการเกี่ยวกับทุน
        คำขอ : บอจ.1 ,หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ บอจ.1)
        รายการ : แบบ บอจ.4
        เอกสารประกอบรายการ : แบบ ว. (ใช้เฉพาะกรณีแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุที่ประสงค์)
        เอกสารประกอบ
             1. แบบจองชื่อนิติบุคคล (ใช้เฉพาะกรณีแก้ไขเพิ่มเติมชื่อบริษัท)
             2. หนังสือบริคณห์สนธิฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ผนึกอากร 50 บาท จำนวน 1 ฉบับ
             3. แบบ สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ
             4. หลักฐานให้ความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
             5. สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนสำเนาหลักฐานการ เป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             6. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

8. ตั้งข้อบังคับขึ้นใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
        คำขอ : แบบ บอจ.1 หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ บอจ.1)
        รายการ : แบบ บอจ.4
        เอกสารประกอบรายการ : –
        เอกสารประกอบ
             1. ข้อบังคับใหม่หรือข้อบังคับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ผนึกอากร 50 บาท จำนวน 1 ฉบับ
             2. หลักฐานให้ความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบ ธุรกิจประกันภัย (ใช้เฉพาะบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัย)
             3. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเพื่อเปลี่ยนรอบปีบัญชี ให้ส่งหลักฐานแล้วแต่กรณีดังต่อไปนี้
                   3.1 หนังสือขอเปลี่ยนรอบปีบัญชี ซึ่งระบุงวดปีบัญชีที่จะเริ่มเปลี่ยนต่อสารวัตร    ใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีกรณีเปลี่ยนรอบปีบัญชีเป็นรอบปีบัญชี ที่เริ่ม ตั้งแต่วันที1 มกราคม สิ้นสุด 31 ธันวาคม
                   3.2 หนังสืออนุญาตให้เปลี่ยนรอบปีบัญชีจากกรมสรรพากร หรือธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วแต่กรณี กรณีเปลี่ยนรอบปีบัญชีต่างไปจากกรณีตาม 3.1
                   3.3 หนังสือยืนยันว่าตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทยังไม่เคยดำเนินการปิดบัญชี เพื่อจัดทำงบดุลกรณีที่บริษัทไม่เคยดำเนินการปิดรอบปีบัญชีเพื่อจัดทำงบดุล
             4. สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             5. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             6. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

9. แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ เพิ่มทุน, ลดทุน, กรรมการ จำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และ/หรือสำนักงานสาขา, ตราของบริษัท, รายการอย่างอื่นซึ่งเห็นสมควรจะให้ประชาชนทราบ
        คำขอ : แบบ บอจ.1 ,หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ บอจ.1)
        รายการ : แบบ บอจ.4
        เอกสารประกอบรายการ : แบบ ก.(ใช้เฉพาะกรณีมีกรรมการเข้าใหม่)
        เอกสารประกอบ
             1. สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้น (ใช้เฉพาะกรณีจดทะเบียนเพิ่มทุน)
                  – หนังสือรับรองจากธนาคาร หรือ
                  – สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
             2. หลักฐานการอนุญาตให้ เพิ่มทุน ลดทุน แต่งตั้งกรรมการใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมสำนักงานแห่งใหญ่และ/หรือสำนักงานสาขา จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย แล้วแต่กรณี (ใช้เฉพาะบริษัทที่ประกอบธุรกิจ เงินทุน หรือหลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ หรือธนาคารพาณิชย์ หรือประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัย)
             3. สำเนาใบมรณบัตร (ใช้เฉพาะกรณีกรรมการถึงแก่กรรม)
             4. สำเนาคำสั่งศาลให้ล้มละลาย (ใช้เฉพาะกรณีฟื้นฟูกิจการ)
             5. สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             6. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             7. หนังสือมอบอำนาจ(ถ้ามี)

10. เลิกบริษัท
        คำขอ : แบบ ลช.1,หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ ลช.1)
        รายการ แบบ ลช.2
        เอกสารประกอบรายการ : –
        เอกสารประกอบ
             1. สำเนาคำสั่งศาลให้เลิกบริษัท (ถ้ามี)
             2. สำเนารายงานการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นซึ่งผู้ถือหุ้นทุกคนเข้าร่วมประชุมและมี มติเป็นเอกฉันท์ในการตั้งผู้ชำระบัญชีหรือตั้งผู้อื่นที่ไม่ใช่กรรมการทุกคน เป็นผู้ชำระบัญชี พร้อมทั้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นทุกคนที่ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ดัง กล่าว (ใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ชำระบัญชีมิใช่กรรมการทุกคนตามที่จดทะเบียนไว้ก่อนเลิก)
             3. สำเนาใบมรณบัตร (ใช้เฉพาะกรณีกรรมการถึงแก่กรรม)
             4. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ชำระบัญชีที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             5. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             6. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

11. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของผู้ชำระบัญชี, ที่ตั้งสำนักงานของผู้ชำระบัญชี, ตั้ง/เปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชี
        คำขอ : แบบ ลช.1 ,หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ ลช.1)
        รายการ : แบบ ลช.2
        เอกสารประกอบรายการ : –
        เอกสารประกอบ
             1. สำเนาคำสั่งศาลกำหนดอำนาจของผู้ชำระบัญชีและ/หรือตั้งหรือเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชี (ถ้ามี)
             2. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ชำระบัญชีที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             3. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             4. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

12. เสร็จการชำระบัญชีบริษัท
        คำขอ : แบบ ลช.1,หน้าหนังสือรับรอง (ในการ Print-out หนังสือรับรอง ให้อยู่ด้านหลังของหน้าแบบ ลช.1)
        รายการ : แบบ ลช.5
        เอกสารประกอบรายการ
             1. แบบ ลช.3 พร้อมเอกสารประกอบ
             2. แบบ ลช.6
        เอกสารประกอบรายการ
             1. งบการเงิน ณ วันเลิกบริษัท (จะใช้งบการเงิน ณ วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษให้เลิกบริษัท หรืองบการเงิน ณ วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเลิกบริษัทก็ได้ )
             2. แบบรับรองการตรวจสอบบัญชีของกรมสรรพากร
             3. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ชำระบัญชีที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน
             4. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
             5. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

ที่มา..กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

เปิดบริษัทใหม่ต้องทำอะไรบ้าง

1.ขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

มาดูกันตั้งแต่เริ่มแรกเลยนะครับ การเปิดบริษัทใหม่ การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอาจจะไม่ใช่เรื่องยากมากนัก เพียงแต่มีเอกสารที่ต้องจัดทำค่อนข้างมาก และปัจจุบันทางกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเปลี่ยนให้การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสามารถจดในวันเดียวกันได้ ทำให้ระยะเวลาที่ใช้สั้นลง นอกจากนี้ยังลดจำนวนผู้เริ่มก่อการจาก 7 คนลดเหลือ 3 คน แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเรื่องเอกสารที่ต้องจัดทำยังเหมือนเดิมทุกอย่าง

เรามาดูขั้นตอนการจดทะเบียนกันนะครับ

ศึกษาขั้นตอนเรียบร้อยแล้วก็มาเริ่มจดทะเบียนบริษัทกันเลยนะครับ ลิงค์ด้านล่างนี้จะเป็นการจดทะเบียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

หรือถ้าต้องการนำแบบฟอร์มมาพิมพ์และนำไปยื่นเองก็สามารถทำได้ คลิ๊ก ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม

2.บัญชีที่ต้องจัดทำและการจัดทำงบการเงิน (กระทรวงพาณิชย์)

ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรต้องจัดทำบัญชีดังต่อไปนี้ โดยต้องจัดทำให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี
(๑) บัญชีรายวัน
(ก) บัญชีเงินสด
(ข) บัญชีธนาคาร แยกเป็นแต่ละเลขที่บัญชีธนาคาร
(ค) บัญชีรายวันซื้อ
(ง) บัญชีรายวันขาย
(จ) บัญชีรายวันทั่วไป
(๒) บัญชีแยกประเภท
(ก) บัญชีแยกประเภทสินทรัพย์ หนี้สินและทุน
(ข) บัญชีแยกประเภทรายได้และค่าใช้จ่าย
(ค) บัญชีแยกประเภทลูกหนี้
(ง) บัญชีแยกประเภทเจ้าหนี้
(๓) บัญชีสินค้า
(๔) บัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภทอื่น และบัญชีแยกประเภทย่อยตามความจำเป็นแก่การทำบัญชีของธุรกิจ

คลิ๊ก อ่านเพิ่มเติม ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการบัญชี และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี

การจัดทำงบการเงิน

  • จัดให้มีผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ปิดงบการเงินครั้งแรกภายใน 12 เดือน (เฉพาะปีแรกอาจปิดงบไม่ถึง 12 เดือนก็ได้ เช่น ถ้าจดทะเบียนวันที่ 18 สิงหาคม และต้องการปิดบัญชีในวันที่ 31 ธันวาคมก็ได้ ปีแรกจะปิดบัญชีวันไหนก็ได้ แต่อย่าเกิน 12 เดือน) หลังจากนั้นให้ปิดบัญชีครั้งต่อไปทุกรอบ 12 เดือน
  • จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือนนับจากวันปิดบัญชี เช่น ปิดงบการเงินวันที่ 31 ธันวาคม ก็ต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบภายในวันที่ 30 เมษายน ปีถัดไปและหลังจากงบได้รับการอนุมัิติจากที่ประชุมแล้วก็ต้องนำไปยื่นกระทรวงพาณิชย์ภายใน 1 เดือน หรือภายในวันที่ 31 พฤษภาคม

3.การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย (กรมสรรพกร)

ถ้ายังไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเลขทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเลขทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ สามารถเขาไปจดทะเบียนที่กรมสรรพากรได้

การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือการเสียภาษีประจำปี

ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี โดยใช้แบบ ภงด.50 กำหนดเวลาในการยื่นแบบภายใน 150 วันนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เช่น ถ้าปิดงบวันที่ 31 ธันวาคม จะต้องยื่นภายในวันที่ 29 พฤษภาคม (ในกรณีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน) หรือต้องยื่นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม (กรณีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน)

นอกจากนี้ยังต้องประมาณการเพื่อเสียภาษีครึ่งปี สำหรับงบที่มีรอบระยะเวลาบัญชี มค-ธค. รอบระยะเวลา 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน กำหนดยื่นภายใน 2 เดือน ต้องยื่นภายในวันที่ 31 สิงหาคม

ภาษีเิงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ต้องยื่นประจำทุกเดือน

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งให้สรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน โดยเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 70 สำหรับแบบที่ใช้ในการยื่น ได้แก่

  • ภงด.1 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง
  • ภงด.3 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ประเภทอื่นที่ที่จ่ายให้แก่บุคคลธรรมดา
  • ภงด.53 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่จ่ายให้แก่บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ข้อมูลอ้างอิงและถ้าต้องการศึกษาเพิ่มเติม

การยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30) ต้องยื่นประจำทุกเดือน

กำหนดยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มต้องยื่นภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ไม่ว่าจะมีภาษีต้องเสียหรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่มีภาษีต้องจ่่ายก็ให้ยื่นฟอร์มเปล่า อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

4.ประกันสังคม

สำหรับกิจการที่มีูลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องยื่นขึ้นทะเบียนนายจ้าง ภายใน 30 วันนับจากที่มีลูกจ้าง และนำส่งเงินประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยใช้แบบนำส่ง สปส.1-10

เอกสารที่ต้องแนบมาพร้อมกับการยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง

กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล (ต้องใช้เอกสารแนบทุกข้อที่กำหนด)

  1. สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์
  2. สำเนา หรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ช.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
  3. แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ
  4. หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)

การยื่นขอขึ้นทะเบียนให้ใช้ แบบขึ้นทะเบียนทะเบียนนายจ้าง (สปส.1-01)

คลิ๊กเพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์มประกันสังคม