รายได้จากการยกหนี้ให้ | รับทำเงินเดือน รายได้จากการยกหนี้ให้ | รับทำเงินเดือน

ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการยกหนี้ให้ ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี

"เรียน ท่านอาจารย์สุเทพ
หนูขอคำแนะนำในเรื่องภาษีดังนี้นะคะ
บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2011 ในปีที่จัดตั้งบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งบริษัทฯ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่บริษัทฯ ได้ใช้บริการจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และมีค่าใช้จ่ายบางรายการที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทมีทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทและค่าบริการในการจัดตั้งบริษัท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีเอกสารครบถ้วนเป็นชื่อของบริษัทในไทย บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายครบถ้วน และได้ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ส่ง Invoice มาเรียกเก็บเงินทดรองจ่ายเหล่านี้
2. ค่าบริการในการบริหารจัดการที่ใช้บริการพนักงานหรือทีมงาน ข้อมูล จากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ที่มาช่วยในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ในช่วงเริ่มแรกในการจัดตั้งบริษัทฯ บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ส่ง Invoice มาเรียกเก็บ แสดงรายการที่ใช้บริการ
3. ค่าใช้บริการช่างเทคนิค ที่บริษัทแม่ส่งมาช่วยงานในช่วงเริ่มแรกในการติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งบริษัแม่ที่ญี่ปุ่นส่ง Invoice มาเรียกเก็บเงิน
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ได้บันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปี 2011 แต่เนื่องจากยังไม่ได้จ่าย จึงยังคงค้างจ่ายจนถึงปี 2013 บริษัทแม่ที่ญึ่ปุ่นมีนโยบายช่วยเหลือบริษัทในไทยด้วยว่าบริษัทในไทยเพิ่งเริ่มดำเนินกิจการ กระแสเงินสดยังไม่ดี จึงมีมติจากที่ประชุมผู้บริหารยกหนี้ในส่วนนี้ให้บริษัทในไทย โดยมีหนังสือจาก บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นและมีผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อลงนามยกหนี้ให้ ขอเรียนสอบถามดังนี้
1. หนี้สินทั้งหมดที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นยกให้นี้ ถือเป็นเงินได้ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่ยกหนี้ให้คือปี 2013 ถูกต้องหรือไม่คะ
2. หากบริษัทในไทยไม่ได้จ่ายเงิน ค่าบริการ ค่าช่างเทคนิค ให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการยกหนี้ให้ ภาระภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ภ.ง.ด.54 และ ภ.พ.36 ยังต้องรับภาระนำส่งหรือไม่ สำหรับค่าใช้จ่ายในข้อ 2 และ 3 คะ หากต้องนำส่งต้องนำส่งอย่างไรคะ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันไหนคะ หากไม่ต้องนำส่งเนื่องจากไม่ได้จำหน่ายเงินไปต่างประเทศจริง รู้สึกเหมือนว่าชำระภาษีไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องคะ
3.ค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 ที่ในปี 2011 มีการใช้ภาษีซื้อไปแล้วในการขอคืนภาษีซื้อ หากไม่มีการจ่ายเงินจริงยกหนี้ในปี 2013 ภาษีที่ขอคืนไปนั้น จะต้องถือว่าเป็นภาษีซื้อที่ขอคืนสูงเกินไปหรือไม่ ต้องไปยื่นเพิ่มเติมหรือไม่คะ
ขอบคุณมากคะ

เรียน ประภาพร ชอบม่วงนา
ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการที่กระทำในราชอาณาจักรดังนี้
มาตรา 78/1 ภายใต้บังคับมาตรา 78/3 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การให้บริการนอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) หรือ (4) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
(ก) ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
(ข) ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี"
ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติเกี่ยวกับการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
"มาตรา 83/6 เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือ ราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษี
(1) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3
(2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
(3) ผู้ประกอบการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
ให้นำมาตรา 83/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ"
การระงับแห่งหนี้ นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดวิธีการระงับแห่งนี้ไว้ดังนี้
1. โดยการชำระหนี้ ตามปพพ. มาตรา 315 "อันการชำระหนี้นั้น ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์”
2. โดยการปลดหนี้ ตามปพพ. มาตรา 340 "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย"
3. การหักกลบลบหนี้ ตามปพพ. มาตรา 341 "ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้"
4. การแปลงหนี้ใหม่ ตามปพพ. มาตรา 349 “เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่”
5. หนี้เกลื่อนกลืนกัน ตามปพพ. มาตรา 353
“ถ้าสิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน ท่านว่าหนี้รายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”
เมื่อเจ้าหนี้ได้ปลดหรือลดหนี้ให้ นั้น ในทางภาษีอากร อาจพิจารณาได้ดังนี้
1. ให้ถือเสมือนหนึ่งว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ แล้ว ลูกหนี้จึงต้องล้างเจ้าหนี้ออกจากบัญชี
2. เจ้าหนี้ได้คืนเงินที่รับชำระนั้นกลับมาให้ลูกหนี้ ลูกหนี้จึงต้องรับรู้รายได้จากการปลดหนี้

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. หนี้สินทั้งหมดที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นยกให้นี้ ถือเป็นเงินได้ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่ยกหนี้ให้คือปี 2013 ถูกต้องแล้วครับ
2. หากบริษัทในไทยไม่ได้จ่ายเงิน ค่าบริการ ค่าช่างเทคนิค ให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการยกหนี้ให้ บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่ได้รับการปลดหนี้ ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร เสมือนหนึ่งว่าบริษัทฯ ได้ชำระหนี้นั้นให้แก่บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น
เนื่องจากบริการและค่าช่างเทคนิคถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ตาม DTA ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้ได้เฉพาะกรณีที่บริษัทญี่ปุ่นมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย กรณีจึงไม่ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
3. ค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 ที่ในปี 2011 ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทมีทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทและค่าบริการในการจัดตั้งบริษัท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีเอกสารครบถ้วนเป็นชื่อของบริษัทฯ ในไทย บริษัทฯได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายครบถ้วน และได้ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน และส่ง Invoice มาเรียกเก็บเงินทดรองจ่ายเหล่านี้ ถือได้ว่า ในปี 2011 บริษัทฯ ได้ชำระค่าบริการดังกล่าวให้แก่ผู้ให้บริการแล้ว โดยใช้เงินยืมทดรองจากบริษัทแม่จึงถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่ต้องห้าม บริษัทฯ จึงไม่ต้องยื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak