ธันวาคม, 2013 | รับทำเงินเดือน ธันวาคม, 2013 | รับทำเงินเดือน

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ

"อาจารย์ค่ะ หนูชื่อวิภารัตน์ เป็นเพื่อนของลูกศิษย์อาจารย์ที่เรียนที่ ม.รามคำแหงค่ะ หนูมีเรืองจะเรียนปรึกษาดังนี้ค่ะ
บริษัทที่หนูทำงานอยู่ เป็นบริษัทมหาชน และได้เปิดบริษัท ในเครือขึ้นมาใหม่ ถือหุ้นบริษัทนี้ 100 % ณ ปัจจุบันนี้บริษัทก็เปิดมาแล้วประมาณ 8 เดือน และตอนนี้บริษัทที่เปิดใหม่ต้องการกู้ยืมเงินบริษัทมหาชนนี้ ไม่ทราบว่าบริษัทที่ให้กู้ยืมเงินต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ อัตราดอกเบี้ยคิดอัตราตามธนาคารใช่หรือไม่ค่ะ ขอบคุณค่ะ"

เรียน คุณวิภารัตน์ "Wiparat Jeab"
กรมสรรพากรได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีบริษัทในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง ไว้ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 26/2534 ดังนี้
"ข้อ 2 กรณีบริษัทในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้กู้ยืมในระหว่างกันเอง และไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
คำว่า “บริษัทในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม"
ดังนั้น กรณีที่บริษัทมหาชนถือหุ้นในบริษัทในเครือเดียวกันทั้ง 100% เป็นเวลาถึง 8 เดือนแล้ว เมื่อกู้ยืมกันเองในระหว่างบริษัทในเครือเดียวกันจึงไม่ต้องนำดอกเบี้บที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 26/2534 ดังกล่าวข้างต้น

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างกันนั้น ให้พิจารณาดังนี้
1. กรณีบริษัทที่ให้กู้ยืมได้มีการกู้ยืมเงินจากแหล่งใดๆ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมต่อไปต้องไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้กู้ยืมมานั้น
กรณีมีอัตราดอกเบี้ยหลายอัตราในเวลาเดียวกัน ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นอัตราสูงสุดเพื่อการคิดดอกเบี้ยรับ
2. กรณีบริษัทที่ให้กุ้ยืม มิได้มีการกู้ยืมเงินจากแหล่งใดๆ เลย อัตราดอกเบี้ยทีจะเรียกเก็บระว่างกัน ต้องไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินผากประกระจัด

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

การรับรู้รายได้ตามสัญญาเช่าซื้อคอมพิวเตอร์

"อาจารย์ครับ ขอรบกวนสอบถาม
ทางบริษัทฯ ทำธุรกิจซื้อมาขายไป ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานราชการให้จัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้ทางหน่วยงานราชการดังกล่าวเช่า มีระยะเวลา 12 เดือน
โดยมีข้อกำหนดว่า
1. เมื่อเช่าครบกำหนด 12 เดือนแล้ว บริษัทฯ จะต้องยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับหน่วยงานราชการ
2. ทางหน่วยงานราชการให้ออกใบเสร็จรับเงินเป็นค่าเช่าอุปกรณ์ทุกเดือน ไม่ให้ออกขายครั้งเดียว
3. ไม่มีการทำสัญญาใดๆในการเช่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
คำถาม
1. เมื่อบริษัทฯซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามา จะต้องรับรู้เป็นสินค้า หรือรับรู้เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ
2. เมื่อบริษัทฯได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องบันทึกบัญชีอย่างไร
3. เมื่อบริษัทฯได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องแสดงรายการในการออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จเงินอย่างไร
4. เมื่อบริษัทฯจะยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้หน่วยงานราชการ เมื่อเช่าครบกำหนด 12 เดือนแล้ว บริษัทฯจะบันทึกบัญชีอย่างไร
5. การปฏิบัติทางบัญชีตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 5 กับทางภาษี มีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันหรือไม่
ขอบคุณครับ

ตามข้อเท็จจริงที่เล่าไป เข้าลักษณะเป็นสัญญาเช่าซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 572 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า "อันว่าสัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่งเจ้าของทรัพย์สินที่เรียกว่า ผู้ให้เช่าซื้อเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ โดยเงื่อนไขว่าเมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระราคาเป็นจำนวนเงินครบตามจำนวนครั้งที่กำหนดไว้ในสัญญา สัญญาเช่าซื้อ ต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

ในทางบัญชี
1. เมื่อบริษัทฯ ได้ซื้อทรัพย์สินที่จะนำออกให้เช่าถือเป็นสินค้า
2. เมื่อนำทรัพย์สิน (สินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์) ออกให้เช่าซื้อให้ถือเป็นการขายสินค้า ต้องบันทึกสินค้าดังกล่าวเป็นต้นทุนสินค้าที่ขาย และรับรู้กำไรขั้นต้นจากราคาขายสินค้าเป็นเงินสดกันต้นทุนสินค้าที่ขาย ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ให้เช่าซื้อนั้น
3. สำหรับผลต่างของราคาขายเงินสดกับราคาตามสัญญาให้นำมาทยอยรับรู้เป็นรายได้ในแต่ละงวดตามมาตรฐานการบัญชี

ในทางภาษีอากร
1. กรณีอากรแสตมป์
ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์บนสัญญาเช่าซื้อ ในอัตรา 1 บาทต่อ ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งราคาทั้งหมด ตามลักษณะแห่งตราสารที่ 3 ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์
2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับหลักการปฏิบัติในทางบัญชี ทั้งนี้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 ข้อ 3.5 ดังนี้
"3.5 การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อและมีอายุสัญญาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำกำไรที่เกิดจากการขายมารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ สำหรับดอกผลเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้แต่ละงวดตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป
การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อทันที ให้นำรายได้จากการขายมารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการขายสินค้า
การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อจากการขายผ่อนชำระตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระมาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นให้ถือตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีจะต้อง ไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
คำว่า “กำไรที่เกิดจากการขาย” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ผลต่างระหว่างราคาขายเงินสดกับต้นทุนของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ
คำว่า “ดอกผลเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ผลต่างระหว่างจำนวนเงินทั้งสิ้นที่ต้องจ่ายตามสัญญากับราคาขายเงินสด"
โดยทั่วไปผู้เช่าซื้อไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผู้ให้เช่าซื้อ เว้นแต่กรณีผู้เช่าซื้อเป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ให้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของค่าเช่าซื้อที่จ่ายในแต่ละงวด
3. ในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม
ถือว่าการให้เช่าซื้อสินค้าเป็น "การขายสินค้า" ตามมาตรา 77/1 (8)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
"(2) การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายัง ไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
(ก) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
(ข) ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้น ตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
(ดู คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.36/2536)"

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. เมื่อบริษัทฯซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามา จะต้องรับรู้เป็นสินค้า ของบริษัทฯ
2. เมื่อบริษัทฯได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องบันทึกบัญชีเป็นต้นทุนสินค้าที่ขายในรอบระยะเวลาบัญชที่ให้เช่าซื้อ โดยคำนวณกำไรขั้นต้นระหว่างราคาต้นทุน กับราคาขายเงินสด
3. เมื่อบริษัทฯ ได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องแสดงรายการในการออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จเงิน ตามงวดเงินที่ตกลงในสัญญาที่ได้กระทำไว้กับส่วนราชการ
4. เมื่อบริษัทฯ จะยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้หน่วยงานราชการ เมื่อเช่าครบกำหนด 12 เดือนแล้ว บริษัทฯ ไม่ต้องบันทึกบัญชีใดๆ เพราะได้ถือเป็นต้นทุนสินค้าและตัดออกจากบัญชีสินค้าแล้วตั้งแต่เมื่อได้ส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการ
5. การปฏิบัติทางบัญชีตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 4 กับทางภาษีโดยเฉพาะกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่มีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันแต่อย่างใด

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

การขายเครื่องจักรพร้อมติดตั้ง ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

"เรียนท่านอาจารย์สุเทพ ที่เคารพ
ดิฉันนางสาวพรพิมล ด้วงทอง ตำแหน่งนักตรวจสอบภาษีปฏิบัติการ มีปัญหาเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร มาเรียนปรึกษาอาจารย์ ดังนี้ค่ะ
ข้อเท็จจริง
1. บริษัท ก จำกัด (ผู้ซื้อ) ทำสัญญาซื้อขาย ชุดระบบลำเลียงกระ สอบระหว่างโกดัง กับบริษัท ข จำกัด (ผู้ขาย) ราคารวมทั้งสิ้น 7,700,000.00 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เท่ากับ 539,000.00 บาท รวมเป็นราคาสุทธิ 8,239,000.00 บาท ตกลงชำระค่าสินค้าเป็น 3 งวด ดังนี้
1.1 งวดที่ 1 ร้อยละ 40 ในวันทำสัญญา เป็นเงิน 3,295,600.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
1.2 งวดที่ 2 ร้อยละ 50 ในวันติดตั้งเครื่องชั่งหน้างาน เป็นเงิน 4,119,500.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
1.3 งวดที่ 3 ร้อยละ 10 หลังเดินเครื่องและใช้งานได้ เป็นเงิน 823,900.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
2. บริษัท ข จำกัด ได้วางบิลเพื่อเรียกเก็บเงินร้อยละ 40 ของมูลค่าในสัญญา เป็นเงิน 3,080,000.00 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เท่ากับ 215,600.00 บาท รวามเป็นเงิน 3,295,600.00 บาท
3. บริษัท ก จำกัด จ่ายเงินเป็นเช็ค ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2555 ซึ่งในการจ่ายเงิน บริษัท ก จำกัด เข้าใจผิดว่าเป็นการจ่ายเงินค่าจ้างทำของ จึงหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 3 ของมูลค่าสินค้าก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงิน 92,400.00 บาท (3,080,000.00 * 3/100) เป็นยอดเงินจ่ายตามเช็คเท่ากับ 3,203,200.00 บาท
4. หลังจากโอนจ่ายเงินไปแล้ว บริษัท ข จำกัด ได้ทักท้วงเรื่องการจ่ายเงิน ว่าไม่ยินยอมให้บริษัท ก จำกัด หักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากเป็นการจ่ายค่าขายสินค้า มิใช่ค่าจ้างทำของ
5. บริษัท ก จำกัด ได้ดูสัญญาซื้อขายแล้ว ปรากฏว่า เงินได้ดังกล่าวเป็นการขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง ซึ่งใบส่งของ/ใบกำกับภาษีไม่ได้แยกราคาสินค้าและ ค่าบริการออกจากกัน ถือเป็นการขายสินค้า บริษัท ข จำกัด ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด ดังนั้น บริษัท ก จำกัด จึงคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 92,400.00 บาท ให้กับบริษัท ข จำกัด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555
6. หลังจากบริษัท ก จำกัด ได้จ่ายเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืนบริษัท ข จำกัด แล้ว บริษัท ก จำกัด มิได้ยกเลิกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ออกจากระบบ ทำให้โปรแกรมบัญชีดึงข้อมูลดังกล่าวมานำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.53 เดือนภาษีสิงหาคม 2555 ให้กรมสรรพากร เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555
7. บริษัท ก จำกัด ยื่นคำร้อง ค.10 ขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.53 เดือนสิงหาคม 2555 จำนวนเงิน 92,400.00 บาท พร้อมกับแนบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผิดพลาดทั้งชุด (ยกเลิก) + แบบฯ ภ.ง.ด.53 เดือนสิงหาคม 2555 (เพิ่มเติม) ยื่นปรับปรุงรายการที่ผิดพลาดติดลบ
ปัญหา
1. การขายสินค้าพร้อมให้บริการติดตั้งโดยไม่คิดค่าบริการ ถือเป็นการขายสินค้า ผู้จ่ายเงินได้ค่าสินค้าไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ถูกต้องหรือไม่
2. ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.53) ดังกล่าว คือ บริษัท ก จำกัด (ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่ง) หรือ บริษัท ข จำกัด (ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย)
ขอบพระคุณมากค่ะ

เรียน คุณพรพิมล ด้วงทอง "มิวสิคกะอาตง สองพี่น้อง"
ขอตอบข้อซักถามดังนี้
1. การขายสินค้าพร้อมให้บริการติดตั้ง ในการปฏิบัติการทางภาษีสรรพากร ให้แยกพิจารณาดังนี้
(1) การมิได้แยกค่าสินค้าและค่าบริการติดตั้งต่างหากจากกัน ให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าทั้งจำนวน ผูจ่ายเงินค่าสินค้าไม่ต้องคำนวณหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เช่น ตามแนวคำตอบข้อหารือเลขที่ กค 0811/5009 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายสินค้าพร้อมติดตั้ง ดังนี้
ข้อหารือ :
บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าเครื่องวัดและวิเคราะห์ทางด้านอุตสาหกรรมพร้อมบริการ ติดตั้งและซ่อม
ตามระยะเวลาประกัน ตามสัญญาบริการ (Service Contract) และจำหน่ายแผ่นพลาสติก HDPE
บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังต่อไปนี้
1. กรณีจำหน่ายเครื่องวัดพร้อมติดตั้ง ได้ออกใบกำกับภาษีค่าเครื่องพร้อม ค่าติดตั้งรวมเป็น
ยอดเดียว
2. กรณีจำหน่ายเครื่องวัดพร้อมบริการติดตั้ง โดยออกใบกำกับภาษีแยก ค่าเครื่องวัดและค่าบริการออกเป็น 2 ฉบับ หรืออยู่ในฉบับเดียวกันแต่แยกราคาออกจากกันให้เห็นชัด
3. กรณีจำหน่ายอะไหล่พร้อมประกอบหรือ/และให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาได้ออกใบกำกับภาษีค่าอะไหล่และค่าบริการฉบับเดียวกัน แต่แยกราคาค่าอะไหล่และค่าบริการออกจากกัน
4. กรณีจำหน่ายแผ่นพลาสติก HDPE (ใช้รองพื้นกันรั่วซึมในบ่อกักน้ำ ฯลฯ) โดยคิดค่าบริการติดตั้ง ในกรณีที่ลูกค้าต้องการให้บริษัทฯ ทำการติดตั้งให้และบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษี/ใบส่งของเพียงใบและแสดงค่าสินค้าและค่าติดตั้งแยกจากกันให้เห็น นั้น
แนววินิจฉัย :
1. กรณีจำหน่ายเครื่องวัดพร้อมติดตั้ง โดยไม่แยกราคาสินค้าและค่าบริการออกจากกัน ถือเป็นการขายสินค้า เมื่อผู้ซื้อชำระราคาค่าสินค้าบริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528
2. กรณีจำหน่ายเครื่องวัดพร้อมติดตั้งรวมทั้งการจำหน่ายแผ่นพลาสติก HDPE พร้อมติดตั้งโดยแยกราคาสินค้าและค่าบริการออกต่างหากจากกัน การจำหน่ายเครื่องวัด และจำหน่ายแผ่นพลาสติก HDPE ถือเป็นการขายสินค้าเช่นเดียวกัน ส่วนการให้บริการติดตั้ง ถือเป็นการให้บริการ กรณีแยกราคาสินค้าและบริการออกจากกัน ผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าสินค้า แต่มีหน้าที่ต้อง หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงิน ค่าบริการติดตั้งในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของ
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ฯ
3. กรณีจำหน่ายอะไหล่พร้อมประกอบและหรือให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษา โดยออกใบกำกับภาษี ค่าอะไหล่และค่าบริการฉบับเดียวกันแต่แยกราคาค่าอะไหล่และค่าบริการออกจากกัน
ถือเป็นการให้บริการ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากมูลค่าทั้งหมดโดยรวมทั้งค่าอะไหล่ และค่าบริการในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ฯ
เลขตู้ : 64/30504
2. ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.53) ดังกล่าว คือ บริษัท ก จำกัด (ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่ง) เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวโดยตรง เนื่องจากเป็นผู้นำส่งโดยไม่มีหน้าที่ต้องนำส่ง เช่น ตามแนวคำตอบข้อหารือเลขที่ กค 0706(กม.02)/976 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ดังนี้
"…
2.ผู้มีสิทธิขอคืนภาษี
กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้เสียภาษีเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย เนื่องจากผู้จ่ายเงินได้ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินไป หรือหักภาษีไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องหัก หรือผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีเกินไปโดยความเข้าใจผิด หรือคำนวณภาษีเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 27 ตรี และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ผู้มีสิทธิขอคืนหมายความว่า
(1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีซึ่งได้ชำระภาษีอากรไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ
(2) ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกิน และหรือมีภาษีเกินเนื่องจากได้รับการ เครดิตภาษี
(3) ผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่ชำระภาษีไว้ หรือถูกหักภาษีไว้ไม่ว่าด้วยเหตุ ใด ๆ
(4) ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ที่นำเงินของตนเองส่งภาษีไว้ผิดหรือซ้ำ
(5) ผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกินหรือผิดหรือซ้ำ หรือ โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
ในการขอคืนเงินภาษีอาจมีปัญหาว่า ผู้ใดจะเป็นผู้มีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้เกินนั้น กล่าวคือ ผู้จ่ายเงินได้หรือผู้มีเงินได้ที่ถูกหักภาษีไว้ ปัญหานี้เมื่อพิจารณาตามสิทธิของบุคคลที่จะพึงได้รับเงินคืนแล้วน่าจะต้องเป็นตัวผู้มีเงินได้ที่ถูกหักภาษีไว้เพราะเป็นผู้ถูกกระทบกระเทือนสิทธิโดยตรงจึงมีสิทธิเรียกร้องขอเงินคืน ส่วนนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินเป็นเพียงผู้จ่ายเงินได้เท่านั้นไม่มีข้อผูกพันกับเงินได้ที่หักและนำส่งไว้แล้ว ฉะนั้น ถ้าหากนายจ้างจะขอคืนก็จะต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวผู้มีเงินได้จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย เว้นแต่ กรณีนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้นำเงินของตนส่งไว้เกิน ส่งผิดหรือส่งซ้ำซึ่งนายจ้างย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินได้เอง
กรณีตามข้อเท็จจริง เงินเดือนที่นาย ว. ได้รับเมื่อคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งแต่อย่างใด การที่บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งโดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินเดือนรวมทั้งส่วนที่ได้รับเกินกว่าที่ควรจะได้รับ จริงจากบริษัทฯ นั้น ถือว่า บริษัทฯ ได้นำเงินของตนส่งไว้เกิน และข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทฯ ฟ้องนาย ว. ในกรณีเบียดบังนำเงินเดือนส่วนที่เกินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้นาย ว. คืนเงินเต็มจำนวน โดยไม่ปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า นาย ว. ได้คืนเงินให้บริษัทฯ แล้วหรือไม่ กรณีถือได้ว่า บริษัทฯ เป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรงจากการนำส่งภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีดังกล่าวได้ในนามของบริษัทฯ เฉพาะในส่วนที่บริษัทฯ ได้จ่ายเกินให้แก่ นาย ว. เท่านั้น โดยให้ยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เลขตู้ : 68/33638"

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak