การกำหนดสัญชาติของนิติบุคคล | รับทำเงินเดือน การกำหนดสัญชาติของนิติบุคคล | รับทำเงินเดือน

การกำหนดสัญชาติของนิติบุคคล

การกำหนดสัญชาติของนิติบุคคล

ในการกำหนดสัญชาติ หากเป็นบุคคลธรรมดา อาจระบุได้ง่ายโดยสัญชาติของบุคคลธรรมดาอาจระบุได้จากสายโลหิตหรือดินแดนที่เกิด แต่นิติบุคคลเป็นบุคคลที่ได้รับการรับรองให้มีตัวตนตามกฎหมาย การเกิดขึ้นของ นิติบุคคลจะตั้งขึ้นโดยกฎหมายของแต่ละประเทศ ในดินแดนของแต่ละประเทศ และตั้งขึ้นโดยคนของแต่ละประเทศ เช่น บริษัท กขค จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในประเทศไทย และมีแต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้รวมตัวกันก่อตั้งบริษัท ดังนั้น บริษัท กขค จำกัด จึงเป็นบริษัทที่มีสัญชาติไทยโดยไม่มีข้อสงสัย ในปัจจุบันมีการก่อตั้งนิติบุคคลที่เรียกกันว่า “บริษัทข้ามชาติ” (Transnational Corporation) ตัวอย่างเช่น บริษัท เอบีซี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในประเทศไทย แต่มีบุคคลสัญชาติสิงคโปร์ทั้งหมดเป็นผู้ถือหุ้น หรือบริษัท ดีอีเอฟ จำกัด จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอังกฤษ มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส และมีบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่นนี้คงเป็นเรื่องยากที่จะระบุสัญชาติของนิติบุคคลนี้ให้ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นนิติบุคคลสัญชาติใด

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้คำอธิบายในเรื่องดังกล่าวว่า “นิติบุคคลเป็นสิ่งที่กฎหมายก่อตั้งขึ้น และรับรองให้มีตัวตนทางกฎหมาย ความเป็นนิติบุคคลจึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญที่เป็นสารัตถะของนิติบุคคล กล่าวคือ

(1) บุคคลทางกฎหมายที่มารวมตัวกันเพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน อาทิ นิติบุคคลในรูปของบริษัทก็จะ ต้องมีผู้ถือหุ้น นิติบุคคลในรูปของสมาคมก็จะต้องมีสมาชิก (Groupement of Member)

(2) ที่ทำการหรือสำนักงานในการกระทำร่วมกันและในการกำหนดเจตนาของนิติบุคคล (Head Office)

(3) กฎหมายรับรองสภาพความเป็นบุคคลทางกฎหมายของนิติบุคคลนั้น (Incorporating Law) แต่ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะข้อเท็จจริงทั้งสามอาจตกอยู่ภายใต้อำนาจ อธิปไตยของรัฐที่แตกต่างกัน จึงต้องเลือกว่าข้อเท็จจริงใดในข้อเท็จจริงทั้งสามที่เป็นตัวชี้ความ สัมพันธ์ที่เข้มข้นที่สุดระหว่างรัฐและนิติบุคคล”

“ในวิชานิติศาสตร์เป็นหลักทั่วไปที่รัฐหนึ่งๆ จะไม่ปฏิเสธสิ่งที่มีจุดกำเนิดจากกฎหมายของตน เพราะการปฏิเสธดังกล่าวจะหมายความว่ารัฐนั้นปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายของตนเอง ดังนั้นในทางปฏิบัติรัฐจะไม่ปฏิเสธที่จะยอมรับว่านิติบุคคลที่ก่อตั้งสภาพบุคคลตามกฎหมายของตน (Incorporation) ย่อมมีสัญชาติของตนในความหมายทั่วไป อย่างไรก็ตามนักนิติศาสตร์ไทยอีกกลุ่มหนึ่งก็พยายามอธิบายว่า นิติบุคคลผู้มีสัญชาติไทยจะต้องมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ส่วนนักนิติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งพยายามหาทางประนีประนอมโดยการอธิบายว่าสัญชาติของนิติบุคคลย่อมเป็นไปตามข้อเท็จจริงทั้งสองประการ กล่าวคือนิติบุคคล ย่อมมีสัญชาติของทั้งเจ้าของประเทศของกฎหมายที่ก่อตั้งสภาพนิติบุคคลและ ประเทศเจ้าของถิ่นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคล แต่สำหรับแนวคำพิพากษาฎีกายืนยันอย่างชัดเจนว่า ประเทศเจ้าของกฎหมายที่ก่อตั้งสภาพนิติบุคคลย่อมเป็นเจ้าของสัญชาติของนิติบุคคลนั้น เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1318/2513 ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัทหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายอังกฤษ จึงมีสัญชาติอังกฤษ คำพิพากษาฎีกาที่ 3401/2529 ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัท คัมป์สกิปแซสกาเบ็ทอาฟ 1912 อัคคีแซลสกาป จำกัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเดนมาร์ก ซึ่งมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กจึงมี สัญชาติเดนมาร์ก หรือ คำพิพากษาฎีกาที่ 2466/2523 ศาลฎีกาเห็นว่าบริษัท เซ็นทรัลออโตโมทีฟโปรดักส์ จำกัด ตั้งขึ้นตามกฎหมายญี่ปุ่น จึงมีสัญชาติญี่ปุ่น เป็นต้น กล่าวโดยสรุปศาลไทยจึงมีแนวความคิดที่ว่าบริษัทที่มิได้จดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายไทย จึงไม่มีสัญชาติไทย และเป็นเพียงนิติบุคคลต่างด้าวในประเทศไทย

การ ยอมรับของศาลไทยในแนวทางนี้เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อหากนิติบุคคลนี้เกิดขึ้นจากกฎหมายไทย การจะปฏิเสธความเป็นไทยของนิติบุคคลนั้น เท่ากับเป็นการปฏิเสธความมีผลของกฎหมายไทยนั่นเอง ”

ข้อเท็จจริงที่ชี้ว่านิติบุคคลมีสัญชาติไทย

“ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคล กฎหมายไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคลเป็นเพียงกฎหมายพิเศษ กล่าวคือไม่นำมาใช้โดยทั่วไป แต่ จะใช้เมื่อเกิดมีสถานการณ์พิเศษตามข้อกำหนดของกฎหมายเท่านั้น ในสถานการณ์ทั่วไป ถ้านิติบุคคลหนึ่งจดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายไทย แม้จะมีสำนักงานแห่งใหญ่ที่แท้จริงตั้งอยู่ในต่างประเทศหรือ แม้ว่าผู้เป็นสมาชิกของนิติบุคคลจะเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลนั้นก็จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ในปรากฏการณ์เช่นนี้เราจึงเผชิญกับ “นิติบุคคลไทยมีองค์ประกอบต่างด้าว” ในสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามนิติบุคคลต่างด้าวในประเทศไทยก็อาจจะเป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่ได้ก่อตั้งและมีสถานภาพนิติบุคคลตามกฎหมายไทย แต่มีสำนักงานแห่งใหญ่ที่แท้จริงตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือมีผู้เป็นสมาชิกข้างมากของนิติบุคคลเป็นผู้มีสัญชาติไทย นิติบุคคลนั้นก็จะตกเป็นนิติบุคคลต่างด้าวอย่างไม่ต้องสงสัย ในปรากฏการณ์เช่นนี้เราจึงเผชิญกับ “นิติบุคคลต่างด้าวที่มีองค์ประกอบไทย”

สัญชาติของนิติบุคคลถือเป็นเครื่องหมายแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเจ้าของนิติบุคคลและตัวนิติบุคคล และการจะยอมรับว่านิติบุคคลนี้มีสัญชาติของรัฐใดหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามเจตนาของรัฐเจ้าของสัญชาติของนิติบุคคล ซึ่งก็คือกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาตินั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามรัฐก็ไม่อาจใช้อำนาจตามอำเภอใจในการกำหนดสัญชาติของนิติบุคคลได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศไม่รับรองการ ให้สัญชาติให้แก่นิติบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับตน นอกจากนี้การกำหนดว่านิติบุคคลหนึ่งๆมีสัญชาติไทยหรือไม่ มีความจำเป็นต้องทำการศึกษาในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้ ได้ข้อเท็จจริงที่ชี้ว่านิติบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นกรณีๆไป”

บทความที่กล่าวในข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “การกำหนดสัญชาติไทยของนิติบุคคลในปัจจุบัน โดย รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก www.lawthai.org ครับ

 

ที่มา : รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

www.lawthai.org

สำนักทะเบียนธุรกิจ
ศูนย์ให้คำปรึกษา
DBD E-Newsletter

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.