admin | รับทำเงินเดือน - Part 2 admin | รับทำเงินเดือน - Part 2

การขายเครื่องจักรพร้อมติดตั้ง ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

"เรียนท่านอาจารย์สุเทพ ที่เคารพ
ดิฉันนางสาวพรพิมล ด้วงทอง ตำแหน่งนักตรวจสอบภาษีปฏิบัติการ มีปัญหาเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร มาเรียนปรึกษาอาจารย์ ดังนี้ค่ะ
ข้อเท็จจริง
1. บริษัท ก จำกัด (ผู้ซื้อ) ทำสัญญาซื้อขาย ชุดระบบลำเลียงกระ สอบระหว่างโกดัง กับบริษัท ข จำกัด (ผู้ขาย) ราคารวมทั้งสิ้น 7,700,000.00 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เท่ากับ 539,000.00 บาท รวมเป็นราคาสุทธิ 8,239,000.00 บาท ตกลงชำระค่าสินค้าเป็น 3 งวด ดังนี้
1.1 งวดที่ 1 ร้อยละ 40 ในวันทำสัญญา เป็นเงิน 3,295,600.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
1.2 งวดที่ 2 ร้อยละ 50 ในวันติดตั้งเครื่องชั่งหน้างาน เป็นเงิน 4,119,500.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
1.3 งวดที่ 3 ร้อยละ 10 หลังเดินเครื่องและใช้งานได้ เป็นเงิน 823,900.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
2. บริษัท ข จำกัด ได้วางบิลเพื่อเรียกเก็บเงินร้อยละ 40 ของมูลค่าในสัญญา เป็นเงิน 3,080,000.00 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เท่ากับ 215,600.00 บาท รวามเป็นเงิน 3,295,600.00 บาท
3. บริษัท ก จำกัด จ่ายเงินเป็นเช็ค ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2555 ซึ่งในการจ่ายเงิน บริษัท ก จำกัด เข้าใจผิดว่าเป็นการจ่ายเงินค่าจ้างทำของ จึงหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 3 ของมูลค่าสินค้าก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงิน 92,400.00 บาท (3,080,000.00 * 3/100) เป็นยอดเงินจ่ายตามเช็คเท่ากับ 3,203,200.00 บาท
4. หลังจากโอนจ่ายเงินไปแล้ว บริษัท ข จำกัด ได้ทักท้วงเรื่องการจ่ายเงิน ว่าไม่ยินยอมให้บริษัท ก จำกัด หักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากเป็นการจ่ายค่าขายสินค้า มิใช่ค่าจ้างทำของ
5. บริษัท ก จำกัด ได้ดูสัญญาซื้อขายแล้ว ปรากฏว่า เงินได้ดังกล่าวเป็นการขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง ซึ่งใบส่งของ/ใบกำกับภาษีไม่ได้แยกราคาสินค้าและ ค่าบริการออกจากกัน ถือเป็นการขายสินค้า บริษัท ข จำกัด ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด ดังนั้น บริษัท ก จำกัด จึงคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 92,400.00 บาท ให้กับบริษัท ข จำกัด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555
6. หลังจากบริษัท ก จำกัด ได้จ่ายเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืนบริษัท ข จำกัด แล้ว บริษัท ก จำกัด มิได้ยกเลิกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ออกจากระบบ ทำให้โปรแกรมบัญชีดึงข้อมูลดังกล่าวมานำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.53 เดือนภาษีสิงหาคม 2555 ให้กรมสรรพากร เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555
7. บริษัท ก จำกัด ยื่นคำร้อง ค.10 ขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.53 เดือนสิงหาคม 2555 จำนวนเงิน 92,400.00 บาท พร้อมกับแนบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผิดพลาดทั้งชุด (ยกเลิก) + แบบฯ ภ.ง.ด.53 เดือนสิงหาคม 2555 (เพิ่มเติม) ยื่นปรับปรุงรายการที่ผิดพลาดติดลบ
ปัญหา
1. การขายสินค้าพร้อมให้บริการติดตั้งโดยไม่คิดค่าบริการ ถือเป็นการขายสินค้า ผู้จ่ายเงินได้ค่าสินค้าไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ถูกต้องหรือไม่
2. ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.53) ดังกล่าว คือ บริษัท ก จำกัด (ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่ง) หรือ บริษัท ข จำกัด (ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย)
ขอบพระคุณมากค่ะ

เรียน คุณพรพิมล ด้วงทอง "มิวสิคกะอาตง สองพี่น้อง"
ขอตอบข้อซักถามดังนี้
1. การขายสินค้าพร้อมให้บริการติดตั้ง ในการปฏิบัติการทางภาษีสรรพากร ให้แยกพิจารณาดังนี้
(1) การมิได้แยกค่าสินค้าและค่าบริการติดตั้งต่างหากจากกัน ให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าทั้งจำนวน ผูจ่ายเงินค่าสินค้าไม่ต้องคำนวณหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เช่น ตามแนวคำตอบข้อหารือเลขที่ กค 0811/5009 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายสินค้าพร้อมติดตั้ง ดังนี้
ข้อหารือ :
บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าเครื่องวัดและวิเคราะห์ทางด้านอุตสาหกรรมพร้อมบริการ ติดตั้งและซ่อม
ตามระยะเวลาประกัน ตามสัญญาบริการ (Service Contract) และจำหน่ายแผ่นพลาสติก HDPE
บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังต่อไปนี้
1. กรณีจำหน่ายเครื่องวัดพร้อมติดตั้ง ได้ออกใบกำกับภาษีค่าเครื่องพร้อม ค่าติดตั้งรวมเป็น
ยอดเดียว
2. กรณีจำหน่ายเครื่องวัดพร้อมบริการติดตั้ง โดยออกใบกำกับภาษีแยก ค่าเครื่องวัดและค่าบริการออกเป็น 2 ฉบับ หรืออยู่ในฉบับเดียวกันแต่แยกราคาออกจากกันให้เห็นชัด
3. กรณีจำหน่ายอะไหล่พร้อมประกอบหรือ/และให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาได้ออกใบกำกับภาษีค่าอะไหล่และค่าบริการฉบับเดียวกัน แต่แยกราคาค่าอะไหล่และค่าบริการออกจากกัน
4. กรณีจำหน่ายแผ่นพลาสติก HDPE (ใช้รองพื้นกันรั่วซึมในบ่อกักน้ำ ฯลฯ) โดยคิดค่าบริการติดตั้ง ในกรณีที่ลูกค้าต้องการให้บริษัทฯ ทำการติดตั้งให้และบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษี/ใบส่งของเพียงใบและแสดงค่าสินค้าและค่าติดตั้งแยกจากกันให้เห็น นั้น
แนววินิจฉัย :
1. กรณีจำหน่ายเครื่องวัดพร้อมติดตั้ง โดยไม่แยกราคาสินค้าและค่าบริการออกจากกัน ถือเป็นการขายสินค้า เมื่อผู้ซื้อชำระราคาค่าสินค้าบริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528
2. กรณีจำหน่ายเครื่องวัดพร้อมติดตั้งรวมทั้งการจำหน่ายแผ่นพลาสติก HDPE พร้อมติดตั้งโดยแยกราคาสินค้าและค่าบริการออกต่างหากจากกัน การจำหน่ายเครื่องวัด และจำหน่ายแผ่นพลาสติก HDPE ถือเป็นการขายสินค้าเช่นเดียวกัน ส่วนการให้บริการติดตั้ง ถือเป็นการให้บริการ กรณีแยกราคาสินค้าและบริการออกจากกัน ผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าสินค้า แต่มีหน้าที่ต้อง หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงิน ค่าบริการติดตั้งในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของ
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ฯ
3. กรณีจำหน่ายอะไหล่พร้อมประกอบและหรือให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษา โดยออกใบกำกับภาษี ค่าอะไหล่และค่าบริการฉบับเดียวกันแต่แยกราคาค่าอะไหล่และค่าบริการออกจากกัน
ถือเป็นการให้บริการ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากมูลค่าทั้งหมดโดยรวมทั้งค่าอะไหล่ และค่าบริการในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ฯ
เลขตู้ : 64/30504
2. ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.53) ดังกล่าว คือ บริษัท ก จำกัด (ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่ง) เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวโดยตรง เนื่องจากเป็นผู้นำส่งโดยไม่มีหน้าที่ต้องนำส่ง เช่น ตามแนวคำตอบข้อหารือเลขที่ กค 0706(กม.02)/976 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ดังนี้
