ตุลาคม, 2009 | รับทำเงินเดือน - Part 2 ตุลาคม, 2009 | รับทำเงินเดือน - Part 2

ภาษีอากรสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิต และนายหน้าประกันชีวิต

กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบ และแนะนำเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับ กิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 ซึ่งต่อเนื่องกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังต่อไปนี้

ปุจฉา ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่เป็นบุคคลธรรมดามีหน้าที่เสียภาษีอย่างไร

วิสัชนา กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน เป็นบุคคลธรรมดามีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้
1. ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

2. ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของค่าตอบแทนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท และในกรณีที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จากนายจ้างอื่นด้วย ให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ที่ได้รับ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

3. ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งมีเงินได้ดังกล่าว ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นฝ่ายภริยา และได้อยู่ร่วมกันกับสามีตลอดปีภาษีในปีที่มีเงินได้ ให้ถือเอาเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัทประกันชีวิต เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน มีหลักฐานในการประกอบกิจการให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง ว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจ และสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ ซึ่งมีลักษณะการประกอบกิจการดังนี้ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

1. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและ

2. ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือเช่าจากบุคคลอื่น โดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน และ

3. มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และ

4. มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด. 1 ก.

5. มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า และ

6. มีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้

ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและ สมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ หากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนไม่สามารถพิสูจน์รายจ่าย และไม่มีหลักฐานในการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนดังกล่าว ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษี ดังนี้

1. ค่าตอบแทนที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมกับชำระภาษีภายในเดือน กันยายนของทุกปีภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

2. ค่าตอบแทนที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมกับชำระภาษีภายในเดือน มีนาคมของปีถัดไป โดยให้นำภาษีที่ชำระไว้แล้วตาม (ก) มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้ ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นฝ่ายภริยาและได้อยู่ร่วมกันกับสามีตลอดปีภาษีในปีที่ มีเงินได้ ให้ถือเอาเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา กรมสรรพากรมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เกี่ยวกับกรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ซึ่งได้มีการรวมกับบุคคลอื่นในลักษณะเป็นกลุ่มหรือทีมหรือในลักษณะทำนอง เดียวกันในการหาผู้เอาประกันชีวิต โดยตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ เป็นตัวแทนหรือนายหน้าเพียงคนเดียว แต่ปรากฏหลักฐานว่าให้มีการรับเงินค่าตอบแทนในชื่อบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้รับค่าตอบแทนจริงหรือไม่

วิสัชนา กรณีนี้ให้ถือว่า ค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินได้ของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนนั้นทั้งจำนวน

ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545

มาปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

 

ปุจฉา คำว่า “ตัวแทน” “นายหน้า” และ “หัวหน้าตัวแทน” หมายความว่าอย่างไร

วิสัชนา คำว่า “ตัวแทน” หมายความว่า ตัวแทนประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต รวมทั้งบุคคลซึ่งทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับตัวแทนประกันชีวิตให้แก่ บุคคลใดๆ

คำว่า “นายหน้า” หมายความว่า นายหน้าประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และหมายความรวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับนายหน้าประกัน ชีวิตให้แก่บุคคลใดๆ

คำว่า “หัวหน้าตัวแทน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อตกลงหรือข้อผูกพันกับบริษัทประกันชีวิตให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ นำกลุ่มซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือด้วยประการอื่นใด แก่ตัวแทนที่อยู่ในกลุ่มหรืออยู่ในทีมหรือในลักษณะทำนองเดียวกับกลุ่ม หรือทีม ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าเขต หรือหัวหน้าภาค หรือเรียกเป็นอย่างอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน โดยจะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันชีวิต

ปุจฉา คำว่า “ค่าตอบแทน”  หมายความว่าอย่างไร

วิสัชนา คำว่า “ค่าตอบแทน”  หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่คำนวณได้เป็นเงิน รวมทั้งค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นค่าบำเหน็จ ค่าธรรมเนียม ส่วนลด รางวัล โบนัส หรือเรียกเป็นอย่างอื่นที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับเนื่อง จากการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน เช่น

ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทประกัน ชีวิตได้ให้ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ หรือไปสัมมนาที่ต่างประเทศ มูลค่าของประโยชน์ที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากการไปท่อง เที่ยวหรือสัมมนาในต่างประเทศดังกล่าว ถือเป็นค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัท ประกันชีวิตที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วย

บริษัทประกันชีวิตมีนโยบายให้รางวัลแก่ตัวแทนประกันชีวิต หรือนายหน้าประกันชีวิตหรือหัวหน้าตัวแทน ที่ทำผลงานได้ดีเด่น หรือทำรายได้ได้ตามเป้า ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทประกันชีวิตกำหนดไว้ โดยให้รางวัลเป็นเงินหรือทรัพย์สิน รางวัลดังกล่าวย่อมถือเป็นค่า ตอบแทนของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิต ซึ่งต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วย
ปุจฉา ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีหน้าที่เสียภาษี มูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
วิสัชนา การให้บริการของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนแก่บริษัทประกันชีวิต หรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำรายรับซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้

1. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ.2548 จึงไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

หากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนดังกล่าว ประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้กระทำได้โดยให้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 81/3 (2) และมาตรา 85/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยรวมอย่างไร

วิสัชนา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบุคคลใดๆ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อกรมสรรพากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

ในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าตอบแทนที่จ่ายให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่มีการ รวมกลุ่มกับบุคคลอื่นในลักษณะรวมกันเป็นทีมหรือกลุ่มหรือในลักษณะทำนองเดียว กันในการหาผู้เอาประกันชีวิต โดยผู้จ่ายต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่ง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าเพียงคนเดียว แต่ปรากฏหลักฐานว่าให้มีการรับเงินค่าตอบแทนในชื่อบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้รับค่าตอบแทนจริงหรือไม่ ให้ถือว่าการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว เป็นการจ่ายให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนนั้นทั้งจำนวน เช่น นาย ก. เป็นตัวแทนประกันชีวิต ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตตามกรมธรรม์ที่นาย ก. เป็นตัวแทนในการหาประกันชีวิตแต่เพียงผู้เดียว แต่ได้มีการจ่ายค่าตอบแทนในชื่อของบุคคลอื่นที่อยู่ในกลุ่มหรือทีมในการหา ประกันชีวิตของนาย ก. ด้วย ถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้นาย ก. เพียงคนเดียว

 

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การกำหนดสัญชาติของนิติบุคคล

การกำหนดสัญชาติของนิติบุคคล

ในการกำหนดสัญชาติ หากเป็นบุคคลธรรมดา อาจระบุได้ง่ายโดยสัญชาติของบุคคลธรรมดาอาจระบุได้จากสายโลหิตหรือดินแดนที่เกิด แต่นิติบุคคลเป็นบุคคลที่ได้รับการรับรองให้มีตัวตนตามกฎหมาย การเกิดขึ้นของ นิติบุคคลจะตั้งขึ้นโดยกฎหมายของแต่ละประเทศ ในดินแดนของแต่ละประเทศ และตั้งขึ้นโดยคนของแต่ละประเทศ เช่น บริษัท กขค จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในประเทศไทย และมีแต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้รวมตัวกันก่อตั้งบริษัท ดังนั้น บริษัท กขค จำกัด จึงเป็นบริษัทที่มีสัญชาติไทยโดยไม่มีข้อสงสัย ในปัจจุบันมีการก่อตั้งนิติบุคคลที่เรียกกันว่า “บริษัทข้ามชาติ” (Transnational Corporation) ตัวอย่างเช่น บริษัท เอบีซี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในประเทศไทย แต่มีบุคคลสัญชาติสิงคโปร์ทั้งหมดเป็นผู้ถือหุ้น หรือบริษัท ดีอีเอฟ จำกัด จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอังกฤษ มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส และมีบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่นนี้คงเป็นเรื่องยากที่จะระบุสัญชาติของนิติบุคคลนี้ให้ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นนิติบุคคลสัญชาติใด

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้คำอธิบายในเรื่องดังกล่าวว่า “นิติบุคคลเป็นสิ่งที่กฎหมายก่อตั้งขึ้น และรับรองให้มีตัวตนทางกฎหมาย ความเป็นนิติบุคคลจึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญที่เป็นสารัตถะของนิติบุคคล กล่าวคือ

(1) บุคคลทางกฎหมายที่มารวมตัวกันเพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน อาทิ นิติบุคคลในรูปของบริษัทก็จะ ต้องมีผู้ถือหุ้น นิติบุคคลในรูปของสมาคมก็จะต้องมีสมาชิก (Groupement of Member)

(2) ที่ทำการหรือสำนักงานในการกระทำร่วมกันและในการกำหนดเจตนาของนิติบุคคล (Head Office)

(3) กฎหมายรับรองสภาพความเป็นบุคคลทางกฎหมายของนิติบุคคลนั้น (Incorporating Law) แต่ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะข้อเท็จจริงทั้งสามอาจตกอยู่ภายใต้อำนาจ อธิปไตยของรัฐที่แตกต่างกัน จึงต้องเลือกว่าข้อเท็จจริงใดในข้อเท็จจริงทั้งสามที่เป็นตัวชี้ความ สัมพันธ์ที่เข้มข้นที่สุดระหว่างรัฐและนิติบุคคล”

