ตุลาคม, 2008 | รับทำเงินเดือน ตุลาคม, 2008 | รับทำเงินเดือน

งวดการตัดเงินเดือนและโอที

ปัญหาในการจัดทำเงินเดือนและค่าแรง เรื่องสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาคือ งวดการตัดเงินเดือน-ค่าแรง และงวดการตัดค่าล่วงเวลา (โอที) เพราะมีผลต่อการจัดทำเงินเดือนค่อนข้างมากและเพื่อลดความยุ่งยากในการจัดทำลง ซึ่งเกี่ยวพันกับการบันทึกบัญชีด้วย

ตามปกติเงินเดือนมักจะออกในวันสิ้นเดือน ตอนที่ผมเข้าทำงานบริษัทใหม่ในเดือนแรก ก็มักจะพบว่าได้เงินเดือนไม่ครบทั้งๆ ที่เราเข้าทำงานในวันที่ 1 ของเดือน สมมติว่าเงินเดือน 30,000 บาทนะครับ พอไปกดเงินอาจจะได้มาเพียง 20,000 บาท ถ้าเค้าให้ Siip มาด้วยก็จะพบว่า วันทำงานมีเพียง 20 วันเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องมาจากบริษัทตัดยอดเงินถึงวันที่ 20 เท่านั้น เคยสงสัยบ้างไหม๊ครับว่า ทำไมต้องตัดวันที่ 20 แล้วทำไมต้องใช้เวลาในการจัดทำค่อนข้างนานถึง 10 วัน บัญชีทำไมถึงทำงานได้ช้าจังนะ

พอต้องมาดูแลการคิดเงินเดือนให้พนักงานถึงได้รู้ว่า ที่จริงมันมีขั้นตอนในการทำงานอยู่ บางทีก็ไม่ได้ช้าที่แผนกบัญชีนะครับ ส่วนใหญ่แล้วน่าจะช้ามาจากหน่วยงานอื่น (แผนกบุคคล) ส่งรายงานให้แผนกบัญชีค่อนข้างช้า ผมเองเคยเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่า ทางบุคคลทำรายงานเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมส่งบัญชี แต่รอเอกสารการเขียนใบลาหยุด ลาป่วย คำขอโอที หรือเอกสารอยู่ระหว่างรอผู้มีอำนาจเซ็นต์อนุมัติอยู่ ก็เลยทำให้ไม่สามารถส่งรายงานได้ ต้องคอยตามทวง

เราลองมาดูกันนะครับว่าเวลา 10 วันในการจัดทำเงินเดือนและค่าแรง ใช้ไปในเรื่องใดบ้าง

  • ในส่วนของ 10 วันจะตรงกับวันหยุดวันอาทิตย์ประมาณ 2 วัน
  • ทางบุคคลขอเวลาในการจัดทำ 3 วัน (ประมวล,คีย์ใบขอโอที,ใบลาหยุดต่างๆ)
  • ทางบัญชีขอเวลาในการจัดทำ 3 วัน (คีย์ขอมูล,ประมวลผล,ตรวจสอบ,ทำเช็คค่าแรงพร้อมเสนอเซ็นต์)
  • นำแผ่นส่งให้ธนาคารพร้อมเช็ค 1 วันและอีก 1 วันเป็นวันเงินเดือนออก

บริษัทที่ผมเคยทำงานด้วยมีพนักงานประมาณ 500 คน ตัดค่าจ้างทุกวันที่ 23 ของเดือนทำให้เหลือเวลาทำงานอยู่เพียง 7 วัน ในจำนวน 7 วันจะตรงกับวันหยุด 1 วัน ทางบุคคลขอ 2 วัน บัญชีขอ 2 วัน ส่งแผ่นให้ธนาคารพร้อมเช็คอีก 1 วัน (ต้องส่งแผ่นก่อนวันเงินเดือนออกอย่างน้อย 1 วันและส่งไม่เกินเที่ยง) และอีก 1 วันเป็นวันเงินเดือนออก ลองมาดูตัวอย่างกันนะครับ ผมยกตัวอย่างของเดือนธันวาคม นะครับ

