admin | รับทำเงินเดือน - Part 3 admin | รับทำเงินเดือน - Part 3

ซื้อเครื่องจักรเก่ามาซ่อม เพื่อส่งออกไปยังบริษัทแม่ที่ต่างประเทศ

คุณ Nuttakan Wongviboonsin ได้โพสต์ไปเมื่อ 22 ก.ค. 2556 ว่า
"เรียนถามอาจารย์ที่เคารพค่ะ
บริษัทในไทย ซื้อเครื่องจักรเก่าและนำมาซ่อม วัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศเกาหลี โดยบริษัทแม่ได้ส่งเงินมาให้ 2 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ (ที่ไม่สามารถหาซื้อในเมืองไทยได้) มาเพื่อใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมเครื่องจักร ตอนนี้ยังซ่อมไม่เสร็จจึงยังไม่ได้ส่งเครื่องจักรไปยังเกาหลี
ขอความกรุณาเรียนถามค่ะว่า
1. การได้รับเงินจากบริษัทแม่ ถือเป็นรายได้จากการส่งออกที่เสียVAT อัตราร้อยละ 0 และถือเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่ได้รับเงิน ใช่ไหมคะ แม้ว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้ส่งเครื่องจักรไปประเทศเกาหลี และในวันที่ส่งออกเครื่องจักร เราต้องแสดงมูลค่าเครื่องจักรใน Invoice เป็นเท่าไหร่ และบริษัทฯ ไม่ต้องนำมูลค่าเครื่องจักรไปลงในรายงานภาษีขายอีก เพราะได้ยื่นไปรายได้ตามจำนวนเงินที่ได้รับไปแล้วในเดือนที่รับเงิน ใช่ไหมคะ
2. การได้รับชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์จากบริษัทแม่ ต้องถือเป็นรายได้จากการส่งออกที่เสีย VAT อัตราร้อยละ 0 และถือเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่ได้ชิ้นส่วน ด้วยหรือไม่
หนูอ่าน FAQ จากเว็ปกรมสรรพากร
คำถาม : บริษัทได้รับเงินช่วยเหลือจากบริษัทแม่ในต่างประเทศโดยไม่มีเงื่อนไขต้องนำเงินช่วยเหลือมาเสียภาษีหรือไม่
คำตอบ : เงินที่ได้รับจากการช่วยเหลือจากบริษัทแม่ถือเป็นรายได้เนื่องจากกิจการต้องนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
หนูขอความกรุณาถามเพิ่มเติมค่ะ
เงินช่วยเหลือนี้จะต้องถือเป็นรายได้ที่ต้องแสดงในแบบ ภ.พ.30 ด้วยหรือไม่คะ และต้องเสียภาษีในอัตราใด
กราบขอบพระคุณอาจารย์มาล่วงหน้า"
เรียน คุณ Nuttakan Wongviboonsin
เนื่องจากไม่มีโอกาสได้ซักถามข้อเท็จจริงอื่นจนกระจ่างชัดที่จะตอบให้ดีกว่าที่มี จึงพิจารณาจากข้อมูลที่ให้มา
1. บริษัทในไทย ซื้อเครื่องจักรเก่าและนำมาซ่อม วัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศเกาหลี (ไม่ทราบว่านำเข้าหรือซื้อในประเทศ ซื้อจากบริษัทแม่หรือซื้อจากคนอื่น)
– ถือว่าบริษัทฯ ซื้อสินค้าเครื่องจักรเก่าเพื่อนำมาซ่อมเพื่อขายให้แก่บริษัทแม่ในประเทศเกาหลี
– รายจ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ซื้อจนกระทั่งซ่อมเสร็จถือเป็นต้นทุนของสินค้าเครื่องจักรนั้น
– บริษัทฯ ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ และบันทึกต้นทุนสินค้าเครื่องจักรเก่าเป็นรายชิ้น (Specific Item Method)
2. บริษัทแม่ได้ส่งเงินมาให้ 2 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ (ที่ไม่สามารถหาซื้อในเมืองไทยได้) มาเพื่อใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมเครื่องจักร
– เมื่อเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าเครื่องจักร โดยการส่งออกไปให้บริษัทแม่ในประเทศเกาหลี ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงย่อมเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรสำหรับสินค้าเครื่องจักรเก่าที่ได้ซ่อมเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ตามนัยมาตรา 78 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
"(4) การขายสินค้าโดยส่งออก ให้ความรับผิดเกิดขึ้นดังต่อไปนี้
(ก) การส่งออกนอกจากที่ระบุใน (ข) หรือ (ค) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออก ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร…"
– ดังนั้น เงินจำนวน 2 ล้านบาท ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ที่บริษัทฯ ส่งมาให้นั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรับชำระราคาค่าสินค้า บริษัทฯ จึงยังไม่ต้องนำไปบันทึกในรายงานภาษีขาย จนกว่าจะได้ส่งออกเครื่องจักรไปให้บริษัทแม่ในประเทศเกาหลี โดยถือเป็นรายได้รับล่วงหน้าค่าขายสินค้า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนหากเงินที่ได้รับเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้ใช้ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ได้รับเงินจากบริษัทแม่
– ในขณะที่บริษัทฯ ได้นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ บริษัทฯ ตัองสำแดงในใบขนสินค่า เพื่อเสียอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วนำมาบันทึกเป็นต้นทุนเครื่องจักร (เพื่อรอการขาย – ส่งออก) ต่อไป มูลค่าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ (ตามที่บริษัทแม่แจ้ง) ถือเป็นทั้งมูลค่าต้นทุนและรายได้รับล่วงหน้า เช่นเดียวกับเงิน 2 ล้านบาท

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. เนื่องจากการได้รับเงินจากบริษัทแม่ ถือเป็นรายได้จากการส่งออกสินค้าที่เสีย VAT อัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อผ่านพิธีการทางศุลกากร ให้บริษัทฯ นำไปบันทึกในรายงานภาษีขายและแสดงเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่มีการส่งออก โดยผ่านพิธีการทางศุลกากรไปยังประเเทศเกาหลี
ในวันที่ส่งออกเครื่องจักร เราต้องแสดงมูลค่าเครื่องจักรใน Invoice ตามราคาตลาดที่ควรจะเป็น แต่ไม่ต่ำกว่า "2 ล้านบาท" (ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริง ณ วันที่ได้รับเงิน) บวกค่าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์
2. การได้รับชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์จากบริษัทแม่ ได้อธิบายในข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว โดยบริษัทฯ ต้องนำไปถือเป็นทั้งต้นทุนและรายได้จากการส่งออกเครื่องจักรที่เสีย VAT ในอัตราร้อยละ 0 และถือเป็นรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 ในเดือนที่มีการส่งออกเครื่องจักรเก่านั้นออกไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ เพราะถือเป็นการขายสินค้า – ส่งออก ที่มิใช่การให้บริการในราชอาณาจักร และมีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามที่ได้วิเคราะห์ไว้ข้างต้น
ปล. ตาม FAQ เป็นกรณีเงินอุดหนุนให้เปล่าที่มิได้หวังสิ่งตอบแทน มิใช่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่คุณ Nuttakan ได้เล่าไปว่า บริษัทฯ ได้ซื้อเครื่องจักรมาซ่อมเพื่อส่งไปให้บริษัทแม่ โดยบริษัทแม่จ่ายค่าเครื่องจักรมา 2 ล้านบาท พร้อมทั้งอะหลั่ยชิ้นส่วนอันเป็นสัญญาต่างตอบแทน (ซื้อขาย) มิใช่การให้เปล่า ทั้งนี้ เว้นแต่ ข้อเท็จจริงจะเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างไปจากที่ได้รับข้างต้น
ฉะนั้น ขอความกรุณาเถอะแม่คุณ พ่อทูนหัวทั้งหลาย อย่าประหยัดเวลาในการเล่าข้อเท็จจริง ไตร่ตรองให้รอบคอบเรียบเรียงให้ดี เสียก่อน อย่าพลีพลามอยากจะได้คำตอบ ซึ่งถามไปก็เทานั้น ไม่ได้ความจริงที่ถูกต้อง ขอให้ "หมดเปลือก" ไปเลย เหมือนไปหาหมอ ไม่เล่าอาการ ก็จะได้แต่ยาแก้ปวดเท่านั้น ซึ่งอาจรักษาอะไรไม่ได้เลย เสียทัังคนไข้และหมอ

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

ค่ารับรอง หรือค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ

คุณ Atoy Wan ได้โพสต์จากบริเวณ Bangkok ไปยัง Suthep Pongpitak เมื่อ 19 ก.ค. 2556 ประมาณ 9 ชั่วโมงที่แล้ว ว่า
"เรื่องภาษีซื้อต้องห้ามลักษณะตามมาตรา 82/5 ในเรื่องภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันลักษณะทำนองเดียวกัน
สอบถามค่ะว่า ในกิจกรรมต่อไปนี้ เข้าลักษณะตามมาตรานี้หรือเปล่าค่ะ
1. ค่าอาหารและเครื่องดื่ม การจัดสัมมนาโดยเก็บค่าเข้าร่วมสัมมนา
2. ค่าอาหารและครื่องดื่ม ประชุมคณะกรรมการประจำเดือน
3. ค่าอาหารและเครื่องดื่มกิจกรรมสำหรับสมาชิก (มีการเก็บค่าบำรุงสมาชิกรายปี)"

เรียน คุณ Atoy Wan
เพื่อให้เห็นภาพของค่ารับรองหรือคาบริการ ขอนำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับค่ารับรองและค่าเลี้ยงรับรอง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินค่ารับรอง ชาวต่างประเทศ พ.ศ.2536 ดังนี้
"ค่ารับรอง หมายถึง ค่าเลี้ยงรับรอง ค่าที่พัก ค่ายานพาหนะ ค่าจัดการแสดงหรือค่าเข้าชมการแสดงเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการรับรองชาวต่างประเทศ
"ค่าเลี้ยงรับรอง หมายถึง ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าเครื่องใช้ในการเลี้ยงรับรอง และรวมถึงค่าบริการ ค่าภาษี และค่าสถานทีี (ถ้ามี)
ตัวอย่างค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรับรอง
1. ค่าเลี้ยงรับรอง ประกอบด้วย
1.1 อาหารเช้า
1.2 อาหารว่างและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
1.3 อาหารกลางวัน (รวมเครื่องไม่มีแอลกอฮอล์)
1.4 คอทเทล
1.5 อาหารค่ำ (รวมเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์)
2. ค่าที่พัก
2.1 หัวหน้าคณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไป
2.2 หัวหน้าคณะดำรงตำแหน่งต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า
2.3 ผู้ร่วมคณะ
3. ค่าพาหนะและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นในระหว่างการเดินทาง
ภายในประเทศเพื่อการรับรองชาวต่างประเทศให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง
3.1 ค่าพาหนะ เช่น ค่าเช่ารถ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ ฯลฯ
3.2 ค่าธรรมเนียมสนามบิน ค่าธรรมเนียมผ่านทาง ค่าบริการจอดรถ
4. ค่าบัตรเข้าชมการแสดงหรือสถานที่สำคัญเพื่อเป็นการเผยแพร่ส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง
5. ค่าของขวัญ
5.1 หัวหน้าคณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไป และสำหรับคู่สมรสให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราดังกล่าว
5.2 หัวหน้าคณะดำรงตำแหน่งต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการ ระดับกรมหรือเทียบเท่า
6. ค่าการแสดง การแสดงที่เป็นการเผยแพร่ส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
6.1 ค่าการแสดงนาฎศิลป์
6.2 ค่าดนตรีและนักร้อง
6.3 ค่าดุริยางค์
7. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา กรณีแขกชาวต่างประเทศดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือเทียบเท่าขึ้นไป
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. ภาษีซื้อสำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม การจัดสัมมนาโดยเก็บค่าเข้าร่วมสัมมนา ไม่ถือเป็นค่ารับรอง แต่ถือเป็นรายจ่ายในการประกอบกิจการทีอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงให้นำไปใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไม่ต้องห้ามตามาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
2. ค่าอาหารและครื่องดื่ม ประชุมคณะกรรมการประจำเดือน ไม่ถือเป็นค่ารับรอง แต่ถือเป็นรายจ่ายในการประกอบกิจการทีอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงให้นำไปใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไม่ต้องห้ามตามาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
3. ค่าอาหารและเครื่องดื่มกิจกรรมสำหรับสมาชิก (มีการเก็บค่าบำรุงสมาชิกรายปี) ถ้ามีวัตถุประสงค์อย่างอื่นที่มิใช่การรับรองหรือการบริการ ก็ย่อมไม่ถือเป็นค่ารับรอง แต่ถือเป็นรายจ่ายในการประกอบกิจการทีอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงให้นำไปใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไม่ต้องห้ามตามาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

เงินได้จากกิจการโรงเรียนที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้

คุณ Suwanna Mongkonsamai ได้โพสต์จากบริเวณ Bangkok ไปยัง Suthep Pongpitak เมื่อ 19 ก.ค. 2556 ว่า
"เรียนอาจารย์ สุเทพที่เคารพ
หนูมีคำถามรบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะดังนี้คะ
บริษัททำธุรกิจเป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ โดยได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนเอกชน ตาม พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 จากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโดยปกติจะจัดการเรียนการสอนที่บริษัทเอง ในกรณีที่มีบริษัทว่าจ้างให้ไปสอนภาษาอังกฤษ ให้แก่พนักงานของบริษัท ตามหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ให้โรงเรียนไปสอนที่บริษัท โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดสถานที่ให้ ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการเงินได้จากกิจการของโรงเรียนหรือไม่คะ เนื่องจากไปดู้ใน คำวินิจฉัยที่ กค 0702/7241 วันที่ 7 กันยายน 2554 วินิจฉัยว่า ตามมาตรา 120 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัตโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ข้อ 2(4) ของประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่องการกำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ การสอนนอกสถานศึกษาตามมาตรฐาน เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการของโรงเรียนราษฎร์ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำรายได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
แต่มี คำวินิจฉัยที่ กค 0706/4101 วันที่ 18 เมษายน 2550 ตอบว่า การกระทำในลักษณะเดียวกับข้างต้นเป็นการจ้างเนื่องจาก ผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในสัญญาจ้าง และอีกทั้งเป็นการสอนให้กับบุคคลภายนอกที่มิใช่นักเรียนของโรงเรียน ดังนั้นเงินค่าจ้างจึงถือว่าไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
ไม่ทราบว่าตกลงตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ทางโรงเรียนต้องนำส่งภาษีหรือไม่คะ และคำวินิจฉัยทั้ง 2 ข้อ มีข้อแตกต่างกันอย่างไรคะ
ขอบคุณล่วงหน้าคะอาจารย์
ขอแสดงความนับถือ"
เรียน คุณ Suwanna Mongkonsamai
ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ผมมีความเห็นว่า กรณีของบริษัทฯ ไม่เข้าตามข้อเลขที่หนังสือ : กค 0702/7241 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ซึงเป็นกรณีการจัดการจัดการศึกษาร่วมของสถานศึกษา ตามมาตรา 120 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่งใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ประกอบกับข้อ 2 (4) ของประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่องการกำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 กำหนดว่า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูหรือผู้สอน โดยใช้สื่อการเรียนการสอน หรือโดยการเรียนการสอนแบบบูรณาการ โดยมีทั้งครูหรือผู้สอนและสื่อการเรียนการสอน อาจจัดร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน หรือกับหน่วยงานอื่นทั้งในและนอกสถานศึกษาอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน
หากแต่เข้าตามแนวคำตอบข้อหารือเลขที่ กค 0706/4101 ลง
วันที่ 18 เมษายน 2550 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินได้ของโรงเรียนสยามคอมพิวเตอร์และภาษา หาดใหญ่ การทำสัญญาจ้างระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. กับโรงเรียนฯ เป็นการจ้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอบรมตามสัญญาจ้าง อีกทั้งเป็นการสอนให้กับบุคคลภายนอกที่มิใช่นักเรียนของโรงเรียนฯ ดังนี้
ข้อหารือ :
1. โรงเรียนฯ ได้เข้าทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. เพื่อดำเนินการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ตามโครงการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ข. และองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น คิดเป็นค่าเล่าเรียนคนละ 7,974 บาท ซึ่งโรงเรียนฯ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งจากกระทรวง ศึกษาธิการ ตามใบอนุญาตลงวันที่ 13 ธันวาคม 2539 เพื่อเปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และกวดวิชาระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลายให้แก่บุคคลทั่วไป เมื่อเรียนจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อรับรองวิทยฐานะจากโรงเรียนฯ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยในการสมัครเข้าเรียน ผู้สมัครต้องกรอกใบสมัคร และโรงเรียนฯ ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เข้าเรียน มีการให้ลงลายมือชื่อเข้าเรียนตามวันและเวลาที่กำหนดในแต่ละหลักสูตร ผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบประเมินผลต้องเขียนคำขอรับใบประกาศนียบัตร และโรงเรียนฯ จะจัดทำทะเบียนไว้เป็นหลักฐานตามข้อบังคับที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด สำหรับผู้เข้ารับการอบรมตามสัญญาฉบับดังกล่าว ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 ถึง 3 รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงฯ กำหนดเช่นเดียวกับนักเรียนผู้สมัครเข้ารับการอบรมด้วยตนเองทุกประการ
2. แม้สัญญาจ้างจะกำหนดรายละเอียดให้อบรมด้วยหลักสูตร Microsoft Window XP, Adobe Photoshop CS และ Macromedia Authoware ก็ตาม แต่หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่ทางโรงเรียนฯ ได้เปิดสอนเป็นการทั่วไปอยู่แล้ว มิได้กำหนดขึ้นใหม่แต่อย่างใด องค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. เป็นเพียงผู้เลือกหลักสูตร เพื่อให้บุคลากรในสังกัดได้เข้ารับการอบรมเท่านั้น ส่วนเงื่อนไขอื่นในสัญญาเป็นเพียงข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาในการอบรม สถานที่ที่ใช้อบรมการจัดให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่แตกต่างไปจากการศึกษาที่โรงเรียนฯ แต่อย่างใด และแบบสัญญาจ้างที่ใช้เป็นเพียงแบบฟอร์มที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. นำมาใช้กับการทำนิติกรรมสัญญาทุกประเภท รายละเอียดบางส่วนจึงมิได้เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมเนื้อหาบางส่วนไม่อาจถือเป็นรายละเอียดในการอบรมตามโครงการนี้ได้
3. นักเรียนที่จะได้รับประกาศนียบัตรต้องผ่านการสอบประเมินผลการเรียนตามหลักสูตร ซึ่งผู้รับการอบรมตามสัญญานี้ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้เช่นเดียวกัน ตามมาตรฐานของกระทรวงฯ ที่กำหนดให้ใช้กับนักเรียน ผู้เข้ารับการอบรมตามสัญญานี้จึงเป็นนักเรียน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน มิใช่บุคคลภายนอกแต่อย่างใด ในโครงการนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลามีงบสนับสนุนให้จัดการอบรมบุคลากรได้จำนวน 750 คน หากจะให้บุคลากรเหล่านั้นเดินทางมาสมัครเรียนด้วยตนเองเป็นรายบุคคล ย่อมจะเกิดความไม่สะดวก
แนววินิจฉัย :
การทำสัญญาจ้างระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. กับโรงเรียนฯ เป็นการจ้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอบรมตามสัญญาจ้าง อีกทั้งเป็นการสอนให้กับบุคคลภายนอกที่มิใช่นักเรียนของโรงเรียนฯ ดังนั้น เงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างที่โรงเรียนฯ ได้รับไม่ถือว่าเป็นเงินได้จากกิจการของโรงเรียนราษฎร์ จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรม ดา ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของกฎกระทรวง 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และรายรับดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 70/34860