"…
2.ผู้มีสิทธิขอคืนภาษี
กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้เสียภาษีเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย เนื่องจากผู้จ่ายเงินได้ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินไป หรือหักภาษีไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องหัก หรือผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีเกินไปโดยความเข้าใจผิด หรือคำนวณภาษีเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 27 ตรี และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ผู้มีสิทธิขอคืนหมายความว่า
(1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีซึ่งได้ชำระภาษีอากรไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ
(2) ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกิน และหรือมีภาษีเกินเนื่องจากได้รับการ เครดิตภาษี
(3) ผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่ชำระภาษีไว้ หรือถูกหักภาษีไว้ไม่ว่าด้วยเหตุ ใด ๆ
(4) ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ที่นำเงินของตนเองส่งภาษีไว้ผิดหรือซ้ำ
(5) ผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกินหรือผิดหรือซ้ำ หรือ โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
ในการขอคืนเงินภาษีอาจมีปัญหาว่า ผู้ใดจะเป็นผู้มีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้เกินนั้น กล่าวคือ ผู้จ่ายเงินได้หรือผู้มีเงินได้ที่ถูกหักภาษีไว้ ปัญหานี้เมื่อพิจารณาตามสิทธิของบุคคลที่จะพึงได้รับเงินคืนแล้วน่าจะต้องเป็นตัวผู้มีเงินได้ที่ถูกหักภาษีไว้เพราะเป็นผู้ถูกกระทบกระเทือนสิทธิโดยตรงจึงมีสิทธิเรียกร้องขอเงินคืน ส่วนนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินเป็นเพียงผู้จ่ายเงินได้เท่านั้นไม่มีข้อผูกพันกับเงินได้ที่หักและนำส่งไว้แล้ว ฉะนั้น ถ้าหากนายจ้างจะขอคืนก็จะต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวผู้มีเงินได้จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย เว้นแต่ กรณีนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้นำเงินของตนส่งไว้เกิน ส่งผิดหรือส่งซ้ำซึ่งนายจ้างย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินได้เอง
กรณีตามข้อเท็จจริง เงินเดือนที่นาย ว. ได้รับเมื่อคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งแต่อย่างใด การที่บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งโดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินเดือนรวมทั้งส่วนที่ได้รับเกินกว่าที่ควรจะได้รับ จริงจากบริษัทฯ นั้น ถือว่า บริษัทฯ ได้นำเงินของตนส่งไว้เกิน และข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทฯ ฟ้องนาย ว. ในกรณีเบียดบังนำเงินเดือนส่วนที่เกินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้นาย ว. คืนเงินเต็มจำนวน โดยไม่ปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า นาย ว. ได้คืนเงินให้บริษัทฯ แล้วหรือไม่ กรณีถือได้ว่า บริษัทฯ เป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรงจากการนำส่งภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีดังกล่าวได้ในนามของบริษัทฯ เฉพาะในส่วนที่บริษัทฯ ได้จ่ายเกินให้แก่ นาย ว. เท่านั้น โดยให้ยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เลขตู้ : 68/33638"

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการยกหนี้ให้ ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี

"เรียน ท่านอาจารย์สุเทพ
หนูขอคำแนะนำในเรื่องภาษีดังนี้นะคะ
บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2011 ในปีที่จัดตั้งบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งบริษัทฯ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่บริษัทฯ ได้ใช้บริการจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และมีค่าใช้จ่ายบางรายการที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทมีทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทและค่าบริการในการจัดตั้งบริษัท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีเอกสารครบถ้วนเป็นชื่อของบริษัทในไทย บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายครบถ้วน และได้ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ส่ง Invoice มาเรียกเก็บเงินทดรองจ่ายเหล่านี้
2. ค่าบริการในการบริหารจัดการที่ใช้บริการพนักงานหรือทีมงาน ข้อมูล จากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ที่มาช่วยในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ในช่วงเริ่มแรกในการจัดตั้งบริษัทฯ บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ส่ง Invoice มาเรียกเก็บ แสดงรายการที่ใช้บริการ
3. ค่าใช้บริการช่างเทคนิค ที่บริษัทแม่ส่งมาช่วยงานในช่วงเริ่มแรกในการติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งบริษัแม่ที่ญี่ปุ่นส่ง Invoice มาเรียกเก็บเงิน
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ได้บันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปี 2011 แต่เนื่องจากยังไม่ได้จ่าย จึงยังคงค้างจ่ายจนถึงปี 2013 บริษัทแม่ที่ญึ่ปุ่นมีนโยบายช่วยเหลือบริษัทในไทยด้วยว่าบริษัทในไทยเพิ่งเริ่มดำเนินกิจการ กระแสเงินสดยังไม่ดี จึงมีมติจากที่ประชุมผู้บริหารยกหนี้ในส่วนนี้ให้บริษัทในไทย โดยมีหนังสือจาก บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นและมีผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อลงนามยกหนี้ให้ ขอเรียนสอบถามดังนี้
1. หนี้สินทั้งหมดที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นยกให้นี้ ถือเป็นเงินได้ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่ยกหนี้ให้คือปี 2013 ถูกต้องหรือไม่คะ
2. หากบริษัทในไทยไม่ได้จ่ายเงิน ค่าบริการ ค่าช่างเทคนิค ให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการยกหนี้ให้ ภาระภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ภ.ง.ด.54 และ ภ.พ.36 ยังต้องรับภาระนำส่งหรือไม่ สำหรับค่าใช้จ่ายในข้อ 2 และ 3 คะ หากต้องนำส่งต้องนำส่งอย่างไรคะ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันไหนคะ หากไม่ต้องนำส่งเนื่องจากไม่ได้จำหน่ายเงินไปต่างประเทศจริง รู้สึกเหมือนว่าชำระภาษีไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องคะ
3.ค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 ที่ในปี 2011 มีการใช้ภาษีซื้อไปแล้วในการขอคืนภาษีซื้อ หากไม่มีการจ่ายเงินจริงยกหนี้ในปี 2013 ภาษีที่ขอคืนไปนั้น จะต้องถือว่าเป็นภาษีซื้อที่ขอคืนสูงเกินไปหรือไม่ ต้องไปยื่นเพิ่มเติมหรือไม่คะ
ขอบคุณมากคะ

เรียน ประภาพร ชอบม่วงนา
ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการที่กระทำในราชอาณาจักรดังนี้
มาตรา 78/1 ภายใต้บังคับมาตรา 78/3 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การให้บริการนอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) หรือ (4) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
(ก) ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
(ข) ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี"
ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติเกี่ยวกับการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
"มาตรา 83/6 เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือ ราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษี
(1) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3
(2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
(3) ผู้ประกอบการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
ให้นำมาตรา 83/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ"
การระงับแห่งหนี้ นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดวิธีการระงับแห่งนี้ไว้ดังนี้
1. โดยการชำระหนี้ ตามปพพ. มาตรา 315 "อันการชำระหนี้นั้น ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์”
2. โดยการปลดหนี้ ตามปพพ. มาตรา 340 "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย"
3. การหักกลบลบหนี้ ตามปพพ. มาตรา 341 "ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้"
4. การแปลงหนี้ใหม่ ตามปพพ. มาตรา 349 “เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่”
5. หนี้เกลื่อนกลืนกัน ตามปพพ. มาตรา 353
“ถ้าสิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน ท่านว่าหนี้รายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”
เมื่อเจ้าหนี้ได้ปลดหรือลดหนี้ให้ นั้น ในทางภาษีอากร อาจพิจารณาได้ดังนี้
1. ให้ถือเสมือนหนึ่งว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ แล้ว ลูกหนี้จึงต้องล้างเจ้าหนี้ออกจากบัญชี
2. เจ้าหนี้ได้คืนเงินที่รับชำระนั้นกลับมาให้ลูกหนี้ ลูกหนี้จึงต้องรับรู้รายได้จากการปลดหนี้

