ข่าวบัญชีและภาษี | รับทำเงินเดือน - Part 2 ข่าวบัญชีและภาษี | รับทำเงินเดือน - Part 2

บริการขอหนังสือรับรองบริษัทผ่านธนาคารพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์ จับมือ 6 ธนาคารชั้นนำ ให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ e-Certificate

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ร่วมมือกับ 6 ธนาคารชั้นนำของประเทศ  สร้างมิติใหม่ของนวัตกรรมการให้บริการอย่างมืออาชีพ  ภายใต้โครงการ  “บริการหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์   (e-Certificate) ผ่านธนาคาร” 

นายศิริวัฒน์  ขจรประศาสน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลที่มีหน้าที่ให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคล  รับรองสำเนาเอกสารทะเบียนนิติบุคคล  บัญชีรายชื่อ  ผู้ถือหุ้น   และงบการเงิน ตลอดจนการบริการตรวจค้นข้อมูลทะเบียนนิติบุคคล  ซึ่งเดิมผู้รับบริการต้องเดินทางไปติดต่อด้วยตนเองที่หน่วยงานของกรมฯ  ทั้ง  86 แห่ง ทั่วประเทศ ได้พัฒนาโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้สนับสนุนและพัฒนาช่องทางการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวก  ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับผู้ใช้บริการ มาอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2555 ได้ผลักดันเพิ่มช่องทางการให้บริการภาคธุรกิจ ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยได้เล็งเห็นประโยชน์ของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  จึงจัดทำโครงการให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์  หรือ  e-Certificate  ผ่านธนาคารขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจ  ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับธนาคารพาณิชย์  6  ธนาคารประกอบด้วย  ธนาคารกรุงเทพ  ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารออมสิน  ธนาคารกสิกรไทย  ธนาคารไทยพาณิชย์  และธนาคารธนชาต  โดยใช้สาขาของธนาคารเป็นจุดให้บริการทั่วประเทศ  เพื่อยกระดับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการออกหนังสือรับรองนิติบุคคล เพื่อเตรียมรองรับจำนวนนิติบุคคลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี 

โดยผู้รับบริการสามารถทำรายการผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า   www.dbd.go.th    จากนั้นเลือกช่องทางการชำระเงินและขอรับเอกสารได้ที่ธนาคารพันธมิตรใกล้บ้านได้ภายใน  15 นาที  ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความสะดวก  คล่องตัว  ประหยัดเวลา  และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  อันจะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ  ทันต่อสถานการณ์และสอดคล้องกับความต้องการในการดำเนินธุรกรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่าย  และทรัพยากรบุคคลในการให้บริการ ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

โดยได้รับเกียรติจากท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายกิตติรัตน์  ณ ระนอง) เป็นประธาน พิธีเปิดการให้บริการ ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ ในวันที่  20  มกราคม 2555 โดยในระยะแรกนี้ ผู้รับบริการสามารถใช้บริการได้ที่ธนาคารกรุงเทพ เฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ  34  สาขา ธนาคารกรุงไทย  120  สาขา ธนาคารออมสิน  190  สาขา และแต่ละธนาคารจะทยอยเปิดให้บริการให้ครบทุกสาขาทั่วประเทศต่อไป

ที่มา..กระทรวงพาณิชย์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตือนนิติบุคคลไม่ส่งงบการเงินอาจเจอโทษปรับสูงสุด

นายอิทธิพล ช้างหลำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ วิธีการรับงบการเงินเพียง 1 ชุด และมีการขยายพื้นที่การให้บริการรับงบการเงินทั่วประเทศนั้นในรอบปี 2554 จำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งและยังคงดำเนินกิจการอยู่ ต้องนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 2553 จำนวน 401,000 ราย ปรากฏว่ามีนิติบุคคลนำส่งงบการเงินจนถึงปัจจุบันแล้วมีจำนวน 345,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 86 แต่ยังมีนิติบุคคลบางส่วนที่ไม่นำส่งงบการเงินจำนวน 56,000 รายคิดเป็นร้อยละ 14 โดยกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลต้องนำส่งงบการเงิน หากนิติบุคคลไม่ดำเนินการตามกฎหมายย่อมมีความผิด ซึ่งการไม่นำส่งงบการเงิน มีโทษปรับทั้งผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีคือนิติบุคคลและผู้มีอำนาจกระทำแทนนิติบุคคล โดยมีระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะดำเนินคดีกับนิติบุคคลที่ไม่นำส่งงบการเงินทุกราย และหากนิติบุคคลที่ไม่ส่งงบการเงินเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ ผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลดังกล่าวต้องถูกดำเนินคดีและต้องระวางโทษด้วย

รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงบการเงินที่ได้นำส่งแล้วนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะนำมาเผยแพร่แก่สาธารณชน โดยมีช่องทางในการให้บริการข้อมูลงบการเงิน 2 ช่องทางคือ ติดต่อขอคัดสำเนางบการเงินรายนิติบุคคลได้ที่หน่วยงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกแห่ง และสามารถดูงบการเงินฉบับย่อรายนิติบุคคล ได้ที่ website ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th โดย Click ที่ ตรวจค้นงบการเงินของนิติบุคคล หรือฐานข้อมูลสู่ธุรกิจ

“จากข้อมูลธุรกิจที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้านำมาเผยแพร่นั้น สามารถทำให้ผู้ใช้งบการเงิน เช่น ผู้บริหาร ผู้ลงทุน สถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำไปวิเคราะห์ฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาของนิติบุคคล เพื่อประกอบการตัดสินใจ การวางแผนและควบคุมทางการเงิน เปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินในระดับจุลภาคและมหภาค  รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เช่น ประชาชน นิสิตนักศึกษา สามารถนำข้อมูลธุรกิจไปใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจและเป็นประโยชน์ในการนำไปศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจและภาคเศรษฐกิจต่อไป”

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554

พัฒนารูปแบบงบการเงินแบบใหม่ รายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน

นางสาวพิกุล  ทักษิณวราจาร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ยกร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เผยแพร่ร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินดังกล่าวทางเวปไซต์ของกรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรูปแบบงบการเงินได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาชีพบัญชี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน เช่น สภาวิชาชีพบัญชี สถาบันการศึกษา สำนักงานสอบบัญชีและสำนักงานรับทำบัญชี เป็นต้น

สำหรับวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของการยกร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินใหม่ เพื่อให้รูปแบบและความหมายของรายการในงบการเงินเป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่มีการปรับปรุง และมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีได้จัดทำขึ้นใหม่ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้กำหนดรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินสำหรับธุรกิจไว้ 5 แบบเช่นเดิม คือ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน (แบบ 1)  บริษัทจำกัด (แบบ 2) บริษัทมหาชนจำกัด (แบบ 3) นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (แบบ 4) และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร (แบบ 5)  ซึ่งมีแนวคิดในการกำหนดรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน ดังนี้

  • รูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินของบริษัทมหาชนจำกัด (แบบ 3)   กำหนดขึ้นโดยอ้างอิงจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่สภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Report Standard : IFRS)
  • รูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน (แบบ 1)   บริษัทจำกัด (แบบ 2)  นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (แบบ 4) และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร (แบบ 5) กำหนดขึ้นโดยอ้างอิงมาจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for Non-Publicly Accountable Entities : TFRS  for  NPAEs) 

รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่นี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้กับงบการเงินที่มีรอบปีบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป  ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาและผ่านทางเวปไซต์ของกรมยังมีบางประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน เห็นว่าควรมีการทบทวนปรับปรุงรายการพร้อมทั้งความหมายของรายการเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น  รวมทั้งขอให้พิจารณาจัดอบรมสัมมนาเกี่ยวกับร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจในการจัดทำงบการเงินรอบปี 2554 ซึ่งเมื่อได้ปรับปรุงร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่เป็นที่เรียบร้อย จะจัดให้มีการอบรมสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่เพื่อเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบต่อไป