เบี้ยประกันชีวิต | รับทำเงินเดือน - Part 2 เบี้ยประกันชีวิต | รับทำเงินเดือน - Part 2

เบี้ยประกันชีวิตตามหลักเกณฑ์ใหม่

สรุปหลักเกณฑ์และวิธีการ

1. กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาสัญญาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
2. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินคืน หรือผลประโยชน์ตอบแทนในระหว่างสัญญาต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
2.1 กรณีรับเงินคืนหรือเงินประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ
2.2 กรณีรับเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลา เช่น ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงเวลาที่ผู้มีรับประกันภัยกำหนดให้มีการ จ่ายเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ
2.3 กรณีได้รับเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนไม่เป็นไปตาม (2.1) หรือ (2.2) ผลรวมของเงินคืนผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินคืน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนจะต้องไปเกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้เงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามข้อ (2.1), (2.2) และ (2.3) ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ ประกันชีวิต หรือเงินคืน หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันแล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ประกันชีวิต หรือเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์
3. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ไม่สามารถนำเบี้ยประกันภัยมาหักลดหย่อนภาษีได้
4. การได้รับการยกเว้นภาษีผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายเบี้ยประกัน
5. ให้มีผลบังคับใช้สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป

ถ้าค่าเบี้ยประกันชีวิตไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ค่าเบี้ยประกันชีวิตจะไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนทางภาษีได้นะครับ

ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมในกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยได้

ขอนำประเด็นค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตใน การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร และการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันชีวิตในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (61) มาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2551 อย่างไร

วิสัชนา ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2 (61) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2551 นั้น โดยทั่วไปกำหนดขึ้นเพื่อให้ยกเลิกและใช้บังคับแทนที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 112) ลงวันที่ 30 กันยายน 2545 เว้นแต่ในสองประเด็นต่อไปนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ที่ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป โดยไม่ไปกระทบกระเทือนกรมธรรม์ที่ทำมาก่อนหน้านี้ ตามหลักกฎหมายเป็นโทษไม่มีผลย้อนหลัง

1. ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมในกรมธรรม์ประกัน ชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม โดยไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้ ซึ่งที่ผ่านมา กรมสรรพากรมิได้มีข้อกำหนดให้บริษัทผู้รับประกันต้องแยกค่าเบี้ยประกันชีวิต กันเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองอื่น เช่น ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพ เป็นต้น

2. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุ กรมธรรม์ เกินกว่าร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิต ซึ่งในปี 2551 ได้เกิดกรณีการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่กำหนดให้ผู้รับประกันชีวิตได้รับ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ถึง 80% ของเบี้ยประกันชีวิต อันเป็นเหตุให้กรมสรรพากรลุกขึ้นมาแก้เงื่อนไขตามประกาศฉบับดังกล่าวข้างต้น

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็น เบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป เฉพาะกรณีที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และเป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการ ประกันชีวิตในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท อย่างไร

วิสัชนา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมดังกล่าวไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้

2. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

(1) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ

(2) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัย กำหนดนอกจาก (1) เช่น ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มี การจ่ายเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ

(3) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนที่ไม่เป็นไปตาม (1) หรือ (2) ผลรวมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตาม (1) และหรือ (2) และหรือ (3) ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต แล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์

3. การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต

(1) กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครอง อื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน

(2) กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องระบุเงื่อนไขตามข้อ 2 ด้วย

4. กรณีผู้มีเงินได้ ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหัก ออกจากเงินได้ เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงิน ได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา…กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายให้พนักงานถือเป็นประโยชน์เพิ่ม

สรุป

1. บริษัทจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้พนักงานไม่ว่าจะเป็นประกันภัยแบบเดี่ยวหรือแบบหมู่ ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ต้องนำมารวมคำนวณเพือเสียภาษี

2. เบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มไม่เกิน 1 ปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล (ประกันสุขภาพ) ได้รับการยกเว้นไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน

ปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต

ขอนำประเด็นปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 (1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร

การ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันชีวิตในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (61) มาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประกันชีวิตพนักงานรวมทุกคน (ประกันชีวิตหมู่) และบริษัทฯ เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว โดยค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงาน บริษัทฯ ได้จ่ายไปจริงและสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ และในส่วนของพนักงานนั้นหากปรากฏว่าพนักงานไม่ได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ อันเนื่องมาจากการประกันชีวิตดังกล่าวจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างและบริษัทฯ ผู้รับประกันชีวิต ก็ไม่เข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด ถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ทำประกันชีวิตและสุขภาพให้แก่พนักงานที่ทำงานมาครบ 3 ปีทุกคน ซึ่งการทำประกันชีวิตดังกล่าวได้รับความยินยอมจากพนักงานเหล่านั้น โดยกรมธรรม์จะทำเพียงฉบับเดียว มิได้แยกเป็นรายบุคคล ระบุชื่อผู้ถือกรมธรรม์ คือ บริษัทฯ และสมาชิกผู้เอาประกันภัยคือ สมาชิกประจำทั้งหมดที่อยู่ปฏิบัติงานเต็มเวลามาแล้วสามปี ในวันที่มีผลบังคับของกรมธรรม์ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี และต่ำกว่า 65 ปี บริษัทฯ จะปิดประกาศรายละเอียดที่พนักงานจะได้รับสิทธิคุ้มครองไว้ให้พนักงานได้ทราบ พร้อมทั้งเรียกพนักงานตั้งแต่ระดับ SUB LEADER ขึ้นไปมาอธิบายและชี้แจงรายละเอียด เพื่อแจ้งให้พนักงานในบังคับบัญชาได้ทราบต่อไป กรณีพนักงานได้รับอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต ทางบริษัทผู้เอาประกันจะจ่ายค่าชดเชยการเรียกร้องของพนักงานคืนมาให้เป็น เช็คในนามของบริษัทฯ และบริษัทฯ จะเบิกจ่ายเป็นเงินสดให้แก่พนักงานหรือผู้รับผลประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ที่แท้จริง คือ พนักงาน โดยบริษัทฯ เป็นเพียงผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันและเบิกจ่ายค่าชดเชยแทนพนักงานเท่านั้น เงินค่าเบี้ยประกันที่บริษัทฯ จ่ายแทนพนักงาน จึงถือเป็นประโยชน์เพิ่มจากการจ้างแรงงานของพนักงาน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งพนักงานผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์อันเป็นสมาชิกผู้เอาประกัน ภัยแต่ละคน จะต้องนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตเฉพาะส่วนของตนไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย และกรณีบริษัทฯ จ่ายเงินชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนพนักงาน บริษัทฯ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811(กม)/795 ลงวันที่ 22 เมษายน 2541) 

อย่างไรก็ตาม นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ.2549) เพิ่ม (77) ของข้อ 2 ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) เพื่อกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ลูกจ้าง เป็นจำนวนเท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือ บริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ

(ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

(ข) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว

กล่าวโดยสรุป ค่าเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน หนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และที่นายจ้างได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้าเป็นการคุ้มครองค่าอย่างอื่นที่มิใช่การรักษาพยาบาล ลูกจ้างจะได้ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์

จ่ายค่าภาษีและเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการ

เลขที่หนังสือ กค 0706/7251

วันที่ 28 มีนาคม 2549

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าภาษี และค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการ

ข้อกฎหมาย มาตรา 65 ตรี (3)(13) มาตรา 40() และมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

บริษัท ก. จำกัด ได้มีมติที่ประชุมกำหนดให้บริษัทฯ จ่ายเงินค่าภาษีเงินได้ และค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไป บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่

2. ค่าภาษีและเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ ออกแทนให้ ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการผู้จัดการที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

3. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ บริษัทฯ ต้องนำค่าสินไหมทดแทนหรือเงินได้จากการประกันภัย มาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีหรือไม่

4. กรณีตาม 1 ถึง 3 บริษัทฯ มีสิทธินำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้หรือไม่ และการจ่ายค่าภาษีเงินได้ และค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ จะบันทึกบัญชีอย่างไร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1 เงินค่าภาษีเงินได้ และค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ จ่ายแทนกรรมการตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทฯ แล้ว รายจ่ายดังกล่าวไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ มีสิทธินำค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตาม 2 เงินค่าภาษีเงินได้ และค่าเบี้ยประกันชีวิตไม่ว่าบริษัทฯ จะเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ที่บริษัทฯ จ่ายให้กับกรรมการหรือไม่ก็ตาม ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรรมการผู้จัดการต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม มาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีตาม 3 เงินค่าสินไหมทดแทนหรือเงินได้จากการประกันชีวิตที่บริษัทฯ เป็นผู้รับผลประโยชน์ บริษัทฯ ต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

4. กรณีตาม 1 ถึง 3 ใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้เช่นเดียวกัน ส่วนการบันทึกบัญชีของบริษัทฯ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป

เลขตู้ 69/34455

ที่มา..http://www.rd.go.th/publish/32668.0.html