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. หนี้สินทั้งหมดที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นยกให้นี้ ถือเป็นเงินได้ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่ยกหนี้ให้คือปี 2013 ถูกต้องแล้วครับ
2. หากบริษัทในไทยไม่ได้จ่ายเงิน ค่าบริการ ค่าช่างเทคนิค ให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการยกหนี้ให้ บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่ได้รับการปลดหนี้ ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร เสมือนหนึ่งว่าบริษัทฯ ได้ชำระหนี้นั้นให้แก่บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น
เนื่องจากบริการและค่าช่างเทคนิคถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ตาม DTA ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้ได้เฉพาะกรณีที่บริษัทญี่ปุ่นมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย กรณีจึงไม่ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
3. ค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 ที่ในปี 2011 ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทมีทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทและค่าบริการในการจัดตั้งบริษัท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีเอกสารครบถ้วนเป็นชื่อของบริษัทฯ ในไทย บริษัทฯได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายครบถ้วน และได้ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน และส่ง Invoice มาเรียกเก็บเงินทดรองจ่ายเหล่านี้ ถือได้ว่า ในปี 2011 บริษัทฯ ได้ชำระค่าบริการดังกล่าวให้แก่ผู้ให้บริการแล้ว โดยใช้เงินยืมทดรองจากบริษัทแม่จึงถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่ต้องห้าม บริษัทฯ จึงไม่ต้องยื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

การนับรอบระยะเวลาบัญชี กรณีรอบไม่ได้สิ้นสุดเดือนธันวาคม

คุณโคมทอง ราษฎร์เจริญ ได้โพสต์ไปยัง Suthep Pongpitak เมื่อ 24 ก.ค. 2556 ประมาณ 22 นาทีที่แล้วว่า
"ขอเรียนถามอาจารย์สุเทพ เกี่ยวกับเรื่องรอบระยะเวลาบัญชี เช่น กรณีบริษัทมีรอบฯ บัญชี 1 มิถุนายน 2555 – 31 พฤษภาคม 2556 ในกรณีนี้เรียกว่ามีรอบฯ บัญชีปี 2555 หรือ 2556 คะ"

Suthep Pongpitak ได้โพสต์ตอบไปเมื่อ 16.40 น. ว่า
"กรณีตามข้อถาม เรียกว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ครับ แต่ควร () วงเล็บให้ทราบกรอบของรอบระยะเวลาบัญชีไว้ด้วย
วิธีการนับรอบระยะเวลาบัญชีที่ถ่ายทอดกันมาแต่เก่าก่อน ซึ่งทุกวันนี้อาจจางหายไปมากแล้ว เพราะไม่ค่อยจะได้มีการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลัน กล่าวคือ ให้นำ 150 วัน บวกเข้าไปในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วลบด้วย 1 ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้นับเป็นรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้น

ตัวอย่าง เช่น รอบระยะเวลาบัญชี 1 เม.ย. 2554 ถึง 31 มีนาคม 2555 ให้นำ 150 วัน (กำหนดเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร) มาบวกเข้าไป ก็จะได้วันสุดท้ายของกำหนดเวลาดังกล่าว คือ วันที่ 28 สิงหาคม 2555 เช่นนี้ ตกปี 2555 นำมาลบออกด้วย 1 คงเหลือ 2554 จึงำกำหนดให้เรียกรอบระเวลาบัญชีดังกล่าวว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2554 หรือ

รอบ ระยะเวลาบัญชี 1 ต.ค. 2554 ถึง 30 กันยายน 2555 ให้นำ 150 วัน (กำหนดเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร) มาบวกเข้าไป ก็จะได้วันสุดท้ายของกำหนดเวลาดังกล่าว คือ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 เช่นนี้ ตกปี 2556 นำมาลบออกด้วย 1 คงเหลือ 2555 จึงำกำหนดให้เรียกรอบระเวลาบัญชีดังกล่าวว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เป็นต้น

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak