บทความบัญชีและภาษี | รับทำเงินเดือน - Part 6 บทความบัญชีและภาษี | รับทำเงินเดือน - Part 6

ยื่นแบบเพื่อขอคืนภาษี แต่ลืมประทับตรา

การยื่นแบบที่สรรพากร กรณีที่แบบนำส่งลืมประทับตรา ปกติเจ้าหน้าที่เค้าจะไม่รับยื่น กรณีแบบ ภพ.30 ที่ขอคืนภาษีเป็นเงินสด กรรมการจะต้องลงลายมือชื่อไว้ 2 แห่งและประทับตราทั้ง 2 แห่ง ผมเคยลืมประทับตรงที่ขอคืนเป็นเงินสด ประทับตราไว้ที่เดียวตรงผู้มีอำนาจลงนาม แต่เซ็นชื่อไว้ครบทั้ง 2 แห่ง เจ้าหน้าที่บางแห่งก็รับ บางแห่งก็ไม่รับ ถ้ามาดูตามข้อหารือที่เจ้าหน้าที่สรรพากรเคยตอบไว้ กรณีกรรมการลงลายมื่อไว้แล้วเพียงคนเดียวและไม่ได้ประทับตรา ก็ถือได้ว่ายื่นแบบถูกต้องตามกฎหมายแล้วครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/4292

วันที่ : 18 มิถุนายน 2553

เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการลงลายมือชื่อขอคืนภาษี

ข้อกฎหมาย : มาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          1. บริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547มีกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทฯ คือ นาง ส. และนาย ก. ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547
          2. จากการตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ฉบับปกติสำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2552 พบว่า บริษัทฯ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 53,354,688.53 บาท โดยมีนาง ส. กรรมการบริษัทฯ ลงลายมือชื่อขอคืนเพียงคนเดียว และมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทฯ แต่อย่างใด
          เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 นาง ส. ได้มาพบเจ้าพนักงานและชี้แจงว่า คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ สำหรับ เดือนภาษีพฤษภาคม 2552 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เนื่องจากนาง ส. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามหนึ่งในจำนวนสองคน และเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทฯ ถือเป็นตัวแทนของบริษัทฯ ตามมาตรา 1167 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่หลงลืมประทับตราของบริษัทฯ เท่านั้น และในวันที่ 10 กันยายน 2552 นาย ก. กรรมการบริษัทฯ อีกคนหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือ ลงวันที่ 9 กันยายน 2552 ต่อ สท.กทม.9 แจ้งว่า บริษัทฯ มีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ ได้คือ นาย ก. และนาง ส. ลงลายมือชื่อร่วมกันเท่านั้นจึงจะสมบูรณ์

แนววินิจฉัย
          ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า "บรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่นซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องทำยื่นนั้น ให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ" ดังนั้น กรณีตาม ข้อเท็จจริง บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2552 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงิน 53,354,688.53 บาท โดยมี นาง ส. กรรมการบริษัทฯ ลงลายมือชื่อในช่องการขอคืนภาษีในแบบ ภ.พ.30 เพียงคนเดียว และมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทฯ แม้จะต่างจากหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของบริษัทฯ ที่ระบุว่า "กรรมการ ลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทฯ คือ นาง ส. ลงลายมือชื่อร่วมกับนาย ก. และประทับตราสำคัญของบริษัทฯ" ก็ตาม กรณีจึงถือได้ว่า การยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2552 ของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

เลขตู้ : 73/37334

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย

ตามที่รัฐบาลออก นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและธุรกิจท่องเที่ยวนั้น

บัดนี้ได้ทยอยออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องจนครบถ้วนแล้ว จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา ขอให้ทบทวนนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและธุรกิจท่องเที่ยว ที่รัฐบาลได้เคยแถลงไว้ตามมติ ครม.

วิสัชนา เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ประชุม ครม. ได้มีมติดังนี้

1. ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อแพ็คเกจทัวร์จากบริษัททัวร์เพียง กรณีเดียวเท่านั้น โดยนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี โดยมาตรการนี้มีผลระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2553 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553

2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดแสดงสินค้า นิทรรศการ และออกบูธที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ สามารถนำรายจ่ายส่วนนั้นมาหักภาษีได้ 2 เท่า โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 นอกจากนี้ ยังกำหนดให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวสามารถนำรายจ่ายจากการจัดอบรมสัมมนา ลูกจ้างที่เป็นการจัดสัมมนาภายใน มาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า โดยเป็นรายจ่ายของส่วนห้องพัก ห้องสัมมนา ค่าจัดการ ค่าขนส่ง ที่ได้จ่ายให้แก่ธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและ มัคคุเทศก์เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2553

3. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ได้ซื้อทรัพย์สิน ที่ใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะ โดยให้มีสิทธิหักค่าเสื่อมได้ 60% ของมูลค่าต้นทุน ในวันที่ได้มาซึ่งทรัพย์สิน โดยให้มีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554