  • งวดการจ่ายวันที่ 30 ธค. ตัดค่าจ้างวันที่ 23 ทางบุคคลขอ 2 วันคือวันที่ 24 และ 25 ในการรวบรวมข้อมูล ดังนั้นบุคคลต้องส่งรายงานให้บัญชีในวันที่ 26 ไม่เกิน 9.00 น.
  • ทางบัญชีใช้เวลาในการประมวลผล 2 วันคือวันที่ 26 และ 27 (วันเสาร์ทำงาน) เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องทำเช็คไปส่งธนาคารในวันที่ 28 (ตรงกับวันอาทิตย์) ก็เลยต้องเลื่อนไปส่งวันที่ 29 ไม่เกินเที่ยงพร้อมรายงาน แผ่น Disk และเช็คค่าแรง
  • วัันที่ 30 เป็นวันเงินเดือนออก (ที่จริงต้องออกในวันที่ 31 แต่เนื่องจากตรงกับวันหยุดเลยเลื่ยนเข้ามา)

จากตัวอย่างข้างต้น ผมได้จัดทำตารางการจ่ายค่าจ้างขึ้นมา เพื่อกำหนดเวลาให้แต่ละหน่วยงานจัดส่งรายงานภายในกำหนดเวลา อย่างเช่น การเขียนใบคำขอโอที ควรเขียนและส่งก่อนทำโอที ไม่ใช่มาเขียนในตอนเช้า หรือ บางทีลางาน ตอนเช้า่มาทำงานก็ควรเขียนในทันที ไม่ใช่ 2-3 วันมาเขียน ซึ่งก็จะทำให้การสรุปข้อมูลทำได้ช้า ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมาก

ข้อดีในการจัดทำตารางการตัดค่าจ้างอีกอย่างก็คือ ทำให้พนักงานเข้าใจว่าเวลาที่ใช้ในการจัดทำ 7-10 วันนะที่จริงก็ไม่ถือว่าใช้เวลามากเกินไป โดยเฉพาะถ้าเป็นโรงงานที่มีคนงานจำนวนมาก ตารางการตัดค่าจ้างและโอที ผมเห็นทางบุคคลเอาไปติดไว้ที่บอร์ด และเห็นพนักงานมาจดด้วยว่า งวดนี้มีค่าจ้างกี่วัน ตัดโอทีวันไหน

ปัจจุบันงานรับทำเงินเดือน ผมก็เอาตารางการตัดค่าจ้างและโอทีมาทำให้ลูกค้า ในช่องของรายงานที่ส่งให้บัญชี ผมก็ลงเป็นส่งรายงานให้ Outsorce แทน ในเดือนแรกๆ การส่งรายงานก็ไม่เป็นไปตามนั้นแต่หลังจากนั้นไม่เกิน 2-3 เดือน ผมก็เห็นลูกค้าผม ส่งรายงานได้ตามกำหนดเวลาตามที่เราตกลงกันไว้ (ตอนแรกก็นึกว่าจะไม่สนใจดูกันซะอีก)

 

ผู้เขียน : เกียรติชัย ธีรทรัพย์ทวี 
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ. 2537

การยกเว้นเงินได้ให้ผู้สูงอายุ ไม่ต่ำกว่า 65 ปี

โดยปกติแล้วการทำงานในภาครัฐ หรือเอกชนมักจะมีการกำหนดให้พนักงานมีอายุการทำงานไม่เกิน 60 ปี ยกเว้นบุคคลนั้นมีความรู้ความสามารถก็อาจจะมีการต่ออายุให้ทำงานเกิน 60 ปีก็ได้

หลายครั้งเรามักจะพบว่าคนสูงอายุเหล่านี้หลังจากออกจากงานแล้วยังมีขีดความสามารถในการทำงาน​หรือทำธุรกิจบางคนยังรักการทำงานอาจจะเปิดธุรกิจของตนเอง​หรือนำเงินบำเหน็จบำนาญของตนเองไปฝากธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยแล้วนำดอกเบี้ยมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมีรายได้เกิดขึ้นซึ่งต้องนำรายได้ที่ได้รับในแต่ละปีไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า (10 – 37%) ตามประเภทของเงินได้พึงประเมิน

เงินได้พึงประเมินที่ผู้สูงอายุได้รับจะต้องแยกประเภทของเงินได้​เพื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา​แบ่งออกเป็น 8 ประเภทด้วยกัน​คือ

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) เงินเดือน​ค่าจ้าง

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) รับจ้างทำงานให้

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) ค่าสิทธิ

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)​(ก) ดอกเบี้ย

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)​(ข)เงินปันผล

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ให้เช่าทรัพย์สิน

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) วิชาชีพอิสระ

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) รับเหมาก่อสร้าง

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) เงินได้ที่นอกเหนือจากมาตรา 40(1) – (7)

เนื่องจากประมวลรัษฎากร​ได้กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดัง​นั้นเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้สูงอายุอันจะทำให้มีเงินเพื่อใช้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น กรมสรรพากรจึงได้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย​และมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท​ในปีภาษีนั้น​ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 257 (พ.ศ.2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร​ดังต่อไปนี้

เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย​และมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษี​ได้รับเฉพาะส่วนที่ไม่ เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทในปีภาษีนั้น  ทั้งนี้​สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม​พ.ศ.2548 เป็นต้นไป​ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์​วิธีการ​และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด”

มีคำพูดที่มักเคยได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ชีวิตหลังเกษียณอายุหลักเกณฑ์​วิธีการและเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประ​เทศไทย​และ​มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ​ดังต่อไปนี้

1.เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ได้รับ​โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้​มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์​และผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เฉพาะเงินได้ที่ได้รับส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้น

2.ผู้มีเงินได้ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 1 ต้องเป็นผู้มีเงินได้​ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา​แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ​หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล​และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

กรณีสามีภริยามีเงินได้ร่วมกัน​โดยความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของคณะบุคคลที่มิใช่ นิติบุคคล

3.กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 1 ได้รับเงินได้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร​ในปีภาษีใดหลายประเภท​ผู้มีเงินได้จะเลือกใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินได้ที่ได้รับประเภทใดประ​เภทหนึ่ง หรือจะเลือกใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินได้หลายประเภท​และแต่ละประเภทจะยกเว้นภาษีเงินได้จำนวนเท่าใดก็ได้​แต่เมื่อรวมจำนวนเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 190,000 บาท​ในปีภาษีนั้น

4.ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 1 ให้ถือตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(1) กรณีสามีภริยามีเงินได้ร่วมกันโดยความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี​ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี​ให้สามีเป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับร่วมกัน

(2) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้​ไม่ว่าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่​ให้สามีภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนที่ตนได้ รับ

5.ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 1 ต้องแสดงรายการเงินได้และจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงิน​ได้นั้น​พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ​ถึงแม้ว่ากรมสรรพากรจะยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป​และมีเงินได้ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้น​หรือเฉลี่ยต่อเดือน 15,833.33 บาท ไม่ต้องเสียภาษีอากรแต่ยังคงต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี

ที่มา ผู้จัดการรายสัปดาห์
อ้างอิง กฎกระทรวง ฉบับที่ 257 http://www.rd.go.th/publish/30226.0.html

ถูกเลิกจ้าง เพราะนำรถประจำตำแหน่งไปใช้งานส่วนตัว

สังคมไทยหลากหลายด้วยผู้คน ความเป็นมาและเป็นไปได้ แบ่งผู้คนออกเป็นหลายระดับ ระดับที่นำมาแบ่งกันในปัจจุบันอย่างง่ายๆ คือ ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางการศึกษา และฐานันดร

ผู้คนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน คงไม่มีใครอยากอยู่ อยากเป็น ชนชั้นที่ด้อยกว่าใคร แต่เขาเหล่านั้น หนีไม่พ้นต่อสภาพชนชั้นที่ต้องดำรงอยู่ ต่อเมื่อดิ้นรนด้วยมือและสมองตามสมควร ชนชั้นที่ แต่ละคนดำรงอยู่ จึงจะเปลี่ยนไปได้ทั้งในทางบวกและทางลบ ดีขึ้นหรือเลวลง เจริญหรือ เสื่อม

สิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้นอีกเช่นกัน คือ สภาพของชนชั้นของผู้คน ย่อมถูกกำหนดโดยผู้ที่มีฐานะ ทางสังคมเหนือกว่า ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยจงใจ และไม่จงใจ

ผลสรุปออกมาเช่นนี้แล้ว ชนชั้นที่ดำรงอยู่ในบ้านเมืองเราเฉกเช่นชนชั้นระดับรากหญ้า ซึ่งมีอยู่มากมาย กลายเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ ย่อมเป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากระบบ เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา และการปกครองของบ้านเมืองเรา ทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ดังกล่าวแล้ว

