การรับรู้รายได้ตามสัญญาเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ | รับทำเงินเดือน การรับรู้รายได้ตามสัญญาเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ | รับทำเงินเดือน

การรับรู้รายได้ตามสัญญาเช่าซื้อคอมพิวเตอร์

"อาจารย์ครับ ขอรบกวนสอบถาม
ทางบริษัทฯ ทำธุรกิจซื้อมาขายไป ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานราชการให้จัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้ทางหน่วยงานราชการดังกล่าวเช่า มีระยะเวลา 12 เดือน
โดยมีข้อกำหนดว่า
1. เมื่อเช่าครบกำหนด 12 เดือนแล้ว บริษัทฯ จะต้องยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับหน่วยงานราชการ
2. ทางหน่วยงานราชการให้ออกใบเสร็จรับเงินเป็นค่าเช่าอุปกรณ์ทุกเดือน ไม่ให้ออกขายครั้งเดียว
3. ไม่มีการทำสัญญาใดๆในการเช่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
คำถาม
1. เมื่อบริษัทฯซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามา จะต้องรับรู้เป็นสินค้า หรือรับรู้เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ
2. เมื่อบริษัทฯได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องบันทึกบัญชีอย่างไร
3. เมื่อบริษัทฯได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องแสดงรายการในการออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จเงินอย่างไร
4. เมื่อบริษัทฯจะยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้หน่วยงานราชการ เมื่อเช่าครบกำหนด 12 เดือนแล้ว บริษัทฯจะบันทึกบัญชีอย่างไร
5. การปฏิบัติทางบัญชีตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 5 กับทางภาษี มีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันหรือไม่
ขอบคุณครับ

ตามข้อเท็จจริงที่เล่าไป เข้าลักษณะเป็นสัญญาเช่าซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 572 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า "อันว่าสัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่งเจ้าของทรัพย์สินที่เรียกว่า ผู้ให้เช่าซื้อเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ โดยเงื่อนไขว่าเมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระราคาเป็นจำนวนเงินครบตามจำนวนครั้งที่กำหนดไว้ในสัญญา สัญญาเช่าซื้อ ต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

ในทางบัญชี
1. เมื่อบริษัทฯ ได้ซื้อทรัพย์สินที่จะนำออกให้เช่าถือเป็นสินค้า
2. เมื่อนำทรัพย์สิน (สินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์) ออกให้เช่าซื้อให้ถือเป็นการขายสินค้า ต้องบันทึกสินค้าดังกล่าวเป็นต้นทุนสินค้าที่ขาย และรับรู้กำไรขั้นต้นจากราคาขายสินค้าเป็นเงินสดกันต้นทุนสินค้าที่ขาย ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ให้เช่าซื้อนั้น
3. สำหรับผลต่างของราคาขายเงินสดกับราคาตามสัญญาให้นำมาทยอยรับรู้เป็นรายได้ในแต่ละงวดตามมาตรฐานการบัญชี

ในทางภาษีอากร
1. กรณีอากรแสตมป์
ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์บนสัญญาเช่าซื้อ ในอัตรา 1 บาทต่อ ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งราคาทั้งหมด ตามลักษณะแห่งตราสารที่ 3 ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์
2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับหลักการปฏิบัติในทางบัญชี ทั้งนี้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 ข้อ 3.5 ดังนี้
"3.5 การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อและมีอายุสัญญาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำกำไรที่เกิดจากการขายมารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ สำหรับดอกผลเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้แต่ละงวดตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป
การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อทันที ให้นำรายได้จากการขายมารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการขายสินค้า
การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อจากการขายผ่อนชำระตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระมาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นให้ถือตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีจะต้อง ไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
คำว่า “กำไรที่เกิดจากการขาย” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ผลต่างระหว่างราคาขายเงินสดกับต้นทุนของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ
คำว่า “ดอกผลเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ผลต่างระหว่างจำนวนเงินทั้งสิ้นที่ต้องจ่ายตามสัญญากับราคาขายเงินสด"
โดยทั่วไปผู้เช่าซื้อไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผู้ให้เช่าซื้อ เว้นแต่กรณีผู้เช่าซื้อเป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ให้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของค่าเช่าซื้อที่จ่ายในแต่ละงวด
3. ในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม
ถือว่าการให้เช่าซื้อสินค้าเป็น "การขายสินค้า" ตามมาตรา 77/1 (8)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
"(2) การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายัง ไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
(ก) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
(ข) ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้น ตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
(ดู คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.36/2536)"

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. เมื่อบริษัทฯซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามา จะต้องรับรู้เป็นสินค้า ของบริษัทฯ
2. เมื่อบริษัทฯได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องบันทึกบัญชีเป็นต้นทุนสินค้าที่ขายในรอบระยะเวลาบัญชที่ให้เช่าซื้อ โดยคำนวณกำไรขั้นต้นระหว่างราคาต้นทุน กับราคาขายเงินสด
3. เมื่อบริษัทฯ ได้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปให้หน่วยงานราชการเช่า จะต้องแสดงรายการในการออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จเงิน ตามงวดเงินที่ตกลงในสัญญาที่ได้กระทำไว้กับส่วนราชการ
4. เมื่อบริษัทฯ จะยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้หน่วยงานราชการ เมื่อเช่าครบกำหนด 12 เดือนแล้ว บริษัทฯ ไม่ต้องบันทึกบัญชีใดๆ เพราะได้ถือเป็นต้นทุนสินค้าและตัดออกจากบัญชีสินค้าแล้วตั้งแต่เมื่อได้ส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการ
5. การปฏิบัติทางบัญชีตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 4 กับทางภาษีโดยเฉพาะกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่มีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันแต่อย่างใด

ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.