บทความบัญชีและภาษี | รับทำเงินเดือน - Part 22 บทความบัญชีและภาษี | รับทำเงินเดือน - Part 22

ภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับรางวัล ส่วนลดจากการส่งเสริมการขาย

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ

ตอน 1

ขอนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 เพื่อให้การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 มาเป็นประเด็น ปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายกำหนดไว้อย่างไร

วิสัชนา การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขพอสรุปได้ดังนี้

  1. ผู้ขายสินค้าต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
  2. ต้องเป็นเงินอุดหนุน เงินสนับสนุน เงินช่วยเหลือ เงินส่วนลด หรือเงินอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันที่ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายได้จ่ายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าที่เป็นผู้ขายปลีกหรือขายส่งสินค้า หรือผู้แทนจำหน่าย ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะคำนวณจากฐานการซื้อขายหรือคำนวณจากฐานอื่นใด เพื่อให้มีผลต่อการขาย การลดต้นทุน หรือลดรายจ่าย ของผู้ซื้อสินค้านั้น
  3. มูลค่ารางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ จากการส่งเสริมการขายที่อยู่ในข่ายที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายต้องมีจำนวนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากข้อกำหนดที่ตกลงกันเป็นครั้งคราว หรือเกิดจากสัญญาระยะยาวก็ตาม
  4. ให้คำนวณหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย

ปุจฉา กรณีตัวอย่างการจ่ายรางวัล ส่วนลดจากการส่งเสริมการขายที่อยู่ในข่ายต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

วิสัชนา กรมสรรพากรได้ยกตัวอย่างการจ่ายรางวัล ส่วนลดจากการส่งเสริมการขายที่อยู่ในข่ายต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังนี้

  1. ค่าสิทธิประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าและ การจ่ายค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (ENTRANCE FEE) โดยมีข้อตกลงว่าผู้ซื้อต้องขายสินค้าของบริษัทผู้ขายสินค้าเท่านั้น ไม่สามารถนำสินค้าจากแหล่งอื่นมาขายได้
  2. คูปองส่วนลดซึ่งมีค่าเป็นเงินสด ที่บริษัทผู้ขายสินค้าได้แนบติดกับตัวสินค้าเพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย เมื่อลูกค้านำสินค้าพร้อมคูปองมาชำระเงิน บริษัทผู้แทนจำหน่ายจะให้ส่วนลดเงินสดตามราคาคูปองนั้น และได้รับเงินชดเชยส่วนลดเงินสดตามคูปองนั้นคืนจากบริษัทผู้ขาย
  3. เงินช่วยเหลือ หรือเงินชดเชย อาทิ บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือค่าธรรมเนียมธนาคารในการรับรองตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าที่บริษัทผู้แทนจำหน่ายซื้อ จากบริษัทฯ ให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายทั้งหมด บริษัทฯ ยกเลิกคลังสินค้าทั่วประเทศ และใช้สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับ บริษัทผู้แทนจำหน่าย เป็นผลให้บริษัทผู้แทนจำหน่ายจะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เพิ่มขึ้น บริษัทฯ จึงจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าโทรศัพท์ในส่วนที่เกินจากค่าโทรศัพท์ในเขต พื้นที่เดียวกันให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยส่งสินค้าถึงบริษัทผู้แทนจำหน่าย ต่อมามีข้อตกลงว่า หากบริษัทผู้แทนจำหน่ายขนสินค้าที่ซื้อด้วยตนเอง บริษัทฯ จะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าขนส่ง หรือจะลดราคาสินค้าให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย บริษัทฯ ประกอบกิจการขายกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์ จ่ายเงินช่วยเหลือค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย ที่นำสินค้าที่ซื้อไปจัดแสดงหรือติดตั้งให้เห็นสภาพการใช้งานจริง เช่น ปูกระเบื้องและติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์เพื่อจัดแสดงเป็นห้องน้ำ บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้า ได้จ่ายเงินช่วยเหลือค่าเดินทางและค่าที่พักให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายที่ เข้าร่วมสัมมนาเพื่อแนะนำสินค้าใหม่หรือเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจใน สินค้าของบริษัทฯ โดยมิได้เรียกเก็บค่าสัมมนาจากบริษัทผู้แทนจำหน่าย
  4. ส่วนลดภายหลังขายได้ตามเป้าที่กำหนด (REBATE) อาทิ บริษัทฯ ประกอบกิจการขายยางรถยนต์ จ่ายส่วนลดภายหลังขายได้ตามเป้าที่กำหนด ให้บริษัทผู้แทนจำหน่าย โดยจ่ายในลักษณะเป็นใบลดหนี้ (CREDIT NOTE) เพื่อให้บริษัทผู้แทนจำหน่ายนำมาชำระหนี้ค่าซื้อยางรถยนต์ในคราวต่อไป บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้ายาจากต่างประเทศ ตกลงให้ส่วนลดแก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายในอัตรา 35% ของราคาสินค้า ให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย โดยรวบรวมยอดส่วนลดในแต่ละเดือนตามใบแจ้งหนี้
  5. เงินค่าอุดหนุน (SUBSIDIZE) เช่น บริษัทฯ ประกอบกิจการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จ่ายเงินค่าอุดหนุน มูลค่า 500 บาท ต่อ 1 เครื่อง ให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายที่สามารถขายสินค้ารุ่นเก่าออกจากสต็อกได้ เป็นต้น

 

ตอน 2

เนื่อง จากการส่งเสริมการขาย คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 เพื่อให้การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 มาเป็นประเด็น ปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายในลักษณะเป็นสิ่งของ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในวันที่ที่มีการส่งมอบสิ่งของ โดยคำนวณมูลค่าของสิ่งของตามราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ส่งมอบของนั้น ตามมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายในลักษณะเป็นใบลดหนี้ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าวให้ผู้จ่าย คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามวันที่ที่ออกใบลดหนี้นั้น

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ โดยมีการแถมสินค้าไปพร้อมกับสินค้าที่ขายซึ่งมูลค่าของสินค้าที่แถมไม่เกิน มูลค่าของสินค้าที่ขาย ไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภท และชนิดเดียวกับสินค้าที่ขายหรือไม่ ผู้ขายสินค้าต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าวบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ผู้ขายสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับมูลค่าของสินค้าที่แถมแต่อย่างใด

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งซื้อสินค้าโดยมีวัตถุ ประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ โดยมีข้อตกลงให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังจากที่ขายสินค้าไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนลดเงินสดผู้ขายสินค้าต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าว หากผู้ขายมีข้อตกลงให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังจากที่ขายสินค้าไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนลดเงินสดที่เป็นปกติตามประเพณีทางการค้า และได้มีการระบุเงื่อนไขส่วนลดเงินสดไว้ในใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจน เช่น ถ้าผู้ซื้อชำระราคาภายใน 2 เดือน จะลดให้ 2% ของราคาสินค้า ส่วนลดดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่อยู่ในข่ายต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

ปุจฉา การจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายกรณีใดบ้างที่ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

วิสัชนา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ให้แก่ผู้ซื้อดังต่อไปนี้ ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

1. กรณีการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือ ใช้สอย โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ เช่น ผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าเพียงเล็กน้อย เป็นต้น

2. กรณีการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ เช่น การขายอาหารสัตว์ให้แก่ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ให้ใช้บังคับกับกรณีผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้แทนจำหน่ายของผู้ขายซึ่งซื้อ สินค้าเพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง เช่น บริษัท แห่งหนึ่งได้ขายสินค้าให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายซึ่งโดยปกติบริษัทผู้แทน จำหน่ายซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ แต่ในบางกรณีบริษัทผู้แทนจำหน่ายต้องการซื้อสินค้า เพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทผู้แทนจำหน่าย กรณีดังกล่าว ให้บริษัทผู้ขายสินค้าคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย

ปุจฉา การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ใช้กับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นได้ให้บริการด้วยหรือไม่

วิสัชนา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นได้ให้บริการแก่ผู้รับบริการซึ่งผู้ให้บริการทราบโดยชัด แจ้งว่าผู้รับบริการนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการต่อ หรือตามพฤติการณ์ผู้รับบริการมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการต่อแน่นอน ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายเนื่องจากการให้บริการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ โดยให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายเนื่องจากการดังกล่าวข้างต้นมาปรับใช้โดยอนุโลม

ปุจฉา ผู้รับรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา เนื่องจากรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ จากการส่งเสริมการขาย ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับจึงไม่ต้องนำเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ ดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

 

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ภาษีหักณ ที่จ่าย ค่าขนส่ง

สรุป การจ่ายเงินได้ประเภทค่าขนส่ง (ที่ไม่ใช่การขนส่งสาธารณะ) ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1 % สำหรับข้อกำหนดเป็นดังนี้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าขนส่งที่ไม่ใช่ค่าโดยสารจากการ ขนส่งสาธารณะอย่างไร

วิสัชนา หลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าขนส่งที่ไม่ใช่ค่าโดยสารจากการ ขนส่งสาธารณะมีดังนี้

1. ผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และนิติบุคคลอื่น ที่มิใช่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

2. เงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ได้แก่ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)  แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นค่าขนส่งที่ไม่ใช่ค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งในราชอาณาจักรอาณาจักร หรือการขนส่งระหว่างประเทศ อาทิเช่น

(ก) การประกอบกิจการขนส่งสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ โดยใช้รถยนต์บรรทุกในการขนส่งสินค้าจากบริษัทผู้ว่าจ้าง ณ โรงงานที่ผลิตหรือสถานที่ที่ผู้ว่าจ้างกำหนดไปยังสถานที่ของลูกค้า ไม่ว่าบริษัทผู้ว่าจ้างหรือลูกค้าของบริษัทผู้ว่าจ้างเป็นผู้ดำเนินการขน สินค้าขึ้นและขนส่งสินค้าลงจากรถบรรทุกเองหรือไม่ก็ตาม

(ข) การรับจ้างจัดหารถบรรทุกมาขนสินค้าของผู้ว่าจ้าง ไปยังด่านศุลกากรจังหวัดที่ส่งสินค้า ออก และลำเลียงสินค้าจากโกดังพักสินค้าไปขึ้นเรือเล็กที่ผู้ซื้อสินค้าจัดหามา เพื่อรอนำสินค้าผ่านศุลกากร และส่งมอบให้ผู้ซื้อโดยผู้ซื้อจะจัดหาเรือใหญ่มาขนถ่ายสินค้าจากเรือเล็ก ขึ้นเรือใหญ่

(ค) การประกอบการรับขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือ โดยขนสินค้าจากท่าเรือมาโกดัง และจากโกดัง ไปที่ท่าเรือโดยใช้สายพาน หรือวิธีใช้คนขน หรือใช้รถตัก ไม่ว่าผู้ให้บริการรับจ้างขนส่งดังกล่าว จะได้จดทะเบียนขนส่งหรือไม่ก็ตาม

(ง) การประกอบกิจการขนส่งโดยรถบรรทุก ไม่ว่าจะจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก หรือไม่ และไม่ว่าจะมีรถบรรทุกของตนเอง หรือว่าจ้างรถบรรทุกมาใช้ในการขนส่งสินค้าของลูกค้าเป็นครั้งคราว

(จ) การประกอบกิจการรับ-ส่งเอกสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยจักรยานยนต์ โดยคำสั่ง ของผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีทั้งเรียกใช้ชั่วคราวและประจำเดือน

(ฉ) การขนส่งสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์จากโรงพิมพ์ไปยังสำนักงานของผู้จัดส่งใน แต่ละภาค หรือเขตพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ โดยคิดค่าขนส่งตามน้ำหนักของสมุดโทรศัพท์กรณีหนึ่ง และให้ทำการจัดส่ง สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ จากโรงพิมพ์ไปให้แก่ผู้ใช้โทรศัพท์ตามบ้านหรือสำนักในภาค หรือเขตต่างๆ โดยคิดค่าจัดส่งตามจำนวนเล่มของสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์

(ช) การประกอบกิจการขนส่งโดยรถยนต์โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางกับกรมการขนส่ง ทางบก ได้ให้บริการขนส่งพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งทุกวันเว้นวันอาทิตย์ ตามวัน เวลา และเส้นทางที่ กำหนดกันไว้แน่นอน โดยคิดค่าจ้างเป็นรายเดือน

(ซ) การประกอบกิจการใช้รถยนต์ตู้วิ่งรับจ้างทั่วไปตามสถานที่ และเส้นทางที่ผู้ว่าจ้างกำหนด โดยผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาพนักงานขับรถให้ และคิดค่าบริการในแต่ละครั้งที่ว่าจ้าง และการประกอบกิจการใช้ รถยนต์ตู้รับส่งพนักงานของบริษัทผู้ว่าจ้าง โดยรถยนต์ตู้จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเป็นประจำ มีสถานที่รับส่ง ที่แน่นอน โดยผู้รับจ้างจะคิดค่าบริการจากผู้ว่าจ้างเป็นรายเดือน

(ฌ)  การให้บริการโดยรถเครนยกตู้สินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

3. ผู้มีเงินได้ที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้ผู้จ่ายเงินได้ที่จ่ายเงินได้ พึงประเมินให้แก่ผู้มีเงินได้ดังต่อไปนี้ คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 1.0 ของยอดเงินได้

(1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลธรรมดา ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิตินิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย

หมายเหตุ ข้อความในส่วนที่เป็นสีแดงเดิมทีผู้เขียนลงไว้เป็น 3% แต่ผมตรวจสอบและศึกษาดูแล้วเค้าน่าจะลงไว้ผิด ต้องเป็น 1%

อ่านคำถามคำตอบค่าขนส่งเพิ่มเติมได้ที่ http://www.kiatchai.com/archives/1399

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจ

ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร

ขอนำประเด็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรมาปุจฉา-วิสัชนาประโยชน์ในการปฏิบัติงานทางด้านภาษีเงิน ได้หัก ณ ที่จ่าย

ขอ นำประเด็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร มาปุจฉา – วิสัชนา เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานทางด้านภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเบี้ยประกันวินาศภัย อย่างไร

วิสัชนา การจ่ายเงินได้ที่เป็นสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเบี้ยประกัน วินาศภัย ให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ผู้จ่ายเงินได้ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. ผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นิติบุคคลอื่น ที่มิใช่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

2. เงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ได้แก่ ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
(1) ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ค่าเบี้ยประกันภัยในการขนส่งสินค้า
(2) ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ

การประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัย ถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นมา บริษัทผู้รับประกันภัยต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้ บริการ รวมถึงเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใดๆ ซึ่งอาจคำนวณได้เป็นเงินมารวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องนำค่าเบี้ยประกันภัยและค่าอากรแสตมป์ที่ได้รับ จากผู้เอาประกันภัยมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด และเมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้จ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยและค่าอากรแสตมป์ ก็ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของยอดเงินที่จ่ายดังกล่าว ทั้งนี้สำหรับยอดก่อนค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณีบริษัทประกันวินาศภัยประกอบธุรกิจประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและประกันสุขภาพโดยแยกเป็นกรมธรรม์เดี่ยว จะต้องเสียภาษีดังนี้

(1) กรณีกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือกรณีกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และประกันสุขภาพ ซึ่งอยู่ในกรมธรรม์เดียวกัน ถือเป็นการประกอบกิจการประกันชีวิต ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(3) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(2) กรณีกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ถือเป็นการประกอบกิจการประกันวินาศภัย ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 1%

3. ผู้มีเงินได้ที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย  ให้ผู้จ่ายเงินได้ที่จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยตาม กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยในประเทศไทย  คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งในอัตราร้อยละ 1.0 ของยอดเงินได้

ปุจฉา กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้รับตามสัญญารายหนึ่งๆ มีจำนวนทั้งสิ้นไม่ถึง 1,000 บาท ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา การจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544 ต้องมีจำนวนตามสัญญารายหนึ่งๆ ตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาท ดังนั้น ในกรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้รับตามสัญญารายหนึ่งๆ มีจำนวนทั้งสิ้นไม่ถึง 1,000 บาท จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

คำว่า “สัญญารายหนึ่งๆ” หมายความว่า ในกรณีที่มีการตกลงทำสัญญากันในแต่ละคราวๆ นั้น หากมีจำนวนเงินได้พึงประเมินที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้รายหนึ่งๆ ต้องมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 1,000 บาท ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหากแม้ในการจ่ายคราวหนึ่งๆ จะมีจำนวนไม่ถึง 1,000 บาทก็ตามก็ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายเช่นกัน เช่น กรณีการจ่ายค่าบริการที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยเป็นการจ่ายค่าบริการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาว หากค่าบริการแต่ละรายการที่ให้บริการ (Transaction) ในแต่ละครั้ง มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

กรณีการทำสัญญารายหนึ่งๆ หรือครั้งหนึ่งๆ มีการตกลงจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้างตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้จะแบ่งจ่ายเป็นหลายครั้ง ครั้งละไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เช่น บริษัท ก จำกัด ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น จำนวน 1 คูหา จากนาง พ. เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนเดือนละ  950 บาท  กรณีดังกล่าว แม้ว่าบริษัท ก จำกัด จะชำระค่าเช่าในเดือนหนึ่งๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาทก็ตาม แต่โดยที่สัญญาเช่ามีระยะเวลา 20 ปี  ซึ่งเมื่อรวมค่าเช่าตลอดอายุสัญญาเช่าแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้น ไป ดังนั้น เมื่อบริษัท ก จำกัด ชำระค่าเช่าให้กับนาง พ. บริษัท ก จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

อย่างไรก็ตาม หากในแต่ละสัญญาที่ตกลงกันมีจำนวนเงินได้พึงประเมินที่จ่ายไม่ถึง 1,000 บาท เมื่อมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามสัญญาดังกล่าว ก็ไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่เมื่อได้จ่ายร่วมกับสัญญาอื่น ซึ่งทำให้จำนวนเงินที่จ่ายในคราวนั้นถึง 1,000 บาท ก็ตาม ผู้จ่ายเงินได้ก็มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์