ผลสรุปอีกเช่นกัน เมื่อสังคมเราโน้มเอียงไปในทางส่งเสริมให้มีชนชั้นที่ด้อยกว่า ทั้งในด้านการ ศึกษา เศรษฐกิจ และจริยธรรม ดำรงอยู่ และเพิ่มปริมาณมากขึ้น ไม่ได้รับการพัฒนายกระดับ ให้ดีขึ้นอย่างจริงจัง ผู้ที่เหนือกว่าในทุกทาง พยายามตักตวงหากำไรจากผู้ที่อ่อน และด้อยกว่า เราจึงหมดสิทธิ์คาดหวังว่าจะได้ “นักการเมือง” ที่มีคุณภาพเฉกเช่นอารยประเทศต่างๆ บน โลกใบนี้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ประชาชนเป็นเช่นไร นักการเมืองย่อมเป็นเช่นนั้น”

สรุปอีกคำรบหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในด้านการเมืองไทยขณะนี้ นาทีนี้ มาจาก “กรรม” คือ การกระทำของชนชั้นที่อยู่ในระดับเหนือกว่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ ปัดความรับผิดไม่พ้น ทุกคนจึงต้องรับวิบากกรรมที่กำลังเกิดขึ้นร่วมกันจากระบบการเมืองที่น่าอเนจอนาถ ตราบใดที่เราต้องซุกหัวนอนอยู่ที่นี่ อยู่ที่ประเทศไทย

มาว่ากันถึงคดีความเช่นเคย

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ “นายเฟื่องฟู” หนุ่มใหญ่ที่น่าจะเฟื่องฟูได้เหมือนชื่อ พี่แกมีลูกเมีย มีหน้าที่การงานทำเป็นหลักฐาน อยู่ในบริษัทที่ไม่เล็กในเมืองไทย แต่ใช้ชื่อฝรั่งตามกระแส นิยม ตำแหน่งคงไม่ย่อยเพราะบริษัทจัดรถไว้ให้ใช้อีกด้วย

ความเฟื่องฟูของชีวิตนั้น จะว่าง่ายก็ดูเหมือนง่าย หากระมัดระวังในการดำเนินชีวิตของเรา ทุกย่างก้าว ไม่อยู่ในความประมาท จะว่ายากก็ยาก เพราะเส้นทางของคนเรา ไม่ได้โรยด้วยกลีบ กุหลาบ แม้กระทั่งคนอย่างท่านขงเบ้ง ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทรของจีนในสมัย “สามก๊ก” ก็ กระอักเลือด แก้ปัญหาไม่ตก ค้ำชูทายาทของท่านเล่าปี่ ที่ได้รับการฝากฝัง ให้รุ่งเรืองปลอดภัย ไม่ได้ ช้ำใจตายก่อนวัยอันควร เพราะความไม่เอาไหนของคนรอบข้างส่วนหนึ่ง

นายเฟื่องฟู ก็ทำท่าจะไม่เฟื่องฟู เพราะยึดถือเอาความมักง่ายเป็นที่ตั้ง นำรถที่บริษัทมอบไว้ ให้ใช้งานในหน้าที่ พาครอบครัวไปท่องเที่ยว รถเกิดอุบัติเหตุเสียหายแยะ ยังดีที่คนบนรถรอด ตาย รถต้องเข้าอู่ซ่อมนาน 2 สัปดาห์ แน่นอนนายจ้างโกรธจัด นายเฟื่องฟู จึงตกงานอย่าง กะทันหัน

คนเราส่วนใหญ่ในสมัยนี้หรือสมัยไหนก็แล้วแต่ เกิดเหตุผิดพลาดขึ้นมา มักจะโทษคนอื่นไว้ก่อน นายเฟื่องฟู ก็เช่นกัน พอตกงานก็ล้งเล้งถือว่านายจ้างทำกับตนไม่ถูกต้อง จะมาไล่ออกจากงาน ได้อย่างไร แบบนี้ต้องฟ้องศาลให้เห็นดำเห็นแดง

ศาลซึ่งเป็นองค์กรที่คอยค้ำจุนบ้านเมืองอย่างสำคัญ บ้านเมืองไหนศาลไม่เข้มแข็ง พังเอาง่ายๆ แต่เจ้ากรรมศาลมักจะเป็นที่พึ่งของคนที่คิดผิด ทำผิดอยู่เสมอ นายเฟื่องฟู ไปที่ศาลแรงงานกลาง ยื่นฟ้องบริษัทผู้เป็นนายจ้าง อ้างว่าไม่มีสิทธิ์ไล่ นายเฟื่องฟู ออกจากงานแบบไม่ให้ตั้งตัว เขาไม่ ได้ทำผิด รถที่เสียหายเป็นเรื่องอุบัติเหตุทั่วไป เกิดขึ้นได้เสมอ เรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินค่าชดเชย เงินค่าจ้าง ฐานไม่บอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะไล่ออก พร้อมกับค่าจ้างค้างจ่าย

บริษัทตกเป็นจำเลยซะงั้นแหละ ต้องหาทนายสู้คดี อ้างว่า นายเฟื่องฟู ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ ฝ่าฝืน ระเบียบและคำสั่งของบริษัทอย่างแรง จึงไล่ออกได้ ไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งนั้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแบบสบายๆ ไม่เครียดเหมือนคดีการเมือง แล้วชี้ว่า นายเฟื่องฟู นำรถยนต์อันเป็นทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ธุระส่วนตัว โดยไม่เกี่ยวกับการทำงานแล้วเกิด อุบัติเหตุ ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย บริษัทไม่มีรถยนต์ใช้ เป็นการไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติ หน้าที่ ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของบริษัทในกรณีร้ายแรง บริษัทมีสิทธิ์เลิกจ้าง นายเฟื่องฟู ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 มาตรา 119 (4) และถือเป็นการทำผิดร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม กฎหมายแพ่ง มาตรา 583 ให้บริษัทจ่ายเฉพาะค่าจ้างที่ค้างจ่าย

นายเฟื่องฟู ฟ้องแล้วจะได้เงินแค่หมื่นกว่าบาท ไม่ได้หลายแสนบาทตามที่ตั้งไว้จะเอามาเป็น ทุนเดินหางานใหม่ จึงเล่นเกมยาว ยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ตามประสาของคดีแรงงาน

ศาลฎีกาเพ่งดูคดีนี้จนหน้ามืดเล็กน้อย แล้วชี้ขาดออกมาว่า

คดีนี้ศาลต้องขบให้แตกว่า นายเฟื่องฟู ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่ง อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของบริษัท เข้าข่ายร้ายแรงหรือไม่ เมื่อดูระเบียบข้อ บังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท (ซึ่งบริษัทต่างๆ ต้องมีไว้ ไม่งั้นเสียงานและการต่อสู้คดี- ผมขอแนะนำ) เรื่องวินัย โทษทางวินัยและการพนักงานข้อ 1.4.3 ระบุว่า “พนักงานต้องไม่นำ อุปกรณ์หรือทรัพย์สินของบริษัท ฯ ไปใช้นอกเหนือจากการทำงานให้แก่บริษัท โดยไม่ได้รับ อนุญาตจากผู้บังคับบัญชา”

ศาลเห็นว่า นายเฟื่องฟู นำรถยนต์ที่บริษัทเช่ามาให้ทำงานของบริษัท ขับพาลูกเมีย ของตนโจทก์ไปเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายอย่างมาก เป็นการนำรถยนต์ของบริษัทไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้ทำงานให้แก่บริษัท และไม่ได้รับ อนุญาต เป็นการไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ อาศัยตำแหน่งหน้าที่นำรถยนต์ของบริษัท ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ทำให้ไม่มีรถยนต์ใช้งานนานถึง 2 สัปดาห์ ถือว่าฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง บริษัทสามารถ เลิกจ้าง นายเฟื่องฟู ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอก กล่าวล่วงหน้า ได้เฉพาะค่าจ้างค้างจ่ายตามที่ศาลล่างว่าไว้ กับดอกเบี้ยเท่านั้น

จำไว้นะครับ รถประจำตำแหน่งทำให้ได้รับความเดือดร้อนมานักแล้ว โดยเฉพาะคนที่ ทำงานในบริษัท ห้างร้าน ทั้งหลาย หรือในรัฐวิสาหกิจ ส่วนรถประจำตำแหน่งของฝ่าย ข้าราชการนั้นไม่เท่าไร เห็นเอาไปจ่ายตลาด เอาไปใช้ส่วนตัวได้สบายอยู่แล้ว ตำแหน่ง ใหญ่เท่าไร ยิ่งสบายเท่านั้นแล

จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2548

ที่มา..AUTOINFO