4. สิทธิประโยชน์ในการหักค่าเสื่อมราคาของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่ นั่งไม่เกิน 10 คน ซึ่งได้ซื้อมาเพื่อประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ ซึ่งเดิมหักค่าเสื่อมราคาได้จากต้นทุนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะปรับมูลค่าต้นทุนให้หักค่าเสื่อมราคาได้เต็มมูลค่าต้นทุนทั้งหมดของ ราคารถยนต์ดังกล่าวที่ได้ซื้อมา และในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวได้เช่ารถยนต์ดังกล่าวมาเพื่อให้เช่า ต่อไปก็จะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยแต่เดิมหักรายจ่ายได้ไม่เกินประมาณ 36,000 บาทต่อเดือนต่อการเช่ารถยนต์ โดยจะปรับให้หักค่าเช่าได้ทั้งจำนวน

5. มาตรการภาษีเกี่ยวกับการประกันภัย โดยกำหนดให้บริษัทประกันภัยสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการจ่ายเงินทดแทน ที่จ่ายให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ชุมนุมมาหักเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิในการเสียภาษี รวมทั้งให้ยกเว้นภาษี จากค่าสินไหม หรือเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยในส่วนที่เกินจากมูลค่าทรัพย์สินที่ เสียหายด้วย

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายจ่ายค่าซื้อ แพ็คเกจทัวร์จากบริษัททัวร์ อย่างไร

วิสัชนา กำหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่ เป็นไป ดังนี้ กำหนดให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับ จำนวนเงินที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมาย ว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะค่าบริการหรือค่าที่พักที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2553 จนถึง 31 ธันวาคม 2553 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 278 (พ.ศ. 2553) ลงวันที่ 30 กันยายน 2553

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 187) ดังนี้

1. เป็นผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

2. กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีมีคู่สมรส

(1) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่ผู้มีเงิน ได้ได้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

(2) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ โดยความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี และภริยาจะใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ก็ตาม ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวน ที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวน ที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท

3. ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการรับเงินจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยระบุชื่อผู้มีเงินได้ จำนวนเงิน วัน เดือน ปี ที่จ่ายเงิน

(1)

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางกรณีอย่างไร

วิสัชนา ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 503) พ.ศ. 2553 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ เข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ งานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าเช่า พื้นที่ ค่าก่อสร้างสถานที่จัดแสดง ค่าประกันภัย ค่าระวาง หรือค่าขนส่งสินค้าและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าดังกล่าว ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานของ รัฐว่าได้เข้าร่วมงานจริง

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดข้อยกเว้นมิให้ใช้บังคับบทบัญญัติ ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิกับค่าเช่า ทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน อย่างไร

วิสัชนา ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 504) พ.ศ. 2553 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป เพื่อกำหนดข้อยกเว้นมิให้ใช้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 กับค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบ คน ในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้ เช่ารถยนต์ เพื่อเป็นมาตรการในการบรรเทาภาระภาษีและกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจ ซึ่งจะทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวสามารถนำค่าเช่า ทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ โดยเพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 5/1 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540

"มาตรา 5/1 บทบัญญัติมาตรา 4 (2) ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เกิดจากการเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถ ยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพ สามิต ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ได้ เช่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่า"

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป สำหรับการเช่ารถยนต์เพื่อการให้เช่าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ที่ได้กระทำก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2553

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในการอบรมสัมมนาภายในประเทศบางกรณี อย่างไร

วิสัชนา ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 506) พ.ศ. 2553 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้บริการธุรกิจการท่องเที่ยวและกระตุ้น เศรษฐกิจของประเทศ โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จัดให้มี การอบรมสัมมนาภายในประเทศให้แก่ลูกจ้าง สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้อง สัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำ เที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว เป็นเวลาสองรอบระยะเวลาบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวัน ที่ 1 มกราคม 2553 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งจะได้นำรายละเอียดมาเสนอต่อไป

(2)

ปุจฉา มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ บางกรณี อย่างไร

วิสัชนา ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 505) พ.ศ. 2553 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ลดภาระรายจ่ายเพื่อการลงทุนในการต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่เป็น สังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้ลงทุนในทรัพย์สินที่เป็น สังหาริมทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะ สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น และสมควรกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้เช่ารถ ยนต์ สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินดังกล่าวได้เต็มจำนวนมูลค่า ทรัพย์สิน เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ และกระตุ้นให้มีการลงทุน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น โดย

1. เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 4 ทศ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

"มาตรา 4 ทศ การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภททรัพย์สินอย่างอื่นตาม มาตรา 4 (5) แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมาย ว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาใน อัตราร้อยละหกสิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ใน มาตรา 4 ทั้งนี้ ทรัพย์สินนั้นต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับสิทธิ ประโยชน์ สนับสนุนจากส่วนราชการ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน

(2) เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(3) เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและ พัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539

(4) เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549"

ทั้งนี้ โดยให้ใช้บังคับกับทรัพย์สินที่ได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามวัตถุ ประสงค์ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554

2. ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 5 ทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตาม กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท เว้นแต่เป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้ใช้ในกิจการให้เช่ารถยนต์ ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในกิจการ อื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน"

ทั้งนี้ บทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ที่ถูกยกเลิกไปนั้น ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2553

(3)

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ผลเสียหายเนื่องจากการยักยอกทรัพย์

ขอนำประเด็นรายจ่ายผลเสียหายเนื่องจากการยักยอกทรัพย์ มาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ อย่างไร

วิสัชนา โดยทั่วไป เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลย่อมสามารถนำผลเสียหายที่เกิดขึ้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรได้เช่นเดียวกับ ในทางการบัญชี สำหรับผลเสียหายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับเงินชดเชย หรือค่าสินไหมทดแทนคืนกลับมานั้น ในทางบัญชีให้รับรู้เป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปีที่เกิดความเสียหาย และให้รับรู้รายได้เงินชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการประกันหรือสัญญา ค้ำประกันใดๆ ในรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ได้รับเงินชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว

ในทางภาษีอากร ให้ชะลอการรับรู้รายจ่ายค่าความเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกัน หรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ไว้จนกว่าจะได้รับเงินชดเชย หรือค่าสินไหมทดแทนคืนกลับมา

ในกรณีที่จำนวนค่าความเสียหายมีจำนวนเกินกว่าเงินชดเชย หรือค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับคืนกลับมาจากผู้ประกันหรือผู้ค้ำประกัน ก็ให้รับรู้ผลขาดทุนเป็นรายจ่าย ในทางตรงกันข้ามหากจำนวนเงินชดเชย หรือค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับคืนกลับมามีจำนวนมากกว่าค่าความเสียหาย ก็ให้รับรู้ผลกำไร

เป็นรายได้

1. ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกัน หมายถึง ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้ทำประกันไว้กับบริษัทรับประกัน เช่น การประกัน

อัคคีภัย ทรัพย์สิน และสินค้า การประกันภัยทางทะเล การประกันวินาศภัยต่างๆ

2. ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากสัญญาคุ้มกันใดๆ หมายถึง ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการละเมิดหรือยักยอกทรัพย์สินที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสัญญาค้ำประกัน เช่น สัญญาค้ำประกันการทำงานของพนักงานการเงิน พนักงานเก็บเงิน

ปุจฉา บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชและสัตว์ เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย และกำจัดศัตรูพืชหรือโรคของพืชและสัตว์ บริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ของปีถัดไป ในการขายสินค้าบริษัท ได้มอบหมายให้พนักงานขายไปติดต่อกับลูกค้าและมีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้า ด้วย นาย พ. ผู้จัดการฝ่ายขายได้ยักยอกเงินสดจำนวน 720,508 บาท และสินค้าเป็นมูลค่า 365,175 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,085,683 บาท ซึ่งบริษัทฯ และ พนักงานอัยการได้ดำเนินการฟ้องร้องนาย พ. ในข้อหายักยอกและฉ้อโกง ต่อมาในวันที่ 1 มีนาคม 2547 นาย พ. รับสารภาพในชั้นศาล พร้อมทั้งยินยอมผ่อนชำระค่าเสียหายแก่บริษัท เดือนละไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี บริษัทจึงขอทราบว่า

1. ผลเสียหายจากการยักยอกเงินสดและสินค้าดังกล่าว บริษัทจะถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้หรือไม่ และเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด

2. เงินที่บริษัทได้รับคืนจากนาย พ. จะถือเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัท ได้รับเงินถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา กรณีดังกล่าว กรมสรรพากรได้วางแนววินิจฉัยไว้ตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/1435 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ดังนี้

ตามข้อเท็จจริง กรณีที่พนักงานของบริษัท ได้ยักยอกเงินและสินค้าของบริษัทไป โดยบริษัทและพนักงานอัยการได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล และในวันที่ 1 มีนาคม 2547 พนักงานดังกล่าวได้รับสารภาพและได้ตกลงผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทเป็น ประจำทุกเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี กรณีถือได้ว่า เป็นผลเสียหายอันเนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัท ดังนั้น

1. หากผลเสียหายดังกล่าวมิอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ บริษัทมีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผลเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้น คือ รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 เนื่องจากพนักงานรับสารภาพในชั้นศาลในวันที่ 1 มีนาคม 2547

2. บริษัทต้องนำเงินที่ได้รับจากการผ่อนชำระจากพนักงานดังกล่าวมาถือเป็นรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ด้วยตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์