ขายกองทุน RMF ก่อนครบกำหนด | รับทำเงินเดือน ขายกองทุน RMF ก่อนครบกำหนด | รับทำเงินเดือน

ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ก่อนครบกำหนด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :

ถาม ตามที่มีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการในการแก้ไขหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF นั้น ไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์ใดที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างครับ

ตอบ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.50 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการในการแก้ไขหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF โดยกระทรวงการคลังได้ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีว่า ตามที่ได้มีการออกกฎกระทรวงตามความในประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) กำหนดให้ผู้ที่ขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวม RMF ได้รับการยกเว้นภาษี หากถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งทำให้ผู้เสียภาษีเข้าใจว่าการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อได้ถือครองหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนกับกรณีการขายคืนหน่วยลงทุนเนื่องจากเหตุสูงอายุ คือ มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ทำให้เกิดความเข้าใจว่าผู้ลงทุนไม่มีความจำเป็นต้องถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์แต่อย่างใด

ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีการออมระยะยาว เพื่อใช้ในวัยสูงอายุโดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงจูงใจ จึงได้มีการเสนอร่างแก้ไขหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF เพื่อพิจารณาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวโดยจะมีผลกับหน่วยลงทุนที่ผู้มีเงินได้ซื้อมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.50 เป็นต้นไป

ดังนั้น หลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF จะมีการแยกพิจารณาออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. กรณีหน่วยลงทุนที่ผู้มีเงินได้ซื้อมาก่อนวันที่ 1 ต.ค.50 หากผู้มีเงินได้มีการลงทุนในกองทุนรวม RMF อย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว แม้ผู้มีเงินได้จะมีอายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ หากมีการขายคืนหน่วยลงทุนเฉพาะส่วนที่กล่าวมานั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนกับกรณีการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ คือ ได้ทั้งการยกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุน และไม่ต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปีด้วย

แต่หากผู้มีเงินได้ขายคืนหน่วยลงทุนเฉพาะส่วนที่กล่าวมานั้นที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาน้อยกว่า 5 ปี ไม่ว่าผู้มีเงินได้จะมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วหรือไม่ก็ตาม ผู้มีเงินได้จะต้องนำกำไรจากการลงทุนที่ได้ไปรวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีนั้น รวมทั้งต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปีให้กับกรมสรรพากรภายในเดือนมี.ค.ของปีถัดจากปีที่ขายคืนหน่วยลงทุนนั้นด้วย

2. กรณีหน่วยลงทุนที่ผู้มีเงินได้ซื้อมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.50 เป็นต้นไป หากผู้มีเงินได้มีการลงทุนในกองทุนรวม RMF อย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว มีการขายคืนหน่วยลงทุนเฉพาะส่วนที่กล่าวมานั้น ก่อนที่จะมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ผู้มีเงินได้จะได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุนเท่านั้น โดยยังคงมีหน้าที่จะต้องนำสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปี คืนให้กับกรมสรรพากรภายในเดือนมี.ค.ของปีถัดจากปีที่ขายคืนหน่วยลงทุนนั้น

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุนและไม่ต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปี ก็ต่อเมื่อผู้มีเงินได้ขายคืนหน่วยลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนรวม RMF อย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปีและผู้มีเงินได้มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้น

แต่หากผู้มีเงินได้ขายคืนหน่วยลงทุนเฉพาะส่วนที่กล่าวมานั้นที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาน้อยกว่า 5 ปี ไม่ว่าผู้มีเงินได้จะมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วหรือไม่ก็ตาม ผู้มีเงินได้จะต้องนำกำไรจากการลงทุนที่ได้ไปรวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีนั้น รวมทั้งต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับย้อนหลัง 5 ปีให้กับกรมสรรพากรภายในเดือนมี.ค.ของปีถัดจากปีที่ขายคืนหน่วยลงทุนนั้นด้วยเช่นกัน

คราวนี้ผู้มีเงินได้ที่ได้ลงทุนไว้แล้วหรือกำลังคิดที่จะลงทุนในกองทุนรวม RMF ก็ได้รับทราบถึงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่ชัดเจนแบบฟันธง! แล้วนะครับ อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทุนหรือผู้ที่สนใจจะลงทุนแล้วยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุน หมายเลขโทรศัพท์ 0-2264-0900 ได้ตลอดเวลาทำการครับ

ที่มา.. The Krungthep turakij web site : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์