ข่าวบัญชีและภาษี | รับทำเงินเดือน - Part 4 ข่าวบัญชีและภาษี | รับทำเงินเดือน - Part 4

สรรพากรใจดีให้คนไทยที่บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่นได้สิทธิลดหย่อนภาษี

เลขที่ข่าว ปชส. 39/2554
วันที่แถลงข่าว 16 มีนาคม 2554
เรื่อง สรรพากรใจดีให้คนไทยที่บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่นได้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย
……………………………………………………………………………………………
ตามที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในหลายพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นได้รับความเดือดร้อนสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก จนมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว โดยเปิดรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อรวบรวมส่งไปใช้บรรเทาทุกข์ต่อไปนั้น

กรมสรรพากร ขอแจ้งให้ทราบว่าเพื่อให้การบริจาคช่วยเหลือในกรณีดังกล่าว สามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาค นำมาหักเป็นค่าลดหย่อน หรือหักเป็นรายจ่ายในการเสียภาษีได้ นั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

๑. ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา ได้เฉพาะผู้ที่บริจาคเป็นเงิน ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีช่วยเหลือผู้ประสบภัยของหน่วยงานราชการที่เปิดรับบริจาคเป็นการเฉพาะ หรือผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 อสมท. เป็นต้น สามารถนำเงินบริจาคนั้น หักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้ตามจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ ด้วย) แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว โดยใช้หนังสือสำคัญการรับเงินบริจาคที่ส่วนราชการ หรือนิติบุคคลที่เป็นตัวแทนรับบริจาคออกให้ หรือใบโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือสลิปของธนาคาร เพื่อเป็นหลักฐานในการนำไปหักลดหย่อนต่อไป

๒. ผู้บริจาคที่เป็นบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคนำมาหักรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิในปีที่บริจาค นอกจากนี้ กรณีการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าดังกล่าว ถือเป็นเหตุอันสมควรที่ไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่รับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ตามข้อ 1 และข้อ ๒ ต้องนำเงินและทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมาทั้งจำนวนนั้น ไปบริจาคให้แก่หน่วยงานของส่วนราชการไทยเท่านั้น เช่นกระทรวงการต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และหน่วยงานราชการนั้นจะต้องออกหนังสือสำคัญหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้รับการบริจาคโดยมียอดเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นยอดรวมทั้งสิ้นตรงกับยอดที่รับบริจาคมาทั้งจำนวน กรณีนี้ ผู้บริจาคตามข้อ ๑ และข้อ ๒ จึงจะได้รับสิทธินำยอดเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคไปหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายได้ แต่หากตัวแทนรับบริจาคนำไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยโดยตรง ผู้บริจาคจะไม่ได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนแต่อย่างใด

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรง มีชาวญี่ปุ่นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก การที่คนไทยร่วมกันบริจาคเงินและทรัพย์สิน
ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจและความมีเมตตาประสงค์ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้น นอกจากผู้บริจาคจะได้รับอานิสงค์ผลบุญตามความเชื่อของชาวไทยแล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย แต่ทั้งนี้ขอให้เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรด้วย”
……………………………………………………………………………………………

เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นำมาลดหย่อนภาษีได้

การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการบริจาคดังต่อไปนี้

(1) ต้องเป็นการบริจาคโดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตาม (1) ต้องดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางอย่างเปิดเผยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553 ถึงวันที่31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

(3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ตาม (2) ที่มิใช่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล และองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แจ้งชื่อต่ออธิบดีกรมสรรพากร (ผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี หรือผ่านสรรพากรพื้นที่) ว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าว ตามหนังสือแจ้งที่มีข้อความอย่างน้อยที่แนบท้ายนี้

(4) หลักฐานการบริจาคที่ผู้บริจาคจะนำมาใช้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ต้องเป็นหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนในการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า จัดทำขึ้นเพื่อแสดงการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ระบุข้อความที่มีสาระสำคัญว่าเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553 ถึงวันที่
31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หรือข้อความอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

     (ก) กรณีผู้บริจาคเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : ให้นำหลักฐานแสดงการรับเงินบริจาคที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงินดังกล่าว
ออกให้ เป็นหลักฐานในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เงินบริจาคดังกล่าวเมื่อรวมกับการบริจาคอื่นแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ

     (ข) กรณีผู้บริจาคเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล : ให้นำหลักฐานแสดงการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่บริจาคที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็น
ตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าวออกให้ เป็นหลักฐานในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้เงินบริจาคดังกล่าวเมื่อรวมกับการบริจาคการกุศลสาธารณะอื่นแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริจาค ที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่
บริจาคนั้น เช่น ใบกำกับภาษี ใบรับเงิน ที่ได้ซื้อสินค้าหรือทรัพย์สินมาบริจาค เป็นต้น หรือหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือเป็นผู้ขายสินค้าที่บริจาคที่แสดงต้นทุนสินค้านั้นได้ ซึ่งจะต้องเป็นทรัพย์สินหรือสินค้ารายการเดียวกับที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนในการรับทรัพย์สินหรือสินค้าออกเป็นหลักฐานในการรับบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้านั้นให้แก่ผู้บริจาค

(5) ภายหลังจากการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หากยังมีเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าเหลืออยู่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ได้แจ้งชื่อต่อกรมสรรพากรตาม (3) ต้องส่งมอบเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

(6) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงินทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ได้แจ้งชื่อต่อกรมสรรพากรตาม (3) ต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานให้แก่กรมสรรพากร ได้แก่ สำเนาบัญชีการรับเงินบริจาคซึ่งต้องแยกออกจากบัญชีการดำ เนินงานตามปกติสำเนาบัญชีแสดงรายการจ่ายค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และสำเนารายชื่อผู้รับบริจาคโดยให้จัดส่งภายในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

——————————————–
Download คำขอแจ้งเป็นตัวแทนรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
สมัครข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ : RD Call Center โทร.1161

สรรพากรขู่ลงดาบสำนักงานบัญชีช่วยเลี่ยงภาษี

กรมสรรพากรบี้สำนักงานทั่วประเทศ จัดเก็บภาษีปี"53 ตามเป้า พร้อมจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงเลี่ยงภาษี ขู่ลงดาบสำนักงานบัญชีช่วยหลบเลี่ยง

นายวินัย  วิทวัสการเวช  อธิบดีกรมสรรพากร  เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีสิ้นปีงบประมาณ  2552  ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมามียอดจัดเก็บ  1.24  ล้านล้านบาท  ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ที่  1.32  ล้านล้านบาท  อย่างไรก็ตาม คาดว่างบประมาณปี  2553  น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย  เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น  อีกทั้งกรมสรรพากรจะเข้มงวดการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษี

โดยในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.)  จะมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่สรรพากรทั่วประเทศที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในการหลีกเลี่ยงภาษี  รวมถึงสำนักงานบัญชี  ซึ่งเป็นผู้จัดทำบัญชีให้กับบริษัทเอกชนโดยเฉพาะการเสียภาษี  เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีและเสียภาษีให้ครบถ้วน  หากสำนักงานบัญชีใดช่วยเหลือหลีกเลี่ยงภาษีก็จะมีความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดหลีกเลี่ยงภาษี

นอกจากนี้   ยังเตรียมแบ่งเกรดสำนักงานบัญชี  เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นเหมือนกรมศุลกากร  ซึ่งได้จัดเกรดผู้ประกอบการดีเด่นจะได้รับการอำนวยความสะดวกต่อการนำเข้า -ส่งออกสินค้าอย่างรวดเร็ว  รวมถึงการพิจารณาผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง  มีการแจ้งยอดบัญชีตรงกับการดำเนินธุรกิจ  เช่น  การประกอบธุรกิจก่อสร้าง  ต้นทุนการก่อสร้าง  การจัดซื้อวัตถุดิบและค่าแรงต่าง ๆ จะต้องมีสัดส่วนสูงที่สุดไม่ใช่นำค่าใช้จ่ายส่วนอื่น เช่น บางรายมีต้นทุนน้ำมันสูงถึง 70%  จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องต่อการดำเนินธุรกิจ  และเห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล  เช่น กลุ่มก่อสร้างจะได้รับประโยชน์และมีรายได้สูงขึ้น  โดยต้องมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องก็จะเข้าไปดูกลุ่มดังกล่าวด้วย

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์