“ในวิชานิติศาสตร์เป็นหลักทั่วไปที่รัฐหนึ่งๆ จะไม่ปฏิเสธสิ่งที่มีจุดกำเนิดจากกฎหมายของตน เพราะการปฏิเสธดังกล่าวจะหมายความว่ารัฐนั้นปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายของตนเอง ดังนั้นในทางปฏิบัติรัฐจะไม่ปฏิเสธที่จะยอมรับว่านิติบุคคลที่ก่อตั้งสภาพบุคคลตามกฎหมายของตน (Incorporation) ย่อมมีสัญชาติของตนในความหมายทั่วไป อย่างไรก็ตามนักนิติศาสตร์ไทยอีกกลุ่มหนึ่งก็พยายามอธิบายว่า นิติบุคคลผู้มีสัญชาติไทยจะต้องมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ส่วนนักนิติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งพยายามหาทางประนีประนอมโดยการอธิบายว่าสัญชาติของนิติบุคคลย่อมเป็นไปตามข้อเท็จจริงทั้งสองประการ กล่าวคือนิติบุคคล ย่อมมีสัญชาติของทั้งเจ้าของประเทศของกฎหมายที่ก่อตั้งสภาพนิติบุคคลและ ประเทศเจ้าของถิ่นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคล แต่สำหรับแนวคำพิพากษาฎีกายืนยันอย่างชัดเจนว่า ประเทศเจ้าของกฎหมายที่ก่อตั้งสภาพนิติบุคคลย่อมเป็นเจ้าของสัญชาติของนิติบุคคลนั้น เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1318/2513 ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัทหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายอังกฤษ จึงมีสัญชาติอังกฤษ คำพิพากษาฎีกาที่ 3401/2529 ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัท คัมป์สกิปแซสกาเบ็ทอาฟ 1912 อัคคีแซลสกาป จำกัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเดนมาร์ก ซึ่งมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กจึงมี สัญชาติเดนมาร์ก หรือ คำพิพากษาฎีกาที่ 2466/2523 ศาลฎีกาเห็นว่าบริษัท เซ็นทรัลออโตโมทีฟโปรดักส์ จำกัด ตั้งขึ้นตามกฎหมายญี่ปุ่น จึงมีสัญชาติญี่ปุ่น เป็นต้น กล่าวโดยสรุปศาลไทยจึงมีแนวความคิดที่ว่าบริษัทที่มิได้จดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายไทย จึงไม่มีสัญชาติไทย และเป็นเพียงนิติบุคคลต่างด้าวในประเทศไทย

การ ยอมรับของศาลไทยในแนวทางนี้เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อหากนิติบุคคลนี้เกิดขึ้นจากกฎหมายไทย การจะปฏิเสธความเป็นไทยของนิติบุคคลนั้น เท่ากับเป็นการปฏิเสธความมีผลของกฎหมายไทยนั่นเอง ”

ข้อเท็จจริงที่ชี้ว่านิติบุคคลมีสัญชาติไทย

“ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคล กฎหมายไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคลเป็นเพียงกฎหมายพิเศษ กล่าวคือไม่นำมาใช้โดยทั่วไป แต่ จะใช้เมื่อเกิดมีสถานการณ์พิเศษตามข้อกำหนดของกฎหมายเท่านั้น ในสถานการณ์ทั่วไป ถ้านิติบุคคลหนึ่งจดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายไทย แม้จะมีสำนักงานแห่งใหญ่ที่แท้จริงตั้งอยู่ในต่างประเทศหรือ แม้ว่าผู้เป็นสมาชิกของนิติบุคคลจะเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลนั้นก็จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ในปรากฏการณ์เช่นนี้เราจึงเผชิญกับ “นิติบุคคลไทยมีองค์ประกอบต่างด้าว” ในสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามนิติบุคคลต่างด้าวในประเทศไทยก็อาจจะเป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่ได้ก่อตั้งและมีสถานภาพนิติบุคคลตามกฎหมายไทย แต่มีสำนักงานแห่งใหญ่ที่แท้จริงตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือมีผู้เป็นสมาชิกข้างมากของนิติบุคคลเป็นผู้มีสัญชาติไทย นิติบุคคลนั้นก็จะตกเป็นนิติบุคคลต่างด้าวอย่างไม่ต้องสงสัย ในปรากฏการณ์เช่นนี้เราจึงเผชิญกับ “นิติบุคคลต่างด้าวที่มีองค์ประกอบไทย”

สัญชาติของนิติบุคคลถือเป็นเครื่องหมายแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเจ้าของนิติบุคคลและตัวนิติบุคคล และการจะยอมรับว่านิติบุคคลนี้มีสัญชาติของรัฐใดหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามเจตนาของรัฐเจ้าของสัญชาติของนิติบุคคล ซึ่งก็คือกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาตินั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามรัฐก็ไม่อาจใช้อำนาจตามอำเภอใจในการกำหนดสัญชาติของนิติบุคคลได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศไม่รับรองการ ให้สัญชาติให้แก่นิติบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับตน นอกจากนี้การกำหนดว่านิติบุคคลหนึ่งๆมีสัญชาติไทยหรือไม่ มีความจำเป็นต้องทำการศึกษาในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้ ได้ข้อเท็จจริงที่ชี้ว่านิติบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นกรณีๆไป”

บทความที่กล่าวในข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “การกำหนดสัญชาติไทยของนิติบุคคลในปัจจุบัน โดย รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก www.lawthai.org ครับ

 

ที่มา : รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

www.lawthai.org

สำนักทะเบียนธุรกิจ
ศูนย์ให้คำปรึกษา
DBD E-Newsletter

หน้าที่ของบริษัทในการจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

หน้าที่ของบริษัทในการจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ก็คือสมุดที่จดบันทึกเกี่ยวกับหุ้นและผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทบ้าง คนละเท่าใด ตั้งแต่เมื่อใด ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนหุ้นและการเปลี่ยนแปลงรายการต่างๆ ที่บันทึกไว้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมการที่ต้องจัดให้มีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนับแต่วันที่จดทะเบียนบริษัทนั้น และให้เก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบดูได้ สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นต้องมีรายการตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1138 กำหนด คือ 
     (1) ชื่อ ที่อยู่ และอาชีพ ของผู้ถือหุ้นแต่ละคนและต้องระบุไว้ด้วยว่าผู้ถือหุ้นคนหนึ่งๆ ถือหุ้นกี่หุ้น หมายเลขหุ้นเลขที่เท่าใดถึงเลขที่เท่าใด แต่ละหุ้นได้ใช้เงินค่าหุ้นแล้วเท่าใด หรือถ้าเป็นหุ้นชนิดออกให้เพื่อทดแทนแรงงานหรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นก็ต้องระบุว่าได้ใช้เงินแล้วเท่าใด 
     (2) วัน เดือน ปี ที่ได้ลงทะเบียนว่าผู้นั้นเป็นผู้ถือหุ้น 
     (3) วัน เดือน ปี ซึ่งบุคคลใดขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้น 
     (4) เลขหมายใบหุ้นและวันที่ลงในใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือและเลขหมายของหุ้นซึ่งลงไว้ใน ใบหุ้นนั้นๆ 
     (5) วันที่ได้ขีดฆ่าใบหุ้นชนิดระบุชื่อ หรือชนิดออกให้แก่ผู้ถือ 
     สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนี้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อความที่จดลงไว้ในทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ซึ่งนอกจากผู้ถือหุ้นของบริษัทจะได้ใช้ประโยชน์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานแล้ว บุคคลภายนอกก็อาจจะถือเอารายการต่างๆ ที่ได้บันทึกไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เพื่อใช้เป็นพยาน หลักฐานได้ด้วยเช่นกัน หากบริษัทจดบันทึกรายการดังกล่าวผิดพลาดไปจากความเป็นจริง บริษัทอาจต้องรับผิดชอบจากการบันทึกที่ผิดพลาดนั้นด้วย 
     ดังนั้น การจดบันทึก แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือการกระทำใดๆ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ถือเป็นกิจการภายในของบริษัท ซึ่งสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทที่จะต้องส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้งภายใน 14 วันนับแต่ วันที่มีการประชุมสามัญ ซึ่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าว กฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นพยานหลักฐาน อันถูกต้องแล้ว ดังนั้น นายทะเบียนจึงไม่มีอำนาจในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรายการใดๆ ในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นได้ 
     อนึ่งหากบริษัทจำกัดใดละเลย ไม่จัดให้มีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือไม่รักษาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่เปิดสมุดทะเบียนให้ผู้ถือหุ้นดู ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 10, 11 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และกรรมการบริษัทมีความผิดตามมาตรา 25 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทด้วย นอกจากนี้หากกรรมการบริษัทไม่ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญประจำปีไปยังนายทะเบียน ย่อมมีความผิดตามมาตรา 26 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทด้วยเช่นกัน

สำนักทะเบียนธุรกิจ
ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทะเบียนธุรกิจ
DBD E-Newsletter